วันเสาร์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ฎีกายาเสพติด-ให้ข้อมูลสำคัญ


คำพิพากษาฎีกาให้ข้อมูลสำคัญในการปราบปรามยาเสพติดศาลลดโทษ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7872/2551 พนักงานอัยการจังหวัดลพบุรี  โจทก์
                                                      นาย ส.                                      จำเลย
พ.ร.บ.ยาเสติดให้โทษ (มาตรา 100/2)
 เหตุที่เจ้าพนักงานตำรวจไปจับจำเลยและพบเมทแอมเฟตามีนของกลางที่บริเวณบ้าน ของจำเลยก็เพราะเจ้าพนักงานตำรวจจับ ส. ได้พร้อมเมทแอมเฟตามีน 20 เม็ด  นาย ส. ให้การว่าซื้อเมทแอมเฟตามีนมาจากจำเลย    และจำเลยยังมีเมทแอมเฟตามีนอยู่ที่บ้าน  เจ้าพนักงานตำรวจจึงไปจับจำเลยและพบเมทแอมเฟตามีน  เมื่อเมทแอมเฟตามีนอยู่ภายในบ้านของจำเลย  และถูกฝังอยู่ใต้ดินในลักษณะมิดชิด  ทั้งพยานโจทก์ก็ยืนยันว่าจำเลยเป็นผู้ขุดดินนำกล่องบรรจุเมทแอมเฟตามีนขึ้น มา  จึงเชื่อว่าจำเลยเป็นผู้ฝังไว้  พยานหลักฐานโจทก์จึงฟังได้มั่นคงว่า  จำเลยกระทำความผิดจริง  อย่างไรก็ตาม  จำเลยให้การด้วยว่า  นำเมทแอมเฟตามีนมาจาก ม. เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานตำรวจไปจับ ม. และยึดเมทแอมเฟตามีนได้เป็นจำนวนมากถึง 20,200  เม็ด  นับได้ว่าจำเลยให้ข้อมูลสำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการ กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อเจ้าพนักงานตำรวจตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ มาตรา 100/2  ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำของกฎหมายได้
 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522  มาตรา 15,66,100/1,102  ริบเมทแอมเฟตามีนของกลางที่เหลือจากการตรวจพิสูจน์
 จำเลยให้การปฏิเสธ
 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า  จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พงศ. 2522  มาตรา 15  วรรคสาม (2), 66 วรรคท้าย  ให้จำคุกตลอดชีวิต  และปรับ 1,000,000 บาท  ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29,30  กรณีกักขังแทนค่าปรับมิให้กักขังเกิน 2 ปี  ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง
 จำเลยอุทธรณ์
 ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ  ให้ยกฟ้อง  แต่ให้ริบเมทแอมเฟตามีนของกลางที่เหลือจากการตรวจพิสูจน์
 โจทก์ฎีกา
 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า  ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า  วันที่ 1  ธันวาคม 2548  เวลาประมาณ 6 นาฬิกา  พันตำรวจโทแทน  บุรีภักดี  ดาบตำรวจกรุงไกร  ไล้อ่วม  เจ้าพนักงานตำรวจภูธรจังหวัดลพบุรี  กับพวกร่วมกันจับนาย ส.  และยึดเมทแอมเฟตามีน 20 เม็ด  เป็นของกลางได้ที่ตำบลทะเลชุบศร  อำเภอเมืองลพบุรี  จังหวัดลพบุรี  นาย ส.ให้การว่าเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวรับมาจากจำเลยและจำเลยยังมีเมทแอมเฟตามีน อีก 2,000  เม็ด  ซุกซ่อนอยู่ที่บ้าน  รอส่งให้ลูกค้า ซึ่งอยู่จังหวัดอ่างทอง  ในเวลา 9 นาฬิกา  ดาบตำรวจกรุงไกร  สิบตำรวจเอกพิทักษ์  อำไพ  และพันตำรวจโทแทนกันพวกไปที่บ้านจำเลย  ขุดพบกล่องใส่โทรศัพท์มือถือที่ฝังอยู่ในดินอยู่ในบริเวณบ้านจำเลย  ภายในมีเมทแอมเฟตามีน 2,000  เม็ด  แยกบรรจุในถุงพลาสติกสีฟ้าเข้ม  ปากถุงมีที่กดเปิดปิด 10 ถุง  ถุงละ 200 เม็ด  แต่ละถุงมีเม็ดสีเขียว 2 เม็ด  นอกนั้นเป็นเม็ดสีส้ม  ถุงพลาสติกดังกล่าวห่อด้วยกระดาษสาชุบเทียนไข และใส่อยู่ในถุงพลาสติกอีกชั้นหนึ่ง  ชั้นจับกุมทำบันทึกการจับกุมระบุว่าจำเลยให้การรับสารภาพว่า  มีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย  จากนั้นพันตำรวจโทแทนกับพวกจึงไปตรวจค้นบ้าน นาย ม.พบเมทแอมเฟตามีนอีก 20,200  เม็ด
