การคัดเลือกผู้พิพากษาในประเทศไทยมีการคัดเลือก 3 วิธี คือ
1. การสอบคัดเลือก (สนามใหญ่)
2. การทดสอบความรู้ในวิชากฎหมาย (สนามเล็ก)
3. การคัดเลือกพิเศษ
การสอบคัดเลือก (สนามใหญ่) จะมีการเปิดสอบ โดยสำนักคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมจะเป็นผู้ดำเนินการ ตั้งแต่แจกใบสมัคร ส่งไปตรวจร่างกายและจิตใจ ตรวจสอบคุณสมบัติ ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิสอบ ดำเนินการสอบ ประกาศผลสอบ และบรรจุเข้ารับราชการ
คุณสมบัติของผู้สมัครสอบคัดเลือก ต้องมีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้ามดังนี้
1. มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
2. ผู้สมัครสอบคัดเลือกหรือผู้สมัครทดสอบความรู้ ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบห้าปี
บริบูรณ์ ผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกพิเศษ ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบห้าปีบริบูรณ์
3. เป็นผู้เลื่อมใสในการปกครองระบอบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญด้วยความบริสุทธิ์ใจ
4. เป็นสามัญสมาชิกแห่งเนติบัณฑิตยสภา
5. ไม่เป็นผู้มีความประพฤติเสื่อมเสียหรือบกพร่องในศีลธรรมอันดี
6. ไม่เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว
7. ไม่เป็นผู้อยู่ระหว่างถูกสั่งให้พักราชการหรือถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน ตาม
พระราชบัญญัติหรือตามกฎหมายอื่น
8. ไม่เป็นผู้เคยถูกลงโทษไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ รัฐวิสาหกิจหรือ
หน่วยงานอื่นของรัฐ
9. ไม่เป็นผู้เคยต้องรับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ
10. ไม่เป็นคนไร้ความสามารถ คนเสมือนไร้ความสามารถ คนวิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือน ไม่สมประกอบ หรือมีกายหรือจิตใจไม่เหมาะสมที่จะเป็นข้าราชการตุลาการ หรือเป็นโรคที่ระบุไว้ในระเบียบ ก.ต. และ
11. เป็นผู้ที่ผ่านการตรวจร่างกายและจิตใจโดยคณะกรรมการแพทย์จำนวนไม่น้อยกว่าสามคน ซึ่ง ก.ต. กำหนด และ ก.ต. ได้พิจารณารายงานของคณะกรรมการแพทย์แล้วเห็นสมควรรับสมัครได้
หลักฐานในการสมัครสอบ
ภาพถ่ายปริญญานิติศาสตร์บัณฑิต (แสดงต้นฉบับด้วย)
ภาพถ่ายประกาศนียบัตรของสำนักอบรมศึกษากฎหมายฯ (แสดงต้นฉบับด้วย)
สำเนาทะเบียนบ้าน หรือบัตรประจำตัวประชาชน (ถ่ายเอกสารทั้งสองหน้าในแผ่นเดียวกัน) (แสดงต้นฉบับด้วย)
หนังสือรับรองการประกอบวิชาชีพทางกฎหมาย (กรณีเป็นทนายความ ให้นำหนังสือรับรองการเป็นทนายความจากสภาทนายความมายื่นด้วย)
ใบรับรองสามัญสมาชิกแห่งเนติบัณฑิตยสภา (ออกให้ไม่เกิน 6 เดือน)
รูปถ่ายขนาด 1 นิ้ว ถ่ายไว้ไม่เกิน 6 เดือน จำนวน 4 รูป (เขียนชื่อ - สกุลด้านหลัง)
เงินค่าธรรมเนียมการสอบ 100 บาท
เงินค่าตรวจร่างกาย 600 บาท (จ่ายวันไปตรวจร่างกาย)
กรณีเคยสมัครแล้วและมีสิทธิสอบใช้หลักฐานเฉพาะใบสมัครและข้อ 5,6,7 และ 8
การสอบคัดเลือก มีการสอบข้อเขียน 3 วัน
วันที่หนึ่ง สอบวิชากฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กฎหมายอาญา จำนวน 10 ข้อ เวลา 4 ชม. คะแนนเต็ม 100 คะแนน
วันที่สอง สอบวิชากฎหมายลักษณะพยาน จำนวน 3 ข้อ วิชากฎหมายพระธรรมนูญศาลยุติธรรมกับกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญา ในศาลแขวง จำนวน 1 ข้อ และให้เลือกสอบในลักษณะวิชากฎหมายล้มละลาย กฎหมายภาษีอากร กฎหมายแรงงาน กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัว และวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว กฎหมายปกครอง กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา หรือกฎหมายการค้าระหว่างประเทศวิชาใดวิชาหนึ่ง จำนวน 2 ข้อ รวมจำนวนข้อสอบทั้งหมด 6 ข้อ เวลา 2 ชั่วโมงครึ่ง คะแนนเต็ม 60 คะแนน และวิชาภาษาอังกฤษ เวลา 1 ชั่วโมงครึ่ง คะแนนเต็ม 10 คะแนน สำหรับลักษณะวิชาที่ให้เลือกสอบ ผู้สมัครต้องแสดงความจำนงว่าจะสอบลักษณะวิชาใดในวันสมัครสอบ
