หลักกฎหมายแปลงหนี้ใหม่
มาตรา 349 เมื่อคู่กรณีที่เกี่ยวข้องได้ทำสัญญาเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็น สาระสำคัญแห่งหนี้ไซร้ ท่านว่าหนี้นั้นเป็นอันระงับสิ้นไปด้วยแปลง หนี้ใหม่ถ้าทำหนี้มีเงื่อนไขให้กลายเป็นหนี้ปราศจากเงื่อนไขก็ดี เพิ่มเติม เงื่อนไขเข้าในหนี้อันปราศจากเงื่อนไขก็ดี เปลี่ยนเงื่อนไขก็ดี ท่าน ถือว่าเป็นอันเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้นั้นถ้าแปลงหนี้ใหม่ด้วย เปลี่ยนตัวเจ้าหนี้ ท่านให้บังคับด้วยบทบัญญัติ ทั้งหลายแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยโอนสิทธิเรียกร้อง
มาตรา 350 แปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวลูกหนี้นั้น จะทำเป็นสัญญาระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้คนใหม่ก็ได้ แต่จะทำโดยขืนใจลูกหนี้เดิมหาได้ไม่
มาตรา 351 ถ้าหนี้อันจะพึงเกิดขึ้นเพราะแปลงหนี้ใหม่นั้นมิได้เกิด มีขึ้นก็ดี ได้ยกเลิกเสียเพราะมูลแห่งหนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือ เพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันมิรู้ถึงคู่กรณีก็ดี ท่านว่าหนี้เดิมนั้น ก็ยังหาระงับสิ้นไปไม่
มาตรา 352 คู่กรณีในการแปลงหนี้ใหม่อาจโอนสิทธิจำนำหรือ จำนองที่ได้ให้ไว้เป็นประกันหนี้เดิมนั้นไปเป็นประกันหนี้รายใหม่ได้ เพียงเท่าที่เป็นประกันวัตถุแห่งหนี้เดิม แต่หลักประกันเช่นว่านี้ ถ้าบุคคลภายนอกเป็นผู้ให้ไว้ไซร้ ท่านว่าจำต้องได้รับความยินยอมของบุคคลภายนอกนั้นด้วยจึงโอนได้
โดยเปลี่ยนตัวลูกหนี้
การแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ จะทำเป็นสัญญาระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้คนใหม่ก็ได้ แต่จะทำโดยขืนใจลูกหนี้เดิมไม่ได้ (มาตรา 350) ซึ่งการแปลงหนี้ใหม่โดยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้นั้นถือเป็นการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญแห่งหนี้ ตามมาตรา 349 เช่นกัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3833/2552
การแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้นั้น ป.พ.พ. มาตรา 350 ห้ามแต่เพียงว่าจะทำโดยขืนใจลูกหนี้เดิมไม่ได้เท่านั้น เมื่อได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ว่า ป. กู้เงินเพื่อให้จำเลยที่ 2 นำไปลงทุนด้วยแล้ว กรณีจะทำโดยขืนใจ ป. ลูกหนี้เดิมย่อมไม่มี เมื่อหนี้ตามสัญญากู้เงินระงับไปแล้ว จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 698 คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดตามสัญญาค้ำประกันมิได้ฟ้องขอให้บังคับให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินตามสัญญากู้เงิน การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาให้จำเลยที่ 2 รับผิดตามสัญญากู้เงิน จึงเป็นการพิพากษาเกินไปหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง
และการแปลงหนี้ใหม่กฎหมายไม่ได้บัญญัติว่าต้องทำเป็นหนังสือ จึงตกลงกันด้วยวาจาได้ เมื่อคำเสนอและคำสนองถูกต้องตรงกันก็เกิดสัญญาแปลงหนี้ใหม่ หนี้เดิมก็ระงับไป
แต่ถ้าได้มีการตกลงกันว่าสัญญาที่จะทำกันนั้นต้องทำเป็นหนังสือ(คู่สัญญาตกลงกันเอง) ถ้ามีกรณีเป็นที่สงสัย(สงสัยว่าสัญญานั้นจะต้องทำเป็นหนังสือตามที่คู่สัญญาตกลงกัน) สัญญานั้นก็ยังไม่เกิดขึ้นจนกว่าจะได้ทำเป็นหนังสือ ตามมาตรา 366 วรรคสอง ซึ่งสัญญาที่จะเข้ามาตรา 366 วรรคสองนี้ ต้องไม่ใช่สัญญาซึ่งกฎหมายบังคับให้ต้องทำตามแบบที่ต้องทำเป็นหนังสือ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2339/2551
ป.พ.พ. มาตรา 350 มิได้บัญญัติว่าต้องทำสัญญาแปลงหนี้ใหม่เป็นหนังสือระหว่างเจ้าหนี้กับ ลูกหนี้คนใหม่ การแสดงเจตนาด้วยวาจาโดยมีคำเสนอและคำสนองตรงกันก็ถือว่าเป็นการแสดงเจตนาทำ สัญญาแปลงหนี้ใหม่ต่อกันได้แล้ว
ป.พ.พ. มาตรา 366 วรรคสอง ต้องมีกรณีเป็นที่สงสัย จึงนับว่ายังมิได้มีสัญญาต่อกันจนกว่าจะได้ทำขึ้นเป็นหนังสือ แต่ข้อเท็จจริงในคดีนี้ไม่มีกรณีใดๆ ที่จะต้องสงสัยอีกต่อไป เพราะโจทก์ยินยอมรับโอนที่ดินจากบริษัท ธ. แล้ว ซึ่งตามมาตรา 361 สัญญาระหว่างบุคคลซึ่งอยู่ห่างกันโดยระยะทาง ย่อมเกิดเป็นสัญญาขึ้นแต่เวลาเมื่อคำบอกกล่าวสนองไปถึงผู้เสนอ การที่โจทก์รับโอนที่ดินจึงเป็นการสนองเจตนาไปถึงบริษัท ธ. ผู้เสนอแล้วย่อมเกิดเป็นสัญญาขึ้น โดยมิจำต้องทำเป็นหนังสือ
โจทก์ ฟ้องว่า ระหว่างเดือนกันยายน 2540 ถึงเดือนมกราคม 2541 จำเลยซื้อสีทาอาคาร และสีน้ำมันต่างๆ รวม 12 ครั้ง คิดเป็นเงิน 641,865.57 บาท ไปจากโจทก์ จำเลยได้รับสินค้าแล้วแต่ไม่ชำระเงินภายใน 60 วัน ตามเงื่อนไข ถือว่าผิดนัด จึงขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ครบกำหนดชำระค่าสินค้าแต่ละครั้ง ถึงวันที่ 17 ธันวาคม 2541 คิดเป็นดอกเบี้ย 51,252.13 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 693,117.70 บาท ต่อมาจำเลยได้โอนที่ดินชำระหนี้แก่โจทก์คิดเป็นเงินจำนวน 448,000 บาท ยังค้างชำระหนี้จำนวน 245,127.70 บาท หลังจากนั้นผิดนัดไม่ชำระหนี้อีกเลย จึงขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 253,015.11 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 193,865.57 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า มูลหนี้ตามฟ้องโจทก์ได้ระงับสิ้นไปด้วยการแปลงหนี้ใหม่โดยการเปลี่ยนตัว ลูกหนี้ เนื่องจากโจทก์รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินจากบริษัทธำรงค์พัฒนาการ จำกัด ตีชำระหนี้แทนหนี้ของจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า จำเลยสั่งซื้อสีทาอาคารจากโจทก์เป็นเงิน 641,865.57 บาท ต่อมาวันที่ 24 กันยายน 2541 บริษัทธำรงค์พัฒนาการ จำกัด ได้ส่งโทรสารถึงโจทก์ขอชำระหนี้แทนจำเลย โดยเสนอโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 37692 ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ให้แก่โจทก์ตามเอกสารหมาย จ.9 และ จ.10 ต่อมาวันที่ 18 ธันวาคม 2541 โจทก์ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าวจากบริษัทธำรงค์พัฒนาการ จำกัด โดยใส่ชื่อนายสืบพงศ์กรรมการผู้จัดการของโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ไว้แทน
ปัญหาต้องวินิจฉัยว่า หนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยนั้นได้มีการแปลงหนี้ใหม่โดยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ หรือไม่ ที่โจทก์ฎีกาว่า ยังไม่มีการทำสัญญาแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้อันเป็นสัญญาที่ทำ ขึ้นระหว่างโจทก์กับบริษัทธำรงค์พัฒนาการ จำกัด หนี้ตามสัญญาซื้อขายเดิมระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงยังไม่ระงับสิ้นไปนั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 350 บัญญัติว่า แปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้นั้นจะทำเป็นสัญญาระหว่างเจ้าหนี้กับ ลูกหนี้คนใหม่ก็ได้ แต่จะทำโดยขืนใจลูกหนี้เดิมหาได้ไม่ ตามมาตราดังกล่าวที่กฎหมายบัญญัติให้ทำเป็นสัญญานั้น กฎหมายมิได้บัญญัติว่าต้องทำเป็นหนังสือ การแสดงเจตนาโดยมีคำเสนอและคำสนองตรงกันก็ย่อมถือว่าเป็นการแสดงเจตนาทำ สัญญาต่อกันได้แล้ว ตามคำเสนอข้อตกลงการชำระหนี้ของบริษัทธำรงค์พัฒนาการ จำกัด โดยบริษัทดังกล่าวเสนอโอนที่ดินให้แก่โจทก์ตีมูลค่าราคาที่ดินเป็นเงิน 448,000 บาท ส่วนหนี้ที่เหลืออีกจำนวน 193,865.57 บาท ผู้รับสัญญาคือบริษัทธำรงค์พัฒนาการ จำกัด ตกลงจะชำระหนี้ให้แก่โจทก์ให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี นับแต่วันที่ได้ทำบันทึกข้อตกลง ซึ่งต่อมาวันที่ 18 ธันวาคม 2541 โจทก์ก็ได้สนองรับคำเสนอตามเอกสารหมาย จ.10 โดยโจทก์ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงดังกล่าวจากบริษัทธำรงค์พัฒนาการ จำกัด โดยใส่ชื่อนายสืบพงศ์กรรมการผู้จัดการโจทก์ไว้แทน คำเสนอของบริษัทธำรงค์พัฒนาการ จำกัด จึงตรงกับคำสนองของโจทก์ เพราะโจทก์ได้รับโอนที่ดินไว้แล้วโดยใส่ชื่อนายสืบพงศ์การโอนหนี้ดังกล่าว ไม่ปรากฏว่ามีการขืนใจลูกหนี้แต่อย่างใด จึงเป็นการแปลงหนี้โดยชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 350 หนี้จึงเป็นอันระงับสิ้นไปด้วยการแปลงหนี้ใหม่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์ มาตรา 349 หนี้ที่เกิดขึ้นใหม่ จึงเป็นหนี้ระหว่างโจทก์กับบริษัทธำรงค์พัฒนาการ จำกัดที่จะต้องว่ากล่าวกันต่อไป
ที่โจทก์ฎีกาว่า เจตนาของคู่สัญญาทั้งสามฝ่ายที่มีอยู่ในร่างบันทึกข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.10 และ จ.12 ย่อมแสดงให้เห็นว่าคู่สัญญาทั้งสามฝ่าย อันได้แก่ โจทก์ จำเลยและบริษัทธำรงค์พัฒนาการ จำกัด ประสงค์ที่จะทำความตกลงกันโดยละเอียดก่อนแล้วจึงทำเป็นหนังสือ แต่เมื่อปรากฏว่าคู่สัญญาทั้งสามฝ่ายยังไม่ได้ทำสัญญาเป็นหนังสือ จึงถือว่าสัญญาแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้อันเป็นสัญญาที่ทำขึ้น ระหว่างโจทก์กับบริษัทธำรงค์พัฒนาการ จำกัด ยังไม่เกิดขึ้น ซึ่งโจทก์เห็นว่ากรณีต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 366 วรรคสอง ดังนั้น การที่บริษัทธำรงค์พัฒนาการ จำกัด ได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์จึงเป็นการชำระหนี้บางส่วนของจำเลย หนี้ส่วนที่เหลือระหว่างโจทก์จำเลยยังไม่ระงับสิ้นไปนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 366 วรรคสอง บัญญัติว่า ถ้าได้ตกลงกันว่าสัญญาอันมุ่งจะทำนั้นต้องทำเป็นหนังสือไซร้ เมื่อกรณีเป็นที่สงสัย ท่านนับว่ายังมิได้มีสัญญาต่อกันจนกว่าจะได้ทำขึ้นเป็นหนังสือ เห็นว่า ข้อเท็จจริงในคดีนี้ไม่มีกรณีใดๆ ที่จะต้องสงสัยอีกต่อไป เพราะโจทก์ยินยอมรับโอนที่ดินจากบริษัทธำรงค์พัฒนาการ จำกัด โดยใส่ชื่อนายสืบพงศ์ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการของโจทก์ไว้แทนแล้ว ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 361 บัญญัติว่า อันสัญญาระหว่างบุคคลซึ่งอยู่ห่างกันโดยระยะทางนั้น ย่อมเกิดเป็นสัญญาขึ้นแต่เวลาเมื่อคำบอกกล่าวสนองไปถึงผู้เสนอ การที่โจทก์รับโอนที่ดินจึงเป็นการสนองเจตนาไปถึงบริษัทธำรงค์พัฒนาการ จำกัด ผู้เสนอแล้วย่อมเกิดเป็นสัญญาขึ้นโดยมิจำต้องทำเป็นหนังสือ หนี้ระหว่างโจทก์จำเลยจึงเป็นอันระงับ คำพิพากษาศาลล่างทั้งสองชอบแล้ว"
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ
หมายเหตุ
การ แปลงหนี้ใหม่เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้หนี้ระงับที่เกิดจากการที่เจ้าหนี้กับ ลูกหนี้ทำสัญญาเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ มาผูกพันเป็นหนี้ใหม่ โดยอาจมีการแปลงหนี้ใหม่โดยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้เอาบุคคลภายนอกเข้ามาผูกพัน เป็นหนี้ใหม่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 350 ก็ได้
จำเลยซื้อสีจากโจทก์มีความผูกพันเป็นหนี้ตามสัญญาซื้อขายสี การที่โจทก์รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินจากบริษัท ธ. ถ้าบริษัทดังกล่าวมิได้เข้ามาผูกพันเป็นหนี้กับโจทก์ต่อไป โดยเมื่อได้ทำการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้แก่โจทก์แล้วไม่มีหนี้ อะไรที่ต้องชำระให้โจทก์อีก ก็จะไม่เป็นการแปลงหนี้ใหม่โดยเปลี่ยนตัวลูกหนี้ตามมาตรา 350 แต่เป็นการตีใช้หนี้อันเป็นการชำระหนี้ด้วยอย่างอื่นโดยบุคคลภายนอกเป็นผู้ ชำระหนี้ซึ่งโจทก์ยอมรับชำระหนี้นั้นทำให้หนี้เดิมระงับไปตามมาตรา 321 วรรคสอง แต่ปรากฏว่า บริษัท ธ. ได้ตกลงจะชำระหนี้ส่วนที่เหลือจากการตีใช้หนี้ด้วยหนี้ส่วนนี้จึงเป็นการ แปลงหนี้ใหม่โดยเปลี่ยนตัวลูกหนี้
ไพโรจน์ วายุภาพ
ฎีกาอื่นๆ
หนังสือสัญญารับสภาพหนี้ที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ทำให้ไว้แก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เป็นเพียงการยอมรับว่าเป็นหนี้โจทก์และจะชำระหนี้ มิได้เป็นการยกเลิกหลักประกันหรือการค้ำประกัน หรือเป็นการแปลงหนี้ใหม่อันจะมีผลให้หนี้เดิมระงับไป เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมในหนี้ของจำเลยที่ 1 จึงยังคงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกัน (ฎ 393/2550)
หนี้ของการแปลงหนี้ใหม่ไม่เกิด หนี้เดิมไม่ระงับ
ณ. ทำสัญญาแปลงหนี้เงินกู้เป็นการซื้อขายรถยนต์แทน เป็นการแปลงหนี้ใหม่ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 349 วรรคแรก แต่สัญญาซื้อขายรถยนต์มีข้อตกลงเป็นเงื่อนไขว่าในระหว่างที่ผู้ขายยังไม่ส่งมอบทรัพย์สินที่ขายให้แก่ผู้ซื้อให้ถือว่ายังไม่มีการซื้อขาย ฉะนั้น จึงถือว่าเป็นกรณีที่หนี้อันจะพึงเกิดขึ้นเพราะแปลงหนี้ใหม่นั้นมิได้เกิดมีขึ้น หนี้เดิมยังไม่ระงับสิ้นไปตามมาตรา 351 จำเลยในฐานะทายาทของ ณ. จึงต้องรับผิดชดใช้หนี้เงินกู้ให้แก่โจทก์ (ฎ 2675/2548)
แปลงหนี้ใหม่ แต่มีเงื่อนไข
ณ. ทำสัญญาแปลงหนี้เงินกู้เป็นการซื้อขายรถยนต์แทน เป็นการแปลงหนี้ใหม่ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 349 วรรคแรก แต่สัญญาซื้อขายรถยนต์มีข้อตกลงเป็นเงื่อนไขว่าในระหว่างที่ผู้ขายยังไม่ส่งมอบทรัพย์สินที่ขายให้แก่ผู้ซื้อให้ถือว่ายังไม่มีการซื้อขาย ฉะนั้น จึงถือว่าเป็นกรณีที่หนี้อันจะพึงเกิดขึ้นเพราะแปลงหนี้ใหม่นั้นมิได้เกิดมีขึ้น หนี้เดิมยังไม่ระงับสิ้นไปตามมาตรา 351 จำเลยในฐานะทายาทของ ณ. จึงต้องรับผิดชดใช้หนี้เงินกู้ให้แก่โจทก์ (ฎ 2675/2548)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3833/2552
การแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้นั้น ป.พ.พ. มาตรา 350 ห้ามแต่เพียงว่าจะทำโดยขืนใจลูกหนี้เดิมไม่ได้เท่านั้น เมื่อได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ว่า ป. กู้เงินเพื่อให้จำเลยที่ 2 นำไปลงทุนด้วยแล้ว กรณีจะทำโดยขืนใจ ป. ลูกหนี้เดิมย่อมไม่มี เมื่อหนี้ตามสัญญากู้เงินระงับไปแล้ว จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 698 คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดตามสัญญาค้ำประกันมิได้ฟ้องขอให้บังคับให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินตามสัญญากู้เงิน การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาให้จำเลยที่ 2 รับผิดตามสัญญากู้เงิน จึงเป็นการพิพากษาเกินไปหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3514/2551
ธนาคาร ม. เป็นผู้รับอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินของลูกหนี้ซึ่งลูกหนี้สัญญาว่าจะจ่ายเงินให้แก่ ว. โดยลูกหนี้สัญญากับธนาคาร ม. ว่าจะชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ธนาคาร ม. ต่อมาธนาคาร ม. ได้ใช้เงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่ ว. หลังจากนั้นธนาคาร ม. และลูกหนี้ได้ตกลงกันให้ธนาคารเจ้าหนี้เข้ามารับผิดชอบชำระหนี้อาวัลตั๋ว สัญญาใช้เงินดังกล่าวแทนลูกหนี้ โดยออกบัตรเงินฝากให้แก่ธนาคาร ม. เป็นการทำสัญญาเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้อันเป็นการแปลงหนี้ใหม่ มีผลให้มูลหนี้อาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินระงับสิ้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 349 วรรคหนึ่ง ธนาคาร ม. ไม่อยู่ในฐานะเจ้าหนี้ในมูลหนี้ดังกล่าว เจ้าหนี้ในฐานะเป็นผู้รับโอนสินทรัพย์และหนี้สินของธนาคาร ม. จึงไม่มีสิทธิได้รับชำระหนี้โดยอาศัยมูลหนี้ดังกล่าวเช่นเดียวกัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2569/2551
บริษัท ร. นำเช็คพิพาทไปขายลดแก่โจทก์โดยลงลายมือชื่อสลักหลัง โจทก์จึงเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายและบริษัท ร. ผู้สลักหลังจึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 914 และมาตรา 967 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 989 อันถือได้ว่าเป็นความรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ดังนั้น เมื่อโจทก์ทำสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งถือได้ว่าเป็นการแปลงหนี้ใหม่อีก ประการหนึ่ง โจทก์คงมีสิทธิเรียกร้องให้บริษัท ร. ชำระหนี้แก่ตนตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น ไม่มีสิทธิที่จะเรียกให้บริษัท ร. รับผิดในมูลหนี้ตามเช็คพิพาทได้อีก สิทธิของโจทก์ที่จะเรียกร้องต่อจำเลยในฐานะผู้สั่งจ่ายให้รับผิดต่อโจทก์ในมูลหนี้ตามเช็คพิพาทย่อมหมดสิ้นไปด้วย ทั้งนี้ เพราะสิทธิเรียกร้องในมูลหนี้ตามเช็คพิพาทของโจทก์ได้ระงับสิ้นไปแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2339/2551
