วันเสาร์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ฎีกาเช่าซื้อบางเรื่อง

คำพิพากษาฎีกาคดีเช่าซื้อรถบางเรื่อง

๐ เรียกดอกเบี้ยที่สูงเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดได้ ไม่ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา เพราะมิใช่ดอกเบี้ยกู้ยืมเงิน (ฎ .9571/2544)

๐ สัญญาเลิก เพราะ

    (๑) รถหาย ผู้ให้เช่าซื้อได้รับค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัยแล้ว จะมาเรียกค่าเช่าซื้อตามสัญญาจากผู้เช่าซื้ออีกไม่ได้เพราะเป็นการเกินกว่าค่าเสียหายที่ได้รับ เป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต ผู้ให้เช่าซื้อต้องคืนค่าเช่าซื้อดังกล่าวให้ผู้เช่าซื้อ (ฎ. 4819/2549)

    (๒) ผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อรถ
    (๒.๑) หากเป็นการเช่าซื้อกับสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบ ธุรกิจให้เช่าซื้อ จะบอกเลิกสัญญาได้ต่อเมื่อผิดนัดไม่ส่งค่างวดสามงวดติดต่อกัน 

    (๒.๒) ส่งค่างวดไม่ตรงตามกำหนดเวลา แต่ผู้ให้เช่าซื้อก็ยอมรับค่าเช่าซื้อที่เลยกำหนดเวลาโดยไม่ทักท้วง แสดงว่าคู่สัญญาไม่ถือเอากำหนดเวลาชำระค่าเช่าซื้อเป็นสาระสำคัญ เท่ากับผู้ให้เช่าซื้อยอมให้สัญญาเช่าซื้อมีผลบังคับกันต่อไป (คำพิพากษาฎีกาที่ 3830-3831/2550)

    (๒.๓) ค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ ก่อนบอกเลิกสัญญา - ผู้ให้เช่าซื้อไม่มีสิทธิเรียกให้ผู้เช่าซื้อชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ แต่เรียกค่าเสียหายได้แต่ศาลมีอำนาจปรับลดถ้าเห็นว่าสูงเกินควรได้ (ฎ 356/2548,1496/ 2548)

    (๓) ผู้ให้เช่าซื้อผิดสัญญา
    - ไม่สามารถจดทะเบียนและต่อทะเบียน ให้ผู้เช่าซื้อได้ ผู้เช่าซื้อจึงไม่ชำระค่าเช่าซื้อ แต่ยังคงครอบครองและใช้รถยนต์คันนั้น ผู้ให้เช่าซื้อได้มีหนังสือทวงถามให้ผู้เช่าซื้อชำระหนี้และบอกเลิกสัญญา ต่อมาได้ยื่นฟ้อง หลังจากนั้น ผู้เช่าซื้อจึงคืนรถให้ผู้ให้เช่าซื้อ และผู้เช่าซื้อก็ได้ฟ้องแย้งเรียกเงินดาวน์คืน กรณีนี้ผู้ให้เช่าซื้อเป็นฝ่ายผิดสัญญาตั้งแต่แรก การบอกเลิกสัญญาจึงไม่ชอบ แต่เมื่อมีการส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่กัน จึงเป็นกรณีที่ทั้งสองฝ่ายสมัครใจใช้สิทธิเลิกสัญญาต่อกัน ถือว่าสัญญาเลิกกันโดยปริยาย ทั้งสองฝ่ายจึงต้องกลับสู่ฐานะเดิม เมื่อผู้เช่าซื้อคืนรถ ผู้ให้เช่าซื้อต้องคืนค่าเช่าซื้อและเงินดาวน์ที่จ่ายไปแล้ว ผู้ให้เช่าซื้อไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย คงเรียกได้เฉพาะค่าใช้รถยนต์ช่วงที่ผู้เช่าซื้อครอบครองและใช้ประโยชน์ เทียบเท่ากับเงินดาวน์และค่างวดและค่าจดทะเบียนที่ได้จ่ายไปแล้ว เห็นสมควรให้เป็นพับกันไปทั้งสองฝ่าย  (ฎ.3745/2551)

    ๐ การขายดาวน์(สิทธิตามสัญญาเช่าซื้อ)สามารถซื้อขายกันได้ (ฎ. 2466 /2539 (ประชุมใหญ่), 4503/2540)ถ้ามีการส่งมอบรถคืนแก่ผู้ให้เช่าซื้อเพื่อส่งมอบแก่ผู้ซื้อดาวน์ สัญญาเช่าซื้อระหว่างผู้ให้เช่าซื้อกับผู้เช่าซื้อเลิกกันนับแต่นั้น ผู้ให้เช่าซื้อไม่มีสิทธิฟ้องคดีผู้เช่าซื้อได้อีก (ฎ.7024/ 2548)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น