กกต.
(ย) คณะกรรมการการเลือกตั้ง
กขท.
(ย) (พรบ.ระเบียบข้าราชการทหาร ๒๕๒๑ ม.๕) คณะกรรมการข้าราชการทหาร
กคช.
(ย) การเคหะแห่งชาติ
กคพ.
(ย) คณะกรรมการคดีพิเศษ
ก.ค.ศ.
(ย) (พรบ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ๒๕๔๗ ม.๗) คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา
กฎ
๑. ข้อกำหนด ข้อบัญญัติ ๒ . (พรบ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ๒๕๓๙ ม.๕,พรบ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง ๒๕๔๒ ม.๓) พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ประกาศกระทรวง ข้อบัญญัติท้องถิ่น ระเบียบ ข้อบังคับ หรือบทบัญญัติอื่นที่มีผลบังคับเป็นการทั่วไป โดยไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดหรือบุคคลใดเป็นการเฉพาะ ดู คำสั่งทางปกครอง
กฎ ก.พ.
(ย) ก.ม.ในลำดับศักดิ์กฎกระทรวงออกโดยอาศัยอำนาจพ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน
กฎกระทรวง
ก.ม.ลายลักษณ์อักษรซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจกม.แม่บทซึ่งอาจเป็น พ.ร.บ. พ.ร.ก. หรือ พ.ร.ฎ. ก็ได้ โดยรัฐมนตรีผู้รักษาการตามกฎหมายฉบับนั้นๆ เป็นผู้มีอำนาจในการออกและไม่ต้องผ่านรัฐสภา เมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วมีผลใช้บังคับได้ กม.นี้มีลำดับศักดิ์ต่ำกว่าพรบ.และพรฎ. และมีเนื้อหากำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขในการที่จะปฏิบัติตามกม.แม่บท ดูกฎเสนาบดี
กฎบัตร
(กม.รปท.) ตราสารตกลงก่อตั้งองค์การระหว่างประเทศ เช่น กฎบัตรสหประชาชาติ ( แปลมาจาก Charter) ดู มาตราบท
กฎพระอัยการ
(ก) กม.
กฎมณเฑียรบาล
กม.ว่าด้วยราชสำนัก มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ปัจจุบันคือ กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗
กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗
กม.ว่าด้วยการสืบราชสมบัติ มีศักดิ์เทียบเท่ารัฐธรรมนูญ ตราขึ้นในสมัย ร. ๖ ใช้บังคับเมื่อวันที่ ๑๑ พย.๒๔๖๗ มี ๒๑ ม. แบ่งเป็น ๘ หมวด คือ หมวดที่ ๑ ว่าด้วยนาม และกำหนดให้ใช้กฎมณเฑียรบาล หมวดที่ ๒ บรรยายศัพท์ หมวดที่ ๓ ว่าด้วยการทรงสมมติและถอนรัชทายาท หมวดที่ ๔ ว่าด้วยลำดับชั้นและผู้ควรสืบราชสันตติวงศ์ หมวดที่ ๕ ว่าด้วยผู้ต้องยกเว้นจากการสืบราชสันตติวงศ์ หมวดที่ ๖ ว่าด้วยเวลาที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงพระเยาว์ หมวดที่ ๗ ว่าด้วยการแก้ไขกฎมณเฑียรบาล และหมวดสุดท้ายว่าด้วยผู้รักษาการตามกฎมณเฑียรบาล
กฎเสนาบดี
ชื่อเดิมของกฎกระทรวง แต่ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๔ ธ.ค. ๒๔๗๕ ได้เปลี่ยน เป็นกฎกระทรวงโดย พ.ร.บ. เทียบตำแหน่งกับเสนาบดีแต่ก่อน พ.ศ. ๒๔๗๕
กฎหมาย๑
แบบแผนความประพฤติของมนุษย์ที่อาจจะเกิดจากคำสั่งหรือข้อบังคับของผู้มีอำนาจอธิปไตยหรือเกิดจากจารีตประเพณีหรือจากบ่อเกิดกม.อื่น ซึ่งมีลักษณะใช้บังคับกับบุคคลทั่วไปและใช้ได้ตลอดไปจนกว่าจะถูกยกเลิก และมีสภาพบังคับ กม.อาจแบ่งได้หลายประเภท ได้แก่ (๑) แบ่งเป็นกม.ลายลักษณ์อักษร และกม.ที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร (๒) แบ่งแยกตามลักษณะการใช้เป็น กม.สารบัญญัติและกม.วิธีสบัญญัติ และ (๓)แบ่งตามความสัมพันธ์ของคู่กรณีเป็น กม.เอกชน กม.มหาชนและกม.ระหว่างประเทศ
กฎหมาย๒
๑. (กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์) คำสั่งทั้งหลายของผู้ปกครองว่าการแผ่นดินต่อราษฎรทั้งหลาย เมื่อไม่ทำตามแล้วตามธรรมดาต้องโทษ ๒.(พระยานิติศาสตร์ไพศาล) ระเบียบที่ผู้มีอำนาจได้วางไว้สำหรับความดำเนินของผู้อยู่ใต้อำนาจ เป็นคำบัญชาอย่างใดอย่างหนึ่งจะให้กระทำหรืองดเว้นไม่กระทำสิ่งใด เมื่อผู้บังคับบัญชานั้นมีอำนาจจะบัญชาได้ถ้าผู้ใดไม่ทำตามแล้วจะบันดาลให้เกิดผลร้ายหรือทำโทษได้ ๓. (ศ.เอกูต์) คำสั่งหรือข้อห้ามซึ่งมนุษย์จำต้องเคารพในความประพฤติต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันอันมาจากรัฐถาธิปัตย์หรือหมู่มนุษย์มีลักษณะทั่วไปใช้บังคับได้เสมอและจำต้องปฏิบัติตาม ๔. (ศ.ดร.หยุด แสงอุทัย) กม.แบ่งเป็น ๒ อย่างคือ กม.ตามเนื้อความ ซึ่งหมายถึง ข้อบังคับของรัฐซึ่งกำหนดความประพฤติของมนุษย์ ถ้าฝ่าฝืนจะได้รับผลร้ายหรือถูกลงโทษ และกม.ตามแบบพิธี ซึ่งหมายถึง กม.ที่ออกมาโดยวิธีการบัญญัติกม. โดยไม่ต้องคำนึงว่า กม.นั้นเข้าลักษณะเป็นกม.ตามเนื้อความหรือไม่ ๕. (ดร.ปรีดี เกษมทรัพย์) กฎเกณฑ์ซึ่งเป็นแบบแผนกำหนดความประพฤติของมนุษย์ในสังคมที่มีกระบวนการบังคับอย่างเป็นกิจจะลักษณะ
กฎหมายจารีตประเพณี
กม.ที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งเป็นประเพณีที่มีการปฏิบัติติดต่อกันมานานในท้องถิ่นใดท้องถิ่นหนึ่ง ไม่ขัดต่อกม.และความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ถือเป็นบ่อเกิดกม.ประเภทหนึ่งนอกเหนือจากกม.ลายลักษณ์อักษร ดู จารีตประเพณี
กฎหมายใดๆ อันมีที่ประสงค์เพื่อปกป้องบุคคลอื่น
(ปพพ.ม. ๔๒๒) เช่น พรบ.จราจรทางบก พ.ศ.๒๔๗๗ ม. ๒๓(ฎ.๑๔๖๖/๒๕๑๗)
กฎหมายตราสามดวง
(ก) กม.โบราณของไทยที่มีการชำระในสมัย ร.๑ ผู้ชำระกม.นี้มี ๑๑ คนประกอบด้วยฝ่ายอาลักษณ์ ๔ คน ฝ่ายลูกขุน ๓ คน ฝ่ายราชบัณฑิต ๔ คน โดยให้ตรวจพระราชกำหนดบทพระอัยการอันมีอยู่ในหอหลวงให้ถูกต้องและชำระเสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๓๔๗ แล้วตีตรา ๓ ดวงปิดทองพระราชสีห์ พระคชสีห์และบัวแก้วทุกเล่ม เก็บไว้๓ ฉบับเก็บไว้ในห้องเครื่อง หอหลวงและศาลหลวงสำหรับลูกขุนแห่งละฉบับ กม.นี้อาจแบ่งเป็น ๓ กลุ่มคือ (๑) บานแผนก พระธรรมศาสตร์ และอินทภาษ (๒) บทพระอายการเล่มที่ ๓-๒๗ ที่ขึ้นต้นด้วยลักษณะ และ (๓) รวมพระราชกำหนดที่ออกเกี่ยวกับเรื่องเบ็ดเตล็ดต่างๆ ในเล่มที่ ๒๘-๔๑ ดู พระธรรมศาสตร์ พระราชนิติศาสตร์ พระราชศาสตร์
กฎหมายตามเนื้อหา
กม.ที่มีบทบัญญัติกำหนดให้มีสภาพบังคับ กล่าวคือหากฝ่าฝืน จะมีการบังคับให้เป็นไปตามกม. เช่น ปอ. ปพพ. เป็นกม.ประเภทหนึ่งที่แบ่งตามการมีสภาพบังคับ ดู กฎหมายตามแบบพิธี
กฎหมายตามแบบพิธี
กม.ที่บทบัญญัติไม่มีการกำหนดสภาพบังคับ แต่ออกมาโดยกระบวนการตรากม.หรือนิติบัญญัติเท่านั้น เช่น พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเปิดสมัยประชุมสภา เป็นกม.ประเภทหนึ่งที่แบ่งตามการมีสภาพบังคับ ดู กฎหมายตามเนื้อหา
กฎหมายทะเล
๑. กม.ระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิอธิปไตยและสิทธิในการใช้ประโยชน์ในเขตรัฐที่เป็นพื้นน้ำ ทะเลอาณาเขต ทะเลภายใน ไหล่ทวีป เขตเศรษฐกิจจำเพาะ เกาะ และทะเลหลวงรวมทั้งสิ่งที่เกี่ยวข้อง ๒.อนุสัญญาว่าด้วยกม.ทะเล ค.ศ. ๑๙๘๒
กฎหมายที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร
กม.ที่มิได้บัญญัติขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษร เนื่องจากไม่ได้ออกโดยผ่านกระบวนการนิติบัญญัติ หรือไม่ได้ออกโดยฝ่ายบริหาร แต่อาจเกิดจากประเพณีปฏิบัติ หรือเป็นหลักพื้นฐานในการออกกม.ก็ได้ ได้แก่ จารีตประเพณี หลักกม.ทั่วไป เป็นบ่อเกิดของกม.ทั้งภายในและกม.ระหว่างประเทศที่สำคัญประการหนึ่ง
กฎหมายธรรมชาติ
กม.ซึ่งเกิดจากและมีอยู่แล้วตามธรรมชาติ เป็นสากลใช้ได้ทั่วไปไม่จำกัดเวลาและสถานที่ และเป็นกม.ที่เหนือกว่ากม.ที่มนุษย์สร้างขึ้น ดู สำนักกม.ธรรมชาติ
กฎหมายบทยกเว้น
กม.ที่บัญญัติไว้ให้ใช้เฉพาะกรณียกเว้นหลักทั่วไป ซึ่งจะต้องตีความโดยเคร่งครัดหรือจำกัด เป็นการแบ่งประเภทกม.เพื่อประโยชน์ในการตีความ
กฎหมายบทหลัก
กม.ที่บัญญัติไว้เป็นหลักทั่วๆไปและสามารถตีความขยายหรือกว้างขวางพอสมควร เป็นการแบ่งประเภทกม.เพื่อประโยชน์ในการตีความ
กฎหมายปกครอง๑
กม.มหาชนที่ว่าด้วยหน่วยงานทางปกครอง อำนาจหน้าที่ของหน่วยงานและของเจ้าหน้าที่ทางปกครอง และความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายปกครองกับราษฎร เช่น กม.ว่าด้วยระเบียบราชการบริหารแผ่นดิน
กฎหมายปกครอง๒
๑.(ศ. อมร จันทรสมบูรณ์) กม.มหาชนที่กำหนดกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการบริหารราชการ (บริการสาธารณะ) และกำหนดอำนาจให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐในการปฏิบัติหน้าที่ราชการ(บริการสาธารณะ) ๒.(ศ. ประยูร กาญจนดุลย์) กม.ที่วางหลักเกี่ยวกับการจัดระเบียบการปกครองรัฐในทางปกครอง(การจัดระเบียบราชการบริหาร) รวมทั้งการวางระเบียบเกี่ยวกับกิจกรรมของฝ่ายปกครอง (บริการสาธารณะ) เพื่อสนองความต้องการส่วนรวมของประชาชน ๓. กม.ที่ว่าด้วยการจัดองค์กรและอำนาจทางปกครองภายในรัฐซึ่งเป็นเรื่องการให้บริการสาธารณะเพื่อที่จะตอบสนองความต้องการของประชาชน ได้แก่ กม.ว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน กม.ว่าด้วยการจัดตั้งกระทรวงทบวงกรม กม.ว่าด้วยที่มาและการใช้อำนาจทางปกครอง กม.ว่าด้วยวิธีพิจารณาทางปกครองในชั้นเจ้าหน้าที่ กม.วิธีพิจารณาความปกครองในศาลปกครอง และกม.ว่าด้วยสัญญาสาธารณะและสัญญาสัมปทาน
กฎหมายป้องกันการผูกขาด
(antimonopoly law, antitrust law)กม.ที่มีวัตถุประสงค์คุ้มครองกลไกระบบราคา และการแข่งขันในตลาด โดยมิให้มีการผูกขาดสินค้าและบริการ ของไทยคือ พรบ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ๒๕๔๒ และ พรบ.การแข่งขันทางการค้า ๒๕๔๒
กฎหมายปิดปาก
หลัก ก.ม.ที่ว่า การที่บุคคลใดได้แสดงออกโดยวาจา การกระทำหรือพฤติการณ์ใดๆ อันเป็นการจงใจทำให้บุคคลอื่นหลงเชื่อว่า มีพฤติการณ์หรือเหตุการณ์นั้น และจากการหลงเชื่อทำให้บุคคลอื่นนั้นกระทำการใดลงไปหรือเปลี่ยนแปลงฐานะหรือทำนิติกรรม บุคคลที่กระทำการจะปฏิเสธไม่ยอมรับข้อเท็จจริงหรือผลตามกม.ของการกระทำนั้นไม่ได้ ก.ม.จึงปิดปากมิให้บุคคลนั้นยกข้อต่อสู้ข้อเท็จจริงหรือปฏิเสธผลทางกฎหมายของการกระทำดังกล่าว
กฎหมายเปรียบเทียบ
วิชากม.ที่ศึกษาโดยนำเอาระบบของกม.ที่แตกต่างกันมาศึกษาเปรียบเทียบกันโดยจะศึกษานิติวิธี สถาบันทางกม. และวิธีการแก้ไขปัญหาในแต่ละระบบมาเปรียบเทียบกัน
กฎหมายพระ
(Canon Law) กม.ของศาสนาคริสต์ว่าด้วยครอบครัว การสมรสและการหย่า ใช้กันอยู่ในยุโรปสมัยกลางราว คศ. ๑๔-๑๕
กฎหมายพาณิชย์
กม.เอกชนที่ว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ในทางเศรษฐกิจของบุคคลผู้ประกอบการพาณิชย์และว่าด้วยการทำธุรกรรมทางพาณิชย์ไม่ว่าจะโดยเนื้อหาหรือรูปแบบหรือที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกรรมดังกล่าว
กฎหมายแพ่ง
กม.เอกชนที่กำหนดสิทธิและหน้าที่ของบุคคลในทางแพ่ง โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับการมีและการสิ้นสภาพบุคคล ความสามารถของบุคคล ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับบุคคลในทางเอกชนหรือความสัมพันธ์ในทางหนี้และในทางครอบครัว ความสัมพันธ์ที่บุคคลมีต่อทรัพย์สินหรือความสัมพันธ์ในทางทรัพย์และมรดก กม.แพ่งและกม.อาญาจะแตกต่างกันทั้งด้านเนื้อหาและสภาพบังคับ
กฎหมายภายนอก
กม.ที่เกิดจากข้อตกลงที่จะผูกพันกันของประเทศต่างๆ หรือที่ออกโดยองค์กรระหว่างประเทศหรือที่เป็นจารีตประเพณีระหว่างประเทศได้แก่ กม.ระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง กม.ระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลหรือกม.ระหว่างประเทศแผนกคดีอาญา กม.ที่เกิดจากข้อตกลงที่จะผูกพันกันของประเทศต่างๆ หรือที่ออกโดยองค์กรระหว่างประเทศหรือที่เป็นจารีตประเพณีระหว่างประเทศได้แก่ กม.ระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง กม.ระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลหรือกม.ระหว่างประเทศแผนกคดีอาญา
กฎหมายภายใน
กม.ที่ออกโดยองค์กรการออกกม.ของประเทศใดประเทศหนึ่งเพื่อใช้บังคับภายในประเทศนั้น ซึ่งอาจแบ่งเป็น กม.ลายลักษณ์อักษรและไม่เป็นลายลักษณ์อักษร กฎหมายอาญาและกม.แพ่ง กม.สารบัญญัติและกม.วิธีสบัญญัติ และกม.มหาชนและกม.เอกชน
กฎหมายมหาชน
กม.ที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ หน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกับราษฎร ในฐานะที่รัฐมีอำนาจเหนือกว่าราษฎร เป็นกม.ที่เป็นทั้งที่มาแห่งอำนาจรัฐและการควบคุมการใช้หรือจำกัดอำนาจรัฐ เช่น รัฐธรรมนูญ กม.ปกครอง กม.อาญา ปวิพ. ปวิอ. หรือพระธรรมนูญศาลยุติธรรม
กฎหมายแม่บท
กม.ที่มีบทบัญญัติให้อำนาจในการออก กม.ลำดับรอง เช่น รธน. พรบ. เป็นต้น
กฎหมายระหว่างประเทศ
ก.ม. ที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับรัฐ เป็นกม.ที่ใช้บังคับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ บ่อเกิดของกม.นี้ได้แก่ สนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศ จารีตประเพณีและหลักกม.ทั่วไป มี 3 ประเภทคือ กม.ระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง กม.ระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลและกม.ระหว่างประเทศแผนกคดีอาญา
กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล
กม. ที่ว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของบุคคลในกรณีที่มีความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลต่างรัฐกัน เช่น พรบ.สัญชาติ พรบ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกม.
กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง
กม. ที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับรัฐ แบ่งเป็น ๒ ภาคคือ ภาคสันติซึ่งเป็นกฎเกณฑ์ข้อกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐในยามสงบ เช่น การทำสนธิสัญญา เขตแดนและอำนาจอธิปไตยเหนือเขตแดน กม.ทะเล การแต่งตั้งผู้แทนของรัฐ และภาคสงครามซึ่งเป็นกฎเกณฑ์ข้อกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐในยามสงคราม เช่น หลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติในการทำสงคราม หรือในเรื่องความเป็นกลาง
กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีอาญา
กม. ที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐในทางอาญา เช่น การรับรู้คำพิพากษาทางอาญาของประเทศอื่น ความข้อตกลงระหว่างรัฐในการร่วมมือกันปราบปรามอาชญากรรมระหว่างประเทศ และการส่งผู้ร้ายข้ามแดน
กฎหมายแรงงาน
ก.ม. ที่บัญญัติถึงสิทธิและหน้าที่ และมาตรการทางปฏิบัติระหว่างนายจ้าง ลูกจ้าง องค์การของนายจ้างและลูกจ้าง
กฎหมายลักษณะผัวเมีย
กม.ที่ใช้บังคับกับการสมรสและความสัมพันธ์ในครอบครัวของสามีภริยาที่ได้กระทำกันก่อนที่ ปพพ. บรรพ ๕ แห่ง พ.ศ. ๒๔๗๗ จะใช้บังคับ ปัจจุบันกม.นี้ยังใช้บังคับอยู่ ดู สินเดิม สินสมรส
กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. ๑๒๗
กม.อาญาเดิมก่อนปอ. ยกร่างและประกาศใช้เมื่อ ๑ มิย. ๒๔๕๑ ในสมัย ร.๕ โดยมี กม.อาญาฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๘๑๐ ปอ.เยอรมัน ค.ศ. ๑๘๗๐ ปอ.ฮังการี ค.ศ. ๑๘๗๙ ปอ.เนเธอร์แลนด์ ค.ศ. ๑๘๘๑ ปอ.อิตาลี ค.ศ ๑๘๘๐ ปอ.ญี่ปุ่น ค.ศ. ๑๙๐๓ และ ปอ.อียิปต์ ค.ศ. ๑๙๐๔ เป็นต้นแบบ ถือเป็นประมวลกม.ฉบับแรกของไทย มีเนื้อหา ๓๔๐ ม. ใช้บังคับจนถึง พ.ศ. ๒๔๘๖ จึงได้มีการปรับปรุงและใช้ กฎหมายลักษณะอาญา พ.ศ. ๒๔๘๖ ต่อมาถูกยกเลิกโดยพรบ.ให้ใช้ปอ.พ.ศ. ๒๔๙๙
กฎหมายลายลักษณ์อักษร
กม.ที่ได้บัญญัติขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งอาจจะโดยผ่านกระบวนการนิติบัญญัติ หรืออาจจะออกโดยฝ่ายบริหาร ได้แก่ รัฐธรรมนูญ พรบ. ประมวลกม.พรก. พรฎ. กฎกระทรวงและกม.ลำดับรองอื่น เป็นบ่อเกิดของกม.ที่สำคัญในปัจจุบัน
กฎหมายลำดับรอง
กม.ที่ออกโดยอาศัย กม.แม่บทกล่าวคือ รัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ พรบ. ฯลฯ โดยฝ่ายบริหารจะเป็นผู้ออก เนื้อหาของกม.จะเป็นการออกรายละเอียดเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขและรายละเอียดอื่นในการปฏิบัติตามกม.แม่บท
กฎหมายว่าด้วยเรือไทย
พรบ.เรือไทย ๒๔๘๑
กฎหมายวิธีสบัญญัติ
ก.ม. ที่มีเนื้อหาบัญญัติถึงวิธีการที่จะนำกม.สารบัญญัติมาบังคับใช้ให้เป็นผลหรือวิธีการ ดำเนินการบังคับเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายสารบัญญัติ เช่น ปวิพ. ปวิอ.
กฎหมายสารบัญญัติ
กม.ที่มีเนื้อหาบัญญัติกำหนดสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดของบุคคล (ในทางแพ่ง) เช่น ปพพ. หรือที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความผิดและโทษในทางอาญา เช่น ปอ. ดู กฎหมายวิธีสบัญญัติ
กฎหมายสิบสองโต๊ะ
กม.ในสมัยโรมันจัดทำขึ้นเมื่อ ๔๕๑ ปีก่อนคริสตศักราช เป็นกม.ที่รวบรวมหลักกม.ที่สำคัญๆ ที่มีที่มาจากจารีตประเพณีและหลักศาสนาเข้าเป็นหมวดหมู่ แล้วจารึกลงบนแผ่นทองเหลืองที่มีลักษณะเป็นโต๊ะรวม ๑๒ โต๊ะ นำไปตั้งไว้ในสถานที่ประชุม
กฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
ได้แก่ กม.มหาชน ,กม.อาญา, ปพพ.ในส่วนที่เกี่ยวกับสถานะของบุคคลและ ครอบครัว และ กม.คุ้มครองแรงงานในส่วนที่เกี่ยวกับการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฎ.๕๐๔๖-๕๐๔๗ / ๒๕๓๑)
กฎหมายอาญา
กม.มหาชนที่บัญญัติขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษร ว่าด้วยความผิดและโทษ โดยบทความผิดจะเป็นบทบัญญัติห้ามมิให้บุคคลกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือให้กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง และบทว่าด้วยโทษ จะเป็นสภาพบังคับทางอาญาในกรณีที่มีการฝ่าฝืนบทบัญญัติว่าด้วยความผิด ได้แก่ โทษประหารชีวิต จำคุก กักขัง ปรับและริบทรัพย์สิน สภาพบังคับทางอาญาแตกต่างจากทางแพ่ง กม.อาญาจึงมีความหมายกว้างกว่า ปอ. เนื่องจาก มีกม.อื่นที่มีบทบัญญัติว่าด้วยความผิดและโทษเช่นกัน และถือว่าเป็นกม.อาญาด้วย เช่น พรบ.ยาเสพติดให้โทษ ๒๕๒๒ พรบ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ๒๕๑๘ หรือพรบ.ที่มีโทษทางอาญาอื่นๆ หลักการใช้ กม.อาญาที่สำคัญคือ จะต้องไม่มีผลย้อนหลังไปกำหนดความผิดหรือลงโทษแก่บุคคล ยกเว้นแต่ในส่วนที่เป็นคุณจะมีผลย้อนหลังได้
กฎหมายเอกชน
กม.ที่ว่าด้วยสิทธิในทางแพ่ง สิทธิในทางเศรษฐกิจ หรือความสัมพันธ์ทางกม.ระหว่างราษฎรกับราษฎรด้วยกันหรือระหว่างรัฐกับราษฎร ในฐานะที่ทั้งสองฝ่ายมีฐานะเท่าเทียมกัน เช่น ปพพ.
กฎอัยการ
(ก) กม
กฎอัยการศึก
แปลตามศัพท์ว่า กม.ในภาวะสงครามหรือกม.ในยามศึก ฉบับแรกคือ พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก ร.ศ.๑๒๖ ร่างโดยนายยอร์ช ปาร์ดู มี ๘ ม. จากต้นร่างมาจากกม.ว่าด้วยกฎอัยการศึกของฝรั่งเศส ต่อมาอีก ๗ ปีได้มีพรบ.กฎอัยการศึก ๒๔๕๗ ขึ้นบังคับใช้โดยมีสาระสำคัญ คือ (๑) การประกาศกฎอัยการศึกจะประกาศโดยพระบรมราชโองการหรือผู้บังคับบัญชาทหารที่มีกำลังอยู่ใต้บังคับบัญชา ไม่น้อยกว่า ๑ กองพัน และจะยกเลิกได้แต่โดยพระบรมราชโองการเท่านั้น (๒) เจ้าหน้าที่ทหารมีอำนาจเหนือเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนในส่วนที่เกี่ยวกับการระงับปราบปรามหรือการรักษาความสงบเรียบร้อย โดยมีอำนาจที่จะตรวจค้น เกณฑ์ ห้าม ยึด อาศัย ทำลาย เปลี่ยนแปลงสถานที่ และขับไล่บุคคล (๓) บุคคลหรือบริษัทจะร้องขอค่าเสียหายหรือค่าปรับในความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่ได้ กม.ฉบับนี้ยังคงใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน
ก.ต.
(ย.) คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม
กบฎ
( ปอ. ม.๑๑๓ ) ความผิดอาญาฐานหนึ่งซึ่งเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อ (๑) ล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ (๒) ล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร หรืออำนาจตุลาการแห่งรัฐธรรมนูญหรือให้ใช้อำนาจดังกล่าวแล้วไม่ได้ หรือ (๓) แบ่งแยกราชอาณาจักรหรือยึดอำนาจปกครองในส่วนใดส่วนหนึ่งของราชอาณาจักร
ก.บ.ศ.
(ย.) คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม
ก.พ.
(ย) คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน
กพศ.
(ย) คณะกรรมการพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ตามพรบ.การสอบสวนคดีพิเศษ ๒๔๕๗ ม.๓๕
ก.ม. ,กม.
(ย.) กฎหมาย
กมธ.
(ย.) กรรมาธิการ
ก.ร.