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 350 ที่กฎหมายบัญญัติให้ทำเป็นสัญญานั้น กฎหมายมิได้บัญญัติว่าต้องทำเป็นหนังสือ การแสดงเจตนาโดยมีคำเสนอและคำสนองตรงกันก็ย่อมถือว่าเป็นการแสดงเจตนาทำ สัญญาต่อกันได้แล้ว ตามคำเสนอข้อตกลงการชำระหนี้ของ บริษัท ธ. โดยบริษัทดังกล่าวเสนอโอนที่ดินให้แก่โจทก์ตีมูลค่าราคาที่ดินเป็นเงิน 448,000 บาท ส่วนหนี้ที่เหลืออีกจำนวน 193,865.57 บาท ผู้รับสัญญา คือ บริษัท ธ. ตกลงจะชำระหนี้ให้แก่โจทก์ให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี นับแต่วันที่ได้ทำบันทึกข้อตกลง ซึ่งต่อมาโจทก์ก็ได้สนองรับคำเสนอโดยโจทก์ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงดัง กล่าวจาก บริษัท ธ. โดยใส่ชื่อ ส. กรรมการผู้จัดการโจทก์ไว้แทนคำเสนอของบริษัท ธ. จึงตรงกับคำสนองของโจทก์ เพราะโจทก์ได้รับโอนที่ดินไว้แล้วโดยใส่ชื่อ ส. การโอนหนี้ดังกล่าวไม่ปรากฏว่ามีการขืนใจลูกหนี้แต่อย่างใด จึงเป็นการแปลงหนี้โดยชอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 350 หนี้จึงเป็นอันระงับสิ้นไปด้วยการแปลงหนี้ใหม่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 349
ข้อเท็จจริงในคดีนี้ไม่มีกรณีใด ๆ ที่จะต้องสงสัยอีกต่อไปว่ายังมิได้มีสัญญาต่อกันจนกว่าจะได้ทำเป็นหนังสือตาม ป.พ.พ. มาตรา 366 วรรคสอง เพราะโจทก์ยินยอมรับโอนที่ดินจากบริษัท ธ. โดนใส่ชื่อ ส. ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการของโจทก์ไว้แทน จึงเป็นการสนองเจตนาไปถึงบริษัท ธ. ผู้เสนอแล้ว ย่อมเกิดเป็นสัญญาขึ้นแต่เวลาเมื่อคำบอกกล่าวสนองไปถึงผู้เสนอตาม ป.พ.พ. มาตรา 361 โดยมิจำต้องทำเป็นหนังสือ หนี้ระหว่างโจทก์จำเลยจึงเป็นอันระงับ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1783/2551
การออกตั๋วสัญญาใช้เงิน และผู้ออกคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 16 ต่อปี เป็นการตกลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 911, 968 (1) ประกอบด้วยมาตรา 985 ซึ่งกฎหมายมิได้วางข้อจำกัดอันใดไว้จึงแล้วแต่คู่กรณีจะตกลงกัน จึงมิใช่การให้กู้ยืมเงินตามความหมายของ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา ฯ การที่ระบุอัตราดอกเบี้ยไว้ในตั๋วสัญญาใช้เงินอัตราร้อยละ 16 ต่อปี ก็มิใช่กรณีเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราอันจะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. ดังกล่าว ทั้งไม่ต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 654 ตั๋วสัญญาใช้เงินและดอกเบี้ยตามตั๋วสัญญาใช้เงินตามฟ้องจึงไม่เป็นโมฆะ
เมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งในคดีหมายเลขแดงที่ ฟ.8/2542 เห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท ป. ลูกหนี้แล้ว โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นกิจการตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ล้มละลายฯ ซึ่งโจทก์ก็เบิกความยืนยันว่ายังไม่ได้รับชำระหนี้จากบริษัท ป. ข้อนี้จำเลยก็ไม่นำสืบโต้แย้งว่าโจทก์ได้รับชำระหนี้แล้ว หนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินตามฟ้องจึงยังไม่ระงับ การยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีฟื้นฟูกิจการดังกล่าวเป็นเพียงวิธีการตามที่ กฎหมายกำหนดไม่ใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่ เมื่อหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินยังไม่ระงับ จำเลยผู้ค้ำประกันด้วยอาวัลจึงต้องร่วมรับผิดกับบริษัท ป. ผู้ออกตั๋วด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3828/2550
จำเลย ที่ 1 ว่าจ้างโจทก์ติดตั้งวัสดุเชื่อมรอยต่อ โจทก์ติดตั้งและส่งมอบงานทั้งหมดให้แก่จำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าจ้างส่วนที่เหลือและคืนเงินประกันแก่โจทก์ โดยอ้างว่าโจทก์ยังทำงานไม่เสร็จเนื่องจากมีการรั่วซึมของน้ำตลอดเวลา การที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำบันทึกข้อตกลงว่าจำเลยที่ 1 จะจ่ายค่าจ้างส่วนที่เหลือและเงินค้ำประกันผลงานให้แก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ได้รับเงินค่าจ้างงวดสุดท้ายจากการกีฬาแห่งประเทศไทย เป็นการเปลี่ยนหลักเกณฑ์กำหนดการจ่ายค่าจ้างส่วนที่เหลือและเงินค้ำประกัน ที่จำเลยที่ 1 จะต้องจ่ายให้แก่โจทก์เท่านั้น มิใช่เปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ที่จะเป็นการแปลงหนี้ใหม่อันจะมี ผลทำให้หนี้ตามสัญญาจ้างเหมาติดตั้งระงับสิ้นไป แต่ข้อตกลงตามบันทึกดังกล่าวยังมีผลที่จะบังคับกันได้ เมื่อจำเลยที่ 1 ยังมิได้รับเงินค่าจ้างงวดสุดท้ายจากการกีฬาแห่งประเทศไทย หนี้ตามที่โจทก์ฟ้องจึงยังไม่ถึงกำหนดเวลาชำระ โจทก์ยังไม่ถูกโต้แย้งสิทธิจึงไม่มีอำนาจฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3209/2550
ป.กับโจทก์เป็นหุ้นส่วนในการขายที่ดินให้แก่จำเลย จำเลยไม่มีเงินชำระค่าที่ดินในส่วนของที่ดินที่เพิ่มขึ้น แต่จำเลยตกลงรับโอนกรรมสิทธิ์โดยลงลายมือชื่อในสัญญากู้ยืมเงินให้ผู้จะขาย ไว้ โดยระบุว่าจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์เท่ากับเป็นการกู้เงินจากผู้จะขายมาชำระราคาที่ดินในส่วนเนื้อที่ที่เกินไปจากสัญญาจะซื้อจะขาย โจทก์จึงเป็นผู้มีสิทธิลงลายมือชื่อในสัญญากู้ในฐานะผู้ให้กู้ได้และผูกพันจำเลย
หนี้เดิมเป็นการตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกัน ฝ่ายจำเลยไม่มีเงินพอจะจ่ายในส่วนของเนื้อที่ดินที่เกิน จึงตกลงทำสัญญากู้ยืมเงินขึ้นเพื่อชำระหนี้ค่าที่ดินส่วนที่เกิน ถือว่าเป็นการแปลงสาระสำคัญแห่งหนี้ เป็นการแปลงหนี้ใหม่จากสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินมาเป็นสัญญากู้ยืมเงินโดยผู้ ให้กู้อยู่ในฐานะผู้จะขายเช่นกัน การแปลงหนี้ใหม่ในครั้งนี้จึงมิได้เปลี่ยนตัวเจ้าหนี้ จึงมิใช่การแปลงหนี้ใหม่โดยเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้ที่จะต้องบังคับตามบทบัญญัติ ว่าด้วยการโอนสิทธิเรียกร้องจำเลยจึงต้องรับผิดชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงิน ให้แก่โจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 393/2550
หนังสือสัญญารับสภาพหนี้ที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ทำให้ไว้แก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เป็นเพียงการยอมรับว่าเป็นหนี้โจทก์และจะชำระหนี้ มิได้เป็นการยกเลิกหลักประกันหรือการค้ำประกัน หรือเป็นการแปลงหนี้ใหม่อันจะมีผลให้หนี้เดิมระงับไป เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมในหนี้ของจำเลยที่ 1 จึงยังคงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5387 - 5388/2550
ข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยมีเงื่อนไขในลักษณะที่โจทก์มีเจตนาจะให้จำเลยทำงานให้โจทก์แล้วเสร็จก่อนแล้วจึงหักหนี้ค่าก่อสร้างกับมูลหนี้ที่ออกเช็คพิพาทคดีนี้ภายหลัง เมื่อจำเลยก่อสร้างหรือชำระหนี้ให้โจทก์ครบถ้วนโจทก์จึงจะถอนฟ้องคดีนี้ให้ ไม่มีข้อความตอนใดแสดงว่าโจทก์ตกลงระงับข้อพิพาทหรือสละสิทธิในการดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยทันทีแต่อย่างใด จึงมิใช่การยอมความเพื่อให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)
ข้อตกลงดังกล่าวเป็นเรื่องที่โจทก์ฝ่ายเดียวผ่อนผันการชำระหนี้ให้แก่จำเลยมิใช่ต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน จึงไม่เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ ไม่ทำให้มูลหนี้เดิมตามเช็คระงับไป แล้วเกิดหนี้ใหม่ตามสัญญาประนีประนอมยอมความทั้งไม่มีการเปลี่ยนแปลงสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้จึงมิใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่อันจะทำให้หนี้เดิมระงับไปแต่อย่างใด เมื่อจำเลยมิได้ใช้เงินตามเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับให้โจทก์ และหนี้ที่ได้ออกเช็คเพื่อใช้เงินนั้นก็ไม่สิ้นผลผูกพันตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 7 คดีจึงไม่เลิกกัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1732/2550
จำเลยทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ตามสัญญารับผิดชดใช้ความเสียหายของ ก. ต่อโจทก์ แต่เมื่อโจทก์และ ก. ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความเกี่ยวกับค่าเสียหายที่ ก. จะต้องรับผิด ความรับผิดของ ก. ที่เกิดจากสัญญารับผิดชดใช้ความเสียหายและความรับผิดของจำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันจึงระงับสิ้นไป และทำให้ ก. ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 และ 852 เมื่อความรับผิดของ ก. ต่อโจทก์เปลี่ยนเป็นความรับผิดตามสัญญาประนีประนอมยอมความ จำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันจึงหลุดพ้นจากความรับผิดไปด้วยเนื่องจากหนี้ของ ก. ตามสัญญารับผิดชดใช้ความเสียหายระงับสิ้นไปแล้วตามมาตรา 698
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7943/2549
ลูกหนี้มีความผูกพันตามสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดกับเจ้าหนี้โดยต้องรับผิดจัดทำกันซึมเพื่อป้องกันน้ำซึมจากชั้นบนอยู่แล้ว ทั้งเจ้าหนี้ไม่ได้ทำสัญญาประกันการรั่วซึมฉบับใหม่กับบริษัท ท. ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก กรณีจึงมิใช่การเปลี่ยนแปลงหนี้ใหม่โดยเปลี่ยนตัวลูกหนี้ที่จะทำให้หนี้เดิมระงับ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6346/2549
อ. บิดาโจทก์มอบหมายให้จำเลยเป็นตัวแทนไปติดต่อขอเช่าที่ราชพัสดุจากกรมธนารักษ์และมอบเงินจำนวน 4,000,000 บาท ให้แก่จำเลยไปใช้เป็นค่าดำเนินการและค่าเช่าพื้นที่ จำเลยจึงเป็นตัวแทนของ อ. เงินที่จำเลยรับมาจาก อ. จึงเป็นเงินที่จำเลยรับไว้เกี่ยวด้วยการเป็นตัวแทนซึ่งจำเลยสัญญาว่าจะส่งคืนให้เนื่องจากกิจการที่ทำการแทนไม่สำเร็จลุล่วง จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องส่งเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่ อ. ซึ่งเป็นตัวการตาม ป.พ.พ. มาตรา 810 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์กับจำเลยเจรจาตกลงทำสัญญากู้เงินกัน โดยระบุว่าโจทก์ให้จำเลยกู้ยืมเงินเท่ากับจำนวนเงินที่จำเลยมีหน้าที่ต้องส่งคืนให้แก่ อ. จึงเป็นการแปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้จาก อ. มาเป็นโจทก์และเปลี่ยนมูลหนี้ตามสัญญาตัวแทนมาเป็นมูลหนี้ตามสัญญากู้เงิน ซึ่งการแปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 349 วรรคสาม นั้น ต้องบังคับด้วยบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 306 วรรคหนึ่ง ว่าด้วยโอนสิทธิเรียกร้องโดยต้องทำเป็นหนังสือ แต่ไม่ปรากฏว่า อ. ได้โอนหนี้ที่จำเลยมีอยู่แก่ตนให้แก่โจทก์โดยทำเป็นหนังสือ จึงไม่เป็นการโอนหนี้ที่สมบูรณ์ แม้จะได้ความว่า อ. มอบหมายให้โจทก์ดำเนินการเรื่องนี้ทั้งหมด โจทก์ก็มีฐานะเป็นเพียงตัวแทน อ. ทั้งไม่ปรากฏว่า อ. ดำเนินกิจการโรงเรียนร่วมกับโจทก์อันจะถือว่าจำเลยเป็นตัวแทนโจทก์ด้วย และการทำสัญญากู้เงินก็ไม่ปรากฏว่า อ. มีส่วนเกี่ยวข้องหรือร่วมรู้เห็นด้วยแต่ประการใด ดังนี้เมื่อจำเลยไม่มีหนี้ที่จะต้องรับผิดต่อโจทก์ย่อมไม่มีหนี้เดิมที่จะแปลงเป็นมูลหนี้ตามสัญญากู้เงินได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยรับผิดชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินดังกล่าว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6031/2549
มูลหนี้เดิมที่เปลี่ยนแปลงมาเป็นสัญญากู้เงินตามฟ้อง เป็นการแปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวลูกหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 350 จำเลยต้องผูกพันรับผิดตามสัญญากู้เงินและสัญญาค้ำประกันต่อโจทก์ จะอ้างว่าจำเลยไม่ได้รับเงินไปตามสัญญากู้เงินเพื่อปฏิเสธความรับผิดไม่ได้
การนำสืบว่าเป็นการแปลงหนี้ใหม่ เป็นการนำสืบถึงที่มาแห่งหนี้ตามสัญญากู้ตามฟ้องไม่เป็นการต้องห้าม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2618/2549
ข้อตกลงตามสัญญาซื้อขายดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 โอนสิทธิและหน้าที่ในการปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายที่มีอยู่แก่โจทก์ให้แก่จำเลยที่ 2 มิใช่เป็นแต่เพียงโอนสิทธิเรียกร้องแก่โจทก์ให้จำเลยที่ 2 เท่านั้น กรณีมิใช่เรื่องการโอนสิทธิเรียกร้อง จึงไม่อาจนำ ป.พ.พ. มาตรา 306 มาใช้บังคับได้ แต่การที่โจทก์กับจำเลยที่ 2 ได้ทำข้อตกลงกันต่อมาว่า โจทก์กับจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาซื้อขายดินกันซึ่งเป็นดินแปลงเดียวกับที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะซื้อขายจากโจทก์และจำเลยที่ 2 ได้ขุดดินของโจทก์ไปครบแล้ว จำเลยที่ 2 ยังชำระค่าดินให้แก่โจทก์ไม่ครบ ถือได้ว่าเป็นสัญญาระหว่างโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้กับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกหนี้คนใหม่ ย่อมมีผลเป็นการแปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวลูกหนี้ตามมาตรา 350 ซึ่งทำให้หนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นอันระงับสิ้นไปตามมาตรา 349 แล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามสัญญาซื้อขายดิน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6053/2548
การที่จำเลยว่าจ้าง น. ให้เป็นตัวแทนเรียกค่าเสียหายจาก ก. โดยจำเลยทำเป็นสัญญากู้เงิน น. ไว้ เท่ากับว่ามีการแปลงหนี้ใหม่จากหนี้จ้างทำของมาเป็นหนี้เงินกู้ หนี้จ้างทำของจึงระงับไปด้วยการแปลงหนี้ใหม่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 349 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยบอกเลิกสัญญากู้เงินกับ น. ก่อน น. โอนสิทธิเรียกร้องให้โจทก์ หนี้ตามสัญญากู้เงินจึงระงับ น. ไม่อาจโอนสิทธิเรียกร้องที่โจทก์ยืนยันมาในคำฟ้องว่าระงับไปแล้วให้แก่โจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจนำสัญญากู้เงินดังกล่าวมาฟ้องบังคับจำเลย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3847/2548
สัญญาที่จำเลยที่ 1 ทำไว้กับโจทก์นั้น จำเลยที่ 1 ตกลงว่า การที่จำเลยที่ 1 ยอมเข้าร่วมชำระหนี้กับผู้เช่าใช้บริการโทรศัพท์ คู่สายโทรศัพท์ไม่ทำให้คู่สัญญาเดิมหลุดพ้นจากความรับผิดตามสัญญาเดิม และไม่ตัดสิทธิโจทก์จะระงับการให้บริการตามระเบียบขององค์การโทรศัพท์ ข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่มีการเปลี่ยนตัวลูกหนี้เดิม เมื่อไม่มีการเปลี่ยนตัวลูกหนี้เดิมจึงไม่ใช่สัญญาแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ สัญญาเดิมไม่ระงับ และการที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกมิได้เป็นลูกหนี้ผูกพันตนเข้าชำระหนี้ให้โจทก์จึงไม่ใช่การรับสภาพหนี้ แต่เป็นสัญญาประเภทหนึ่งระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์ ซึ่งคู่สัญญาทำด้วยความสมัครใจ เมื่อไม่ขัดต่อกฎหมายย่อมสมบูรณ์ใช้บังคับได้และเมื่อหนี้ตามสัญญาไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 แต่ดอกเบี้ยที่โจทก์ขอนับแต่วันผิดนัดตามสัญญาร่วมชำระหนี้ถึงวันฟ้องเป็นดอกเบี้ยค้างชำระ มีอายุความ 5 ปี ตามมาตรา 193/33 (1)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2675/2548
การที่ ณ. ทำสัญญาขายรถยนต์ให้แก่โจทก์แทนการชำระหนี้โดยแปลงหนี้เงินกู้เป็นการซื้อขายรถยนต์แทน ถือได้ว่าเป็นการแปลงหนี้ใหม่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 349 วรรคแรก แต่อย่างไรก็ตาม หนังสือสัญญาซื้อขายรถยนต์ดังกล่าวมีเงื่อนไขระบุไว้ว่าในระหว่างที่ผู้ขายยังไม่ส่งมอบทรัพย์สินที่ขายให้แก่ผู้ซื้อให้ถือว่ายังไม่มีการซื้อขาย ดังนั้น จึงถือว่าเป็นกรณีที่หนี้อันจะพึงเกิดขึ้นเพราะแปลงหนี้ใหม่นั้นยังมิได้เกิดขึ้น หนี้เดิมคือหนี้เงินกู้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 351 ยังไม่ระงับสิ้นไป ซึ่งในกรณีนี้ถือได้ว่าโจทก์มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือมาแสดงแล้ว และไม่เป็นกรณีที่จำต้องปิดอากรแสตมป์ตาม ป. รัษฎากรฯ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3272/2547
จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างโจทก์ในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขายมีหน้าที่บริหารงานขาย จำเลยที่ 1 มอบรถยนต์ของโจทก์ให้ลูกค้า แล้วลูกค้าได้นำรถยนต์พิพาทหลบหนีไป โจทก์ให้จำเลยที่ 1 รับผิดโดยทำสัญญาเช่าซื้อเพื่อเป็นประกันการทำงานที่ผิดพลาดของจำเลยที่ 1 แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ยอมรับว่าเป็นความเสียหายที่เกิดจากความประมาทเลินเล่อในการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ในฐานะลูกจ้างโจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 ยอมรับผิดโดยทำเป็นสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์ จึงเป็นการทำสัญญาเปลี่ยนแปลงสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ ดังนั้น หนี้อันเกิดจากความรับผิดของจำเลยที่ 1 จึงระงับสิ้นไปด้วยการแปลงหนี้ใหม่ และการที่จำเลยที่ 1 ตกลงทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์พิพาทก็เพื่อยอมรับผิดชำระหนี้ค่ารถยนต์พิพาทแก่โจทก์ ถือว่าโจทก์ได้ส่งมอบรถยนต์พิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดตามสัญญาเช่าซื้อ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10669/2546
ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินและอยู่ในระหว่างจำเลยยื่นคำขอเข้าทำประโยชน์จึงต้องห้ามมิให้บุคคลที่ได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมทำการแบ่งแยกหรือโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 มาตรา 39 การที่โจทก์และจำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย จึงเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 150
สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทที่เป็นโมฆะ ย่อมไม่ก่อให้เกิดสิทธิเรียกร้องใด ๆขึ้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเบี้ยปรับจากจำเลยเพราะมิใช่เป็นผลจากการผิดสัญญา แต่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172 วรรคสอง บัญญัติว่า ถ้าจะต้องคืนทรัพย์สินอันเกิดจากโมฆะกรรม ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้แห่งประมวลกฎหมายนี้มาใช้บังคับ ซึ่งตามมาตรา 412 บัญญัติว่า ถ้าทรัพย์สินซึ่งได้รับไว้เป็นลาภมิควรได้นั้น เป็นเงินจำนวนหนึ่ง ท่านว่าต้องคืนเต็มจำนวนนั้น การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาเรื่องลาภมิควรได้ จึงมิใช่เป็นการพิพากษานอกคำฟ้องนอกประเด็น
โจทก์ไม่ทราบมาก่อนว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน จึงไม่ใช่โจทก์กระทำการตามอำเภอใจเสมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระตามมาตรา 407 จำเลยต้องคืนเงินซึ่งได้รับไว้แก่โจทก์ตามมาตรา 406
หลังจากจำเลยทั้งสองไม่สามารถโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ตามสัญญาจะซื้อจะขาย โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าที่ดิน 2,872,718 บาท คืนแก่โจทก์ หากจำเลยที่ 2 ไม่สามารถชำระได้ให้จำเลยที่ 2 แจ้งให้ ย. ซึ่งเป็นผู้ครอบครองที่ดินร่วมกับจำเลยที่ 2 ชำระหนี้แก่โจทก์ 2,000,000 บาท ต่อมา ย. ได้ทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์2,600,000 บาท อันเป็นหนี้จำนวนเดียวกันกับที่โจทก์ได้หักหนี้ 2,000,000 บาท และจำเลยที่ 2 ยอมให้โจทก์หักหนี้ดังกล่าวได้ ดังนี้เงิน 2,000,000 บาท จึงเป็นการแปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวลูกหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 350 โจทก์คงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองคืนเงิน 872,718 บาท เท่านั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3472/2546
ผ. ยอมทำสัญญากู้ยืมเงินให้ไว้แก่โจทก์จึงเป็นการแปลงหนี้เดิมที่ค้างชำระกันอยู่มาเป็นหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงิน หนี้เดิมย่อมระงับสิ้นไปโดยการแปลงหนี้ใหม่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 349 เมื่อถึงกำหนดเวลาชำระหนี้เงินกู้ยืม ผ. ไม่ยอมชำระเงินกู้ยืมให้แก่โจทก์ จึงตกเป็นผู้ผิดนัดต้องรับผิดชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนครบพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามสัญญากู้ยืมเงินนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง เมื่อ ผ. ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 ในฐานะภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของ ผ. และจำเลยที่ 2ในฐานะทายาทโดยธรรมของ ผ. จึงต้องรับผิดชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599 ประกอบด้วยมาตรา 1629,1635(1) และมาตรา 1737
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 203/2546
การที่จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ และโจทก์คืนสัญญากู้ยืมเงินให้จำเลย โดยจำเลยนำสัญญาดังกล่าวไปฉีกทำลายแล้วนั้น แสดงว่าโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ยอมรับเช็คพิพาทอันเป็นการชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ด้วยเงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 321 วรรคหนึ่ง กรณีมิใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้แต่ประการใด จึงมิใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 349 วรรคหนึ่ง และหนี้เดิมจะระงับก็ต่อเมื่อจำเลยได้ใช้เงินตามเช็คแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 321 วรรคท้าย
การกู้ยืมเงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 นั้น หมายถึงการกู้ยืมเงินที่ไม่เคยมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งเลย แต่เมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสือแล้วเกิดสูญหาย ผู้ให้กู้ย่อมนำสำเนาหรือพยานบุคคลมาสืบได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93(2) เมื่อปรากฏว่าจำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินอันเป็นหลักฐานให้แก่โจทก์แล้ว และออกเช็คชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าว จึงเป็นการออกเช็คชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย แม้สัญญากู้ยืมเงินจะถูกฉีกทำลายภายหลังออกเช็คก็หาทำให้ไม่เป็นการออกเช็คชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและไม่สามารถบังคับได้ตามกฎหมายไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5303/2545
การรับสภาพหนี้เป็นการที่ลูกหนี้รับสภาพต่อเจ้าหนี้ว่าจะชำระหนี้ให้ ดังนั้น การที่จำเลยซึ่งเป็นบุคคลภายนอกมิได้เป็นลูกหนี้ผูกพันตนเข้าชำระหนี้ของ พ. แก่โจทก์จึงไม่เป็นการรับสภาพหนี้ ทั้งในเอกสารดังกล่าวก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ตกลงให้หนี้ของ พ. ระงับไป จึงไม่เป็นการแปลงหนี้ใหม่โดยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ และแม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่าเอกสารดังกล่าวเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ ศาลก็มีอำนาจวินิจฉัยว่าหนังสือสัญญานั้นเป็นสัญญาประเภทใดตามที่ถูกต้องแท้จริงได้ โดยสัญญาที่จำเลยทำให้โจทก์เป็นสัญญาประเภทหนึ่งที่คู่สัญญากระทำด้วยความสมัครใจเมื่อไม่ขัดต่อกฎหมายย่อมสมบูรณ์ใช้บังคับได้ ซึ่งหนี้ตามสัญญานี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 และเมื่อสัญญาดังกล่าวมิใช่สัญญารับสภาพหนี้และสัญญาที่กำหนดไว้ในบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายหมวด 6 แห่งประมวลรัษฎากรฯ ซึ่งเป็นตราสารที่ต้องปิดอากรแสตมป์ตามความมุ่งหมายแห่งประมวลรัษฎากรฯ มาตรา 103,104 และ 108 ดังนั้น แม้เอกสารดังกล่าวจะไม่ปิดอากรแสตมป์ก็ใช้เป็นพยานหลักฐานได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5247/2545
หลังจากที่จำเลยเป็นหนี้ค่าทองรูปพรรณและออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ให้โจทก์แล้ว ย. ภริยาโจทก์และจำเลยได้ตกลงกันทำหนังสือสัญญากู้ขึ้นมีเนื้อความว่าจำเลยได้กู้ยืมเงินภริยาโจทก์ไปจำนวน 500,000 บาท จะใช้คืนให้ภายใน 6 เดือนนับจากวันทำสัญญาโดยภริยาโจทก์ลงชื่อเป็นผู้ให้กู้และจำเลยลงชื่อเป็นผู้กู้ เป็นกรณีที่โจทก์ยินยอมให้นำมูลหนี้ตามเช็คพิพาทเปลี่ยนมาเป็นมูลหนี้กู้ยืมระหว่างจำเลยกับภริยาโจทก์ สัญญากู้ดังกล่าวจึงเป็นการตกลงทำสัญญาแปลงหนี้ใหม่ โดยเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้ สิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่มีอยู่เดิมย่อมระงับสิ้นไป แม้ว่าจำเลยไม่เคยชำระเงินตามสัญญากู้แต่อย่างใดก็หามีผลทำให้การแปลงหนี้ใหม่ดังกล่าวเสียไปไม่ มูลหนี้ที่จำเลยได้ออกเช็คพิพาทเพื่อใช้เงินนั้น จึงสิ้นผลผูกพันไปก่อนที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด คดีเป็นอันเลิกกันตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯมาตรา 7 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1812/2545
การที่ ด. ผู้ค้ำประกันมีหนังสือถึงโจทก์ขอผ่อนชำระหนี้ทั้งหนี้ของจำเลยที่ 1 ซึ่งควรจะชำระหนี้ดังกล่าวแก่โจทก์ให้เสร็จสิ้นในครั้งเดียวแต่ก็ขอแบ่งชำระเป็นงวด ๆ เป็นเพียงเปลี่ยนแปลงวิธีชำระหนี้เก่าให้ผิดไปจากเดิม มิใช่เป็นการเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้จึงไม่เป็นการแปลงหนี้ใหม่ที่จะทำให้หนี้ระงับ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันอีกคนหนึ่งจึงต้องรับผิดต่อโจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9221/2544
จำเลยที่ 1 ทำหนังสือสัญญารับสภาพหนี้ขึ้นเพื่อรับสภาพตามสิทธิเรียกร้องซึ่งจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงเท่านั้น มิได้มีการเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้ ลูกหนี้ และมิใช่เป็นการทำสัญญาเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ แต่เป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงกำหนดระยะเวลาชำระหนี้และวิธีการชำระหนี้จึงมิใช่การแปลงหนี้ใหม่อันจะทำให้หนี้เดิมระงับ หนี้ตามสัญญาค้ำประกันการเช่าซื้อย่อมไม่ระงับเช่นกันจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงหาหลุดพ้นความรับผิดไม่ แม้จำเลยที่ 2 มิได้ลงลายมือชื่อในหนังสือสัญญารับสภาพหนี้ยินยอมค้ำประกันการชำระหนี้ตามหนังสือสัญญารับสภาพหนี้ด้วยก็ตามเพราะโจทก์ขอให้บังคับจำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในจำนวนเงินที่ค้างชำระตามหนังสือสัญญารับสภาพหนี้ซึ่งเป็นจำนวนหนี้ค่าเช่าซื้อค้างชำระที่จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดชำระแก่โจทก์ตามสัญญาค้ำประกันและหนี้ยังไม่ระงับนั่นเอง
วันพฤหัสบดีที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น