วันที่สาม สอบวิชากฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา จำนวน 10 ข้อ เวลา 4 ชั่วโมง คะแนนเต็ม 100 คะแนน
การสอบปากเปล่า เนื้อหาครอบคลุมลักษณะวิชาที่สอบข้อเขียน ตามแต่คณะอนุกรรมการสอบฯ จะเห็นสมควรกำหนดเวลาประมาณคนละ 15 นาที คะแนนเต็ม 100 คะแนน
เกณฑ์ที่จะได้บรรจุเป็นข้าราชการตุลาการ
ผู้สมัครต้องได้คะแนนสอข้อเขียนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ของคะแนนสอบข้อเขียนทั้งหมด จึงมีสิทธิเข้าสอบปากเปล่า และต้องได้คะแนนสอบข้อเขียนกับสอบปากเปล่ารวมกันไม่น้อยกว่า ร้อยละ 60 ของคะแนนทั้งสองอย่างรวมกัน
การทดสอบความรู้ในวิชากฎหมาย (สนามเล็ก)
มีสิทธิยื่นใบสมัครได้ตลอดเวลา เมื่อมีคุณสมบัติครบถ้วน โดยสำนักคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมเป็นผู้ดำเนินการตั้งแต่แจกใบสมัคร ส่งไปตรวจร่างกาย ตรวจสอบคุณสมบัติ ดำเนินการสอบและประการผลสอบ
คุณสมบัติของผู้สมัครสอบคัดเลือก
สอบไล่ได้ตามหลักสูตรของสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา และ
มีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
สอบไล่ได้ปริญญาหรือประกาศนียบัตรทางกฎหมายจากต่างประเทศ โดยมีหลักสูตรเดียวไม่น้อยกว่าสองปีหรือหลายหลักสูตรรวมกันไม่น้อยกว่าสองปี ซึ่ง ก.ต. เทียบไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี หรือสอบไล่ได้ปริญญาเอกทางกฎหมายจากมหาวิทยาลัยในประเทศไทย ซึ่ง ก.ต. รับรอง
สอบไล่ได้ปริญญาหรือประกาศนียบัตรทางกฎหมายจากต่างประเทศ โดยมี หลักสูตรเดียวไม่น้อยกว่าสองปี หรือหลายหลักสูตรรวมกันไม่น้อยกว่าสองปี ซึ่ง ก.ต. เทียบไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี และได้ประกอบวิชาชีพตามที่ระบุไว้ในมาตรา 27 (3) เป็นเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งปี
สอบไล่ได้ปริญญาโททางกฎหมายจากมหาวิทยาลัยในประเทศไทย ซึ่ง ก.ต. รับรองและได้ประกอบวิชาชีพตามที่ระบุไว้ในมาตรา 27 (3) เป็นเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งปีเป็นนิติศาสตรบัณฑิตชั้นเกียรตินิยมและได้ประกอบวิชาชีพเป็นอาจารย์ในคณะนิติศาสตร์ในมหาวิทยาลัยของรัฐเป็นเวลาไม่น้อยกว่าห้าปี
เป็นนิติศาสตรบัณฑิตและเป็นข้าราชการศาลยุติธรรมที่ได้ประกอบวิชาชีพทางกฎหมายในตำแหน่งตามที่ ก.ต. กำหนดเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหกปี และเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมรับรองว่ามีความซื่อสัตย์สุจริต มีความรู้ความสามารถดีและมีความประพฤติดีเป็นที่ไว้วางใจว่า จะปฏิบัติหน้าที่ข้าราชการตุลาการได้
สอบไล่ได้ปริญญาโทหรือปริญญาเอกในสาขาวิชาที่ ก.ต. กำหนด และเป็นนิติศาสตรบัณฑิต และได้ประกอบวิชาชีพตามที่ระบุไว้ในมาตรา 27 (3) หรือได้ประกอบวิชาชีพตามที่ ก.ต. กำหนดเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสามปี หรือ
สอบไล่ได้ปริญญาตรีหรือที่ ก.ต. เทียบไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีในสาขาวิชาที่ ก.ต. กำหนด และได้ประกอบวิชาชีพตามที่ ก.ต. กำหนดเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสิบปี จนมีความรู้ความเชี่ยวชาญในวิชาชีพนั้นและเป็นนิติศาสตร์บัณฑิต
การทดสอบความรู้ในวิชากฎหมาย
มีการสอบข้อเขียนในวิชาต่างๆ คือ วิชากฎหมายอาญา จำนวน 2 ข้อ กฎหมายแพ่งและพาณิชย์จำนวน 2 ข้อ กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา จำนวน 2 ข้อ กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง จำนวน 2 ข้อ กฎหมายลักษณะพยาน จำนวน 1 ข้อ และให้เลือกสอบในลักษณะวิชาพระธรรมนูญ ศาลยุติธรรม กฎหมายปกครอง กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา กฎหมายภาษีอากร กฎหมายแรงงาน หรือกฎหมายการค้าระหว่างประเทศ จำนวน 1 ข้อ
รวมจำนวนข้อสอบทั้งหมด 10 ข้อ เวลา 4 ชั่วโมง คะแนนเต็ม 100 คะแนน
สำหรับลักษณะวิชาที่ให้เลือกสอบผู้สมัครต้องแสดงความจำนงว่าจะสอบลักษณะวิชากฎหมายใดในวันสมัครสอบ
การสอบปากเปล่า กำหนดเวลาประมาณคนละ 15 นาที คะแนนเต็ม 40 คะแนน
เกณฑ์ที่จะได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการตุลาการ
ผู้สมัครต้องสอบได้คะแนนสอบข้อเขียนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ของคะแนนสอบ ข้อเขียนทั้งหมดจึงมีสิทธิเข้าสอบปากเปล่า และต้องได้คะแนนสอบข้อเขียนกับสอบปากเปล่ารวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ของคะแนนทั้งสองอย่างรวมกัน
ปริญญาโททางกฎหมายจากมหาวิทยาลัยในประเทศไทย ซึ่ง ก.ต. รับรอง
มหาวิทยาลัยของรัฐ
1. นิติศาสตร์มหาบัณฑิต (น.ม.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
2. นิติศาสตร์มหาบัณฑิต (น.ม.) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
3. นิติศาสตร์มหาบัณฑิต (น.ม.) มหาวิทยาลัยรามคำแหง
มหาวิทยาลัยของเอกชน
1. นิติศาสตร์มหาบัณฑิต (น.ม.) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
การคัดเลือกพิเศษ
คุณสมบัติของผู้สมัคร
1. มีคุณวุฒิอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
(ก) เป็นหรือเคยเป็นศาสตราจารย์หรือรองศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัยของรัฐ
(ข) เป็นหรือเคยเป็นอาจารย์ในคณะนิติศาสตร์ในมหาวิทยาลัยของรัฐเป็นเวลาไม่น้อยกว่าห้าปี
(ค) เป็นหรือเคยเป็นข้าราชการพลเรือนสามัยหรือข้าราชการประเภทอื่นในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้อำนวยการกองหรือเทียบเท่าขึ้นไป
(ง) เป็นหรือเคยเป็นทนายความมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสิบปี
2. สอบไล่ได้ตามหลักสูตรของสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา
3. เป็นผู้มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ดีเด่นในสาขาวิชากฎหมายตามที่ ก.ต. กำหนด และ
4. เป็นผู้มีความซื่อสัตย์สุจริต มีบุคลิกภาพ มีความประพฤติ และทัศนคติที่เหมาะสมแก่การปฏิบัติหน้าที่ข้าราชการตุลาการ
การสอบคัดเลือกเพื่อบรรจุเป็นอัยการผูช่วย (สนามใหญ่)
วิชาที่สอบข้อเขียน
วันที่หนึ่ง (ข้อสอบรวม 10 ข้อ คะแนนเต็ม 100 คะแนน)
-กฎหมายอาญา 6 ข้อ
-กฎหมายแพ่งและพาณิชย 4 ข้อ
วันที่สอง (ข้อสอบรวม 10 ข้อ คะแนนเต็ม 100 คะแนน)
-กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 6 ข้อ
-กฎหมายวิธีพิจารณาความแพง 4 ข้อ
วันที่สาม (ข้อสอบ 8 ข้อ คะแนนเต็ม 80 คะแนน)
-กฎหมายลักษณะพยาน 1 ข้อ
-พระธรรมนูญศาลยุติธรรม 1 ข้อ
-กฎหมายลักษณะล้มละลาย 1 ข้อ
-กฎหมายรัฐธรรมนูญ 1 ข้อ
-กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลแขวงฯ หรือกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลเยาวชนฯ 1 ข้อ
-กฎหมายปกครอง 1 ข้อ
-กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาฯ หรือกฎหมายการค้าระหว่าง ประเทศ 1 ข้อ
-กฎหมายว่าด้วยพนักงานอัยการ 1 ข้อ
-วิชาภาษาอังกฤษ (จำนวนข้อ แล้วแต่คณะกรรมการฯ จะเห็นสมควร) (คะแนนเต็ม 20 คะแนน)
วันจันทร์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น