(ย) คณะกรรมการข้าราชการฝ่ายรัฐสภา
กรม
ส่วนราชการที่มีการจัดแบ่งในกระทรวง มีอธิบดีเป็นผู้บังคับบัญชาดูแลรับผิดชอบ มีการแบ่งส่วนราชการออกเป็นกองและแผนกโดยมีผู้อำนวยการกองและแผนกเป็นผู้บังคับบัญชาในส่วนนั้นๆ ดู กระทรวง ทบวง
กรมการอำเภอ
๑. นายอำเภอ ๒. (พรบ.ลักษณะปกครองท้องที่ ๒๔๕๗) ประกอบด้วยตำแหน่งนายอำเภอ ปลัดอำเภอและสมุห์บัญชี รวมกัน
กรมธรรม์ประกันภัย
เอกสารที่ผู้รับประกันภัยจัดทำขึ้นเพื่อเป็นหลักฐานว่า ได้มีการทำสัญญาประกันภัยขึ้นแล้วมีรายละเอียดข้อความตามที่กม.กำหนดและตรงตามสัญญาประกันภัย
กรมราชทัณฑ์
หน่วยงานของรัฐที่บังคับคดีอาญาแก่ผู้ต้องโทษประหารชีวิต จำคุก กักขัง
กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ , พระเจ้าบรมวงศ์เธอ
พระบิดาแห่งกม.ไทย โอรสองค์ที่ ๑๔ ใน ร. ๕ ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาตลับประสูติเมื่อวันพุธที่ ๒๑ ตค. ๒๔๑๗ เป็นต้นราชสกุล รพีพัฒน์ ได้รับปริญญา B.A. ชั้นเกียรตินิยมจากสำนักไครส์เชิร์ช มหาวิทยาลัยออกฟอร์ดเมื่อชันษาเพียง ๒๐ พรรษา ร.๕ ทรงเรียก ” เฉลียวฉลาดรพี” เป็นเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมเมื่อวันที่ ๓ มีค. ๒๔๓๙ และเป็นกรรมการตัดสินความฎีกาเมื่อ ปีพ.ศ. ๒๔๔๑ ในปีต่อมาได้รับพระราชทานสุพรรณบัฏเป็นกรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ต่อมาในปีพ.ศ.๒๔๖๒ ทรงประชวรด้วยพระวัณโรคที่พระวักกะ จึงได้เสด็จไปรักษาพระองค์ ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสจนสิ้นพระชนม์
กรรมการ
(บริษัท) ผู้มีอำนาจจัดการบริษัทหรือกระทำการแทนบริษัท มีฐานะเป็นผู้แทนของบริษัทซึ่งอาจได้รับค่าตอบแทนหรือบำเหน็จจากบริษัท อาจแบ่งตามอำนาจการจัดการได้ ๒ ประเภทคือ กรรมการบริหารและกรรมการที่มิได้บริหารงาน ดู คณะกรรมการ
กรรมการเจ้าหนี้
(พรบ.ล้มละลาย ๒๔๘๓ ม.๓๗) บุคคลที่ที่ประชุมเจ้าหนี้ได้มีมติตั้งเพื่อเป็นตัวแทนเจ้าหนี้ในการจัดการเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ มติของที่ประชุมกรรมการเจ้าหนี้ถือว่าเป็นมติของที่ประชุมเจ้าหนี้ (ฎ.๓๑๘๒ / ๒๕๔๐)
กรรมการราษฎร
(ก) (พรบ. ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว ๒๔๗๕) รัฐมนตรี
กรรมเดียว
การกระทำความผิดอาญาที่มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังนี้ (๑) (ก) การกระทำหลายการกระทำที่ได้กระทำลงในวาระเดียวหรือเวลาเดียวกัน ดู หลายกรรม (๒) การกระทำความผิดอาญาหลายการกระทำและหลายฐานความผิดโดยผู้กระทำมีเจตนากระทำเพียงเจตนาเดียว หรืออาจเรียกว่า ต่างกรรมแต่มีเจตนาเดียว(เปรียบเทียบต่างกรรมต่างเจตนา) ดูหลายกรรม (๓) การกระทำความผิดต่อเนื่อง เช่น ความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังตามปอ.ม. ๓๑๐(๔) การกระทำความผิดที่ยืดออกไป เช่น ลักทรัพย์หลายเจ้าของในหอพักเดียวกัน (ฎ.๑๑๐๔ / ๒๕๐๔) กระทำชำเราเด็กหญิงติดต่อกัน ๓ วัน ๕ ครั้ง (ฎ.๕๒๗๘ / ๒๕๔๐) (๕) การกระทำความผิดที่เกลื่อนกลืนกัน เช่น ความผิดฐานฆ่าผู้อื่น เมื่อความผิดสำเร็จย่อมไม่มีความผิดฐานพยายามฆ่าอีก (๖) แม้ผู้กระทำมี ๒ เจตนาแต่การกระทำความผิดฐานหนึ่งจำเป็นต้องกระทำความผิดฐานอื่นด้วย เช่น ความผิดฐานปล้นทรัพย์ซึ่งผู้กระทำมีเจตนาทั้งลักทรัพย์และใช้กำลังประทุษร้าย (๗)การกระทำความผิดที่มีเหตุฉกรรจ์ เช่น บุกรุกเข้าไปลักทรัพย์ในเคหสถาน (ฎ.๑๑๔๒ / ๒๕๑๔ ) ชิงทรัพย์แล้วฆ่า (ฎ. ๖๕๑๖ / ๒๕๓๗ ) (๘)การกระทำความผิดที่โจทก์บรรยายฟ้องรวมกันมาในข้อเดียวและมีคำขอให้ลงโทษเป็นกรรมเดียว ผลของความผิดกรรมเดียวคือ แม้จะผิดกม.หลายบท แต่ศาลจะลงโทษได้เฉพาะบทความผิดที่เป็นบทหนักที่สุดเท่านั้น จะลงโทษทุกบทไม่ได้
กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา
การกระทำที่แสดงออกมาแสดงให้เห็นความประสงค์ของผู้กระทำ เป็นหลักที่ใช้ในการวินิจฉัยว่า ผู้กระทำมีเจตนาในทางอาญาหรือไม่
กรรมวิธี
(พรบ.สิทธิบัตร ๒๕๒๒ ม. ๓ ) วิธีการ กระบวนการหรือกรรมวิธีในการผลิตหรือการเก็บรักษาให้คงสภาพหรือให้มีคุณภาพดีขึ้นหรือการปรับสภาพให้ดีขึ้นซึ่งผลิตภัณฑ์และรวมถึงการใช้กรรมวิธีนั้นๆ ด้วย
กรรมสารทั่วไป
(กม.รปท.) ความตกลงเป็นลายลักษณ์อักษรมีความผูกพันทางกม. ( แปลมาจาก General Act) ดู สนธิสัญญา อนุสัญญา กรรมสารสุดท้าย
กรรมสารสุดท้าย
(กม.รปท.) คำแถลงสรุปรายละเอียดการทำสนธิสัญญาหรืออนุสัญญาตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุดกระบวนการ รวมทั้งมีข้อแนะนำ ( แปลมาจาก Final Act) ดู สนธิสัญญา อนุสัญญา กรรมสารทั่วไป
กรรมสิทธิ์
๑. ทรัพยสิทธิประเภทหนึ่งซึ่งเป็นสิทธิในความเป็นเจ้าของทรัพย์ ๒. (ปพพ.ม.๑๓๐๓) หมายรวมถึงทรัพยสิทธิประเภทอื่นๆ ด้วยนอกจากกรรมสิทธิ์
กรรมสิทธิ์รวม
การที่บุคคลตั้งแต่สองคนหรือหลายคนต่างเป็นเจ้าของทรัพย์สินเดียวกันโดยยังมิได้แบ่งแยกความเป็นเจ้าของออกเป็นสัดส่วน เจ้าของรวมมีสิทธิจัดการทรัพย์สินรวมกันแต่ละคนย่อมใช้สิทธิในทรัพย์นั้นในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมได้ ดู เจ้าของรวม
กรรมาธิการ
(รัฐสภา) ผู้ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาแต่งตั้งเพื่อให้กระทำกิจการ พิจารณา สอบสวน หรือศึกษาเรื่องใดๆ ที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของสภานั้นๆ ดู คณะกรรมาธิการ
กระจายรวมศูนย์อำนาจการปกครอง
การที่หน่วยงานราชการบริหารส่วนกลางได้มอบอำนาจในการวินิจฉัยสั่งการหรือการตัดสินใจในทางการปกครองบางส่วนให้แก่ราชการบริหารส่วนภูมิภาคหรือเจ้าหน้าที่ของหน่วยราชการที่ไปประจำอยู่ในท้องที่ต่างๆ ในส่วนภูมิภาค เพื่อความสะดวกรวดเร็วและแบ่งเบาภาระ บางครั้งเรียกว่า การแบ่งอำนาจ ดูรวมศูนย์อำนาจ
กระจายอำนาจปกครอง
การที่รัฐได้โอนอำนาจหน้าที่บางประการหรืออำนาจการปกครองบางส่วนให้แก่นิติบุคคลมหาชนอื่นที่ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของราชการบริหารส่วนกลางเพื่อให้ไปจัดการบริหารการปกครองบางอย่างในท้องถิ่นได้อย่างอิสระและไม่อยู่ภายใต้บังคับบัญชา โดยมีงบประมาณ ทรัพย์สินและผู้บริหารของตนเอง
กระดาษ
(ป.รัษฎากร ม.๑๐๓) หมายความรวมตลอดถึงแผ่นหนังฟอกหรือสิ่งอื่นๆ ที่ใช้เขียนตราสาร
กระทง
ความผิดอาญากรรมหนึ่งๆ
กระทรวง
หน่วยราชการที่สูงสุดของหน่วยราชการ มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเป็นผู้รับผิดชอบงานในกระทรวง มีปลัดกระทรวงซึ่งเป็นข้าราชการประจำเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดในงานประจำ บางครั้งก็ไม่เรียกชื่อกระทรวง แต่มีฐานะเป็นกระทรวง เช่น สำนักนายกรัฐมนตรี ดู ทบวง กรม
กระทำ๑
๑.คิด ตกลงใจและลงมือกระทำการตามที่ตกลงใจ การแสดงออกทางร่างกายตามที่คิดและตกลงใจ ๒. (ปอ.ม.๕๙ ) กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ และหมายความรวมถึงการให้เกิดผลอันหนึ่งอันใดขึ้นโดยงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้นด้วย ดู งดเว้นกระทำ
กระทำ ๒
(ป.รัษฎากร ม.๑๐๓ ) เมื่อใช้เกี่ยวกับตราสารหมายความว่า การลงลายมือชื่อตามบทบัญญัติแห่ง ปพพ. (ฎ. ๗๕๖๕ / ๒๕๓๘)
กระทำการลามกอย่างอื่น
(ปอ.ม.๓๘๘ )กระทำทางร่างกาย หรือกล่าววาจาอันเป็นการลามกเช่น กล่าวคำว่า “ เย็ดโคตรแม่มึง”(ฎ. ๑๐๖๙ / ๒๕๐๖) “ เจ้าหน้าที่หัวควย ” (ฎ. ๖๙๙ / ๒๔๙๐)
กระทำชำเรา
๑. การที่ชายร่วมเพศกับหญิง ๒. (ปอ.ม.๒๗๖ ,๒๗๗) การกระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำโดยการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำกระทำกับอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่น หรือการใช้สิ่งอื่นใดกระทำกับอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่น
กระทำชำเราเด็กหญิง
(ปอ. ม.๒๗๗) ความผิดอาญาฐานหนึ่งซึ่งมุ่งหมายที่จะคุ้มครองเด็กหญิง โดยถือว่า การร่วมเพศกับเด็กหญิงที่อายุไม่เกิน ๑๕ ปี เป็นความผิดแม้เด็กหญิงนั้นจะยินยอมก็ตาม
กระทำโดยเจตนา
๑.(ปอ.ม.๕๙ วรรคสอง) กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำและในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น ดู เจตนาประสงค์ต่อผลและเจตนาโดยย่อมเล็งเห็นผล ๒.การกระทำที่ผู้กระทำประสงค์ให้ผลเกิดขึ้นหรือเล็งเห็นว่า ผลจะเกิดขึ้นเนื่องจากการกระทำของตน
กระทำโดยประมาท
๑.(ปอ.ม.๕๙ วรรค ๔) กระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้น จักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้เพียงพอไม่ เช่น เอาปืนบรรจุกระสุนมาจ่อยิงเล่น แล้วปืนลั่น (ฎ. ๒๑๐๑ / ๒๕๒๗ ) ขับรถด้วยความเร็วสูงผ่านทางแยกที่มีคนพลุกพล่าน (ฎ. ๒๘๐ / ๒๕๑๘ ) ใช้รถที่ห้ามล้อชำรุด (ฎ. ๙๗๙ / ๒๕๑๓ ) ขับรถขณะเมาสุรา (ฎ. ๗๖๑ / ๒๕๑๑ ) ที่ไม่เป็นประมาทได้แก่ เพียงแต่ขับรถไม่มีใบขับขี่ (ฎ. ๒๙๔ / ๒๕๐๑ ) จอดรถไม่เปิดไฟท้ายให้สัญญาณ (ฎ. ๙๘๘ / ๒๕๑๖ ) ๒.(แพ่ง)การกระทำที่ผู้กระทำไม่ได้ใช้ความระมัดระวังตามวิสัยและพฤติการณ์เพียงพอ ทั้งที่บุคคลที่อยู่ในสถานะการณ์เดียวกันอาจใช้ความระมัดระวังได้
กระทำโดยพลาด
(ปอ.ม.๖๒) การกระทำที่เจตนาที่จะกระทำต่อบุคคลหนึ่ง แต่ผลของการกระทำเกิดขึ้นแก่อีกบุคคลหนึ่งโดยพลาดไป ก.ม.ถือว่า ผู้กระทำโดยพลาดต้องรับผิดในผลที่เกิดขึ้นเช่นเดียวกัน
กระทู้
(รธน.) การถามปัญหาต่อนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบในเรื่องนั้นๆ ในสภา ซึ่งแบ่งเป็น ๒ ประเภทคือ กระทู้ทั่วไป และกระทู้สด
กระทู้ทั่วไป
(รธน.) การที่สส.หรือ สว.ถามปัญหาต่อนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบในเรื่องนั้นๆ ในสภา โดยประธานสภาจะส่งกระทู้ไปให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องตอบ โดยการตอบทำได้ ๒ วิธีคือ (๑) จะตอบในที่ประชุมสภาซึ่งต้องบรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุมภายใน ๑๕ วันนับแต่วันที่ส่งกระทู้ถาม หรือ(๒) ตอบในราชกิจจานุเบกษาก็ได้ แต่ต้องตอบภายใน ๓๐ วันนับแต่วันที่ได้รับ แต่รัฐมนตรีมีสิทธิที่จะไม่ตอบเมื่อรัฐมนตรีเห็นว่า เรื่องนั้นยังไม่ควรเปิดเผยเพราะเกี่ยวกับความปลอดภัยหรือประโยชน์สำคัญของแผ่นดิน
กระทู้สด
(รธน.) การที่สส.(ไม่รวมสว.) ถามปัญหาต่อนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบในเรื่องนั้นๆ โดยถามด้วยวาจากันสดๆ ในที่ประชุมสภา ซึ่งเรื่องที่จะถามเป็นกระทู้สดได้จะต้องเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของประชาชน เป็นเรื่องที่กระทบถึงประโยชน์ของประเทศชาติหรือประชาชน หรือเป็นเรื่องเร่งด่วน วิธีการตั้งกระทู้ถามคือ ก่อนการประชุมสส.ที่จะตั้งกระทู้ถามอาจแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรในวันนั้น ว่าจะตั้งกระทู้สดถามนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี โดยไม่ต้องระบุคำถามและให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรบรรจุไว้ในวาระการประชุมวันนั้น การถามและตอบกระทู้ถามจะกระทำได้สัปดาห์ละ ๑ ครั้งและจะถามได้เรื่องละไม่เกิน ๓ ครั้ง
กระบวนการนิติบัญญัติ
วิธีการและขั้นตอนในการออกก.ม. ซึ่งเป็นหน้าที่ที่สำคัญที่สุดของฝ่ายนิติบัญญัติ
กระบวนการยุติธรรม
องค์กรในการประสิทธิประสาทความยุติธรรมซึ่งอาจเป็นองค์กรของราชการหรือไม่ก็ได้ ได้แก่ ศาล อัยการ ทนายความ ตำรวจ ราชทัณฑ์
กระบวนพิจารณา
( ป.ว.พ. ม.๑(๗)) การกระทำใด ๆ ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายนี้อันเกี่ยวด้วยคดี ซึ่งได้กระทำไปโดยคู่ความในคดีนั้นหรือโดยศาล หรือตามคำสั่งของศาลไม่ว่าการนั้นจะเป็นโดยคู่ความฝ่ายใดทำต่อศาลหรือต่อคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งหรือศาลทำต่อคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทุกฝ่าย และรวมถึงการส่ง คำคู่ความและเอกสารอื่น ๆ ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายนี้
กระบวนพิจารณาคดีล้มละลาย
(พรบ.ล้มละลาย ๒๔๘๓ ม.๖) กระบวนพิจารณาซึ่งบัญญัติไว้ในพรบ.นี้ไม่ว่าจะกระทำต่อศาลหรือต่อจพท.ตั้งแต่เริ่มคดีจนถึงคดีสิ้นสุด
กระบวนพิจารณาในทางจำหน่ายสิทธิของคู่ความ
(ปวิพ.ม.๖๒) กระบวนพิจารณาที่เป็นการตัดสิทธิหรือทำให้เสียสิทธิในการดำเนินคดีของตัวความ เช่น การยอมรับตามที่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งเรียกร้อง การถอนฟ้อง การประนีประนอมยอมความ การสละสิทธิหรือประเด็นแห่งข้อพิพาทบางข้อ การใช้สิทธิอุทธรณ์ฎีกาหรือขอพิจารณาคดีใหม่
กรุงเทพมหานคร
( พรบ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร) องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษมีอาณาเขตพื้นที่ตามที่กรุงเทพมหานครมีอยู่ มีฐานะเป็นนิติบุคคล เริ่มจัดตั้งแต่เดิมเมื่อวันที่ ๑๓ ธ.ค.๒๕๑๕ ตามป.ว.(ฉ.๓๓๕) เป็นทบวงการเมือง มีฐานะเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่นนครหลวง มีผู้ว่าราชการมาจากการเลือกตั้งเป็นผู้รับผิดชอบในการบริหาร งานและอยู่ในตำแหน่งคราวละ ๔ ปี
กลฉ้อฉล (นิติกรรม)
๑. การแสดงความเท็จให้ผู้อื่นหลงเชื่อ ๒. การที่คู่กรณีฝ่ายหนึ่งในนิติกรรมสองฝ่ายได้ใช้อุบายหลอกลวงอีกฝ่ายหนึ่งให้หลงเชื่อข้อเท็จจริงผิดไปจนตกลงทำนิติกรรมด้วย ๓.(ปพพ.ม. ๑๖๒) การที่คู่กรณีในนิติกรรมสองฝ่ายรู้แล้วจงใจนิ่งเสียไม่แจ้งข้อความจริงหรือคุณสมบัติอันคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งมิได้รู้ ซึ่งหากมิได้มีการนิ่งเสียเช่นว่านั้น นิติกรรมก็คงมิได้กระทำขึ้น กลฉ้อฉลทำให้นิติกรรมเป็นโมฆียะ ๔. (ปพพ.ม. ๓๗๓) จงใจไม่ชำระหนี้แต่แรกเริ่ม แต่ทำสัญญาหลอกลวงว่าจะชำระหนี้ หรือมีเจตนาทุจริตจงใจให้เสียหาย
กลฉ้อฉลเพื่อเหตุ
กลฉ้อฉลที่ไม่ได้เป็นเหตุจูงใจให้คู่กรณีเข้าทำนิติกรรม เพียงแต่เป็นการจูงใจให้ยอมรับข้อตกลงที่เสียเปรียบหรือต้องรับภาระเกินกว่าที่จะยอมรับตามปกติ เช่น ต้องชำระราคาแพงขึ้น (ฎ.๖๙๖ / ๒๕๓๑)
กลอสซาเตอร์
(Glossators’ school) ผู้ที่ศึกษากม.โรมันในยุโรปยุคกลางภายหลังจากที่ค้นพบกม.โรมันที่เมืองโบโลนย่าของอิตาลีและนำมาศึกษาค้นคว้า โดยจะศึกษาว่า กม.โรมันแต่เดิมเป็นเช่นไร และจะเขียนคำอธิบายแทรกไว้ระหว่างบรรทัด ซึ่งมีการค้นคว้าต่อมาโดยพวกโพสต์กลอสซาเตอร์
กลับ (คำพิพากษา)
การที่ศาลสูงมีคำพิพากษาวินิจฉัยตรงกันข้ามกับคำพิพากษาของศาลล่าง ดู แก้ , ยืน ,ยก
กลับ(คำให้การ)
การที่พยานให้การในชั้นสอบสวนอย่างหนึ่ง แต่มาให้การในชั้นศาลเป็นอีกอย่างหนึ่ง
กลางคืน
(ปอ. ม.๑(๑๑)) เวลาระหว่างพระอาทิตย์ตกและพระอาทิตย์ขึ้น เช่น เวลาที่พระอาทิตย์เพิ่งตกดิน (ฎ.๔๙๓ /๒๔๘๖)หรือตกดินแล้ว แม้ยังไม่มืด (ฎ.๖๑๔ /๒๔๙๙) ขมุกขมัวบนเรือนจุดตะเกียงแล้ว (ฎ.๔๔๓ / ๒๔๘๖) เวลากลางคืนหลังเที่ยงของวันที่ ๙ หมายความถึงตั้งแต่พระอาทิตย์ตกของวันที่ ๙ จนถึงเวลา ๒๔ น. (ฎ. ๓๑๔๕ / ๒๕๒๗) เวลากลางคืนเป็นเหตุที่ทำให้ผู้กระทำต้องรับโทษหนักขึ้นในความผิดฐานลักทรัพย์ บุกรุก ดู พระอาทิตย์ขึ้น
กลางวัน
เวลาระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก เช่น เวลา ๑๘ น.ของเดือนมีนาคม(ฎ. ๕๑๒ / ๒๕๑๖) ดู พระอาทิตย์ขึ้น
กล่าว
(ปพพ.ม.๔๒๓)พูด บอกเล่า แจ้งความต่อเจ้าพนักงาน (ฎ. ๘๔๔ / ๒๔๙๔) ไม่รวมการลักพาบุตรสาวไป (ฎ.๓๗๘ / ๒๔๘๓)
ก.ศ.
(ย.) คณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม
ก.ศป.
(พรบ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง ๒๕๔๒ ม.๓) คณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง
ก.อ.
(ย) คณะกรรมการอัยการ
กองทุนการเงิน
(พรบ.เงินตรา ๒๕๐๑ ม.๔) กองทุนการเงินระหว่างประเทศตามข้อตกลงว่าด้วยกองทุนการเงินระหว่างประเทศซึ่งประเทศไทยเป็นสมาชิก
กองทุนรวม
(ป.รัษฎากร ม.๓๙) คณะบุคคลซึ่งเข้าร่วมในกองทุนซึ่งจัดตั้งและดำเนินการโดยบริษัทจัดการกิจการลงทุนตามโครงการในการประกอบกิจการจัดการลงทุนตามกม.ว่าด้วยการควบคุมกิจการค้าขายอันประทบถึงความปลอดภัยหรือผาสุกแห่งสาธารณชน
กองมรดก
ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่างๆ เว้นแต่ตามกม.หรือว่าโดยสภาพแล้ว เป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้ (ปพพ.ม. ๑๖๐๐) ดู มรดก
กองมรดกที่ยังมิได้แบ่ง
(ป.รัษฎากร ม. ๕๗ ทวิ) ทรัพย์สินของผู้ตายในปีถัดจากปีที่ถึงแก่ความตาย แต่ยังมิได้มีการแบ่งปันกันให้ทายาท ถือเป็นหน่วยภาษีที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาต่างหากจากผู้ตาย ดู ผู้ที่ถึงแก่ความตายระหว่างปีภาษี
ก่อนที่ได้เอาทรัพย์สินเช่นว่านี้ออกขายทอดตลาด
(ปวิพ.ม. ๒๘๘) ก่อนการขายทอดตลาดโดยบริบูรณ์ด้วยการเคาะไม้หรือด้วยกริยาอย่างอื่นอย่างใดอย่างหนึ่งตามจารีตประเพณีในการขายทอดตลาดหรือศาลมีคำสั่งแล้ว (ฎ. ๓๐๓๐ / ๒๕๒๘)
ก่อนมีการขอให้ล้มละลาย
(พรบ.ล้มละลาย ๒๔๘๓ ม.๙๒) ก่อนศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด (ฎ.๓๑๖๙ / ๒๕๓๑)
ก.อบต.
(ย) คณะกรรมการพนักงานส่วนตำบล
ก่อสร้าง
(พรบ.ควบคุมอาคาร ๒๕๒๒ ม.๔) สร้างอาคารขึ้นใหม่ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการสร้างขึ้นแทนของเดิมหรือไม่
กักกัน
(ปอ.ม.๔๐)วิธีการเพื่อความปลอดภัยอย่างหนึ่งที่ควบคุมผู้กระทำความผิดติดนิสัยไว้ภายในเขตกำหนดเพื่อป้องกันกระทำความผิดเพื่อดัดนิสัยและเพื่อฝึกหัดอาชีพ การฟ้องขอให้มีการกักกันเป็นอำนาจของอัยการโดยเฉพาะ
กักขัง
๑. โทษทางอาญาอย่างหนึ่ง ที่จำกัดเสรีภาพในการเดินทางของผู้กระทำความผิดโดยการกักตัวผู้กระทำความ ผิดในสถานที่กักขังซึ่งอาจเป็นที่อาศัยของผู้นั้นหรือของผู้ อื่นหรือสถานที่เหมาะสม แต่ต้องมิใช่เรือนจำ ๒. (ปอ.ม. ๓๑๐) การทำให้อยู่ในที่ ๆ มีขอบเขตจำกัด เช่น จอดรถขวางซอย รถออกข้างนอกไม่ได้แต่คนออกจากรถได้ (ฎ. ๑๙๐๘ /๒๕๑๘) ปิดประตูใส่กุญแจให้คนเฝ้า ไม่ให้ออกจากบริเวณบ้าน (ฎ. ๔๒๘ /๒๕๒๐) ที่ไม่ใช่กักขัง เช่น แกล้งขับรถปาดหน้าทำให้ต้องหยุดรถเพื่อไม่ให้ชนกัน (ฎ. ๑๗๒๗ /๒๕๒๗) 3.(ปวิพ.ม.๓๐๐) วิธีการบังคับคดีแก่ลูกหนี้ที่จงใจขัดขืนคำบังคับของศาล
กักเรือ ๒๕๓๔, พรบ.
กม.ว่าด้วยการกักเรือเดินทะเลที่เป็นของลูกหนี้หรือที่ลูกหนี้เป็นผู้ครอบครองเพื่อให้เป็นหลักประกันการชำระหนี้ซึ่งมีมูลที่มาจากสิทธิเรียกร้องเกี่ยวกับเรือเมื่อเกิดกรณีที่เจ้าของเรือหรือผู้ดำเนินการต้องรับผิดทางแพ่ง (สัญญา ละเมิด หรือโดยผลทางกม.)ต่อบุคคลหรือเจ้าหนี้ในราชอาณาจักร
กายพิการ
(ปพพ.ม.๓๒) ผู้ที่ตาบอดทั้งสองข้างมาแต่กำเนิด (ฎ. ๔๐๔๕ /๒๕๒๘) อายุ ๗๔ ปี เป็นอัมพาต เคลื่อนไหวร่างกายได้เฉพาะแถบซ้าย พูดประโยคอย่างยาวๆ ไม่ได้ (ฎ. ๙๑๒ /๒๕๒๐)
การกระทำ
๑. การเคลื่อนไหวร่างกาย หรือไม่เคลื่อนไหวร่างกายโดยอยู่ภายใต้บังคับจิตใจของผู้กระทำ โดยผู้กระทำได้คิด ตกลงใจและกระทำการเคลื่อนไหวหรือไม่เคลื่อนไหวร่างกายตามที่ได้คิดและตกลงใจนั้น ซึ่งอาจจะเป็นการกระทำที่มีการเคลื่อนไหวร่างกาย หรือไม่เคลื่อนไหวร่างกาย เช่น การกระทำโดยงดเว้น หรือละเว้น หรืออาจจะเป็นการครอบครอง และอาจจะอยู่ในขั้นตระเตรียม ขั้นลงมือ หรือเป็นความผิดสำเร็จก็ได้ ดู กระทำ ๒. (ปอ.ม.๕๙ ) การกระทำให้หมายความรวมถึงการให้เกิดผลอันหนึ่งอันใดขึ้น โดยงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลอันนั้นด้วย ดู การกระทำโดยงดเว้น
การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ๒๕๕๐,พรบ.ว่าด้วย,
กม.ว่าด้วยมาตรการป้องกันและปราบปรามการกระทำที่ทำให้ระบบคอมพิวเตอร์ไม่สามารถทำงานตามคำสั่งที่กำหนดไว้หรือทำให้การทำงานผิดพลาดไปจากคำสั่งที่กำหนดไว้ หรือการใช้วิธีการใด ๆ เข้าล่วงรู้ข้อมูล แก้ไข หรือทำลายข้อมูลของบุคคลอื่นในระบบคอมพิวเตอร์โดยมิชอบ หรือการใช้ระบบคอมพิวเตอร์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จหรือมีลักษณะอันลามกอนาจาร
การกระทำโดยงดเว้น
การกระทำที่ไม่เคลื่อนไหวร่างกายแต่โดยอยู่ภายใต้บังคับจิตใจของผู้กระทำและผู้กระทำมีหน้าที่ที่จะต้องกระทำเพื่อป้องกันผลที่เกิดขึ้น แต่กลับงดเว้นไม่กระทำการตามหน้าที่นั้น หน้าที่ที่จะต้องกระทำเพื่อป้องกันผลอาจเกิดจากกม.บัญญัติ สัญญา การยอมรับโดยเฉพาะเจาะจง การกระทำก่อนๆ ของตน หรือความสัมพันธ์เป็นพิเศษเฉพาะเรื่อง ก็ได้
การกระทำโดยพลาด
(ปอ.ม. ๖๐) การที่ผู้กระทำความผิดเจตนากระทำต่อบุคคลหรือวัตถุแห่งการกระทำอย่างหนึ่ง แต่ผลของการกระทำความผิดเกิดขึ้นแก่อีกบุคคลหรือวัตถุแห่งการกระทำอีกอย่างหนึ่งโดยผู้กระทำไม่ได้เล็งเห็นผลว่า ผลจะเกิดแก่บุคคลหรือวัตถุนั้น กม.ถือว่า ผู้กระทำมีเจตนากระทำต่อผู้ที่ได้รับผลนั้นโดยถือเป็นเจตนาโดยผลของกม. ซึ่งต่างจากการกระทำโดยสำคัญผิดเนื่องจากสำคัญผิดในตัวบุคคลมีผู้ถูกกระทำเพียงฝ่ายเดียว ส่วนการกระทำโดยพลาดจะต้องมีผู้ถูกกระทำ ๒ ฝ่ายขึ้นไป บางครั้งเรียก เจตนาโดยพลาด หรือเจตนาโอน ดู สำคัญผิดในตัวบุคคล
การกระทำโดยละเว้น
การกระทำที่ไม่เคลื่อนไหวร่างกายโดยอยู่ภายใต้บังคับจิตใจของผู้กระทำโดยผู้กระทำมีหน้าที่ที่จะต้องกระทำ(แต่ไม่ใช่หน้าที่ที่จะต้องกระทำเพื่อป้องกันผล) แต่กลับละเว้นไม่กระทำการตามหน้าที่นั้น เช่น หน้าที่ต้องช่วยผู้อื่นที่ตกอยู่ในภยันตรายแห่งชีวิต ตนอาจช่วยได้แต่ไม่ช่วย ตามปอ.ม. ๓๗๔
การกระทำตามคำสั่งเจ้าพนักงาน
(ปอ.ม.๗๐ )เหตุยกเว้นโทษเหตุหนึ่งซึ่งเป็นการกระทำตามคำสั่งที่มิชอบด้วยกม.ของเจ้าพนักงาน โดยผู้กระทำเชื่อว่า ตนเองมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตาม และไม่รู้ว่า คำสั่งนั้นไม่ชอบด้วยกม.
การก่อการร้ายระหว่างประเทศ
๑. (สหประชาชาติ)ได้แก่การกระทำดังนี้ (1.) การกระทำที่มุ่งกระทำต่อบุคคลซึ่งอยู่ภายใต้ความคุ้มครองของกม.รปท. เช่น ผู้นำของรัฐ หรือสมาชิกทางการทูต (2.) การกระทำที่มีจุดมุ่งหมายเป็นสลัดอากาศต่อเครื่องบินโดยสารพลเรือน (3.)ส่งผู้ก่อการร้ายไปปฏิบัติการนอกประเทศและใช้วิธีการที่รุนแรง และ( 4.) ใช้ชีวิตมนุษย์บริสุทธิ์เป็นเครื่องมือของการก่อการร้าย 2. (องค์การตำรวจสากล)ได้แก่การกระทำที่มีลักษณะดังนี้ (1.) การกระทำที่มีจุดมุ่งหมายในการแสดงออกให้เกิดผลมากกว่า 1 ประเทศขึ้นไป (2) การกระทำความผิดที่เริ่มขึ้นในประเทศหนึ่งและไปสิ้นสุดลงในอีกประเทศหนึ่ง (3) การกระทำของกลุ่มที่ได้รับการสนับสนุนจากแหล่งกำเนิดในต่างประเทศ (4) ได้มีการวางแผนหรือตระเตรียมการในประเทศหนึ่งและไปปฏิบัติการในอีกประเทศหนึ่ง (5) ผู้เสียหายเป็นประชาชาติหรือพลเมืองของประเทศต่างๆหรือเป็นผู้เสียหายขององค์การธุรกิจระหว่างประเทศ (6) ความเสียหายเป็นสาเหตุให้ประเทศต่างๆ ได้รับผลร้ายหรือเกิดขึ้นกับองค์การระหว่างประเทศ
การก่อวินาศกรรม
( พรบ. ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 2550 ม.4) การกระทำใด ๆ อันเป็นการมุ่งทำลายทรัพย์สินของประชาชนหรือของรัฐ หรือสิ่งอันเป็นสาธารณูปโภค หรือการรบกวน ขัดขวางหน่วงเหนี่ยวระบบการปฏิบัติงานใด ๆ ตลอดจนการประทุษร้ายต่อบุคคลอันเป็นการก่อให้เกิดความปั่นป่วนทางการเมือง
การขนส่ง
(พรบ.การขนส่งทางบก 2522 ม.4 (1) ) การขนคน สัตว์หรือสิ่งของโดยทางบกด้วยรถ
การขนส่งโดยรถขนาดเล็ก
(พรบ.การขนส่งทางบก 2522 ม.4 (4) ) การขนส่งคนหรือสิ่งของหรือคนและสิ่งของรวมกันเพื่อสินจ้างตามเส้นทางที่คณะกรรมการ(ควบคุมการขนส่งทางบกกลางหรือประจำจังหวัด)กำหนดด้วยรถที่มีน้ำหนักรถและน้ำหนักบรรทุกรวมกันไม่เกินสี่พันกิโลกรัม
การขนส่งประจำทาง
(พรบ.การขนส่งทางบก 2522 ม.4 (2) ) การขนส่งเพื่อสินจ้างตามเส้นทางที่คณะกรรมการ(ควบคุมการขนส่งทางบกกลางหรือประจำจังหวัด)กำหนด
การขนส่งไม่ประจำทาง
(พรบ.การขนส่งทางบก 2522 ม.4 (3) ) การขนส่งเพื่อสินจ้างโดยไม่จำกัดเส้นทาง
การขนส่งระหว่างจังหวัด
(พรบ.การขนส่งทางบก 2522 ม.4 (6) ) การขนส่งประจำทาง การขนส่งไม่ประจำทางหรือการขนส่งส่วนบุคคลซึ่งกระทำระหว่างจังหวัดกับจังหวัด
การขนส่งระหว่างประเทศ
(พรบ.การขนส่งทางบก 2522 ม.4 (7) ) การขนส่งประจำทาง การขนส่งไม่ประจำทางหรือการขนส่งส่วนบุคคลซึ่งกระทำระหว่างประเทศไทยกับต่างประเทศ
การขนส่งส่วนบุคคล
(พรบ.การขนส่งทางบก 2522 ม.4 (5) ) การขนส่งเพื่อการค้าหรือธุรกิจของตนเองด้วยรถที่มีน้ำหนักเกินว่า 1,600 กิโลกรัม
การข่าวกรอง
(พรบ.ข่าวกรองแห่งชาติ 2528 ม.3 )การดำเนินการเพื่อให้ทราบความมุ่งหมายกำลังความสามารถ และความเคลื่อนไหว รวมทั้งวิถีทางของต่างชาติหรือองค์การก่อการร้ายที่อาจกระทำการอันเป็นการกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงแห่งชาติ ทั้งนี้เพื่อให้รัฐบาลนำมาประกอบการพิจารณาในการกำหนดนโยบายแห่งชาติ
การข่าวกรองทางการสื่อสาร
(พรบ.ข่าวกรองแห่งชาติ 2528 ม.3 ) การใช้เทคนิคและการดำเนินการกรรมวิธีทางเครื่องมือสื่อสารด้วยการดักรับการติดต่อสื่อสารทางสัญญาณวิทยุ เพื่อให้ได้มาซึ่งข่าวเกี่ยวกับความเคลื่อนไหว ของต่างชาติหรือองค์การก่อการร้ายอันอาจจะมีผลกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงแห่งชาติ
การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย 2542,พรบ.ว่าด้วย ,
กม.ว่าด้วยหลักเกณฑ์การเข้าชื่อเสนอกม.ของประชาชนโดยกำหนด (1) ผู้ที่จะมีสิทธิเข้าชื่อเสนอกม.ซึ่งต้องเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง (2) รูปแบบและเนื้อหาของกม.ที่จะเสนอได้(ต้องทำเป็นร่างพรบ.และมีเนื้อหาเฉพาะที่เกี่ยวกับบทบัญญัติหมวด 3 สิทธิและหน้าที่ของประชาชน และหมวด 5 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ตามรัฐธรรมนูญฯเท่านั้น และ(3) วิธีการเข้าชื่อเสนอกม.ซึ่งมี 2 วิธีคือ โดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า 50,000 คนร้องขอต่อประธานรัฐสภาหรือโดยการจัดการของคณะกรรมการการเลือกตั้ง
การเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น 2542 ,พรบ.ว่าด้วย ,
กม.ว่าด้วยหลักเกณฑ์การเข้าชื่อข้อบัญญัติท้องถิ่น.ของประชาชนโดยกำหนด (1) ผู้ที่จะมีสิทธิเข้าชื่อเสนอกม.ซึ่งต้องเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (2) รูปแบบและเนื้อหาของกม.ที่จะเสนอได้(ต้องทำเป็นคำร้องขอโดยมีร่างข้อบัญญัติท้องถิ่นแนบมาด้วย) และ(3) วิธีการเข้าชื่อเสนอกม.ซึ่งต้องกระทำโดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองท้องถิ่นจำนวนไม่น้อยกึ่งหนึ่งเข้าชื่อร้องขอต่อประธานสภาท้องถิ่นเพื่อให้สภาท้องถิ่นพิจารณาตราข้อบัญญัติ
การควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน
อำนาจหน้าที่อีกประการหนึ่งของฝ่ายนิติบัญญัตินอกเหนือจากการออกกม. เป็นอำนาจหน้าที่ที่ให้มีการดุลอำนาจกันระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติและบริหาร แบ่งเป็นวิธีการการควบคุมก่อนเข้าบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งได้แก่ การสรรหานายกรัฐมนตรีและการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา และวิธีการควบคุมภายหลังจากเข้าบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งมี 6 วิธีคือ (1) การตั้งกระทู้ถาม (2) ญัตติขอให้สภาพิจารณาเรื่องใดๆ (3) ญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ (4) ญัตติขอให้รัฐบาลแถลงข้อเท็จจริง (5) ญัตติขอฟังความคิดเห็นจากรัฐสภา และ(6) การอนุมัติพระราชกำหนด
การค้าที่ดิน
(ป.ที่ดิน ม.1) การได้มาและจำหน่ายไปซึ่งที่ดินเพื่อประโยชน์ในกิจการค้าหากำไร โดยวิธีขาย แลกเปลี่ยนหรือให้เช่าซื้อที่ดิน
การค้าในน่านน้ำสยาม
(พรบ.เรือไทย 2481 ม.5) การขนส่งคนโดยสาร หรือของหรือลากจูง เพื่อหากำไร จากเมืองท่าหรือถิ่นที่แห่งหนึ่งภายในน่านน้ำสยามไปยังเมืองท่าหรือถิ่นที่อีกแห่งหนึ่งหรือหลายแห่งในน่านน้ำสยาม
การค้าประเวณี
(พรบ.ปรามการค้าประเวณี 2539 ม. 4 )การยอมรับการกระทำชำเราหรือการยอมรับการกระทำอื่นใดหรือการกระทำอื่นใดเพื่อสำเร็จความใคร่ในทางกามารมณ์ของผู้อื่น อันเป็นการสำส่อนเพื่อสินจ้างหรือประโยชน์อื่น ทั้งนี้ไม่ว่าผู้ยอมรับการกระทำและผู้กระทำจะเป็นบุคคลประเภทเดียวกันหรือคนละเพศ
การเงิน
(พรบ.การแข่งขันทางการค้า 2542 ม.3 ) การธนาคารพาณิชย์ตามกม.ว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจเงินทุนและธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ตามกม.ว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ ธุรกิจหลักทรัพย์ตามกม.ว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
การจราจร
(พรบ.จราจรทางบก 2522 ม. 4 (1)) การใช้ทางของผู้ขับขี่ คนเดินเท้า หรือคนที่จูง ขี่ หรือไล่ต้อนสัตว์
การจำนองเรือและบุริมสิทธิทางทะเล 2537 ,พรบ.
กม.ที่ใช้บังคับกับกับการจำนองเรือเดินทะเลโดยตรงและกำหนดบุริมสิทธิทางทะเลขึ้นไว้โดยเฉพาะสำหรับเรือเดินทะเล
การช่วยเหลือกู้ภัย
(พรบ.การช่วยเหลือกู้ภัยทางทะเล 2550 ม.4 ) การกระทำหรือกิจกรรมใดที่ได้กระทำขึ้นเพื่อช่วยเหลือเรือหรือทรัพย์สินอย่างอื่นซึ่งประสบภยันตรายในทะเลหรือน่านน้ำใด ๆ
การชำระหนี้อย่างอื่น
(ป.พ.พ. ม.321) การชำระหนี้โดยวัตถุแห่งหนี้เป็นคนละอย่างหรือมีวิธีการชำระหนี้ที่แตกต่างไปจากที่กำหนด เช่น ชำระหนี้เงินกู้โดยโอนเงินทางโทรเลขเข้าบัญชีผู้ให้กู้ (ฎ.2965/2531)หรือโดยโอนเงินทางโทรศัพท์เข้าบัญชีผู้ให้กู้ (ฎ.6028/2539) หรือด้วยเช็ค (ฎ.4716/2538, 2915/2524, 765/2514, 1084/2510) หรือด้วยมอบสิทธิในการถอนเงินด้วยการมอบบัตรถอนเงินอัตโนมัติให้ไปถอนเงินจากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของตนโดยผ่านเครื่องฝากถอนอัตโนมัติ (ฎ.4643/2539)
การเช่า
(พรบ.การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม 2524 ม.5) การเช่าหรือการเช่าช่วงโดยได้รับความยินยอมจากผู้ให้เช่าซึ่งที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมประเภทที่การเช่าที่ดินเพื่อการนั้นมีการควบคุมตามพรบ.นี้ ทั้งนี้ไม่ว่าการเช่าหรือการเช่าช่วงนั้นจะมีหลักฐานเป็นหนังสือหรือไม่ก็ตามและหมายความรวมถึงการยินยอมให้ใช้ที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมดังกล่าวโดยได้รับค่าเช่าและการทำนิติกรรมอื่นใด อันเป็นการอำพรางการเช่านั้น
การใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล 2489 , พรบ.ว่าด้วย –
กม.ที่กำหนดให้ใช้กม.อิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดกแทน ปพพ. (ยกเว้นอายุความมรดก) ในการวินิจฉัยชี้ขาดคดีแพ่งเกี่ยวด้วยเรื่องครอบครัวและมรดกอิสลามศาสนิกของศาลชั้นต้นในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล ซึ่งอิสลามศาสนิกเป็นทั้งโจทก์จำเลยหรือเป็นผู้เสนอคำขอในคดีไม่มีข้อพิพาท
การฌาปนกิจสงเคราะห์ พ.ศ. 2517, พรบ.
กม.ว่าด้วยการจัดตั้ง และควบคุมการดำเนินงานสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์เพื่อประโยชน์แก่สมาชิกให้ช่วยเหลือสงเคราะห์ซึ่งกันและกันเมื่อสมาชิกคนใดคนหนึ่งถึงแก่ความตาย และมีบทกำหนดโทษผู้ที่ฝ่าฝืนเพื่อป้องกันมิให้มีการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ
การใด(นิติกรรม)
(ปพพ.) นิติกรรม
การต่อต้านข่าวกรอง
(พรบ.ข่าวกรองแห่งชาติ 2528 ม.3 ) การดำเนินการเพื่อต่อต้านการกระทำของต่างชาติหรือองค์การก่อการร้ายที่มุ่งหมายจะให้ได้ไปซึ่งความลับของชาติ หรือทำลายความมั่นคงแห่งชาติโดยการจารกรรม การบ่อนทำลาย การก่อวินาศกรรม และการก่อการร้าย
การไต่สวนมูลฟ้อง
(ปวิอ. ม. 2(12)) กระบวนไต่สวนของศาลเพื่อวินิจฉัยถึงมูลคดีซึ่งจำเลยต้องหา
การทะเบียนราษฎร
(พรบ.การทะเบียนราษฎร 2534 ม.4) งานทะเบียนต่างๆ ตามพรบ.นี้ รวมทั้งการจัดเก็บข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎร
การทำงานล่วงเวลา
(พรบ.คุ้มครองแรงงาน 2541 ม.5) การทำงานนอกหรือเกินเวลาทำงานปกติหรือเกินชั่วโมงทำงานในแต่ละวันที่นายจ้างลูกจ้างตกลงกันตามม.23 ในวันทำงานหรือวันหยุด แล้วแต่กรณี
การที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง
(ปพพ. ม. 193/34(1)) การซื้อสินค้าเพื่อนำไปจำหน่ายให้ลูกค้าอีกต่อหนึ่งมีลักษณะเป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้นั้นเองโดยครอบคลุมถึงกรณีที่ลูกหนี้อาจต้องมีการกระทำใด เช่น การดัดแปลงสินค้าก่อนนำไปจำหน่ายอีกชั้นหนึ่ง อันเป็นลักษณะของการประกอบอาชีพ จึงย่อมต้องมิใช่การซื้อมาเพื่อบริโภคเอง(และมีความหมายกว้างกว่าการซื้อมาเพื่อขายต่อไปแต่อย่างเดียว) มีอายุความ 5 ปี มิใช่ 2 ปี(ฎ. 3856/2547)
การทุ่มตลาด
(พรบ.การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ 2542 ม.13 ) การส่งสินค้าเข้ามาในประเทศไทยเพื่อประโยชน์ในทางพาณิชย์ โดยมีราคาส่งออกที่ต่ำกว่ามูลค่าปกติของสินค้าชนิดเดียวกัน
การนั่งพิจารณา
1. (ศาลยุติธรรม) กระบวนพิจารณาที่ศาลออกนั่งบัลลังก์ตั้งแต่เริ่มพิจารณาคดี เพื่อแสวงหาและรับฟังข้อเท็จจริงในคดีก่อนที่จะมีคำพิพากษา ซึ่งศาลจะต้องกระทำต่อหน้าคู่ความที่มาศาลและโดยเปิดเผยติดต่อกันไปโดยไม่เลื่อนคดี 2.(ปวิพ. ม.1(9)) การที่ศาลออกนั่งเกี่ยวกับการพิจารณาคดี เช่น ชี้สองสถาน สืบพยาน ทำการไต่สวน ฟังคำขอต่าง ๆ และฟังคำแถลงการณ์ด้วยวาจา 3. (ศาลปกครอง) กระบวนพิจารณาขั้นสุดท้ายของศาลปกครองก่อนที่จะพิพากษาคดีโดยเปิดโอกาสให้คู่กรณีมีโอกาสแถลงด้วยวาจาต่อหน้าองค์คณะ จึงเป็นขั้นตอนที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่ได้มีการดำเนินกระบวนพิจารณาแสวงหาข้อเท็จจริงเสร็จสิ้นไปแล้ว แต่ก่อนที่ศาลจะพิพากษาคดี
การนัดหยุดงาน
(พรบ.แรงงานสัมพันธ์ 2518 ม.5) การที่ลูกจ้างร่วมกันไม่ทำงานชั่วคราวเนื่องจากข้อพิพาทแรงงาน
การบริจาค
(พรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2541 ม. 4) การให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดที่คำนวณเป็นเงินได้แก่พรรคการเมือง หรือสมาชิกเพื่อการดำเนินกิจการของพรรคการเมืองหรือเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายของพรรคการเมืองในการเลือกตั้ง นอกเหนือจากค่าธรรมเนียมและค่าบำรุงพรรคการเมืองตามข้อบังคับของพรรคการเมือง
การบริหารงานยุติธรรม
(พรบ.พัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ 2549 ม. 3) การดำเนินงานที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการในการอำนวยความยุติธรรม การป้องกันและการแก้ไขปัญหาอาชญากรรม การคุ้มครองความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพให้กับประชาชน การบังคับการตามกม.และการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน แต่ไม่รวมถึงอำนาจอิสระในการพิจารราพิพากษาอรรถคดีของศาลและการดำเนินการของหน่วยงานอิสระตามรัฐธรรมนูญ
การบริหารสินทรัพย์
(พรก. บริษัทบริหารสินทรัพย์ 2541) (1) การรับซื้อหรือรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงิน หรือสินทรัพย์ของสถาบันการเงินที่ถูกระงับการดำเนินกิจการ เลิก หรือถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบการธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจเงินทุน หรือธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ ตลอดจนหลักประกันของสินทรัพย์นั้น เพื่อนำมาบริหารหรือจำหน่ายจ่ายโอนต่อไป (2)การรับจ้างบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงิน หรือสินทรัพย์ของสถาบันการเงินที่ถูกระงับการดำเนินกิจการ เลิก หรือถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบการธนาคารพาณิชย์ธุรกิจเงินทุน หรือธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ ตลอดจนหลักประกันของสินทรัพย์นั้น (3)กิจการอื่นที่เกี่ยวเนื่องหรือเกี่ยวกับธุรกิจหรือกิจการทำนองเดียวกันตาม (1) หรือ (2)หรือทั้งสองประการที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี
การบำบัดรักษา
( พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ 2522 ม. 4 ) การบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติให้โทษ ซึ่งรวมตลอดถึงการฟื้นฟูสมรรถภาพและการติดตามผลภายหลังการบำบัดรักษาด้วย
การปฏิบัติอย่างชาติที่ได้รับอนุเคราะห์ยิ่ง
(กม.การค้าระหว่างประเทศ) แปลมาจากคำว่า Most Favoured Nation Treatment (MFN) หมายถึง หลักการกำหนดสิทธิเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศในสนธิสัญญาโดยจะกำหนดว่า สินค้าที่นำเข้าจากประเทศภาคีคู่สัญญาจะถูกเก็บอากรศุลกากรในอัตราที่ต่ำที่สุดที่ประเทศผู้นำเข้าใช้เก็บจากสินค้าชนิดเดียวกันนั้น ไม่ว่าจะนำเข้าจากประเทศใดก็ตาม บางครั้งใช้คำว่า ให้ได้สิทธิหรือการปฏิบัติที่ไม่ด้อยกว่าชาติที่สามใดๆ
การประกันภัย
กิจการที่โอนความเสี่ยงภัยจากผู้เอาประกันภัยไปยังผู้รับประกันภัย โดยมีข้อตกลงว่า หากมีความเสียหายเกิดขึ้นตามที่ตกลงกันไว้ บริษัทผู้รับประกันภัยจะจ่ายค่าเสียหายให้ตามจำนวนที่รับประกันไว้หรือทำให้ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยไว้กลับคืนสภาพดีเหมือนเดิม
การประดิษฐ์
(พรบ.สิทธิบัตรฯ ม. 3 ) การคิดค้นหรือคิดทำขึ้นอันเป็นผลให้ได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์หรือกรรมวิธีใดขึ้นใหม่หรือการกระทำใดๆ ที่ทำให้ดีขึ้นซึ่งผลิตภัณฑ์หรือกรรมวิธี
การประดิษฐ์ขึ้นใหม่
(พรบ.สิทธิบัตรฯ ม. 6 ) การประดิษฐ์ที่ไม่เป็นงานที่ปรากฏอยู่แล้ว
การประมง
(พรบ.เรือไทย 2481 ม.5) การจับสัตว์น้ำทุกชนิดรวมทั้งที่ใช้เรือไปทำการจับสัตว์น้ำหรือเป็นพาหนะไปทำการจับสัตว์น้ำด้วย
การประมวลผลข้อมูล
(พรบ.การประกอบข้อมูลธุรกิจเครดิต 2545 ม.3) การปฏิบัติการใดๆ กับข้อมูลไม่ว่าจะเป็นการเก็บรวบรวม การบันทึก การจัดเรียบเรียง การเก็บรักษา การแก้ไขเพิ่มเติม การนำกลับมา การใช้ การเปิดเผย การพิมพ์ การทำให้เข้าถึง การลบหรือการทำลายข้อมูล รวมถึงการจัดทำและเปิดเผยคะแนนเครดิต และรายงานเชิงสถิติ
การปิดงาน
(พรบ.แรงงานสัมพันธ์ 2518 ม.5) การที่นายจ้างปฏิเสธไม่ยอมให้ลูกจ้างทำงานชั่วคราวเนื่องจากข้อพิพาทแรงงาน
การผลิต
(พรบ. การผลิตผลิตภัณฑ์ซีดี 2548ม.3 )การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อให้มีขึ้นซึ่งผลิตภัณฑ์ซีดี
การผลิตผลิตภัณฑ์ซีดี ๒๕๔๘, พรบ.
กม.ว่าด้วยการควบคุมเครื่องจักร ผู้ผลิต เจ้าของลิขสิทธิ์ในการผลิตซีดีและกำหนดให้มีเครื่องหมายรับรองการผลิตเพื่อแสดงให้ทราบถึงแหล่งผลิตซีดีและเครื่องหมายรับรองงานต้นแบบเพื่อให้ทราบถึงงานอันมีลิขสิทธิ์ กม.นี้มีกำหนดอัตราโทษขั้นสูงไว้โดยไม่มีอัตราโทษขั้นต่ำเพื่อให้ศาลใช้ดุลพินิจในการลงโทษ
การพนัน ๒๔๗๘, พรบ.
กม.อาญาที่กำหนดว่าการเล่นหรือจัดให้มีการเล่นการพนันเป็นความผิดและมีโทษ
การพิจารณา
(ป.ว.พ. ม.๑(๘)) กระบวนพิจารณาทั้งหมดในศาลใดศาลหนึ่ง ก่อนศาลนั้นชี้ขาดตัดสินหรือจำหน่ายคดีโดยคำพิพากษาหรือคำสั่ง
การพิจารณาทางปกครอง
(พรบ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ๒๕๓๙ ม.๕) การเตรียมการและการดำเนินการของเจ้าหน้าที่เพื่อจัดให้มีคำสั่งทางปกครอง
การพิจารณาลับ
๑. (คดีแพ่ง-ปวิพ.๓๖) การที่ศาลสั่งห้ามประชาชนทั่วไปเข้าฟังการพิจารณาทั้งหมดหรือแต่บางส่วนหรือห้ามไม่ให้โฆษณาข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์เช่นว่านั้นเนื่องมาจากเพื่อความเหมาะสมหรือเพื่อความคุ้มครองสาธารณประโยชน์ ๒.(คดีอาญา-ปวิอ.๑๗๘ )การที่ศาลสั่งห้ามประชาชนทั่วไปเข้าฟังการพิจารณาทั้งหมดหรือแต่บางส่วนในคดีใดคดีหนึ่งแต่ยอมให้บุคคลตามที่กม.กำหนดเท่านั้นเข้าอยู่ในห้องพิจารณาได้
การพิจารณาลับหลัง
๑.(คดีแพ่ง-ปวิพ.ม. ๓๖(๑))การที่ศาลพิจารณาคดีไปโดยมิได้กระทำต่อหน้าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเนื่องมาจากมีเหตุจำเป็นที่จะต้องรักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณศาลและศาลมีคำสั่งขับไล่คู่ความฝ่ายนั้น ๒. (คดีอาญา-ปวิอ.ม.๑๘๐) การที่ศาลพิจารณาคดีโดยมิได้กระทำต่อหน้าจำเลยเนื่องจากจำเลยขัดขวางการพิจารณาและศาลมีคำสั่งขับไล่จำเลย
การฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ
( พรบ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ๒๕๕๐ ม.๔ ) การเสริมสร้างสมรรถภาพหรือความสามารถของคนพิการให้มีสภาพที่ดีขึ้น หรือดำรงสมรรถภาพหรือความสามารถที่มีอยู่เดิมไว้ โดยอาศัยกระบวนการทางการแพทย์ การศาสนา การศึกษา สังคม อาชีพ หรือกระบวนการอื่นใด เพื่อให้คนพิการได้มีโอกาสทำงานหรือดำรงชีวิตในสังคมอย่างเต็มศักยภาพ
การฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงาน
(พรบ.เงินทดแทน ๒๕๓๗ ม. ๕) การจัดให้ลูกจ้างซึ่งประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยและสูญเสียสมรรถภาพในการทำงานได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพของร่างกายหรือจิตใจหรือการฟื้นฟูอาชีพ เพื่อให้สามารถประกอบอาชีพที่เหมาะสมตามสภาพของร่างกาย
การรักษาความปลอดภัยฝ่ายพลเรือน
(พรบ.ข่าวกรองแห่งชาติ ๒๕๒๘ ม.๓ )การให้คำแนะนำ ช่วยเหลือ และกำกับดุแลส่วนราชการฝ่ายพลเรือน ราชการส่วนท้องถิ่นและรัฐวิสาหกิจ ในการดำเนินการเพื่อรักษาความปลอดภัยแก่เจ้าหน้าที่ สถานที่ เอกสารและสิ่งของอื่นๆ ของทางราชการให้พ้นจากการจารกรรม การบ่อนทำลาย การก่อวินาศกรรมและการก่อการร้าย
การรังวัด
(ป.ที่ดิน ม.๑) การรังวัดปักเขต และทำเขต จด หรือคำนวณการรังวัด เพื่อให้ทราบที่ตั้งแนวเขตที่ดิน หรือทราบที่ตั้งและเนื้อที่ของที่ดิน
การรับจัดการขนส่ง
(พรบ.การขนส่งทางบก ๒๕๒๒ ม.๔ (๘) ) การรับจ้างรวบรวมคน สัตว์หรือสิ่งของและจัดให้บุคคลอื่นซึ่งเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่ง ทำการขนส่งจากที่แห่งหนึ่งไปยังที่อีกแห่งหนึ่งในความรับผิดชอบของผู้รับจัดการขนส่ง
การรับรองรัฐ
การกระทำของรัฐซึ่งกล่าวหรือแสดงยืนยันสถานะของหน่วยสังคมทางการเมืองใหม่ที่เป็นอิสระ สามารถที่จะปฏิบัติพันธะและหน้าที่ตามกฏหมายระหว่างประเทศ และเป็นการแสดงเจตนาที่จะถือว่าหน่วยสังคมทางการเมืองนั้นเป็นสมาชิกของสังคมระหว่างประเทศ (สถาบันกฏหมายระหว่างประเทศในการประชุมที่กรุงบรัสเซสล์ เบลเยี่ยม ค.ศ. ๑๙๓๖)
การเล่น
(พรบ.การพนัน ๒๔๗๘ ม.๔ ทวิ) หมายความรวมตลอดถึง การทายและการทำนายด้วย เช่น การเล่นพนันทายผลฟุตบอล (ฎ. ๙๘/๒๕๔๕)
การเลี้ยงดูโดยมิชอบ
(พรบ.คุ้มครองเด็ก ๒๕๔๖ ม. ๔) การไม่ให้การอุปการะเลี้ยงดู อบรมสั่งสอน หรือพัฒนาเด็กตามมาตรฐานขั้นต่ำที่กำหนดในกฎกระทรวง จนน่าจะเกิดอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจของเด็ก
การแลกเปลี่ยนข้อมูลทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์
(พรบ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ๒๕๔๔ ม.๔) การส่งหรือรับข้อความด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างเครื่องคอมพิวเตอร์โดยใช้มาตรฐานที่กำหนดไว้ล่วงหน้า
การวิจัย
(พรบ.สภาวิจัยแห่งชาติ ๒๕๐๒ ม.๔) การค้นคว้า สอบสวนและเสนอผลของงานวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตรืในสาขาวิชาการตามพรบ.นี้ และที่จัดตั้งขึ้นใหม่ตามพรบ.นี้
การส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต
(พรบ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ๒๕๕๐ ม.๔) การฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ การจัดสวัสดิการการส่งเสริมและพิทักษ์สิทธิ การสนับสนุนให้คนพิการสามารถดำรงชีวิตอิสระ มีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์และเสมอภาคกับบุคคลทั่วไป มีส่วนร่วมทางสังคมอย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ ภายใต้สภาพแวดล้อมที่คนพิการสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้
การสอบสวน
๑. (ป.วิ.อ.ม. ๒(๑๑))การรวบรวมพยานหลักฐานและการดำเนินการทั้งหลายอื่นตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ ซึ่งพนักงานสอบสวนได้ทำไปเกี่ยวกับความผิดที่กล่าวหา เพื่อที่จะทราบข้อเท็จจริงหรือพิสูจน์ความผิดและเพื่อจะเอาตัวผู้กระทำความผิดมาฟ้องลงโทษ ๒.การสอบสวนเป็นเงื่อนไขหนึ่งในคดีอาญา หากไม่มีการสอบสวนหรือการสอบสวนไม่ชอบด้วยกม.จะส่งผลให้การฟ้องคดีอาญาไม่ชอบไปด้วย ดังนั้นพนักงานสอบสวนจึงต้องดำเนินการสอบสวนไปตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด แต่อย่างไรก็ดีมีกรณีที่พนักงานสอบสวนไม่ได้ดำเนินการตามที่กม.กำหนด แต่ก็ยังถือว่า เป็นการสอบสวนที่ชอบด้วยกม. เช่น การไม่จัดให้ผู้เสียหายชี้ตัวผู้ต้องหาตาม ป.วิ.อ.มาตรา ๑๓๓ ตรี (ฎ.๒๘๓๔/๒๕๕๐) การที่ไม่แจ้งสิทธิแก่ผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหาในเรื่องทนายความ (ฎ.๓๑๑๙/๒๕๕๐)
การสำรวจ
(พรบ.สถิติ ๒๕๕๐ ม.๔) การเก็บรวบรวมข้อมูลที่เป็นอยู่จริงเพื่อให้ได้มาซึ่งสถิติ
การสืบสวน
(ปวิอ. ม.๒ (๑๐) ) การแสวงหาข้อเท็จจริงและหลักฐานซึ่งพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจได้ปฏิบัติไปตามอำนาจและหน้าที่ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน และเพื่อที่จะทราบรายละเอียดแห่งความผิด
การเสนอราคา
(พรบ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ ๒๕๔๒ ม.๓ ) การยื่นข้อเสนอเพื่อเป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐอันเกี่ยวกับหน่วยงานของรัฐอันเกี่ยวกับการซื้อ การจ้าง การแลกเปลี่ยน การเช่า การจำหน่ายทรัพย์สิน การได้รับสัมปทานหรือการได้รับสิทธิใดๆ
การแสดงเจตนา
(นิติกรรม) การกระทำที่ปรากฏต่อบุคคลภายนอกเพื่อให้ทราบถึงเจตนาภายใน แบ่งได้ดังนี้คือ (๑) แบ่งประเภทตามวิธีการแสดงเจตนาแบ่งเป็น (๑.๑) การแสดงเจตนาโดยชัดแจ้ง ซึ่งเป็นการกระทำที่แสดงความประสงค์ภายในใจออกมาโดยตรง และ (๑.๒) การแสดงเจตนาโดยปริยาย ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่ได้แสดงความประสงค์ภายในใจออกมาโดยตรง แต่จากพฤติการณ์สามารถคาดเห็นความประสงค์เช่นว่านั้นได้ แต่ไม่ถือว่าการนิ่งเป็นการแสดงเจตนา (๒) แบ่งประเภทว่า ต้องมีผู้รับการแสดงเจตนาหรือไม่ แบ่งเป็น (๒.๑) การแสดงเจตนาฝ่ายเดียว ซึ่งเป็นการแสดงเจตนาที่ทันทีที่แสดงออกมา การแสดงเจตนานั้นสมบูรณ์ทันทีโดยไม่ต้องมีผู้รับ เช่น การทำพินัยกรรม และ(๒.๒)การแสดงเจตนาที่ต้องมีผู้รับ ซึ่งการแสดงเจตนาจะสมบูรณ์ต่อเมื่อมีผู้รับการแสดงเจตนา ดู ทฤษฎีความสมบูรณ์แห่งการแสดงเจตนา (๓) แบ่งประเภทตามระยะห่างของผู้รับการแสดงเจตนา แบ่งเป็น (๓.๑) การแสดงเจตนาต่อบุคคลผู้อยู่เฉพาะหน้า ซึ่งเป็นการแสดงเจตนาต่อบุคคลซึ่งสามารถติดต่อและทำความเข้าใจได้ทันที (๓.๒) การแสดงเจตนาต่อบุคคลผู้อยู่ห่างโดยระยะทาง ซึ่งเป็นการแสดงเจตนาต่อบุคคลซึ่งไม่สามารถติดต่อและทำความเข้าใจได้ทันที
การให้บริการระหว่างประเทศ
การให้บริการในลักษณะดังต่อไปนี้ (ก) การขายหรือให้บริการโดยตรงจากรัฐหนึ่งไปยังลูกค้าที่อยู่ในอีกรัฐหนึ่ง หรือ (ข) การขายหรือให้บริการที่ลูกค้าผู้รับบริการเข้ามาซื้อบริการถึงในประเทศผู้ให้บริการ หรือ (ค)การขายหรือให้บริการโดยผู้ขายบริการนั้นเข้ามาตั้งหน่วยธุรกิจของตนในประเทศของผู้รับบริการเพื่อขายหรือให้บริการในประเทศผู้ซื้อบริการนั้น หรือ(ง) การขายหรือให้บริการโดยบุคคลผู้ให้บริการเข้ามาทำงานในประเทศของผู้รับบริการ เช่น ธนาคารต่างประเทศให้กู้ยืมเงินในประเทศไทยผ่านตัวแทน บีไอบีเอฟ (วิ.ทก.๑/๒๕๔๑)
การให้สัตยาบัน
(กม.รปท.) การที่องค์กรภายในซึ่งมีอำนาจของรัฐให้ความเห็นชอบต่อสนธิสัญญาเพื่อผูกพันรัฐ
การอนุญาโตตุลาการ
การที่คู่พิพาทตกลงกันระงับข้อพิพาท ข้อเรียกร้อง ข้อโต้แย้งที่เกิดขึ้นแล้วหรือจะเกิดขึ้นในอนาคต โดยแต่งตั้งบุคคลที่สามที่มีความเป็นกลาง มีความรู้ในเรื่องที่พิพาท ได้รับความเชื่อถือและยอมรับให้เป็นผู้ชี้ขาดตัดสินข้อพิพาทที่เกิดขึ้นและคู่พิพาทนั้นผูกพันที่จะปฏิบัติตามคำชี้ขาด
การอุดหนุน
(พรบ.การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ 2542 ม.13 ) การได้รับประโยชน์อย่างหนึ่งอย่างใดเนื่องจากรัฐบาล แหล่งกำเนิกหรือประเทศผู้ส่งออกกระทำการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน หรือให้ความสนับสนุนด้านรายได้หรือด้านราคาเพื่อเพิ่มการส่งออกสินค้าใดหรือลดการนำเข้าสินค้าใด
กำจัดมิให้รับมรดก
(ปพพ.ม. 1605,1606) มี 2 กรณีคือ (1) ถูกกำจัดตามกม. โดยยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกเท่าส่วนที่ตนจะได้รับหรือมากกว่านั้น โดยฉ้อฉลหรือรู้ว่าตนทำให้เสื่อมเสียประโยชน์แก่ทายาทอื่น (2) ถูกกำจัดฐานเป็นผู้ไม่สมควร
กำนัน
