ย
ยก (พิพากษา) - การที่ศาลสูงมีคำพิพากษาวินิจฉัยยกคำพิพากษาของศาลล่างโดยมิได้วินิจฉัยประเด็นแห่งคดีและให้ศาลล่างสืบพยานและมีคำพิพากษาหรือดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ อาจจะเนื่องจากข้อเท็จจริงไม่เพียงพอที่จะวินิจฉัยหรือศาลล่างไม่ได้ปฏิบัติตามตัวบทกม. ดู กลับ, แก้ , ยืน
ยกเลิกการล้มละลาย – (พรบ.ล้มละลาย 2483 ม.135-136) การทำให้ลูกหนี้หลุดพ้นจากหนี้สินทั้งหมด รวมทั้งหนี้ภาษีอากร (ฎ.136/2540)
ยกเสีย – (ปวิพ.ม.172) ยกฟ้อง (ฎ.424/2544)
ย้อนสำนวน – (ปวิพ.ม.243) การที่ศาลสูงพิพากษายกคำพิพากษาของศาลล่างโดยกำหนดให้ศาลล่างพิจารณาสืบพยานแล้วพิพากษาใหม่
ยอมให้ดอกเบี้ยตามกฎหมายอย่างสูง – อัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี ตามปพพ.ม.7 (ฎ.3708/2528)
ยักยอก - ความผิดอาญาตามปอ.ม.352 ซึ่งเป็นการกระทำที่ผู้ครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่นหรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต
ยักยอกทรัพย์สินที่ส่งมอบโดยสำคัญผิด - ความผิดอาญาตามปอ.ม.352 ว.2ซึ่งเป็นการที่ผู้กระทำได้รับมอบทรัพย์โดยการส่งมอบที่สำคัญผิด และผู้กระทำเอาทรัพย์สินนั้นไว้แก่ตนเองหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต
ยักยอกทรัพย์สินหาย - ความผิดอาญาตามปอ.ม.352 ว.2ซึ่งเป็นการที่ผู้กระทำเก็บทรัพย์สินได้ และเอาไว้แก่ตนเองหรือบุคคลที่สามโดยทุจริตและโดยไม่รู้หรือไม่มีเหตุควรรู้ว่าเจ้าของทรัพย์กำลังติดตามหรือจะติดตามเพื่อเอาคืน (ถ้ารู้ จะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์)
ยักยอกลายมือชื่อ – (ก) ความผิดตามกม.ลักษณะอาญา ม.315 (ยกเลิกไปแล้ว) เช่น เซ็นชื่อมอบฉันทะโดยไม่กรอกข้อความแล้วผู้รับมอบฉันทะไปกรอกข้อความโอนขายที่ดินของผู้มอบผิดไปจากที่มอบหมายโดยเจตนาทุจริต (ฎ.491/2492)
ยักย้าย – 1.นำไปไว้ยังสถานที่อื่น เปลี่ยนที่จากที่เดิมไปยังที่แห่งอื่น 2.(ปพพ.ม.1605) การนำทรัพย์มรดกไปไว้ยังที่แห่งอื่น กรณีที่เป็นการปิดบังหรือยักย้ายทรัพย์มรดกเช่น ร้องขอครอบครองปรปักษ์ในที่ดินมรดกจนศาลมีคำสั่ง (ฎ.478/2539) ไปรับโอนมรดกที่ดินแต่เพียงผู้เดียวและโอนที่ดินนั้นให้แก่บุคคลภายนอก (ฎ.5382-5383/2539) กรณีที่ไม่ใช่ยักย้ายเช่น รับโอนมรดกที่ดินมาโดยสุจริต (ฎ.1160/2497) ขอประกาศรับมรดกโดยไม่ระบุไปในบัญชีเครือญาติว่า ยังมีบุคคลอื่นเป็นทายาทอีก (ฎ.1239 / 2506,433/2528) เบิกความในคดีตั้งผู้จัดการมรดกว่า เจ้ามรดกมีทรัพย์มรดกเพียงเท่าที่เบิกความ แต่ความจริงมีมากกว่านั้น (ฎ.1357/2534) การขอออกโฉนดที่ดินมรดกตามระเบียบของทางราชการแล้วโอนให้บุตรหรือการประกาศขายที่นาและที่สวนมรดกโดยเข้าใจว่าตนเป็นเจ้าของที่ดิน (ฎ.7203/2544) ส่วนใหญ่ศาลจะใช้คู่กับคำว่า ปิดบัง ดู ปิดบัง
ยักย้ายศพ – ความผิดตามปอ. ม. 199 ซึ่งเป็นการลอบฝัง ซ่อนเร้น ย้ายหรือทำลายศพหรือส่วนของศพเพื่อปิดบังการเกิด การตายหรือเหตุแห่งการตาย ความผิดนี้เป็นความผิดเกี่ยวกับการทำลายพยานหลักฐาน เป็นความผิดเกี่ยวกับรัฐโดยตรง (ฎ. 6202/2538)
ยา – (พรบ.ยา 2510 ม.4) (1) วัตถุที่รับรองไว้ในคำรายา (2) วัตถุที่มุ่งหมายสำหรับใช้ในการวินิจฉัย บำบัด บรรเทา รักษาหรือป้องกันโรค หรือความเจ็บป่วยของมนุษย์หรือสัตว์ (3) วัตถุที่เป็นเภสัชเคมีภัณฑ์ หรือเภสัชเคมีภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูป (4) วัตถุที่มุ่งหมายสำหรับให้เกิดผลแก่สุขภาพ โครงสร้าง หรือการกระทำหน้าที่ใดๆ ของร่างกายของมนุษย์หรือสัตว์ วัตถุตาม (1) (2) หรือ (4) ไม่หมายความรวมถึง(ก) วัตถุที่มุ่งหมายสำหรับใช้ในการเกษตรหรืออุตสาหกรรมตามที่รัฐมนตรีประกาศ (ข) วัตถุที่มุ่งหมายสำหรับใช้เป็นอาหารสำหรับมนุษย์ เครื่องกีฬา เครื่องมือ เครื่องใช้ ในการส่งเสริมสุขภาพ เครื่องสำอาง หรือเครื่องมือและส่วนประกอบของเครื่องมือที่ใช้ในการประกอบโรคศิลปะหรือวิชาชีพเวชกรรม (ค) วัตถุที่มุ่งหมายสำหรับใช้ในห้องวิทยาศาสตร์สำหรับการวิจัยวิเคราะห์หรือการชันสูตรโรคซึ่งมิได้กระทำโดยตรงต่อร่างกายของมนุษย์
ยาควบคุมพิเศษ – (พรบ.ยา 2510 ม.4) ยาแผนปัจจุบันหรือยาแผนโบราณที่รัฐมนตรี(ว่าการกระทรวงสาธารณสุข)ประกาศเป็นยาควบคุมพิเศษ
ยาใช้เฉพาะที่ – (พรบ.ยา 2510 ม.4) ยาแผนปัจจุบันหรือยาแผนโบราณที่มุ่งหมายใช้เฉพาะที่ กับหู ตา จมูก ปาก ทวารหนัก ช่องคลอด หรือท่อปัสสาวะ
ยาใช้ภายนอก – (พรบ.ยา 2510 ม.4) ยาแผนปัจจุบันหรือยาแผนโบราณที่มุ่งหมายสำหรับใช้ภายนอก ทั้งนี้ไม่รวมถึงยาใช้เฉพาะที่
ยานพาหนะอันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกล – ยานพาหนะทุกชนิดที่เคลื่อนที่ไปได้ด้วยกำลังเครื่องจักรกล เครื่องยนต์ ไฟฟ้า พลังงานปรมาณู เช่น รถยนต์ (ฎ. 2213/2537) เรือรบ เรือกลไฟ
ยาบรรจุเสร็จ – (พรบ.ยา 2510 ม.4) ยาแผนปัจจุบันหรือยาแผนโบราณที่ได้ผลิตขึ้นแล้วเสร็จในรูปต่างๆทางเภสัชกรรม ซึ่งบรรจุในภาชนะหรือหีบห่อที่ปิดหรือผนึกไว้ และมีฉลากครบถ้วนตามพรบ.นี้
ยาแผนโบราณ – (พรบ.ยา 2510 ม.4) ยาที่มุ่งหมายสำหรับใช้ในการประกอบโรคศิลปะแผนโบราณ หรือการบำบัดโรคสัตว์ ซึ่งอยู่ในตำรายาแผนโบราณที่รมต.ประกาศหรือยาที่รมต.ประกาศเป็นยาแผนโบราณ หรือยาที่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนตำรับยาเป็นยาแผนโบราณ
ยาแผนปัจจุบัน – (พรบ.ยา 2510 ม.4) ยาที่มุ่งหมายสำหรับใช้ในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม การประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบัน หรือการบำบัดโรคสัตว์
ย้ายสถานประกอบกิจการไปตั้ง ณ สถานที่อื่น - (พรบ.คุ้มครองแรงงาน 2541 ม.120) ย้ายสถานประกอบกิจการไปสถานที่อื่นหรือสถานที่แห่งใหม่ มิได้หมายความรวมถึงสถานประกอบกิจการที่อื่นซึ่งนายจ้างมีอยู่ก่อนแล้ว (ฎ. 2228/2545)
ยาสมุนไพร – (พรบ.ยา 2510 ม.4) ยาที่ได้จากพฤกษชาติ สัตว์หรือแร่ ซึ่งมิได้ผสม ปรุง หรือแปรสภาพ
ยาสามัญประจำบ้าน – (พรบ.ยา 2510 ม.4) ยาแผนปัจจุบันหรือยาแผนโบราณที่รัฐมนตรี(ว่าการกระทรวงสาธารณสุข)ประกาศเป็นยาสามัญประจำบ้าน
