วันจันทร์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

สรุปหลักฉ้อโกง

ลักษณะของการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงทรัพย์ มีดังนี้
1. ต้องมีการหลอกลวงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง
2. ข้อความนั้นต้องเป็นเท็จและต้องเป็นเหตุการณ์ในอดีตหรือปัจจุบัน ไม่ใช่เหตุการณ์ในอนาคต เว้นแต่เหตุการณ์ในอนาคตนั้นพออนุมานได้ว่าเป็นการแสดงถึงเหตุการณ์ในปัจจุบันรวมอยู่ด้วย
3. ผู้กระทำต้องรู้ข้อความนั้นเป็นเท็จ และต้องเป็นการกล่าวยืนยันข้อความนั้น ไม่ใช่เป็นการแสดงความคิดเห็นหรือคาดคะเนหรือเพียงให้คำมั่นสัญญาแม้จะไม่ ตรงกับความจริงก็ไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง
4. การแสดงข้อความเท็จนั้น อาจเป็นเท็จต่อเพียงบางส่วนก็ได้ ไม่จำต้องเท็จทั้งหมด
5. การหลอกลวงนั้นต้องกระทำก่อนที่จะได้ทรัพย์สิน จากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ถ้าได้ทรัพย์มาในความครอบครองก่อนแล้ว จึงหลอกลวงไม่เป็นฉ้อโกง
6. การหลอกลวงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ ถ้าเขาหลงเชื่อและส่งมอบทรัพย์หรือยอมให้ทรัพย์สินนั้นไปด้วยความเต็มใจ เป็นความผิดฐานฉ้อโกง ถ้าผู้ถูกหลอกลวงไม่หลงเชื่อหรือหลงเชื่อแต่ยังไม่ยินยอมให้เอาทรัพย์นั้นไป ถ้าผู้ที่หลอกลวงหยิบเอาทรัพย์นั้นไปเองหรือหลอกลวงเพื่อให้ทำการลักทรัพย์ได้สะดวกขึ้นเท่านั้นเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ ไม่ใช่ฉ้อโกง
7. การแสดงข้อความอันเป็นเท็จนั้น อาจกระทำด้วยทางวาจา กิริยาท่าทาง ลายลักษณ์อักษร เครื่องขยายเสียง วิทยุ โทรทัศน์ หรืออื่นๆก็ได้ กฎหมายไม่จำกัดเฉพาะทางวาจาเท่านั้น
8. การปกปิดความจริงที่ควรบอกให้แจ้ง คือจะต้องรู้ความจริงแล้วนิ่งเสียไม่ยอมบอกให้เขาทราบเพื่อจะให้ได้ทรัพย์สิน ฯ อาจกระทำโดยกิริยา ท่าทาง หรืออย่างอื่นๆก็ได้
9. การแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงที่ควรบอกให้แจ้งในกรณีที่เกี่ยวกับการโฆษณาสินค้า หรือการขายของ แม้จะเกินความจริงไปบ้างก็ยังไม่ถือว่าเป็นการฉ้อโกงเพราะบุคคลทั่วไปก็เข้าใจในเรื่องนี้ดี แต่ถ้ามีเจตนาที่จะหลอกลวงเพื่อทำการฉ้อโกงโดยตรงก็เป็นความผิดเกี่ยวกับการค้า ตาม มาตรา 271 ได้
10. การหลอกลวงนั้นต้องทำให้เขาหลงเชื่อและได้ไปซึ่งทรัพย์สิน หรือ ทำให้เขาทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ก็เป็นความผิดสำเร็จแล้ว หากให้เพราะความสงสารหรือเพื่อจะเอาเป็นพยานหลักฐานในการฟ้องคดีหรือไม่เชื่อจึงไม่ให้ทรัพย์ หรือเชื่อแต่ไม่ให้ทรัพย์หรือไม่มีทรัพย์จะให้ ดังนี้ เป็นเพียงความผิดฐานพยายามฉ้อโกง
11. การได้ทรัพย์สินหรือให้ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธินั้น ไม่จำกัดว่าจะต้องได้ไปจากผู้ถูกหลอกลวง แต่รวมถึงบุคคลที่สามด้วย แต่บุคคลนั้นต้องมีการครอบครองเหนือทรัพย์นั้นด้วย ถ้าผู้ที่มอบให้ไม่มีการครอบครองเหนือทรัพย์นั้น ผู้เอาไปผิดฐานลักทรัพย์ ดูฎีกาที่ 207/2512
12. ความผิดฐานฉ้อโกง การได้ทรัพย์นั้น ไม่จำกัดเฉพาะทรัพย์แต่อย่างเดียว แต่รวมถึงทรัพย์สิน สิทธิบางอย่างและให้ทำ ถอนหรือทำลายเอกสารสิทธิด้วย
13. ในกรณีที่ให้ทำ ถอนหรือทำลายเอกสารนั้น ต้องเป็นเอกสารสิทธิ ถ้าไม่ใช่เอกสารสิทธิ เป็นเอกสารธรรมดา ไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง
14. ความผิดฐานฉ้อโกง ผู้กระทำต้องมีเจตนาทุจริตมาก่อนหรือในขณะ
หลอกลวงอันเป็นเหตุให้ได้ทรัพย์นั้น ถ้าผู้กระทำมีเจตนาทุจริตขึ้นในภายหลังไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง แต่ผิดฐานยักยอก

15. ความผิดฐานฉ้อโกงนั้น ต้องหลอกลวงเอาทรัพย์ของผู้อื่น การหลอกลวงเอาทรัพย์ของตนเองไปจากผู้อื่นไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง ดูฎีกาที่ 16/2510
16.ความผิดฐานฉ้อโกง ต้องเป็นการหลอกลวงให้เขาส่งทรัพย์ให้ แต่การ
หลอกลวงเพื่อเอาทรัพย์ไปส่งคืน แม้เป็นเท็จก็ไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง

ตัวอย่างฎีกา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7983/2548


จำเลย อ้างว่ารู้จักกับ บ. ซึ่งสามารถติดต่อฝาก ส. บุตรโจทก์ร่วมเข้ารับราชการตำรวจได้ แต่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นเงิน 100,000 บาท โจทก์ร่วมหลงเชื่อและมอบเงินจำนวนดังกล่าวให้ บ. แล้ว บ. พา ส. ไปพบพันตำรวจโท พ. และมอบเงินที่รับจากโจทก์ร่วมให้พันตำรวจโท พ. โดยไม่ปรากฏว่าพันตำรวจโท พ. มีหน้าที่ในการคัดเลือกหรือบรรจุแต่งตั้งให้บุคคลเข้ารับราชการตำรวจแต่ อย่างใด 


การที่โจทก์ร่วมมอบเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่พันตำรวจโท พ. จึงมิใช่เป็นการให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดเพื่อจูงใจให้เจ้าพนักงาน กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ ถือมิได้ว่าโจทก์ร่วมใช้ให้ผู้อื่นกระทำผิดกฎหมาย โจทก์ร่วมจึงเป็นผู้เสียหายตามกฎหมายมีสิทธิร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลย ในความผิดฐานฉ้อโกงได้คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6645 - 6646/2548


การ แสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตาม ป.อ. มาตรา 343 ไม่ได้ถือเอาจำนวนผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงว่ามากหรือน้อย  แต่ถือเอาเจตนาแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนเป็นสำคัญ  โดยจะพิจารณาจากวิธีการในการหลอกลวง จำนวนผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงมาประกอบด้วยเท่านั้น  คดีนี้แม้ผู้เสียหายตามฟ้องจะมีเพียง 11 คน  แต่ตามบันทึกการตกลงชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่งมีผู้เสียหายที่ตกลงกับจำเลยทั้ง สองถึง 35 คน แสดงว่าจำเลยทั้งสองมิได้ติดต่อชักชวนเฉพาะผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดในคดีนี้ เท่านั้น ทั้งพฤติการณ์ที่จำเลยทั้งสองไปพบผู้เสียหายแต่ละคนที่บ้านแล้วแจ้งเงื่อนไข การไปทำงานที่ประเทศมาเลเซียซึ่งจะได้รับเงินเดือนตั้งแต่ 8,000 บาท ถึง 11,000 บาท โดยจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางรวมคนละ 17,000 บาท แต่ต้องจ่ายเงิน 5,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 1 ก่อน เหมือนกันทุกคน ลักษณะการชักชวนเป็นการชักชวนทั่วไป มิได้มุ่งเจาะจงชักชวนคนใดคนหนึ่งเป็นพิเศษโดยเฉพาะหากผู้ใดปฏิบัติตาม เงื่อนไขดังกล่าวได้ก็สามารถสมัครไปทำงานได้ ขึ้นอยู่กับข้อที่ว่าจะจ่ายเงินให้ตามเงื่อนไขที่แจ้งไปหรือไม่เป็นสำคัญ การหลอกลวงดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นการหลอกลวงประชาชนให้หลงเชื่อ แม้จะมิได้มีการป่าวประกาศหรือแจ้งให้ผู้ถูกหลอกลวงแต่ละคนไปชักชวนต่อ แต่ลักษณะการชักชวนอย่างเดียวกันโดยผู้ถูกชักชวนย่อมบอกต่อกันไปได้ การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนตาม ป.อ. มาตรา 343 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 แล้ว
 
ความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ตาม ป.อ. มาตรา 343 มิใช่ความผิดต่อส่วนตัว แม้ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดถอนคำร้องทุกข์แล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในความผิดฐานนี้ก็ยังไม่ระงับไป




คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5319/2547


การ ที่ผู้เสียหายนำสร้อยคอไปจำนำ เจ้าของร้านทองผู้รับจำนำได้ออกหลักฐานให้ผู้เสียหายว่า เป็นการ " ขายฝาก " โดยมีกำหนดไถ่ทรัพย์ที่ขายฝากคืนภายใน 1 เดือน กรรมสิทธิ์และการครอบครองสร้อยคอที่รับจำนำไว้จึงตกอยู่แก่เจ้าของร้านทอง ผู้รับจำนำจนกว่าผู้เสียหายจะไถ่คืน   ดังนั้น การที่จำเลยนำหลักฐานที่เจ้าของร้านทองออกให้แก่ผู้เสียหายไปขอไถ่สร้อยคอ ของผู้เสียหายจากผู้รับจำนำโดยไม่แสดงออกให้แจ้งชัดว่าตั๋วไถ่ไม่ใช่ของตน เป็นเหตุให้ผู้รับจำนำหลงเชื่อว่าจำเลยเป็นเจ้าของที่แท้จริง จึงได้ส่งมอบกรรมสิทธิ์และการครอบครองสร้อยคอของผู้เสียหายให้จำเลยไป เป็นการกระทำโดยเจตนาทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควร บอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังกล่าวนั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินของผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคล ที่สาม การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341 แม้ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาจะต่างกันระหว่างการกระทำความผิดฐานลัก ทรัพย์และฉ้อโกง ก็ไม่ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญและจำเลยก็มิได้หลงต่อสู้ ศาลฎีกามีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานฉ้อโกงตามข้อเท็จจริงที่ได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม ไม่ถือว่าพิพากษาเกินคำขอ




คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12582/2547


ธนาคาร ท. ผู้จ่ายเงินตามใบบันทึกการขายซึ่งเกิดจากบัตรเครดิตของธนาคาร ซ. ที่จำเลยปลอมขึ้น และนำไปใช้ซื้อสินค้าให้แก่ร้าน ห. เป็นเพียงได้รับความเสียหายทางแพ่ง ไม่ใช่ถูกจำเลยกระทำทางอาญา จึงไม่ใช่ผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) พนักงานอัยการย่อมไม่มีอำนาจขอให้ศาลสั่งจำเลยคืนเงินที่ธนาคาร ท. จ่ายให้แก่ร้าน ห. ให้แก่ธนาคาร ท. ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 ได้ ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาแต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบ เรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสองประกอบด้วยมาตรา 225

ในเรื่องฉ้อโกงจะมีประเด็นให้คิด 2 ประเด็น คือ
1. การให้คำมั่นหรือการให้สัญญาในอนาคตแล้วไม่ทำจะเป็นฉ้อโกงหรือไม่
(ฎีกาที่ 1124/2529)
2. การลักทรัพย์โดยใช้อุบายกับฉ้อโกงต่างกันตรงไหน
การฉ้อโกง หัวใจสำคัญ อยู่ที่การหลอกลวงคือการแสดงข้อเท็จจริงอันเป็นเท็จหรือมิฉะนั้นก็โดยปกปิด ข้อเท็จจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง การหลอกลวงทำให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินหรือทำให้เขาถอน ทำลาย หรือทำเอกสารสิทธิ การที่ใครคนหนึ่งส่งมอบทรัพย์ให้เราโดยสำคัญผิด แล้วเราเบียดบังเอาทรัพย์นั้น
เช่น ผมสั่งซื้อของแต่คนขายเอาของมาส่งที่บ้านตอนที่ผมไม่อยู่ เขาส่งให้โดยสำคัญผิดและไม่ได้เกิดจากการหลอกลวง ต่อมาผมเห็นของแล้วเกิดทุจริตเบียดบังเอาเป็นของผมเอง เช่นนี้เป็นยักยอกทรัพย์
ความผิดฐานฉ้อโกง เป็นความผิดที่ต้องการผล
ลักทรัพย์โดยใช้กลอุบาย คือ เป็นการหลอกลวงเอาไปเพื่อการยึดถือเป็น เช่น ใช้อุบายขอขี่ม้าลองกำลังอยู่ต่อหน้าก่อนที่จะตกลงซื้อแต่ขี่ม้าไปเสีย เป็นลักทรัพย์(ฎีกาที่ 791/2502) เนื่องจากเจ้าของม้ายังไม่สละการครอบครองให้เพียงแต่สละการยึดถือเท่านั้น
แต่ฉ้อโกง เป็นการหลอกลวงได้ไปซึ่งกรรมสิทธิ์
ยักยอกทรัพย์ เป็นการใช้อุบายหลอกไปได้ซึ่งสิทธิครอบครอบ
ตัวอย่างคำพิพากษาฎีกา
คำพิพากษาฎีกาที่ 791/2502
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำผิดวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๑ ตรงกับวันขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือนยี่ และโจทก์นำสืบว่าจำเลยทำผิดวันขึ้น ๑๓ ค่ำเดือนยี่ ซึ่งความจริงแล้ววันขึ้น ๑๓ ค่ำเดือนยี่ ตรงกับวันที่ ๒ มกราคม ๒๕๐๑ ตามที่จำเลยให้การและลำดับเหตุการณ์ในวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๑ เป็นการเจือสมกับการกระทำที่โจทก์ฟ้อง จำเลยเป็นแต่นำสืบปฏิเสธต่อสู้ปัดความรับผิดเท่านั้น จึงเห็นว่าจำเลยมิได้หลงข้อต่อสู้แต่อย่างใด
จำเลยกับพวกได้พูดกับเจ้าของม้าขอลองกำลังม้า อ้างว่าเพื่อนของจำเลยจะซื้อ ดังนี้ สิทธิครอบครองยังคงอยู่กับเจ้าของม้า ๆ ยังไม่ทันอนุญาต จำเลยยัดเยียดส่งบังเหียนให้เพื่อนของจำเลยและพูดรับรอง ในทันใดนั้นเอง พวกของจำเลยก็ตีม้าเร่งฝีเท้าขี่หนีไปต่อหน้า ดังนี้ จึงเห็นว่า จำเลยมีเจตนาที่จะเอาทรัพย์นั้นไปโดยทุจริตแต่แรก การกระทำของจำเลยกับพวกมีความผิดฐานลักทรัพย์
คำพิพากษาฎีกาที่ 2581/2529
จำเลยทั้งสองขี่รถจักรยานยนต์ซ้อนกันเข้าไปเติมน้ำมันเบนซินที่บ้าน ผู้เสียหายจำนวน ๕ ลิตร เมื่อเติมน้ำมันเสร็จภริยาผู้เสียหายทวงเงินค่าน้ำมัน จำเลยที่ ๒ ถือลูกกลม ๆ อยู่ในมือซึ่งฟังไม่ได้ว่าเป็นลูกระเบิดพูดว่า ไม่มีเงิน มีไอ้นี่เอาไหม ภริยาผู้เสียหายเข้าใจว่าเป็นลูกระเบิด จำเลยทั้งสองขี่รถจักรยานยนต์ออกไป การกระทำของจำเลยทั้งสองมีเจตนาหลอกลวงผู้เสียหายเพียงเพื่อจะเติมน้ำมันรถ จักรยานยนต์โดยไม่ชำระราคาเท่านั้น การที่จำเลยที่ ๒ ถือลูกกลม ๆ อยู่ในมือและพูดเช่นนั้น เป็นวิธีการที่จะใช้แสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น จึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกงหาใช่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์หรือปล้นทรัพย์ไม่
คำพิพากษาฎีกาที่ 321/2510
เงินที่ได้จากการขายข้าวซึ่งโจทก์ร่วมและบิดาทำร่วมกัน เมื่อได้ความว่ายังไม่ได้แบ่งเงินรายนี้ระหว่างคนทั้งสอง จึงต้องถือว่าทั้งบิดาและโจทก์ร่วมเป็นเจ้าของเงินรายนี้ร่วมกันอยู่ ดังนี้ จึงต้องถือว่าโจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหาย ย่อมมีสิทธิที่จะร้องทุกข์ได้ตามกฎหมาย
คดีนี้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยได้เรียกเอาเงินและทองมาใส่ถุงย่ามเพื่อเป็นสิริ มงคลในการที่จำเลยจะทำพิธีขึ้นบ้านใหม่ของโจทก์ร่วม โจทก์ร่วมจึงได้ห่อธนบัตรจำนวนเงิน ๒,๐๐๖ บาท กับเอาสร้อยคอทองคำหนักหนึ่งบาทหนึ่งเส้นบรรจุใส่ในกล่องพลาสติกส่งให้จำเลย จำเลยเอาห่อเงินและกล่องบรรจุสายสร้อยดังกล่าวใส่ลงไปในถุงย่ามแล้วลงเรือน ไป มีนายประสิทธิและโจทก์ร่วมเดินตามหลัง ระหว่างเดินกันไปทางบ้านใหม่ของโจทก์ร่วมเพื่อจะทำพิธี จำเลยล้วงเอาห่อธนบัตรนั้นไปเสีย จึงเห็นได้ว่าเป็นการลักทรัพย์ เพราะโจทก์ร่วมเจ้าของทรัพย์ยังมิได้สละการครอบครองให้จำเลย เขาเพียงแต่ให้จำเลยยึดถือไว้เป็นการชั่วคราว ดังนี้ การที่จำเลยเอาห่อธนบัตรนั้นไป ย่อมมีความผิดฐานลักทรัพย์
คำพิพากษาฎีกาที่ 554/2509
จำเลยกับสิบตำรวจโทสำเนียงและสิบตำรวจเอกเหม กลับจากงานบวชนาคด้วยกัน เมื่อไปถึงทุ่งนา สิบตำรวจโทสำเนียงบอกว่าจะไปถ่ายเพราะปวดท้อง จึงมอบปืนไว้กับสิบตำรวจเอกเหม แล้วสิบตำรวจโทสำเนียงก็เดินไปโดยจำเลยเดินตามไปด้วย สิบตำรวจเอกเหมไปคุยอยู่กับพรรคพวก จำเลยได้กลับมาหาสิบตำรวจเอกเหมและเอาความเท็จบอกว่าสิบตำรวจโทสำเนียงให้มา เอาปืนจะไปธุระ สิบตำรวจเอกเหมเห็นว่าจำเลยกับสิบตำรวจโทสำเนียงเจ้าของปืนเป็นเพื่อนกัน จึงหลงเชื่อตามคำหลอกลวงของจำเลยและมอบปืนให้จำเลยไป ดังนี้ การกระทำของจำเลยจึงอยู่ในลักษณะที่เห็นได้ว่าจำเลยหลอกลวงให้สิบตำรวจเอก เหมหลงเชื่อจนได้ปืนไปจากสิบตำรวจเอกเหมผู้ถูกหลอกลวง ฉะนั้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๔๑.
(ประชุมใหญ่ ครั้งที่ ๗/๒๕๐๙)
คำพิพากษาฎีกาที่ 973/2520
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์ ได้ความว่าจำเลยมาเอารถจักรยาน ๒ ล้อ ของผู้เสียหายซึ่งฝากไว้กับนายจันทร์ อ้างว่าจะเอาไปให้ผู้เสียหาย นายจันทร์เห็นว่าจำเลยกับผู้เสียหายเป็นเพื่อนกันและมาฝากรถด้วยกันจึงมอบ ให้ไป แล้วจำเลยนำไปเป็นประโยชน์ของตน หาได้นำไปคืนให้ผู้เสียหายไม่ เห็นได้ว่าจำเลยมีเจตนาทุจริตมาแต่แรกแล้วหลอกลวงให้นายจันทร์หลงเชื่อด้วย การแสดงข้อความอันเป็นเท็จจนได้รถคันนั้นไปจากนายจันทร์ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๑ ไม่ใช่ความผิดฐานลักทรัพย์ เมื่อข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวใน ฟ้อง ศาลก็ต้องยกฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๒ วรรคสอง


เลขที่ฎีกา    1881/2517  ความผิดฐานฉ้อโกงเป็นเรื่องที่ผู้กระทำผิดได้ทรัพย์ด้วยการ
หลอกลวง   แต่ความผิดฐานรับของโจรทรัพย์ที่ได้มาด้วยการฉ้อโกงนั้น ผู้รับ
ของโจรไม่ได้ไปหลอกลวงด้วย   เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องสำหรับความผิดฐาน
ฉ้อโกงว่าจำเลยที่  2 ได้ทรัพย์มาด้วยการร่วมกับจำเลยที่ 1 หลอกลวงผู้อื่น
แต่กลับบรรยายฟ้องในความผิดฐานรับของโจรว่า     จำเลยที่ 2 รับทรัพย์
รายเดียวกันนี้ไว้โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการฉ้อโกง ซึ่งแสดงว่า
จำเลยที่ 2 ไม่ได้ร่วมหลอกลวงด้วย     จึงขัดแย้งกัน จำเลยที่ 2 ไม่อาจ
เข้าใจได้ว่า  โจทก์กล่าวหาว่ากระทำการอย่างไรแน่ย่อมต่อสู้คดีไม่ถูก ฟ้อง
ของโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 2  ในความผิดสองฐานนี้จึงเป็นฟ้องที่เคลือบคลุม
แต่สำหรับจำเลยที่ 1 โจทก์มิได้กล่าวหาว่า   กระทำผิดฐานรับของโจรด้วย
ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานฉ้อโกงจึงไม่เคลือบคลุม

1 ความคิดเห็น:

  1. ข้าพเจ้าโดนฉ้อโกงหลอกว่ามีงานเจาะบ่อบาดาลและขุดลอกและได้นำเงินให้จำนวน 150000 บาทและไม่มีงานและเป็นทหารด้วย

    ตอบลบ