 มีข้อวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า  จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่  เห็นว่า  เหตุที่เจ้าพนักงานตำรวจไปจับกุมจำเลยและพบเมทแอมเฟตามีนของกลางที่บริเวณ บ้านของจำเลยก็เพราะตำรวจจับ นาย ส.ได้พร้อมเมทแอมเฟาตามีน  20  เม็ด  นาย ส. ให้การว่าซื้อเมทแอมเฟตามีนมาจากจำเลย  และจำเลยยังมีเมทแอมเฟตามีนอยู่ภายในบริเวณบ้านของจำเลย  และถูกฝังอยู่ใต้ดินในลักษณะมิดชิดทั้งพยานโจทก์ปากดาบตำรวจกรุงไกร  และพันตำรวจโทแทนยืนยันว่าจำเลยเป็นผู้ขุดดินนำกล่องบรรจุเมทแอมเฟตามีนขึ้น มา  น่าเชื่อว่าเป็นความจริง  เพราะหากจำเลยมิได้ขุดดินบริเวณที่ฝังเมทแอมเฟตามีนไว้  เจ้าพนักงานตำรวจคงไม่ทราบ  จึงเชื่อว่าจำเลยเป็นผู้ฝังไว้  พยานหลักฐานโจทก์จึงฟังได้มั่นคงว่า  จำเลยกระทำความผิดจริง    ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น  อย่างไรก็ตามจำเลยให้การด้วยว่า  นำเมทแอมเฟตามีนมาจากนาย ม.เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานตำรวจไปจับนาย ม.และยึดได้เมทแอมเฟตามีนจำนวนมากถึง 20,200  เม็ด  นับได้ว่าจำเลยให้ข้อมูลสำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการ กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ  ต่อเจ้าพนักงานตำรวจ  ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522  มาตรา 100/2  ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำของกฎหมายได้
 พิพากษากลับว่า    จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522  มาตรา 15  วรรคสาม (2), 66 วรรคท้าย  ประกอบมาตรา 100/2  ให้จำคุก 25 ปี และปรับ 500,000  บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา 29,30  กรณีกักขังแทนค่าปรับมิให้เกิน 2 ปี  ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง
 หมายเหตุ
 ปัญหาว่าการให้ข้อมูลของจำเลยในลักษณะใดจึงจะเป็นผลให้จำเลยได้รับประโยชน์ จากการลดโทษตามมาตรา 100/2  พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษฯ  ศาลฎีกาบางแนววางหลักไว้ว่าจำเลยเพียงแต่ให้ข้อมูลที่เกี่ยวกับการกระทำความ ผิดของตนเองก็ถือว่าเป็นการเพียงพอแล้ว (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1361/2549,5856/2549,526/2551)  บางแนวศาลฎีกาวางหลักว่าต้องเป็นการให้ข้อมูลที่นอกเหนือไปจากการกระทำความ ผิดของตนเองหรือ อีกนัยหนึ่งก็คือต้องให้ข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำความผิดของผู้อื่น (คำพิพากษาฎีกาที่ 1487/2550, 2495/2550,2769/2550,6047/2550,6804/2550) คำพิพากษาศาลฎีกาที่หมายเหตุนี้เป็นไปตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาแนวทางหลัง
 การตีความของศาลฎีกาในคดีนี้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของการบัญญัติมาตรา 100/2  พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษฯ ที่ต้องการจะทำลายเครือข่ายการค้ายาเสพติดซึ่งจะได้ผลก็ต่อเมื่อการให้ ข้อมูลของผู้กระทำความผิด  ทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถที่จะไปตามจับกุมผู้กระทำผิดรายอื่นซึ่งเป็น รายที่ใหญ่กว่า (ข้อเท็จจริงในคำพิพากษาฎีกาที่หมายเหตุก็เป็นไปในแนวทางดังกล่าว  เพราะในขณะที่จำเลยมียาเสพติดจำนวน 2,000  เม็ด  แต่ให้ข้อมูลและจับกุมผู้กระทำความผิดอื่น ซึ่งมียาเสพติดจำนวน 20,200 เม็ด) นอกจากนี้การตีความของศาลฎีกาในคดีนี้ยังทำให้จุดแบ่งแยกระหว่างการลดโทษตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78  กับการลดโทษตามมาตรา 100/2  พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษฯ  มีความชัดเจนกล่าวคือ  หากจำเลยให้การรับสารภาพและให้ข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำความผิดของตนเอง เท่านั้น  จำเลยก็จะได้รับการลดโทษตามมาตรา 78  ประมวลกฎหมายอาญาแต่ไม่ใช่ตามาตรา 100/2  พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษฯ
 ในประเด็นปัญหาข้อกฎหมายลักษณะเดียวกันการที่ศาลฎีกาตีความแตกต่างกันไป นั้น  ย่อมทำให้เกิดความไม่แน่นอนในการบังคับใช้กฎหมาย  ประเด็นปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวจึงน่าจะถูกหยิบยกเข้าสู่ที่ประชุมใหญ่ ศาลฎีกาเพื่อให้การตีความข้อกฎหมายของศาลฎีกาในปัญหาดังกล่าวไปในแนวทาง เดียวกัน
ขอขอบคุณข้อมูลจากหนังสือคำพิพากษาฎีกา พ.ศ. 2551  เล่มที่ 7  บริการสำนักงานศาลยุติธรรม

1 ความคิดเห็น: