คำพิพากษาฎีกาที่เกี่ยวกับการบังคับคดี ตอน 2
คำบังคับ (มาตรา 272,273)
1. ฎีกาที่ 2352/2521
ทนายจำเลยทราบคำบังคับ ถือว่าจำเลยทราบคำบังคับด้วย
2. ฎีกาที่ 1938/2527
มีข้อความเพียงว่าบังคับตามยอม ยังถือไม่ได้ว่าเป็นคำบังคับแล้ว
3. ฎีกาที่ 1131-1132/2544
คำบังคับที่ออกตามคำพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดิน ย่อมบังคับรวมถึงสิ่งปลูกสร้างที่เกิดขึ้นใหม่ในระหว่างคดีที่จำเลยกระทำขึ้นหรือยินยอมให้ผู้อื่นกระทำด้วย การที่จำเลยยอมรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างเดิมและสร้างสิ่งปลูกสร้างขึ้นใหม่ ถือว่ายังไม่ได้ปฏิบัติตามคำบังคับโดยครบถ้วน
4. ฎีกาที่ 4311/2536
ในคดีที่มีการบังคับคดีได้สิ้นสุดลงแล้ว จำเลยได้เข้ามารบกวนการครอบครองอีกถือการกระทำที่เกิดขึ้นใหม่ จะบังคับในคดีเดิมไม่ได้ ต้องฟ้องขับไล่เป็นคดีใหม่
5. ฎีกาที่ 2701/2537
กรณีคำพิพากษาบังคับให้จำเลยทำนิติกรรมโดยมิได้มีข้อความว่าให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ศาลชั้นต้นก็มีคำสั่งดังกล่าวในคำบังคับได้ เพราะเป็นคำสั่งเกี่ยวเนื่องกับการบังคับคดี
ค้ำประกันในศาล (มาตรา 274)
1. ฎีกาที่ 8228/2538
ในการทุเลาการบังคับในระหว่างอุทธรณ์ ศาลอาจจะวางเงื่อนไขว่าให้หาประกันมาให้พอกับหนี้ตามคำพิพากษา ในกรณีเช่นนี้หากมีบุคคลภายนอกเข้ามาเป็นผู้ค้ำประกันเพื่อให้มีการทุเลาการบังคับในระหว่างอุทธรณ์ ความรับผิดของผู้ค้ำประกัน ย่อมมีผลในชั้นอุทธรณ์เท่านั้น เพราะเป็นการค้ำประกันการทุเลาการบังคับคดีในชั้นอุทธรณ์นั่นเอง
หมายบังคับคดี (มาตรา 275, 276)
1. ฎีกาที่ 6479/2541
ศาลพิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนทางภาระจำยอมในที่ดินของจำเลยแก่ที่ดินของโจทก์ ปรากฏว่าจำเลยได้โอนที่ดินให้แก่บุคคลภายนอกไปแล้ว ทำให้จำเลยไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินภารยทรัพย์อีกต่อไป และไม่อยู่ในฐานะจะไปจดทะเบียนภาระจำยอมได้ถือว่าสภาพแห่งการบังคับคดีไม่เปิดช่องให้จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษาได้
2. ฎีกาที่ 1131-1132/2544
ถ้าศาลพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินของโจทก์ การที่จำเลยโอนสิ่งปลูกสร้างและที่ดินให้บุคคลอื่นไปแล้ว แต่จำเลยยังเป็นผู้จัดการดูแลครอบครองสิ่งปลูกสร้างอยู่ ถือไม่ได้ว่าสภาพแห่งการบังคับคดีไม่เปิดช่องให้กระทำได้
3. ฎีกาที่ 5642/2540
หมายบังคับคดีจะออกได้ต่อเมื่อระยะเวลาที่กำหนดให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาปฏิบัติตามคำบังคับได้ล่วงพ้นไปแล้วและลูกหนี้ ไม่ชำระหนี้ หมายบังคับคดีที่ออกในขณะที่ยังไม่พ้นกำหนดเวลาตามคำบังคับตามมาตรา 276 วรรคหนึ่ง เป็นหมายบังคับคดีทันทีในขณะที่ยังไม่พ้นระยะเวลาตามคำบังคับและถึงแม้จะรอให้พ้นกำหนดเวลาตามคำบังคับ จำเลยก็คงไม่ชำระหนี้และต้องออกหมายบังคับคดีและถึงแม้จะรอให้พ้นกำหนดเวลาตามคำบังคับ จำเลยก็คงไม่ชำระหนี้และต้องออกหมายบังคับคดีอยู่นั่นเอง ศาลอาจไม่ให้เพิกถอนหมายบังคับคดีก็ได้
4. ฎีกาที่ 2364/2526
การออกหมายบังคับคดี จะต้องออกตามคำพิพากษา จะอ้างว่าสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้ปฏิบัติตามคำพิพากษาได้ จึงให้ใช้ค่าเสียหายแทนโดยมิได้พิพากษาเช่นนั้นไม่ได้
5. ฎีกาที่ 2403/2527
ถ้าเป็นเรื่องที่ต้องปฏิบัติตอบแทนกัน ไม่ถือว่าเป็นการบังคับนอกเหนือคำพิพากษา
เจ้าพนักงานบังคับคดีอยู่ในฐานะผู้แทนเจ้าหนี้ฯ (มาตรา 278)
1. ฎีกาที่ 4038/2543
ในการดำเนินการบังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจในฐานะเป็นผู้แทนเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา จึงถือว่าเจ้าพนักงานบังคับคดียึดและขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึดและรับเงินจากการขายทอดตลาดไว้แทนเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจนถึงวันที่ขายทอดตลาดเท่านั้น
2. ฎีกาที่ 691/2522
เงินมัดจำที่ผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดวางไว้ต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี ถือว่าเป็นเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่เจ้าพนักงานบังคับคดีรับไว้แทนเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา เมื่อผู้ซื้อผิดสัญญาและถูกริบเงิน เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องรวบรวมไว้ชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา
การยึดและอายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ (มาตรา 282-284)
1. ฎีกาที่ 586/2543
เจ้าพนักงานบังคับคดีชอบที่จะยึดและอายัดทรัพย์สินตามที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอ้างว่าเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา ดังนั้น เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงไม่ชอบที่จะขอให้อายัดสิทธิเรียกร้องที่เจ้าหนี้ยังโต้แย้งว่า จำเลยยังมีข้อพิพาทกับบุคคลภายนอก
ทรัพย์สินและสิทธิเรียกร้องที่ไม่อยู่ในข่ายบังคับคดี (มาตรา 285,286)
1. ฎีกาที่ 2227/2537
ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่ไม่อยู่ในข่ายบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 285(4) คือทรัพย์สินที่โอนกันไม่ได้ตามกฎหมาย หรือตามกฎหมายย่อมไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี สิทธิการเช่าเป็นสิทธิเฉพาะตัว เมื่อไม่มีข้อตกลงให้ผู้เช่าโอนสิทธิการเช่าได้ ถือว่าเป็นทรัพย์สินที่โอนกันไม่ได้ตามกฎหมาย ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี โจทก์ไม่มีสิทธินำยึดขายทอดตลาดได้
2. ฎีกาที่ 3020/2532 (ประชุมใหญ่)
เงินเดือน ค่าจ้าง บำนาญ เงินบำเหน็จฯ ตามมาตรา 286(2) และ (3) แม้จำเลยจะได้รับมาจากเจ้าหน้าที่แล้ว ก็เป็นเงินที่ไม่อยู่ในข่ายบังคับคดี
3. ฎีกาที่ 2541/2545
ลูกจ้างของการรถไฟ ได้รับเงินเดือนจากงบประมาณของการรถไฟ ไม่ใช่ลูกจ้างของรัฐบาล กรณีจึงอยู่ในเขตบังคับตาม ป.วิ.พ. มาตรา 286(3)
ขอกันส่วน
1. ฎีกาที่ 1767/2527
บุคคลภายนอกจะใช้สิทธิตามมาตรา 287 นี้ได้ ต้องมีการบังคับคดีหรือบังคับชำระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ด้วย หากเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาใช้สิทธิติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สิน ผู้ร้องจะร้องขอคุ้มครองตามมาตรานี้ไม่ได้
2. ฎีกาที่ 5470/2536
ในกรณีที่เป็นการฟ้องร้องให้แบ่งทรัพย์สินระหว่างเจ้าของรวม บุคคลอื่นจะร้องขอกันส่วนไม่ได้เช่นกัน
3. ฎีกาที่ 3323/2528
ผู้ที่คุ้มครองชั่วคราวตามมาตรา 287 นี้ ต้องเป็นผู้มีบุริมสิทธิหรือสิทธิอื่นๆ ซึ่งผู้นั้นอาจร้องขอให้บังคับเหนือที่ยึดหรืออายัดได้ สำหรับสิทธิอื่น ๆ นี้จะต้องเป็นสิทธิทำนองเดียวกับบุริมสิทธิ
4. ฎีกาที่ 2517/2534
เจ้าหนี้ผู้รับจำนำเป็นผู้มีสิทธิเหนือทรัพย์ที่จำนำ จึงมีสิทธิขอกันส่วนเพื่อขอรับชำระหนี้ของตนตามมาตรา 287 แต่ถ้าผู้รับจำนำยอมให้ทรัพย์ที่จำนำกลับคืนไปสู่การครอบครองของผู้รับจำนำแล้ว สิทธิจำนำย่อมระงับสิ้นไป ผู้รับจำนำจะร้องขอกันส่วนไม่ได้
เจ้าของรวมร้องขัดทรัพย์ไม่ได้ ต้องร้องกันส่วน
1. ฎีกาที่ 541/2509
ผู้ที่เป็นเจ้าของรวมในทรัพย์สินร่วมกับจำเลย จะร้องขัดทรัพย์ไม่ได้ เพราะจำเลยมีส่วนเป็นเจ้าของอยู่ด้วย แต่เจ้าของรวมคนอื่นมีสิทธิร้องขอกันส่วนของตนตามมาตรา 287
2. ฎีกาที่ 679/2532
ถ้าทรัพย์สินที่ยึดเป็นสินสมรส ถือว่าคู่สมรสที่ไม่ได้ถูกฟ้องด้วยบุคคลภายนอกมีสิทธิร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินนั้นได้ จึงมีสิทธิร้องขอกันส่วนจากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดสินสมรสนั้น แต่ทั้งนี้ต้องได้ความว่าหนี้ที่โจทก์ฟ้องบังคับนั้นไม่ใช่หนี้ร่วมระหว่างสามีภริยา
3. ฎีกาที่ 2725/2528
กรณีผู้ร้องกับจำเลยเป็นสามีภริยากัน และหนี้ตามคำพิพากษาเป็นหนี้ร่วมระหว่างสามีภริยา สามีภริยาต้องรับผิดในหนี้ดังกล่าวร่วมกัน ผู้ร้องจึงร้องขอกันส่วนจากสินสมรสที่ถูกยึดไม่ได้
4. ฎีกาที่ 445/2540
ถ้าเจ้าหนี้ที่โจทก์ฟ้องเป็นหนี้ร่วม สามีหรือภริยาที่มิได้ถูกฟ้องจะร้องขอกันส่วนจากสินสมรสที่ถูกยึดทรัพย์บังคับคดีไม่ได้ แต่ถ้าเป็นสินส่วนตัวของคู่สมรสที่มิได้ถูกฟ้องเป็นจำเลยด้วยแม้จะเป็นหนี้ร่วมระหว่างสามีภริยาก็ตาม เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะยึดมาชำระหนี้ดังกล่าวไมได้
5. ฎีกาที่ 2883/2528
ถ้าหากมีการแบ่งแยกครอบครองที่ดินที่เป็นกรรมสิทธิ์รวมเป็นสัดส่วนแล้ว ดังนี้ เจ้าของรวมย่อมขอกันส่วนที่ดินส่วนที่ตนครอบครองออกก่อนขายทอดตลาดได้ ไม่ใช่กันส่วนจากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดิน
6. ฎีกาที่ 675/2546
ถ้าเพียงแต่ตกลงกันเป็นลายลักษณ์อักษรกันเองว่าจะแบ่งแยกการครอบครองที่ดินกันเท่านั้น แต่ไม่มีการแบ่งแยกการครอบครองอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน ถือว่าเจ้าของรวมนั้นครอบครองที่ดินร่วมกันทุกส่วน จึงไม่มีสิทธิขอกันส่วนที่ดิน
7. ฎีกาที่ 772/2523
เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของเจ้าของรวมในคดีอื่นก็มีสิทธิร้องขอกันส่วนตามมาตรา 287
ผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนได้อยู่ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300
8. ฎีกาที่ 2688/2538
ผู้ที่อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้ก่อนในทรัพย์สินที่โจทก์นำยึดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 ถือว่าเป็น สิทธิอื่น ๆ ซึ่งบุคคลภายนอกอาจร้องขอให้บังคับคดีเหนือทรัพย์สินนั้นได้ตามกฎหมายตามมาตรา 287
9. ฎีกาที่ 5557/2545
ผู้มีสิทธิตามสัญญาจะซื้อจะขาย แม้ได้รับมอบทรัพย์แล้ว แต่ยังไม่ชำระราคาไม่ครบ ถือไม่ได้ว่าอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อน ไม่ได้รับความคุ้มครองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287
10.ฎีกาที่ 3766/2545
ต่อมามีคำพิพากษาวินิจฉัยว่า แม้ผู้จะได้ชำระราคาที่ดินครบถ้วนแล้ว อันทำให้เป็นผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้ก่อน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 ก็ตามก็ไม่ใช่สิทธิอื่น ๆ ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 287
กำหนดเวลายื่นคำร้องตามมาตรา 287
11. ฎีกาที่ 1195/2510
การยื่นคำร้องตามมาตรา 287 นั้นไม่ได้กำหนดเวลาไว้ ดังนั้น จึงอาจยื่นภายหลังจากการขายทอดตลาดแล้วก็ได้ ไม่จำต้องยื่นคำร้องก่อนขายทอดตลาดทรัพย์ที่บังคับคดี
12.ฎีกาที่ 974/2529
ตามมาตรา 287 ที่ว่า...การบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้น ย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงบุริมสิทธิ...การบังคับคดีดังกล่าวหมายถึงการบังคับคดีภายหลังมีคำพิพากษาแล้ว หากเป็นการยึดหรืออายัดชั่วคราวก่อนพิพากษาตามมาตรา 254 ผู้ร้องยังไม่มีสิทธิอ้างสิทธิตามมาตรา 287
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น