ยาเสพติดให้โทษ - ( พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ 2522 มาตรา 4 ) สารเคมีหรือวัตถุชนิดใดๆ ซึ่งเมื่อเสพเข้าสู่ร่างกายไม่ว่าจะโดยรับประทาน ดม สูบ ฉีด หรือด้วยประการใดๆ แล้วทำให้เกิดผลต่อร่างกายและจิตใจในลักษณะสำคัญ เช่น ต้องเพิ่มขนาดการเสพขึ้นเป็นลำดับ มีอาการถอนยาเมื่อขาดยา มีความต้องการเสพทั้งทางร่างกายและจิตใจรุนแรงตลอดเวลา และสุขภาพโดยทั่วไปจะทรุดโทรมลง กับให้รวมตลอดถึงพืชหรือส่วนของพืชที่เป็นหรือให้ผลผลิตเป็นยาเสพติดให้โทษหรืออาจใช้ผลิตเป็นยาเสพติดให้โทษและสารเคมีที่ใช้ในการผลิตยาเสพติดให้โทษด้วย ทั้งนี้ ตามที่รัฐมนตรี(ว่าการกระทรวงสาธารณสุข)ประกาศในราชกิจจานุเบกษา แต่ไม่หมายความถึงยาสามัญประจำบ้านบางตำรับตามกม.ว่าด้วยยาที่มียาเสพติดให้โทษผสมอยู่ (ม.4) แบ่งเป็น 5 ประเภทคือ (1) ประเภท 1 ยาเสพติดให้โทษชนิดร้ายแรง เช่น เฮโรอีน (Heroin) (2) ประเภท 2 ยาเสพติดให้โทษทั่วไป เช่น มอร์ฟีน (Morphine) โคคาอีน (Cocaine) โคเดอีน (Codeine) ฝิ่นยา (Medicianal Opium) (3) ประเภท 3 ยาเสพติดให้โทษที่มีลักษณะเป็นตำรับยา และมียาเสพติดให้โทษประเภท 2 ผสมอยู่ด้วย ตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา (4) ประเภท 4 สารเคมีที่ใช้ในการผลิตยาเสพติดให้โทษประเภท 1 หรือประเภท 2 เช่น อาเซติคแอนไฮไดรต์ (Acetic Anhydride) อาเซติลคลอไรต์ (Acetyl Chloride) (5) ประเภท 5 ยาเสพติดให้โทษที่มิได้เข้าอยู่ในประเภท 1 ถึงประเภท 4 เช่น กัญชา พืชกระท่อม ทั้งนี้ตามที่รัฐมนตรีประกาศระบุชื่อยาเสพติดให้โทษตามม.8(1) (ม.7)
ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522, พรบ. – กม.อาญาที่กำหนดให้ การเสพ ครอบครอง จำหน่าย ผลิต นำเข้าหรือส่งออกยาเสพติดให้โทษที่ไม่ได้รับอนุญาต มีความผิดและมีโทษ
ยาอันตราย – (พรบ.ยา 2510 ม.4) ยาแผนปัจจุบันหรือยาแผนโบราณที่รัฐมนตรี(ว่าการกระทรวงสาธารณสุข)ประกาศเป็นยาอันตราย
ยี่ต๊อก – (พ.)บัญชีระดับอัตราโทษในคดีอาญาที่ศาลแต่ละศาลกำหนดขึ้นเพื่อให้การกำหนดโทษที่จะลงในความผิดฐานเดียวกันและในศาลเดียวกันไม่แตกต่างกัน
ยึดทรัพย์สิน - การเอาทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษามาดำเนินการบังคับคดีเพื่อให้เป็นไปตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง
ยึดถือทรัพย์สิน – (ปพพ.ม. 1367) ได้เข้าครอบครองหรือทำประโยชน์ในทรัพย์สินเหมาะสมกับสภาพของทรัพย์สินและตามอัตภาพของตน (ฎ.1005/2481) ไม่ว่าจะกระทำโดยตนเองหรือผู้อื่น เช่น ถางที่ดิน 12 ไร่จนเตียนแล้วปลูกถั่วทำนาเพียง 4 ไร่ (ฎ.607/2506) ใช้สิทธิจับปลาในหนองน้ำในฤดูจับปลาเพียงปีละ 3 เดือน (ฎ. 2038/2499) กู้เงินแล้วมอบให้เจ้าหนี้ทำกินต่างดอกเบี้ยและตกลงให้ยึดเอาที่ดินไว้หากผิดนัดชำระหนี้ เมื่อผิดนัดเจ้าหนี้ย่อมครอบครองที่ดินเพื่อตนแล้ว (ฎ. 859, 870/2486, 1208/2491, 1969/2494) ที่ไม่เป็นการยึดถือทรัพย์สิน เช่น เพียงเข้าไปตัดฟืนเผาถ่านเล็กน้อยเป็นครั้งคราวและเอาโคเข้าไปเลี้ยงในที่ดิน 60-70 ไร่ (ฎ. 266/2533) แจ้ง ส.ค. 1 ต่อนายอำเภอ(ฎ.1719/2514) แม้ต่อมาจะได้ น.ส. 3 ก็ตาม (ฎ. 1076-1079/2510) เพียงแต่ปลูกต้นสาคูลงในลำห้วย (ฎ. 836-837/2497) ครอบครองที่พิพาทระหว่างเป็นคดีกัน (ฎ. 1015/2507, 268/2508)
ยืน (พิพากษา) - การที่ศาลสูงมีคำพิพากษาวินิจฉัยตรงกันกับคำพิพากษาของศาลล่างโดยไม่มีการแก้ไข ดู กลับ , แก้ , ยก
ยื่น – (ปวิพ.ม. 85,86) การเสนอเอกสารต่อศาลเพื่อดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง
ยืม – 1. ชื่อของกม.ลักษณะที่ 9 ในบรรพ 3 ปพพ. มีด้วยกัน 2 ประเภทคือ ยืมใช้คงรูปและยืมใช้สิ้นเปลือง 2. ชื่อที่ใช้เรียกรวมๆ ของสัญญายืมใช้คงรูป ยืมใช้สิ้นเปลือง และกู้ยืม
ยืมใช้คงรูป - 1.สัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า ผู้ให้ยืม ให้บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่า ผู้ยืม ใช้สอยทรัพย์สินสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เปล่า และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินนั้น เมื่อได้ใช้สอยเสร็จแล้ว (ปพพ.ม. 640) สัญญานี้จะบริบูรณ์เมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ให้ยืม 2. สัญญาประเภทหนึ่ง
ยืมใช้สิ้นเปลือง - 1.สัญญาซึ่งผู้ให้ยืม โอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินชนิดใช้ไปสิ้นไปนั้นมีปริมาณมีกำหนดให้ไปแก่ผู้ยืม และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินเป็นประเภท ชนิดและปริมาณเช่นเดียวกันให้แทนทรัพย์สินซึ่งให้ยืมนั้น (ปพพ.ม. 640) สัญญานี้จะบริบูรณ์เมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ให้ยืม 2. สัญญาประเภทหนึ่ง
ยุติธรรม – ความเที่ยงธรรม ความชอบธรรม ความชอบด้วยเหตุผล
ยุบสภา – การที่ฝ่ายบริหารได้ออกพรฎ..ให้สภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงก่อนถึงคราวออกตามอายุ เนื่องจากรัฐสภามีความวุ่นวาย หรือมีข้อขัดแย้งกันระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหาร หรือเนื่องจากนโยบายของฝ่ายบริหารที่ต้องการช่วงชิงความได้เปรียบทางการเมือง การยุบสภาต้องกระทำโดย พรฎ. และเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ มีข้อน่าสังเกตว่า มีแต่การยุบสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น ไม่มีการยุบวุฒิสภา
ผลของการยุบสภาคือ (1) ทำให้สภาผู้แทนราษฏรสิ้นสุดลงและสมาชิกภาพของสส.ทุกคนสิ้นสุดลงพร้อมกันก่อนครบวาระสภา (2) คณะรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ (3) ต้องจัดมีการเลือกตั้งใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไป ภายใน 60 วัน และ(4) วุฒิสภาจะมีการประชุมไม่ได้ เว้นแต่กม.จะให้อำนาจไว้ และ (5) ร่างพรบ.ที่ค้างอยู่ในการพิจารณาของรัฐสภาจะตกไป
ยุยง – (ปอ.ม. 114,115) ชักชวน ชักจูง หรือจูงใจให้กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง
เยาวชน – (พรบ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 ม. 4 )บุคคลอายุเกิน 14 ปีบริบูรณ์แต่ยังไม่ถึง 18 ปีบริบูรณ์
ร
รถ – 1. (พรบ.รถยนต์ 2522 ม. 4) รถยนต์และรถอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวงที่เป็นรถ เช่น รถไถนาเดินตามมีกระบะพ่วงมีล้อ 4 ล้อ (ฎ.6889/2546) 2. (พรบ.จราจรทางบก 2522 ม. 4 (15)) ยานพาหนะทางบกทุกชนิด เว้นแต่รถไฟและรถราง 3.(พรบ. การขนส่งทางบก 2522 ม. 4 (9)) ยานพาหนะทุกชนิดที่ใช้ในการขนส่งทางบกซึ่งเดินด้วยกำลังเครื่องยนต์ กำลังไฟฟ้า หรือพลังงานอื่นและหมายความรวมตลอดถึง รถพ่วงของรถนั้นด้วย ทั้งนี้เว้นแต่รถไฟ 4.(พรบ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ 2535 ม.4) รถตามกม.ว่าด้วยรถยนต์ รถตามกม.ว่าด้วยการขนส่งทางบก และรถยนต์ทหารตามกมว่าด้วยรถยนต์ทหาร และหมายความรวมถึงรถอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
รถจักรยาน – (พรบ.จราจรทางบก 2522 ม. 4 (18)) รถที่เดินด้วยกำลังของผู้ขับขี่ที่มิใช่เป็นการลากเข็น
รถจักรยานยนต์ – (พรบ.จราจรทางบก 2522 ม. 4 (17)) รถที่เดินด้วยกำลังเครื่องยนต์ กำลังไฟฟ้า หรือพลังงานอื่นและมีล้อไม่เกินสองล้อ ถ้ามีพ่วงข้างมีล้อเพิ่มอีกไม่เกินหนึ่งล้อ
รถฉุกเฉิน – (พรบ.จราจรทางบก 2522 ม. 4 (19)) รถดับเพลิง และรถพยาบาลของราชการบริหารส่วนกลาง ราชการบริหารส่วนภูมิภาค และราชการบริหารส่วนท้องถิ่นหรือรถอื่นที่ได้รับอนุญาตจากอธิบดี(กรมตำรวจ)ให้ใช้สัญญาณแสงวับวาบ หรือให้ใช้เสียงสัญญาณไซเรนหรือเสียงสัญญาณอย่างอื่นตามที่จะกำหนดให้
รถโดยสารประจำทาง – (พรบ.จราจรทางบก 2522 ม. 4 (23)) รถบรรทุกคนโดยสารที่เดินตามทางที่กำหนดไว้ และเรียกเก็บค่าโดยสารเป็นรายคน ตามอัตราที่วางไว้เป็นระยะทางหรือตลอดทาง
รถแท็กซี่ – (พรบ.จราจรทางบก 2522 ม. 4 (24)) รถยนต์ที่ใช้รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกิน 7 คน
รถบรรทุก – (พรบ.จราจรทางบก 2522 ม. 4 (20)) รถยนต์ที่สร้างขึ้นเพื่อใช้บรรทุกสิ่งของหรือสัตว์
รถบรรทุกคนโดยสาร – (พรบ.จราจรทางบก 2522 ม. 4 (21)) รถยนต์ที่สร้างขึ้นเพื่อใช้บรรทุกคนโดยสารเกิน 7 คน
รถพ่วง – (พรบ.จราจรทางบก 2522 ม. 4 (26)) รถที่เคลื่อนที่ไปโดยใช้รถอื่นลากจูง
รถยนต์ – (พรบ.จราจรทางบก 2522 ม. 4 (16)) รถที่มีล้อตั้งแต่สามล้อและเดินด้วยกำลังเครื่องยนต์ กำลังไฟฟ้า หรือพลังงานอื่น ยกเว้นรถที่เดินบนราง
รถยนตร์ทหาร – (พรบ.รถยนตร์ทหาร 2476) รถที่เดินด้วยกำลังเครื่องจักรกล (เว้นแต่ที่เดินบนราง) และรถพ่วงซึ่งเป็นของกระทรวงกลาโหมหรือของบุคคลอื่นซึ่งมอบให้ใช้รถนั้นประจำในราชการทหาร
รถยนต์นั่ง – (พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต ตอนที่ 5 )การที่จำเลยได้ดัดแปลงสภาพรถยนต์กระบะโดยติดตั้งหลังคาติดต่อเป็นเนื้อเดียวกันในลักษณะถาวร ด้านข้างคนขับมีประตูและด้านหลังคนขับมีที่นั่ง 2 ที่ แม้ที่นั่งดังกล่าวยังไม่มีการร้อยนอต เพียงแต่ใช้ไม้รองและใช้ลวดมัดแทน ก็ตาม สภาพของรถยนต์ภายหลังดัดแปลงตรงตามนิยามคำว่า "รถยนต์นั่ง" ทั้งได้ความว่าจำเลยนำรถยนต์ไปใช้ขับบนท้องถนนแล้วเช่นนี้ จึงถือว่าการดัดแปลงสิ้นสุดลงตามความในมาตรา 144 จัตวา (1) แห่ง พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต 2527 (ฎ. 2753/2547 ป. )
รถโรงเรียน – (พรบ.จราจรทางบก 2522 ม. 4 (22)) รถบรรทุกคนโดยสารที่โรงเรียนใช้รับส่งนักเรียน
รถลากจูง – (พรบ.จราจรทางบก 2522 ม. 4 (25)) รถยนต์ที่สร้างขึ้น เพื่อใช้สำหรับลากจูงรถหรือเครื่องมือการเกษตรหรือเครื่องมือก่อสร้างโดยตัวรถนั้นเองมิได้ใช้สำหรับบรรทุกคนหรือสิ่งของ
รธน. – (ย) รัฐธรรมนูญ
รพีพัฒนศักดิ์,พระองค์เจ้า - พระนามเดิมของพระบรมวงศ์เธอกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระบิดาแห่งกม.ไทย
รมต. – (ย) รัฐมนตรี
รวมศูนย์อำนาจ - หลักการจัดระเบียบการบริหารราชการแผ่นดินโดยรวบอำนาจในการตัดสินใจไปอยู่ในส่วนกลางที่เดียวโดยผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจคือผู้บังคับบัญชาสูงสุด ดูกระจายรวมศูนย์อำนาจ
รวมอำนาจปกครอง - หลักการจัดระเบียบการบริหารราชการแผ่นดินโดยรวมอำนาจการปกครองประเทศ กำลังบังคับ การวินิจฉัยสั่งการ และการตัดสินใจทุกเรื่องไว้ที่รัฐบาลหรือหน่วยงานราชการส่วนกลางซึ่งได้แก่ กระทรวง ทบวง กรม มีการบังคับบัญชาตามลำดับชั้นและมีเจ้าหน้าที่ของรัฐในส่วนกลางเป็นผู้ปฏิบัติงาน แบ่งเป็นการรวมศูนย์อำนาจและการกระจายรวมศูนย์อำนาจหรือแบ่งอำนาจ
รอการลงโทษ – การที่ศาลพิพากษาคดีอาญาโดยกำหนดโทษจำคุกจำเลยไว้ แต่ยังไม่ให้จำเลยต้องรับโทษจำคุกจริงและให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยไว้โดยอาจจะคุมประพฤติจำเลยไว้หรือไม่ก็ได้ ทั้งนี้เนื่องจากศาลเห็นว่า การรอการลงโทษน่าจะเป็นผลดีต่อจำเลยมากกว่า เหตุที่ศาลจะรอการลงโทษ เช่น พฤติการณ์แห่งคดีไม่ร้ายแรง เช่น มีปืนแก๊ป ปืนยาวอัดลมหลายกระบอก แต่มีอานุภาพไม่ร้ายแรง (ฎ.4084/2543) ปลอมสำเนารายงานการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัท (ฎ.394/2544) เป็นลูกจ้างขนถ่ายน้ำมันในเขตต่อเนื่องโดยไม่ได้รับอนุญาต (ฎ.1440/2544)
เหตุที่ศาลไม่รอการลงโทษ เช่น มีเครื่องชั่งสปริงผิดอัตราไว้ในครอบครอง (ฎ.4165/2543) เป็นนักศึกษาขายเมทแอมเฟตามีน (ฎ.4541/2543) รุมทำร้ายร่างกายผู้เสียหายโดยใช้ไม้ตีหลายครั้งจนได้รับอันตรายสาหัส (ฎ.4585/2543) ปลอมปนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายน้ำมันดังกล่าว (ฎ.5077/2543) ละเมิดอำนาจศาลโดยพกพาอาวุธปืนเข้าในบริเวณศาล หรือแสดงตัวเป็นนายประกันจำเลยและปลอมลายมือชื่อในคำร้องขอประกันตัว (ฎ.5100/2543 , 1286 / 2544 ) ขับรถยนต์บรรทุกมีน้ำหนักเกินกว่าที่ กม. กำหนด (ฎ.6469-6470/2543) มีและใช้เอกสารปลอม (ฎ.8293/2543) เป็นเจ้าของหรือเป็นผู้จัดการค้าประเวณี (ฎ.8690/2543) ขายสารระเหย (ฎ.9041/2543) เบิกความเท็จในคดีอาญา (ฎ.274/2544) ปลอมแผ่นป้ายวงกลมแสดงการเสียภาษีรถยนต์และนำไปติด (ฎ.314/2544) ทำให้หญิงแท้งลูกโดยหญิงนั้นยินยอม (ฎ.874/2544)
รอนสิทธิ – การที่มีผู้อื่นมารบกวนขัดสิทธิของผู้ซื้อในอันที่จะครองทรัพย์สินของตนโดยปกติสุข เพราะผู้อื่นนั้นมีสิทธิเหนือทรัพย์สินที่ได้ซื้อขายกันนั้นอยู่ในเวลาซื้อขายหรือเพราะความผิดของผู้ขาย (ปพพ.ม. 475)
ร้องขัดทรัพย์ – 1. (แพ่ง) การที่บุคคลที่ถูกโต้แย้งสิทธิจากการที่ทรัพย์สินถูกยึดในชั้นบังคับคดีได้ร้องต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีเพื่อขอให้ปล่อยทรัพย์ของจำเลยหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาและไม่ให้บังคับคดีกับทรัพย์สินนั้นต่อเนื่องจากจำเลยหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ใช่เจ้าของทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดไว้ ( ปวิพ.ม. 288) บุคคลที่ถูกโต้แย้งสิทธิไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของทรัพย์ที่ถูกยึด อาจจะเป็นผู้มีส่วนได้เสีย เช่น ผู้เช่าซื้อแม้จะยังชำระค่าเช่าซื้อไม่ครบ(ฎ. 399/ 2544 ป.) ผู้ที่ได้กรรมสิทธิ์อสังหาริมทรัพย์โดยการครอบครองปรปักษ์ (ฎ. 263/ 2520) ผู้ที่อยู่ในฐานะจดทะเบียนสิทธิได้ก่อน (ฎ. 2686 / 2538) เจ้าหนี้ผู้ครอบครองที่ดินประกันหนี้ หน่วยงานของรัฐมีส่วนได้เสียกับทรัพย์ที่ตนดูแลรักษา (ฎ. 1823 / 2493) การยื่นคำร้องขัดทรัพย์จะต้องยื่นก่อนการขายทอดตลาดทรัพย์ และศาลจะพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีเหมือนอย่างคดีธรรมดา 2. (พรบ.ล้มละลาย 2483 ม.158) การที่ผู้มีส่วนได้เสียได้คัดค้านการยึดทรัพย์ของ จพท. การร้องขัดทรัพย์นี้จะต้องคัดค้านต่อ จพท.ก่อน เมื่อ จพท.สอบสวนแล้วสั่งไม่ให้ถอนการยึด จึงจะคัดค้านต่อศาลได้ (ฎ.750/2537) ต่างจากการร้องขัดทรัพย์ในคดีแพ่ง
รองประธานรัฐสภา – 1. รองหัวหน้าของสส.และ สว. 2.(รัฐธรรมนูญฯ) ประธานวุฒิสภา 3. (พรบ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายรัฐสภา 2523 ม.4) รองประธานรัฐสภาตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้มีสภานิติบัญญัติสภาเดียว ให้หมายความถึงรองประธานแห่งสภานั้น
ร้องสอด – (ปวิพ.ม. 57-58) การที่บุคคลภายนอกคดีเข้ามามีส่วนร่วมในคดีกับโจทก์จำเลยเดิมในฐานะคู่ความในศาลชั้นต้น แบ่งเป็น 3 กรณีคือ ร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่สามด้วยความสมัครใจ ร้องสอดเข้าเป็นโจทก์ร่วมหรือจำเลยร่วม หรือเข้าแทนที่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียทีเดียวและร้องสอดเพราะถูกศาลหมายเรียกให้เข้ามาในคดี การร้องสอดมีวัตถุประสงค์จะให้ข้อพิพาทต่างๆ ในคดีได้รับการพิจารณาพิพากษาให้เสร็จสิ้นไปในคราวเดียวกัน เพื่อให้การพิจารณาคดีเป็นไปโดยรวดเร็ว ดู ร้องสอด
ร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่สามด้วยความสมัครใจ - การร้องสอดเข้ามาเพื่อขอรับความคุ้มครองหรือบังคับตามสิทธิของผู้ร้องสอดเอง ไม่ได้อาศัยสิทธิของผู้อื่นเพื่อเข้าร่วมหรือแทนที่คู่ความฝ่ายใด ซึ่งอาจโต้แย้งกับโจทก์จำเลยในคดีเดิมทั้งหมดหรือโต้แย้งพิพาทเพียงกับคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็ได้ การร้องสอดนี้ทำได้ 2 ระยะคือในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้นกับในชั้นบังคับคดี
ร่อนแร่ - (พรบ.แร่ 2510 ม.4) การกระทำแก่พื้นที่ไม่ว่าจะเป็นที่บกหรือที่น้ำเพื่อให้ได้มาซึ่งแร่โดยใช้แรงคนแต่ละคนตามชนิดของแร่ ภายในท้องที่และวิธีการร่อนแร่ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
ระบบกฎหมาย – ดู ตระกูลกม.
ระบบกฎหมายของประเทศที่ใช้ประมวล – ดู ตระกูลกม.โรมาโน -เยอรมานิค
ระบบกฎหมายซิวิลลอว์. – ดู ตระกูลกม.โรมาโน -เยอรมานิค
ระบบกล่าวหา – ระบบการพิจารณาคดีที่ (1)ศาลทำหน้าที่เพียงแต่เป็นคนกลางในการตัดสินคดีอย่างเคร่งครัดจึงไม่มีบทบาทในการค้นหาความจริงหรือมีน้อยมาก แต่หน้าที่ค้นหาความจริงเป็นหน้าที่ของโจทก์และจำเลย (2) โจทก์ จำเลยต่างมีฐานะเท่าเทียมกันในคดี (3)มีการสันนิษฐานไว้ก่อนว่า จำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ว่าจำเลยได้กระทำความผิดจริงโดยปราศจากข้อสงสัย โจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายฟ้องคดีกล่าวหาจำเลยจึงจะต้องนำสืบพยานเพื่อแสดงให้เห็นว่า จำเลยได้กระทำความผิดจริง ส่วนจำเลยมีหน้าที่นำสืบพยานเพื่อหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ (4) มีการคุ้มครองสิทธิจำเลยเป็นอย่างมาก เช่น การพิจารณาคดีต้องกระทำต่อหน้าจำเลย หรือการให้สิทธิจำเลยที่จะมีทนายความ ระบบนี้ใช้กันมากในประเทศอังกฤษ สหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์ แคนาดาและประเทศที่ใช้ระบบกม.คอมมอนลอว์อื่น
ระบบข้อมูล - (พรบ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ 2544 ม.4) กระบวนการประมวลผลด้วยเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์สำหรับสร้าง ส่ง รับ เก็บรักษาหรือประมวลผลข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์
ระบบคอมพิวเตอร์- (พรบ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 2550 ม.3 ) อุปกรณ์หรือชุดอุปกรณ์ของคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมการทำงานเข้าด้วยกัน โดยได้มีการกำหนดคำสั่ง ชุดคำสั่ง หรือสิ่งอื่นใด และแนวทางปฏิบัติงานให้อุปกรณ์หรือชุดอุปกรณ์ทำหน้าที่ประมวลผลข้อมูลโดยอัตโนมัติ
ระบบไต่สวน – ระบบการพิจารณาคดีที่ (1)เน้นการค้นหาความจริงเป็นหลัก วิธีพิจารณาคดีจึงมีหลักเกณฑ์ที่ยืดหยุ่นกว่าระบบกล่าวหา (2) ศาลไม่ได้ทำหน้าที่เป็นกลางอย่างเคร่งครัด แต่จะมีบทบาทอย่างมากในการค้นหาความจริงด้วยตนเองตลอดกระบวนการพิจารณา โดยศาลจะสอบถามหรือให้พยานเล่าเรื่องจากนั้นจึงจะให้คู่ความขออนุญาตถามพยานได้ (3) การพิจารณาคดีกระทำลับหลังจำเลยได้ ระบบนี้ใช้กันมากในประเทศภาคพื้นยุโรป
ระบบสุขภาพ – (พรบ.สุขภาพแห่งชาติ 2550 ม.3) ระบบความสัมพันธ์ทั้งมวลที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ
ระบายน้ำลงบ่อน้ำบาดาล – (พรบ.น้ำบาดาล 2520 ม.3) การกระทำใดๆ เพื่อถ่ายเทน้ำหรือของเหลวอื่นใดลงบ่อน้ำบาดาล
ระเบียบ – ชื่อของกม.ลำดับรอง ซึ่งมีลำดับต่ำกว่า พรฎ.และกฎกระทรวง ส่วนใหญ่จะเป็นกฎข้อบังคับที่ใช้ในหน่วยราชการหรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง
ระเบียบบริหารราชการส่วนกลาง - การจัดระเบียบบริหารราชการที่ใช้หลักการรวมอำนาจ มีองค์กรสูงสุดคือ คณะรัฐมนตรี กระทรวง และข้าราชการประจำในกระทรวง กรม
ระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่น – การจัดระเบียบบริหารราชการที่ใช้หลักการกระจายอำนาจการปกครอง โดยมีการจัดองค์การที่เป็นนิติบุคคล มีการบริหารโดยคนในพื้นที่ มีงบประมาณและบุคลากรของตนเอง ภายใต้การควบคุมกำกับของรัฐ มี 5 รูปแบบคือ เทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล กรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา
ระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาค – การจัดระเบียบบริหารราชการที่ใช้หลักการแบ่งอำนาจการปกครองโดยราชการส่วนกลางจะจัดส่งเจ้าหน้าที่ไปปฏิบัติงานในส่วนภูมิภาค มีอำนาจตัดสินใจบางเรื่องแต่ยังอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของส่วนกลาง ได้แก่ จังหวัด อำเภอ กิ่งอำเภอ ตำบล หมู่บ้าน
ระเบียบวาระการประชุม - การจัดลำดับเรื่องที่จะเข้าสู่ที่ประชุมของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภาหรือรัฐสภาตามลำ ดับก่อนหลัง
ระยะเวลา – (ปพพ.) ช่วงเวลา ที่กำหนดนับกันเป็นชั่วโมง วัน สัปดาห์ เดือน หรือปี
รัฐ – 1. ประเทศ ซึ่งประกอบด้วยการรวมองค์ประกอบของประชาชน ดินแดน รัฐบาลและอำนาจอธิปไตยเข้าด้วยกัน ดู รูปของรัฐ 2.(อริสโตเติ้ล) สังคมสูงสุดโดยรวมเอาสังคมทั้งหลายเข้าด้วยกันทั้งหมด 3. (A.Esmein) สภาพบุคคลทางกม.ของชาติ เป็นรูปแบบสูงสุดของความสัมพันธ์ทั้งหลายในสังคม
รัฐชาติ - รัฐที่มีการรวมกันเป็นปึกแผ่นบนพื้นฐานแห่งความเป็นชาติโดยมีเจตน์จำนงที่จะอยู่ร่วมผูกพันและปกป้องกัน
รัฐเดี่ยว – รัฐที่มีองค์กรใช้อำนาจอธิปไตยไม่ว่า ภายนอกหรือภายในเพียงองค์กรเดียว เช่น มีรัฐสภา รัฐบาลหรือองค์กรตุลาการเพียงองค์กรเดียว ไม่มีการแบ่งแยกองค์กรการใช้อำนาจอธิปไตยภายนอกหรือภายในออกจากกัน
รัฐธรรมนูญ1 – กม.มหาชนภายในมีฐานะเป็นกม.สูงสุดกม.อื่นไม่อาจขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญได้ การจัดทำแตกต่างจากกม.อื่นและการแก้ไขจะทำได้ยากกว่ากม.ทั่วไป มีเนื้อหากล่าวถึง การจัดวางโครงสร้างการปกครองประเทศในระดับสูงสุดของรัฐ ความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจ การคานและดุลอำนาจ การตรวจสอบควบคุมการใช้อำนาจและสิทธิ เสรีภาพของประชาชน แบ่งได้หลายประเภทคือ (1) รัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษรและที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร (2) รัฐธรรมนูญในรูปแบบของรัฐบาลแบบรัฐสภาและแบบประธานาธิบดี (3) รัฐธรรมนูญของรัฐเดี่ยวและรัฐธรรมนูญของรัฐรวม (4) รัฐธรรมนูญที่แก้ไขง่ายและที่แก้ไขยาก
คำนี้แปลมาจากคำว่า Constitution โดยพลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ที่ได้ทักท้วงชื่อพรบ.ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินชั่วคราว 2475 ว่าใช้ชื่อไม่เหมาะสมกับที่จะเป็นกม.สำคัญของประเทศ
คำนี้ถูกใช้สลับกับคำว่า ธรรมนูญ โดยคำว่ารัฐธรรมนูญใช้เมื่อผู้ร่างประสงค์จะให้มีผลบังคับใช้เป็นการถาวร และใช้คำว่า ธรรมนูญ เมื่อจะให้มีผลใช้บังคับเป็นการชั่วคราว
รัฐธรรมนูญ2 - 1. (ศ.หยุด แสงอุทัย) กม.ที่กำหนดระเบียบแห่งอำนาจสูงสุดในรัฐและความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจเหล่านี้ต่อกัน 2. (ศ.สมภพ โหตระกิตย์) มีความหมาย 2 นัยคือความหมายอย่างกว้างหมายถึง ระบบกม.จารีตประเพณีและธรรมเนียมปฏิบัติซึ่งกล่าวถึง บรรดาองคาพยพหรือสถาบันการเมืองของรัฐ หน้าที่และความสัมพันธ์ขององคาพยพหรือสถาบันการเมืองของรัฐและที่เกี่ยวกับเอกชน ความหมายอย่างแคบหมายถึง กม.ฉบับหนึ่งหรือหลายฉบับซึ่งรวบรวมกฎเกณฑ์การปกครองประเทศขึ้นไว้ เช่น การดำรงตำแหน่งประมุขของรัฐ การทำหน้าที่นิติบัญญัติ หน้าที่บริหาร หน้าที่ตุลาการ ฯลฯ และกม.นั้นได้จัดทำตามวิธีการที่กำหนดเป็นพิเศษ แตกต่างจากกม.ธรรมดา และได้รับยกย่องให้เป็นกม.สูงสุดของประเทศ 3. (ศ.ไพโรจน์ ชัยนาม)กม.ที่กล่าวกำหนดหรือวางระเบียบสถาบันการเมือง 4.(ศ.จิตติ ติงศภัทิย์) เอกสารที่มีความศักดิ์สิทธิ์พิเศษทาง กม. กำหนดกรอบแห่งองค์การปกครองแห่งรัฐ และหลักการสำคัญของการปฏิบัติหน้าที่ปกครองรัฐ และหลักการสำคัญของการปฏิบัติหน้าที่ปกครองรัฐ มีความมุ่งหมายให้ถาวรยั่งยืน โดยมีการแก้ไขเพิ่มเติมได้ แต่ไม่ใช่ทำลาย
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม (ไทย) พุทธศักราช 2475 – รธน. ถาวรฉบับแรกของไทย ร่างโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญซึ่งสภาผู้แทนราษฎรแต่งตั้งขึ้นจำนวน 9 คนประกาศใช้เมื่อวันที่ 10 ธค. 2475 ยกเลิกเมื่อวันที่ 9 พค. 2489 มีจำนวน 68 มาตรา มีสภาเดียว คือ สภาผู้แทนราษฎร ประกอบด้วย สส. 156 คน มาจากการเลือกตั้งของราษฎร แต่มีบทเฉพาะกาลว่า ให้มีสส. 2 ประเภทในระหว่างที่ผู้เลือกตั้งยังจบประถมศึกษาไม่ถึงกึ่งของจำนวนทั้งหมดและอย่างช้าไม่เกิน 10 ปี (ต่อมาในปี 2487 ได้ขยายเป็น 20 ปี) โดยสส.ประเภทแรกมาจากการเลือกตั้ง ประเภทที่ 2 มาจากการแต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ถวายรายชื่อให้พระมหากษัตริย์แต่งตั้ง มีจำนวนเท่ากับสส.ประเภทแรกและแต่งตั้งจากราชการประจำได้ ฝ่ายบริหารเป็นคณะรัฐมนตรีประกอบด้วย รมต. 15-24 คนโดยต้องมาจาก สส.ไม่น้อยกว่า 14 คน มีความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารในรูปของรัฐสภา มีการคานและดุลย์อำนาจกันโดยรัฐสภามีอำนาจลงมติไม่ไว้วางใจคณะรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีมีอำนาจยุบสภาได้
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 – รธน. ฉบับที่ 16 ใช้บังคับเมื่อวันที่ 11 ตค. 2540 มี 12 หมวด รวม 336 มาตรา กำหนดให้มี 2 สภาคือ สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา รธน.นี้สิ้นสุดลงโดยการทำรัฐประหารของ คปค.เมื่อ 19 กย. 2546
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 – รธน. ฉบับที่ 17 ซึ่งเป็นฉบับปัจจุบันของไทย ใช้บังคับเมื่อวันที่ 24 สค. 2550 มี 15 หมวดคือ 1.บททั่วไป 2. พระมหากษัตริย์ 3.สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย 4. หน้าที่ของชนชาวไทย 5.แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ 6. รัฐสภา 7.การมีส่วนร่วมทางการเมือง รวม 309 มาตรา กำหนดให้มี 2 สภาคือ สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา
รัฐบาล – 1. คณะรัฐมนตรี คณะบุคคลที่ทำการบริหารประเทศ 2.(กม.มหาชน) สถาบันการเมืองการปกครองที่สำคัญที่สุดของรัฐรวมทั้งผู้แทนที่มีอำนาจดำเนินงานของรัฐ มีหน้าที่สาธารณะ ตอบสนองเจตนารมณ์ของประชาชน สร้างและรักษากม. ดู คณะรัฐมนตรี
รัฐบาลผสม – รัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นโดยประกอบด้วยพรรคการเมืองหลายพรรค
รัฐบาลพลัดถิ่น – รัฐบาลที่ไม่ได้จัดตั้งในประเทศซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ แต่จัดตั้งขึ้นในรัฐต่างประเทศเนื่องจากสาเหตุทางการเมือง
รัฐประหาร – (coup d’etat) การใช้กำลังยึดอำนาจปกครองประเทศอย่างฉับพลันเพื่อเปลี่ยนแปลงคณะรัฐบาล ดู ปฏิวัติ
