๑. ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีความผิด เช่น จำเลยเป็นปลัดอำเภอ ได้รับคำสั่งจากนายอำเภอโดยชอบให้จัดทำตั๋วพิมพ์รูปพรรณสัตว์ แล้วเรียกเงินเกินอัตราที่กำหนดไว้ตามกฎหมายเพื่อประโยชน์ตน (ฎ.638/2508 ) หรือเจ้าพนักงานมีอำนาจหน้าที่สืบสวนสอบสวนคดีอาญา ในระหว่างสอบสวนจำเลยได้ทำร้ายโจทก์เพราะโจทก์ไม่ยอมรับสารภาพ ไม่ยอมลงชื่อตามที่จำเลยต้องการ (ฎ 1399/2508) ตำรวจเข้าไปในสำนักค้าประเวณีขณะมีการค้าประเวณีอยู่ ประกาศตนเป็นตำรวจและจับหญิงโสเภณีไป แล้วมอบหญิงโสเภณีให้กับพวกของตนไปเสียโดยมิได้นำมาดำเนินคดีตามกฎหมาย (ฎ.1450/2513) หรือ เจ้าพนักงานตำรวจจับกุม ส. แต่กลับไม่นำส่งพนักงานสอบสวนทันทีโดยไม่ชักช้า แต่กลับยอมให้ ส. แวะพบญาติแล้วเป็นเหตุให้ ส. หลบหนีไป (ฎ.2754/2536 ) หรือ พนักงานสอบสวน เอาไปเสียซึ่งคำให้การฉบับเดิมของผู้ต้องหาซึ่งจำเลยมีหน้าที่ปกครองดูแลรักษา โดยเจตนาเพื่อช่วยเหลือผู้ต้องหามิให้ต้องโทษ (ผิดมาตรา ๒๐๐ วรรคแรกด้วย) (ฎ.929/2537) หรือ พยาบาลประจำโรงพยาบาล ได้ตรวจชันสูตร พ. ซึ่งถูกข่มขืนกระทำชำเรา ละเว้นไม่ส่งซับน้ำในช่องคลอดของ พ. ไปหาเชื้อของน้ำอสุจิตามระเบียบ และกรอกข้อความลงในรายงานผลการตรวจชันสูตรเอาเอง (ฎ.1886/2523) นอกจากนั้น รวมถึงหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายด้วย เช่น ปลัดอำเภอ ไม่มีหน้าที่ในการตรวจรับมอบงานเพราะมิได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการตรวจรับมอบงานการจ้าง แต่เมื่อนายอำเภอได้แต่งตั้งให้จำเลยทำการตรวจสอบผลงานดังกล่าวซึ่งเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ในทางราชการ จำเลยจึงเป็นเจ้าพนักงานที่มีหน้าที่ต้องตรวจสอบผลงานตามที่ได้รับมอบหมายแล้วรายงานให้นายอำเภอทราบ จำเลยทำรายงานเท็จ ( ฎ.3215/2538)
๒. ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ไม่ผิดถ้า การกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 จะต้องเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติเฉพาะแต่ตามหน้าที่ของเจ้าพนักงานผู้นั้นโดยตรง ตามที่ได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่นั้น ๆ เท่านั้น ถ้าไม่เกี่ยวข้องกับหน้าที่โดยตรงหรือเป็นการนอกหน้าที่แล้วย่อมไม่ผิดตามมาตรา 157 (ฎ.3278/2522) เช่น จำเลย ไม่มีอำนาจหรือหน้าที่ใด ๆ เกี่ยวกับคดีที่คนร้ายลักกระบือของผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 กับการปล่อยคืนรถยนต์ให้แก่ผู้เสียหายที่ 1 การที่จำเลย เป็นตัวการในการเรียกและรับเงินจากผู้เสียหายที่ 1 จึงเป็นเรื่องปฏิบัตินอกหน้าที่
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น