|
วานนี้(20 ธ.ค.)เวลา 13.30 ที่ศาลฎีกา สนามหลวง นายสบโชค สุขารมณ์ ประธานศาลฎีกาเป็นประธานประชุมคณะกรรมการตุลาการ (ก.ต.) พิจารณาลงมติ กรณีมีผู้ร้องเรียน นายสมศักดิ์ จันทกุล ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ถูกกล่าวหา มีพฤติการณ์ฉันท์ชู้สาวกับหญิงที่มีสามีแล้ว และเรียกรับผลประโยชน์ โดยที่ประชุม ก.ต.มีมติเห็นว่า นายสมศักดิ์ กระทำผิดวินัยร้ายแรง ตามที่มีผู้ร้องเรียนจริง จึงมีมติให้ไล่ นายสมศักดิ์ ออกจากราชการ โดยให้สำนักงานศาลยุติธรรมทำหนังสือเสนอโปรดเกล้าฯให้พ้นจากตำแหน่ง และเรียกคืนเครื่องราชย์ฯทุกชั้นยศ พร้อมกับพิจารณาเรื่องการดำเนินคดีอาญา
สำหรับการร้องเรียนครั้งนี้ ผู้ร้องได้เปิดเผยชื่อตนเองพร้อมส่งพยานหลักฐานเอกสาร ภาพถ่ายประกอบการพิจารณาของ ก.ต. อย่างค่อนข้างชัดเจน ว่า นายสมศักดิ์ มีพฤติการณ์ฉันท์ชู้สาวกับหญิงที่มีสามีแล้ว ยังอาศัยหญิงรายดังกล่าวใช้ในการเรียกร้องสินบนในการตัดสินพิพากษาคดีต่างๆ หลายคดีเป็นเงินรวมหลายสิบล้านบาทขึ้นอยู่กับความสำคัญของคดี เช่น
1. มีการเรียกสินบนเป็นเงิน 70 ล้านบาทในการพิจารณาคดีบริษัทจดทะเบียนแห่งหนึ่งที่กลุ่มผู้บริหารบริษัทถูก กล่าวหาว่า กระทำผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ในการยักยอกทรัพย์ หรือไซฟ่อนเงินของบริษัท และเกี่ยวพันกับตระกูลนักการเมืองระดับรัฐมนตรี ซึ่งศาลชั้นต้นสั่งยกฟ้อง
2. คดีโรงแรมชื่อดังย่านสุขุมวิท 3. คดีการประกันตัวจำเลยในคดีตาม พ.ร.บ. การกู้เงินอันเป็นการฉ้อโกงประชาชน หรือแชร์ลูกโซ่มีการเรียกเงินสินบน 2 ล้านบาท หลังจากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวแล้วจำเลยได้ซื้อรถยนต์ Benz รุ่น S 280 ปี 2002 ในราคา 2.1 ล้านบาท ที่เหลืออีก 1.5 ล้านบาท จัดไฟแนนซ์ให้อีกด้วย และ 4.เรียกสินบน 3.5 ล้านบาทในการสั่งอนุญาตการปล่อยชั่วคราวชาวต่างประเทศรายหนึ่ง โดยทนายความของจำเลยได้ยื่นคำร้องประกอบการขอปล่อยชั่วคราวต่อศาลอาญาและ ศาลอุทธรณ์มาหลายครั้งแล้ว แต่ก็ไม่ได้รับการอนุญาต ทนายความจึงติดต่อผ่านหญิงที่มีสัมพันธ์กับผู้ถูกร้องเรียน ซึ่งตกลงเรื่องเงินสินบนเป็นเงิน 3.5 ล้านบาท จากนั้นจึงมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยดังกล่าวในเดือนกันยายน 2552
ประธานศาลฎีกา ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเบื้องต้น โดยคณะกรรมการสอบสวนฯ ได้พิจารณาเอกสารหลักฐานและสอบถามผู้ร้องเรียนซึ่งได้ยืนยันข้อเท็จจริงตาม คำร้องเรียน นอกจากนี้ยังได้สอบถามผู้เกี่ยวข้อง แล้วเห็นว่าข้อร้องเรียนดังกล่าวมีมูล จึงได้รายงานให้ประธานศาลฎีกาทราบ และต่อมา ก.ต. ได้มีคำสั่งให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัย และมีคำสั่งให้ย้าย นายสมศักดิ์ ไปเป็นผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ประจำสำนักงานศาลยุติธรรมซึ่งเป็นตำแหน่งแขวนไม่ มีหน้าที่ในการพิจารณาคดี พร้อมทั้งเซ็นคำสั่งพักราชการนายสมศักดิ์ ไว้ด้วย
กระทั่งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง สอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว เห็นว่า นายสมศักดิ์ ได้กระทำผิดตามที่มีผู้ร้องเรียน กล่าวหาจริงใน 2 กรณี คือ มีพฤติการณ์ฉันท์ชู้สาวกับหญิงที่มีสามีแล้ว และเรียกรับสินบนแลกกับการสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลย เข้าข่ายเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม เพราะเป็นการรับสินบนเพื่อล้มคดีหรือให้ปล่อยตัวจำเลยชั่วคราวเป็นความผิด ทางอาญา เป็นการกระทำผิดวินัยร้ายแรง จึงเสนอให้อนุ ก.ต. พิจารณาเสนอที่ประชุม ก.ต.พิจารณาลงโทษให้ไล่ออกจากราชการดังกล่าว
มติ ก.ต.ในครั้งนี้ สอดรับกับคำปราศรัยของนายสบโชค สุขารมณ์ ประธานศาลฎีกา เนื่องในอภิลักขิตสมัยขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช 2553 ที่มอบให้แก่ประชาชนชาวไทยตอนหนึ่งว่า...“ศาลยุติธรรมได้กำหนดนโยบายที่จะ เพิ่มพูนประสิทธิภาพในการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนด้วยความถูกต้อง รวดเร็ว เป็นธรรมและทั่วถึง รักษามาตรฐานทางจริยธรรมและความเป็นกลางของผู้พิพากษา สร้างความปรองดองและสมานฉันท์ในสังคมด้วยการส่งเสริมการเคารพในวัฒนธรรม ศาสนา และกฎหมาย กระผมและข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ผู้ปฏิบัติหน้าที่ภายใต้พระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ ขอตั้งปณิธานอย่างแน่วแน่ที่จะปฏิบัติหน้าที่เพื่ออำนวยความยุติธรรมให้แก่ ประชาชนด้วยความถูกต้องและเที่ยงธรรม ยึดมั่นในคุณธรรม จริยธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อความสงบสุขและร่มเย็นของสังคมและพี่น้องชาวไทยได้อยู่ร่วมกันโดยเปี่ยม ด้วยความผูกพันและห่วงใยต่อกัน”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น