รัฐมนตรี - 1.ผู้บังคับบัญชาสูงสุดในกระทรวงที่รับผิดชอบในนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินในกระทรวงนั้นๆ และร่วมรับผิดชอบในนโยบายส่วนรวมของคณะรัฐมนตรี มีที่มาจากนายกรัฐมนตรีเสนอและพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง อาจแบ่งเป็น รัฐมนตรีว่าการ(รมว.)และรัฐมนตรีช่วยว่าการ(รมช.) หรือรัฐมนตรีประจำกระทรวงและรัฐมนตรีลอย 2.ตาม รธน.ปัจจุบัน มี รมต. ได้ไม่เกิน 35 คน (ไม่รวม นรม.) รมต.จะเป็นสส.หรือไม่ก็ได้ แต่จะเป็น สว.ในขณะเดียวกันหรือเคยเป็น สว.ไม่เกิน 2 ปีไม่ได้ และจะเป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำนอกจากข้าราชการการเมืองมิได้ ดู คณะรัฐมนตรี , รัฐมนตรี 3. (พรบ.การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี 2543 ม.3) นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีแต่ละคนในคณะรัฐมนตรี
รัฐมนตรีเจ้าสังกัด – (พรบ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน 2535 ม.4) รัฐมนตรีว่าการกระทรวง รัฐมนตรีว่าการทบวงและหมายความรวมถึงนายกรัฐมนตรีในฐานะเป็นผู้บังคับบัญชาสำนักนายกรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีในฐานะเป็นผู้บังคับบัญชาส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกรม และไม่สังกัดกระทรวงหรือทบวงด้วย
รัฐมนตรีลอย – รมต.ที่มิได้เป็น รมว.หรือ รมช. กระทรวงใดกระทรวงหนึ่งโดยเฉพาะ แต่ได้รับการแต่งตั้งเป็น รมต.และร่วมรับผิดชอบในนโยบายของคณะรัฐมนตรี
รัฐรวมสองรัฐ – รัฐสองรัฐที่รวมกันโดยมีประมุขของรัฐร่วมกัน หรือที่มีองค์กรใช้อำนาจอธิปไตยภายนอกร่วมกัน
รัฐรวมหลายรัฐ – รัฐหลายรัฐที่รวมกันโดยมีการจำกัดอำนาจอธิปไตยที่จะใช้ในรัฐแต่ละรัฐลง แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ สมาพันธรัฐและสหรัฐ
รัฐวิสาหกิจ – 1. องค์การที่จัดตั้งโดยรัฐหรือรัฐมีส่วนร่วมในการลงทุนและนำรายได้เข้ารัฐ 2.(พรบ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ 2543 ม.6) (1) องค์การของรัฐบาลตามกม.ว่าด้วยการจัดตั้งองค์การรัฐบาลหรือกิจการของรัฐตามกม.ที่จัดตั้งกิจการนั้นและให้หมายความรวมถึงหน่วยงานธุรกิจที่รัฐเป็นเจ้าของ (2) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่กระทรวง ทบวง กรมหรือทบวงการเมืองที่มีฐานะเทียบเท่า หรือรัฐวิสาหกิจตาม (1) มีทุนรวมอยู่ด้วยเกินร้อยละ 50
รัฐสภา1 – องค์กรของฝ่ายนิติบัญญัติประกอบด้วย 2 สภาคือ สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา มีประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานรัฐสภา และมีประธานวุฒิสภาเป็นรองประธานรัฐสภา มีอำนาจหน้าที่ 3 ประการคือ (1) ในด้านนิติบัญญัติ คือ การให้คำแนะนำและยินยอมในการตรากม. (2) ในด้านควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน และ (3) ในด้านการให้ความเห็นชอบตามที่ รธน.กำหนด
รัฐสภา2 – (พรบ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายรัฐสภา 2523 ม.4) สภาซึ่งทำหน้าที่นิติบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้มีสภานิติบัญญัติสภาเดียว ให้หมายถึงสภานั้น
รัฏฐาธิปัตย์ – ผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินได้แก่ พระมหากษัตริย์หรือผู้มีอำนาจอธิปไตย
รับของโจร – ความผิดอาญาตามปอ.ม.357ซึ่งเป็นการกระทำที่เป็นการช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้โดยประการใดซึ่งทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิด ถ้าความผิดนั้นเข้าลักษณะลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ฉ้อโกง ยักยอก หรือเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์
รับช่วงทรัพย์ – การเอาทรัพย์อันหนึ่งแทนที่ทรัพย์อีกอันหนึ่งในฐานะนิตินัยอย่างเดียวกับทรัพย์สินอันก่อน การนำทรัพย์อันใหม่เข้าแทนที่ทรัพย์เดิมโดยทรัพย์ใหม่จะมีฐานะหรือภาระผูกพันตามกม.เช่นเดียวกับทรัพย์เดิม
รับช่วงสิทธิ - (ปพพ.) การที่บุคคลภายนอกซึ่งมิใช่เจ้าหนี้เดิม ได้เข้ามาสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้คนใหม่แทนเจ้าหนี้เดิมโดยผลของ ก.ม. (ไม่ใช่โดยผลของนิติกรรม) เป็นผลให้เจ้าหนี้เดิมหมดสิทธิในหนี้นั้น และผู้รับช่วงสิทธิใช้สิทธิเรียกร้องเท่าที่เจ้าหนี้เดิมมีอยู่ในหนี้ รวมทั้งประกันแห่งหนี้นั้นได้ในนามตนเอง การรับช่วงสิทธิเกิดโดยผลของกม.เท่านั้น และจะต้องมีกม.บัญญัติไว้โดยเฉพาะให้มีการรับช่วงสิทธิได้ มี 2 วิธีคือ (1) โดยการใช้ค่าสินไหมทดแทน (ม.227) กล่าวคือ เมื่อลูกหนี้ได้เข้าใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายแก่เจ้าหนี้ ลูกหนี้จะได้รับช่วงสิทธิจากเจ้าหนี้ เช่น ผู้รับประกันวินาศภัยเมื่อได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยแล้ว จะรับช่วงสิทธิไปเรียกค่าเสียหายจากผู้ทำละเมิด และ(2) โดยการเข้าชำระหนี้แทน (ม.229)ซึ่งแบ่งเป็น 4 กรณีคือ (ก) เมื่อเจ้าหนี้ชำระหนี้ให้เจ้าหนี้บุริมสิทธิหรือเจ้าหนี้จำนองหรือจำนำ (ข) ผู้ซื้อหรือได้อสังหาริมทรัพย์ไป ชำระราคาที่ซื้อแก่ผู้รับจำนอง หรือ (ค) ผู้ที่มีความผูกพันในหนี้ร่วมกับผู้อื่น เช่น ลูกหนี้ร่วม หรือมีความผูกพันในหนี้เพื่อผู้อื่นเช่น ผู้ค้ำประกัน ได้ชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ (ง) ผู้จะต้องเสี่ยงภัยเสียสิทธิในทรัพย์หรือสิทธิครองทรัพย์ชำระหนี้เพื่อไม่ให้ทรัพย์ถูกบังคับยึดทรัพย์ ดูโอนสิทธิเรียกร้อง
รับมรดกความ(คดีอาญา) – การที่ผู้เสียหายในคดีอาญายื่นฟ้องคดีแล้วตายลง ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยามีสิทธิที่จะดำเนินคดีต่างผู้ตายต่อไป (ปวิอ.ม. 29) โดยบุคคลดังกล่าวจะต้องยื่นคำร้องต่อศาลและจะยื่นมาเมื่อไรก้ได้ ไม่จำเป็น ต้องยื่นภายใน 1 ปี (คส.ฎ. 1595 / 2528)
รับมรดกแทนที่ – การที่ผู้ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมตามมาตรา 1629(1)(3)(4) หรือ(6) ถึงแก่ความตายหรือศาลมีคำสั่งให้เป็นบุคคลสาบสูญหรือถูกกำจัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย ผู้สืบสันดานโดยตรงของผู้นั้นมีสิทธิรับมรดกแทนผู้นั้น
รับรอง (ตั๋วเงิน) – การที่ผู้จ่ายได้ลงลายมือชื่อและเขียนข้อความลงในด้านหน้าตั๋วเงินว่า รับรองแล้วหรือจะจ่ายเงินตามคำสั่งของผู้สั่งจ่ายหรือข้อความอย่างอื่นทำนองเดียวกันเพื่อแสดงเจตนาว่าเมื่อตั๋วเงินถึงกำหนดตนจะจ่ายเงินให้ตามคำสั่งของผู้สั่งจ่ายที่ปรากฏในตั๋วหรือตามคำรับรองของตน (ฎ.399/2511) ผลของการรับรองจึงเป็นสัญญาเด็ดขาดของผู้รับรองว่า จะจ่ายเงินให้แก่ผู้รับเงินหรือตามคำสั่งของผู้รับเงินหรือแก่ผู้ถือตามข้อความในตั๋วที่ได้รับรองนั้น บุคคลอื่นที่ไม่ใช่ผู้จ่ายจะมารับรองตั๋วเงินไม่ได้ (ฎ.399/2511) มีตั๋วแลกเงินที่ต้องยื่นให้ผู้จ่ายรับรอง 3 ประเภทคือ ตั๋วแลกเงินที่ผู้สั่งจ่ายกำหนดให้มีการรับรอง ตั๋วแลกเงินที่ผู้สลักหลังกำหนดให้มีการรับรอง และตั๋วที่สั่งจ่ายเงินเมื่อสิ้นระยะเวลาหนึ่งนับแต่ได้เห็น การรับรองมี 2 ชนิดคือ รับรองตลอดไปและรับรองเบี่ยงบ่าย
รับรองตลอดไป - การรับรองตั๋วเงินที่ผู้จ่ายยอมรับรองอย่างเต็มที่ตามคำสั่งของผู้สั่งจ่ายและตามเนื้อความของตั๋วเงินโดยไม่มีการแก้ไขหรือโต้แย้งคำสั่ง
รับรองเบี่ยงบ่าย - การรับรองตั๋วเงินที่ผู้จ่ายรับรองแต่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงจากคำสั่งของผู้สั่งจ่ายในตั๋วเงิน เช่น รับรองมีเงื่อนไขหรือรับรองเพียงบางส่วน
รับสภาพความผิด – (ปพพ.ม. 193/35) การที่ลูกหนี้ทำหลักฐานเป็นหนังสือภายหลังที่หนี้ขาดอายุความไปแล้วโดยรับว่าตนเองเป็นหนี้เจ้าหนี้อยู่ก่อนที่หนี้จะขาดอายุความ แต่ถ้าหากจำเลยไม่เคยเป็นหนี้มาเลย แต่มาทำหนังสือรับสภาพหนี้ไม่เป็นการรับสภาพความผิด (ฎ. 9121/2538)
รับสภาพหนี้ – การที่ลูกหนี้รับต่อเจ้าหนี้ว่า จะชำระหนี้ให้ (ฎ. 595/2537) ไม่จำเป็นต้องทำเป็นหนังสือ (ฎ. 1156/2537)
รับว่าจะให้ – (ปอ.ม. 144, 167) เจ้าพนักงานเรียกร้องสินบนและฝ่ายที่ถูกเรียกร้องรับว่าจะให้สินบน
ราคา – 1. (ปพพ.ม. 138) คุณค่าหรือประโยชน์ของวัตถุในทางเศรษฐกิจหรือในทางจิตใจก็ได้ 2. (ป.รัษฎากร ม. 77/1(16)) เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใดๆ อันอาจคิดคำนวณได้เป็นเงินซึ่งได้มีการชำระหรือตกลงจะชำระเพื่อการขายสินค้าหรือการให้บริการ
ราคาตลาด – (ป.รัษฎากร ม.91/1) ราคาที่ซื้อขายกัน หรือที่คิดค่าบริการกันตามความเป็นจริงทั่วไปในขณะใดขณะหนึ่ง ในกรณีที่ราคาตลาดมีหลายราคาหรือไม่อาจทราบราคาได้แน่นอน ให้อธิบดี(กรมสรรพากร)โดยอนุมัติรัฐมนตรี(ว่าการกระทรวงการคลัง)มีอำนาจประกาศใช้เกณฑ์คำนวณเพื่อให้ได้ราคาตลาดเป็นมูลค่าของสินค้าหรือบริการได้
ร่างพระราชบัญญัติ – กม.ที่ยังอยู่ในขั้นตอนการยกร่างและยังไม่มีผลบังคับใช้เป็นกม.
ร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน – (รธน. ม.143) ร่างพรบ.ว่าด้วยเรื่องใดเรื่องหนึ่งดังต่อไปนี้ (1) การตั้งขี้น ยกเลิก ลด เปลี่ยนแปลง แก้ไข ผ่อน หรือวางระเบียบการบังคับอันเกี่ยวกับภาษีอากร (2) การจัดสรร รับ รักษา หรือจ่ายเงินแผ่นดิน หรือการโอนงบประมาณรายจ่ายของแผ่นดิน (3) การกู้เงิน การค้ำประกัน การใช้เงินกู้หรือการดำเนินการที่ผูกพันทรัพย์สินของรัฐ (4) เงินตรา
ในกรณีที่มีข้อสงสัยว่าเป็นร่างพรบ.เกี่ยวด้วยการเงินหรือไม่ ให้มีการประชุมร่วมกันวินิจฉัยระหว่างประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานคณะกรรมาธิการสามัญของสภาผู้แทนราษฎรทุกคณะภายใน 15 วันนับแต่วันที่มีข้อสงสัย การลงมติใช้เสียงข้างมาก
กระบวนการตรากม.นี้แตกต่างจากพรบ.ธรรมดาตรงที่ (1) การเสนอร่างพรบ.นี้โดยสส.จะต้องมีคำรับรองของนายกรัฐมนตรี (2) การเสนอร่างไปยังวุฒิสภา ประธาน สภาผู้แทนราษฎรต้องแจ้งไปด้วยว่า เป็นร่างพรบ.เกี่ยวด้วยการเงิน ถ้าไม่แจ้ง ถือว่า ไม่ใช่ (3) วุฒิสภาต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 30 วัน (ร่างพรบ.ธรรมดา 60 วัน)
ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณ – (รธน.) ร่างกม.ที่อนุญาตให้ฝ่ายบริหารใช้จ่ายเงินแผ่นดินได้ในแต่ละปี ซึ่งร่างพรบ.งบประมาณจะหมายความรวมถึง ร่างพรบ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมและร่างพรบ.โอนงบประมาณรายจ่ายด้วย ร่างกม.นี้มีกระบวนการตราที่แตกต่างจากพรบ.ธรรมดาคือ (1) สภาผู้แทนราษฎรต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 105 วันนับตั้งแต่วันที่ร่างพรบ.มาถึง ถ้าพิจารณาไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลา ถือว่าสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบร่างกม.นี้ (2) วุฒิสภาต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 20 วันเท่านั้น ถ้าพิจารณาไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลา ถือว่าวุฒิสภาให้ความเห็นชอบร่างกม.นี้ (3) สภาผู้แทนราษฎรจะแปรญัตติเพื่อขอเพิ่มงบประมาณรายจ่ายไม่ได้ และจะแปรญัตติเพื่อมีส่วนในการใช้งบประมาณรายจ่ายไม่ได้ (4) วุฒิสภาจะแปรญัตติไม่ได้เลย คงทำได้แต่ให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบเท่านั้น
ราชการส่วนท้องถิ่น – 1. .(พรบ.ควบคุมอาคาร 2522 ม. 4) เทศบาล สุขาภิบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นที่ รมต.ประกาศกำหนดให้เป็นราชการส่วนท้องถิ่น 2.(พรบ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง 2535 ม. 4) เทศบาล สุขาภิบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นที่กม.กำหนดให้เป็นราชการส่วนท้องถิ่น
ราชกิจจานุเบกษา- หนังสือของทางราชการที่ตีพิมพ์ตัวบทกม.คำสั่ง ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศต่างๆและข้อเท็จจริงที่สำคัญของทางราชการเพื่อให้ประชาชนได้ทราบ จัดพิมพ์โดยงานราชกิจจานุเบกษา กองประกาศิต สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี มี ๔ แผนก ที่สำคัญ คือ แผนกกฤษฎีกาซึ่งตีพิมพ์ตัวบทกม.และประกาศของทางราชการ และแผนกสามัญซึ่งลงพิมพ์เกี่ยวกับห้างหุ้นส่วน บริษัท สมาคม มูลนิธิ ซึ่งผลของการประกาศคือถือว่าทุกคนได้ทราบแล้วนอกจากนี้ยังมีกม.กำหนดให้ต้องมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาก่อน จึงจะถือว่า ประชาชนทุกคนได้ทราบข้อเท็จจริงแล้ว
ราชบัณฑิตยสถาน – (พรบ.ราชบัณฑิตยสถาน ๒๕๔๔ )ส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่น และมีฐานะเป็นกรมซึ่งไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง หรือทบวง ตามกม.ว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน มีการแบ่งส่วนราชการออกเป็น 3 สำนักคือ สำนักธรรมศาสตร์และการเมือง สำนักวิทยาศาสตร์ และสำนักศิลปกรรม