ตำแหน่งเจ้าพนักงานตาม พรบ.ลักษณะปกครองท้องที่ 2457 เป็นหัวหน้าของราษฎรในตำบลของตน มีอำนาจหน้าที่ปกครองและรักษาความสงบเรียบร้อยของราษฎรที่อยู่ในเขตตำบล
กำไร
(ปพพ.ม.148) ดอกผลนิตินัย กำไรที่หุ้นส่วนหรือบริษัทจำกัดจัดสรรให้แก่ผู้ถือหุ้น ไม่รวมถึงกำไรที่ได้จากการขายสินค้า
กำไรสุทธิ
(ป.รัษฎากร) เงินกำไรที่คำนวณโดยการนำรายได้มาหักด้วยรายจ่าย เป็นฐานภาษีของภาษีเงินได้นิติบุคคล
กำหนดเวลาในการบังคับคดี
(ปวิพ.ม.271)ระยะเวลาที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะบังคับคดีแก่ลูกหนี้ตามคำพิพาก ษา ไม่ใช่เป็นการใช้สิทธิเรียกร้องตามปพพ.และไม่ใช่อายุความ (ฎ.7190/2538)
กำหนดเวลาฟ้องคดี
กำหนดระยะเวลาซึ่งเป็นเงื่อนไขที่กม.กำหนดให้ผู้มีสิทธิต้องฟ้องคดี มิฉะนั้นจะเสียสิทธิทันทีและไม่มีอำนาจฟ้อง เช่น กำหนดเวลาให้ฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองภายใน 1 ปี ตาม ปพพ.ม.1375 หรือกำหนดเวลาอุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการอุทธรณ์ต่อศาลภายใน 30 วันตาม ป.รัษฎากร ม. 30(2) กำหนดเวลานี้ไม่ใช่อายุความและต่างจากอายุความ ที่แม้คู่ความจะไม่ยกขึ้นต่อสู้ ศาลก็หยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เนื่องจากเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ดูอายุความ
กิ่งอำเภอ
(พรบ.ลักษณะปกครองท้องที่ 2457) องค์การปกครองท้องที่ในระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาค จัดตั้งได้ต่อเมื่อมีความจำเป็นในทางปกครองและกระทำโดยประกาศของกระทรวงมหาดไทยและต้องลงในราชกิจจานุเบกษา ไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล และยังอยู่ในเขตปกครองของอำเภอ มีปลัดอำเภอเป็นหัวหน้ากิ่งแต่ยังอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของนายอำเภอท้องที่
กิจการเงินทุนเพื่อการเคหะ
(พรบ.การประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ 2522 ม.4) กิจการจัดหาเงินทุนจากประชาชน และทำการดังต่อไปนี้ เป็นทางค้าปกติ (1) ให้กู้ยืมเงินแก่ประชาชนเพื่อให้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินและหรือบ้านที่อยู่อาศัย (2) ให้กู้ยืมเงินเพื่อใช้ในการจัดหาที่ดินและหรือบ้านที่อยู่อาศัยสำหรับจำหน่ายแก่ประชาชนหรือให้ประชาชนเช่าซื้อ (3) จัดหาที่ดินและหรือบ้านที่อยู่อาศัยมาจำหน่ายแก่ประชาชน รวมทั้งให้ประชาชนเช่าซื้อ
กิจการเงินทุนเพื่อการจำหน่ายและบริโภค
(พรบ.การประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ 2522 ม.4) กิจการจัดหาเงินทุนจากประชาชน และทำการค้าดังต่อไปนี้ เป็นทางค้าปกติ (1) ให้กู้ยืมเงินเพื่อให้ใช้เกี่ยวกับการจำหน่ายสินค้าโดยชำระราคาเป็นงวดๆ หรือโดยให้เช่าซื้อ (2) ให้กู้ยืมเงินแก่ประชาชน เพื่อให้ใช้ในการซื้อสินค้าจากกิจการที่มิใช่ของตนเอง (3) ให้ประชาชนเช่าซื้อสินค้าที่รับโอนกรรมสิทธิ์มาจากกิจการซึ่งจำหน่ายสินค้านั้นเมื่อได้ตกลงจะให้เช่าซื้อ หรือให้ประชาชนเช่าซื้อสินค้าซึ่งยึดได้จากผู้เช่าซื้อรายอื่น (4) รับโอนโดยมีค่าตอบแทนซึ่งสิทธิเรียกร้องที่เกิดจากการจำหน่ายสินค้า
กิจการเงินทุนเพื่อการพัฒนา
(พรบ.การประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ 2522 ม.4) กิจการจัดหาเงินทุนจากประชาชน และให้กู้ยืมเงินระยะกลาง หรือระยะยาวแก่กิจการอุตสาหกรรม เกษตรกรรม หรือพาณิชยกรรมเป็นทางค้าปกติ
กิจการเงินทุนเพื่อการพาณิชย์
(พรบ.การประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ 2522 ม.4) กิจการจัดหาเงินทุนจากประชาชน และให้กู้ยืมเงินระยะสั้น รวมทั้งการเป็นผู้รับรอง ผู้รับอาวัล หรือผู้สอดเข้าแก้หน้าในตั๋วเงินเป็นทางค้าปกติ
กิจการน้ำบาดาล
(พรบ.น้ำบาดาล 2520 ม.3) การเจาะน้ำบาดาล การใช้น้ำบาดาล หรือการระบายน้ำลงบ่อน้ำบาดาล
กิจการร่วมค้า
1. ( joint venture) องค์กรธุรกิจจัดตั้งขึ้นโดยนักลงทุนร่วมกันลงทุนเพื่อประกอบกิจการค้าหากำไรเฉพาะกิจการใดกิจการหนึ่ง เนื่องจากตาม กม.ของนักลงทุนต่างชาติไม่สามารถเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทใหม่ที่จะจดทะเบียนจัดตั้งขึ้นในประเทศไทยได้ หรือเนื่องจากลักษณะงานเป็นงานเฉพาะโครงการใดโครงการหนึ่ง ไม่ต่อเนื่องยาวนานที่จะตั้งเป็นบริษัท มีสถานะทางกม. เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนตาม ปพพ. 2. (ป.รัษฎากร ม.39(2)) กิจการที่ดำเนินการร่วมกันเป็นทางการค้าหรือหากำไรระหว่างบริษัทกับบริษัท บริษัทกับห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลกับห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือระหว่างบริษัทและหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลกับบุคคลธรรมดา คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือนิติบุคคลอื่น
กิจการแสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจ
(พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน 2541) งานที่มีกิจการและวัตถุประสงค์ในการแสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจ ถ้าไม่มีวัตถุประสงค์ไม่แบ่งสรรกำไร ไม่ถือว่า เป็นกิจการแสวงหากำไรทางธุรกิจ เช่น มีวัตถุประสงค์ดำเนินกิจการสถาบันเทคโนโลยี่บนมูลฐานไม่แบ่งสรรกำไร แม้จะมีอำนาจหน้าที่ทำนิติกรรมสัญญาและดำเนินกิจการในการให้เช่าทรัพย์สิน ให้กู้ยืม จำนำ จำนองได้ตามกฎบัตรก็เพื่อให้มีอำนาจบริหารจัดการทรัพย์สินและสิทธิประโยชน์ที่มีอยู่ เพื่อเป็นทุนดำเนินงานในโครงการตามวัตถุประสงค์ เป็นการช่วยเหลือตนเองโดยไม่จำต้องพึ่งพาเงินอุดหนุนจากรัฐบาลของประเทศผู้ให้ทุนแต่เพียงอย่างเดียว งานโครงการเฟอร์โรซีเมนต์ที่จำเลยจ้างโจทก์ทำมีรายรับจากเงินอุดหนุนของรัฐบาลไทยและรัฐบาลต่างประเทศ กับจากการจัดทำวารสารและสัมมนาทางวิชาการ มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้ให้แก่สมาชิกและบุคคลทั่วไปหากมีรายรับเหลือจ่ายจากการดำเนินงานต้องนำไปใช้ในการดำเนินงานของโครงการเท่านั้น ไม่สามารถนำไปใช้ในโครงการอื่นและห้ามนำมาแบ่งปันกัน งานที่ทำจึงไม่ใช่กิจการแสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจ (ฎ. 1400/2547)
กู้เบิกเงินเกินบัญชี
สัญญาบัญชีเดินสะพัดอย่างหนึ่ง (ฎ. 117/2518) โดยเป็นการที่ลูกค้าตกลงขอกู้และธนาคารตกลงให้กู้โดยให้ลูกค้าเบิกเงินเกินบัญชีจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวันได้ภายในวงเงินที่ตกลงไว้
กู้ยืม
1.สัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า ผู้ให้กู้ ให้บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่า ผู้กู้หรือผู้ยืม กู้ยืมเงิน และผู้กู้หรือผู้ยืมตกลงว่าจะใช้เงินพร้อมดอกเบี้ยคืนภายในระยะเวลาที่กม.กำหนด สัญญานี้จะบริบูรณ์เมื่อส่งมอบเงินที่ให้ยืม 2. ชื่อของสัญญาประเภทหนึ่ง
กู้ยืมเงิน
(พรก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน 2527 ม.3) รับเงินไม่ว่าในลักษณะของการรับฝาก การกู้ยืม การยืม การรับเข้าร่วมลงทุน หรือในลักษณะอื่นใด โดยผู้กู้ยืมจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนหรือตกลงว่าจะจ่ายผล ประโยชน์ตอบแทน แก่ผู้ให้กู้ยืมเงิน ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการรับเพื่อตนเองหรือรับในฐานะตัวแทนหรือลูกจ้างของผู้กู้ยืมเงินหรือของผู้ให้กู้ยืมเงินหรือในฐานะอื่นใด และไม่ว่าการรับหรือจ่ายต้นเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนนั้น จะกระทำอำพรางด้วยวิธีการอย่างใด ๆ
เกณฑ์เงินสด
(ป.รัษฎากร) เกณฑ์การรับรู้รายได้และรายจ่ายโดยยึดหลักว่า รายได้และรายจ่ายจะเกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นได้ก็ต่อเมื่อมีการได้รับเงินสดหรือจ่ายเงินสดออกไปในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น ดู เกณฑ์สิทธิ
เกณฑ์สิทธิ
(ป.รัษฎากร) เกณฑ์การรับรู้รายได้และรายจ่ายโดยยึดหลักว่า รายได้และรายจ่ายที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีใด ให้ถือเป็นรายได้และรายจ่ายของรอบระยะเวลาบัญชีนั้นทันที โดยไม่คำนึงว่าจะได้รับเงินสดหรือจ่ายเงินสดออกไปแล้วหรือไม่ (ฎ.2744/2544) ดู เกณฑ์เงินสด
เกษตรกรรม
(พรบ.การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม 2524 ม.5) การทำนา ทำสวน ทำไร่ ทำนาเกลือ เลี้ยงสัตว์ เลี้ยงสัตว์น้ำ และกิจการอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
แก้(พิพากษา)
การที่ศาลสูงมีคำพิพากษาวินิจฉัยในประเด็นหลักตรงกับคำพิพากษาของศาลล่าง เพียงแต่คำพิพากษาของศาลล่างผิดพลาดเล็กน้อย จึงวินิจฉัยแก้ไขคำพิพากษาของศาลล่างให้ถูกต้องตามบทกม. ดู กลับ , ยืน ,ยก
แก้ไขเปลี่ยนแปลง
(ปพพ.ม. 1007) ขีดฆ่าข้อความเก่าหรือขีดฆ่าแล้วเขียนข้อความใหม่ หรือการเติมข้อความใหม่
แกงได
เครื่องหมาย “ x ” ที่ทำในเอกสารใช้แทนการลงลายมือชื่อเมื่อมีพยานรับรองสองคน
แก่นสารแห่งความยุติธรรม ,หลัก
หลักที่ว่า ผู้ที่มีหน้าที่ในการวินิจฉัยข้อพิพาทระหว่างบุคคล จักต้องกระทำด้วยความเป็นธรรม สุจริต เป็นกลาง และฟังความ 2 ฝ่าย เป็นหลักกม.เดิมที่ศาลยุติธรรมใช้ในการพิจารณารับทบทวนการใช้ดุลพินิจในการออกคำสั่งหรือคำวินิจฉัยของฝ่ายบริหารกล่าวคือ ถ้าการออกคำสั่งหรือคำวินิจฉัยของฝ่ายบริหารไม่เป็นไปตามหลักนี้หรือกระทบต่อหลักนี้ ศาลยุติธรรมก็จะรับวินิจฉัยทบทวน
โกงเจ้าหนี้
(ปอ.ม.350) ความผิดอาญาฐานหนึ่งซึ่งเป็นการกระทำที่เป็นการย้ายไปเสีย ซ่อนเร้นหรือโอนไปให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใดก็ดี แกล้งให้ตนเองเป็นหนี้จำนวนใดอันไม่เป็นความจริงก็ดีเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้
โกงเจ้าหนี้ผู้รับจำนำ
(ปอ.ม.349) ความผิดอาญาฐานหนึ่ง ซึ่งเป็นการกระทำที่เป็นการเอาไปเสีย ทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์อันตนจำนำไว้แก่ผู้อื่น ถ้าได้กระทำเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้รับจำนำ
ใกล้จะถึง
(ปอ.ม.68) กำลังปรากฏอยู่เฉพาะหน้า รวมทั้งที่เกิดขึ้นแล้วและกำลังดำเนินอยู่ต่อไปอีก
วันอังคารที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2553
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น