ราชศัตรู - (ปอ.ทหาร ม.๔ ) หมายความตลอดถึงบรรดาคนมีอาวุธที่แสดงความขัดแย้งต่ออำนาจผู้ใหญ่ หรือที่เป็นกบฏหรือเป็นโจรสลัดหรือที่ก่อจลาจล
ราชอาณาจักร – ๑. รัฐที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ดู สาธารณรัฐ ๒. ดินแดนที่ประเทศมีอธิปไตยได้แก่ พื้นแผ่นดิน ทะเลอาณาเขต ฉนวนอากาศที่อยู่เหนือพื้นดิน และเรือรบ เรือบางประเภทและอากาศยานไทย
ร้านวีดิทัศน์ – (พรบ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ๒๕๕๑ ม.๔)สถานที่ที่จัดให้มีเครื่องมือหรืออุปกรณ์ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกในการฉาย เล่น หรือดูวีดิทัศน์
รายการคำนวณ – (พรบ.ควบคุมอาคาร ๒๕๒๒ ม.๔) รายการแสดงวิธีการคำนวณ กำลังของวัสดุ การรับน้ำหนัก และกำลังต้านทานของส่วนต่างๆ ของอาคาร
รายการประกอบแบบแปลน – (พรบ.ควบคุมอาคาร ๒๕๒๒ ม.๔) ข้อความชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับคุณภาพและชนิดของวัสดุ ตลอดจนวิธีปฏิบัติหรือวิธีการสำหรับการก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน เคลื่อนย้าย ใช้หรือเปลี่ยนการใช้อาคารเพื่อให้เป็นไปตามแบบแปลน
รายงานกระบวนพิจารณา – (ปวิพ.ม.๔๘) เอกสารที่ศาลจดบันทึกข้อความเกี่ยวกับเรื่องที่ได้กระทำในการนั่งพิจารณาหรือดำเนินกระบวนพิจารณาอื่นของศาล (ฎ. ๙๑๑ / ๒๕๔๘) มีข้อความโดยย่อว่า ในวันนั้นศาลหรือคู่ความได้ดำเนินกระบวนพิจารณาอย่างใดบ้างและลงลายมือชื่อคู่ความและศาล
รายงานของศาล - (ปวิพ.ม. ๔๙) เอกสารทั้งหลายที่ศาลบันทึกในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดี
รายรับ – ๑.(ป.รัษฎากร ม. ๗๙) เงิน ทรัพย์สิน ค่าตอบแทนหรือประโยชน์ใดๆ อันมีมูลค่าที่ได้รับหรือพึงได้รับไม่ว่าในหรือนอกราชอาณาจักรเนื่องจากการประกอบการค้า ๒.. (ป.รัษฎากร ม. ๙๑ / ๑ ) เงิน ทรัพย์สิน ค่าตอบแทนหรือประโยชน์ใดๆ อันมีมูลค่าที่ได้รับหรือพึงได้รับไม่ว่าในหรือนอกราชอาณาจักรเนื่องจากการประกอบกิจการ
ราษฎร – (ปอ.ม. 114 ) พลเมืองทั้งประเทศ
ร่ำรวยผิดปกติ – (พรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2542 ม.4) การมีทรัพย์สินมากผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากผิดปกติหรือการมีหนี้สินลดลงมากผิดปกติ หรือได้ทรัพย์สินมาโดยไม่สมควร สืบเนื่องมาจากการปฏิบัติตามหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่
ริบทรัพย์สิน – โทษทางอาญาอย่างหนึ่ง
รีดเอาทรัพย์ – 1. การข่มขืนใจผู้อื่น ให้ยอมให้ หรือยอมจะให้ตนหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน โดยขู่เข็ญว่าจะเปิดเผยความลับ ซึ่งการเปิดเผยนั้นจะทำให้ผู้ถูกขู่เข็ญหรือบุคคลที่สามเสียหาย จนผู้ถูกข่มขืนใจยอมเช่นว่านั้น 2. ความผิดฐานหนึ่งตาม ปอ.ม. 338
รื้อถอน – (พรบ.ควบคุมอาคาร 2522 ม.4) รื้อส่วนที่เป็นโครงสร้างของอาคารออกไป เช่น เสา คาน ตง หรือส่วนอื่นของโครงสร้างตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
รุกล้ำ – (ปพพ.ม.1312) ทำให้บางส่วนเข้าไปในที่ดินของผู้อื่น เช่น ชายคาเรือน (ฎ.741/2505)
รูปของรัฐ – รูปแบบของรัฐที่จัดแบ่งเป็นรัฐเดี่ยว รัฐรวมสองรัฐ หรือรัฐรวมหลายรัฐ การกำหนดรูปของรัฐจะมีผลต่อการวางโครงสร้างทางการเมืองและองค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตยของรัฐ
รูปของรัฐบาล - รูปแบบของฝ่ายบริหารหรือรัฐบาล
รู้สำนึก – (ปอ.ม. 59) อยู่ใต้บังคับจิตใจ ของผู้กระทำ
เรียก – (ปอ.ม. 143) เรียกร้องให้ผู้อื่นให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์
เรียกประกันทัณฑ์บน - คำสั่งของศาลที่สั่งให้(1) ผู้ที่จะก่อเหตุร้ายให้เกิดภยันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่น(ตามข้อเสนอของพนักงานอัยการ) หรือ (2) ผู้ถูกฟ้องคดีในความผิดใด ที่ศาลจะไม่ลงโทษแต่มีเหตุอันควรเชื่อว่า ผู้นั้นน่าจะก่อเหตุร้ายให้เกิดภยันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่น ต้องทำทัณฑ์บนว่า ผู้นั้นจะไม่ก่อเหตุดังกล่าวตลอดเวลาที่ศาลกำหนดแต่ไม่เกิน 2 ปี โดยกำหนดจำนวนเงินทัณฑ์บนไว้ไม่เกินกว่า 5,000 บาทและศาลจะสั่งให้มีประกันด้วยหรือไม่ก็ได้ เป็นวิธีการเพื่อความปลอดภัยอย่างหนึ่ง แต่จะใช้วิธีการนี้กับผู้กระทำความผิดที่เป็นเด็กอายุไม่เกิน 17 ปี ไม่ได้
เรียง (ฟ้อง) – แต่งหรือร่าง
เรือ – 1. (พรบ.เรือไทย 2481 ม.5 ,พรบ.การประมง 2490 ม.4 (4) ,พรบ.ความรับผิดทางแพ่งและค่าเสียหายจากเรือโดนกัน 2548 ม.4, พรบ.การช่วยเหลือกู้ภัยทางทะเล 2550 ม.4 ) ยานพาหนะทางน้ำทุกชนิด 2.(พรบ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย ๒๔๕๖ ม.๓) ยานพาหนะทางน้ำทุกชนิด ไม่ว่าจะใช้เพื่อบรรทุก ลำเลียง โดยสาร ลาก จูง ดัน ยก ขุด หรือลอก รวมทั้งยานพาหนะอย่างอื่นที่สามารถใช้ในน้ำได้ทำนองเดียวกัน 3. (พรบ.กักเรือ 2534 ม.3) เรือเดินทะเลที่ใช้ในการขนส่งของหรือคนโดยสารทางทะเลระหว่างประเทศ 4.(พรบ.การจำนองเรือและบุริมสิทธิทางทะเล 2537 ม.4 ) เรือขนาดตั้งแต่ 60 ตันกรอสขึ้นไปที่เดินด้วยเครื่องจักรกลไม่ว่าจะใช้กำลังอื่นด้วยหรือไม่ก็ตามและเป็นเรือที่มีลักษณะสำรับใช้ในทะเลตามกฎข้อบังคับการตรวจเรือที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามกม.ว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทย
เรือกล – (พรบ.เรือไทย 2481 ม.5, พรบ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย 2456 ม.3) เรือที่เดินด้วยเครื่องจักรกล จะใช้กำลังอื่นด้วยหรือไม่ก็ตาม
เรือกลไฟ – (พรบ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย ๒๔๕๖ ม.๓) เรือที่เดินด้วยเครื่องจักรกลจะใช้ใบด้วยหรือไม่ก็ตาม และให้หมายความรวมตลอดถึงเรือกำปั่นยนต์ด้วย เรือนี้บางครั้งเรียกเรือกำปั่นไฟ
เรือกลไฟเล็ก – (พรบ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย ๒๔๕๖ ม.๓) เรือที่มีขนาดต่ำกว่า ๓๐ ตันกรอสส์ที่เดินด้วยเครื่องจักร
เรือกำปั่น - (พรบ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย ๒๔๕๖ ม.๓) เรือที่เดินด้วยเครื่องจักรกล หรือด้วยใบและไม่ใช้กรรเชียง แจวหรือพาย
เรือกำปั่นใบ - (พรบ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย๒๔๕๖ ม.๓) ดู เรือใบ
เรือกำปั่นไฟ - (พรบ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย ๒๔๕๖ ม.๓) ดู เรือกลไฟ
เรือกำปั่นยนต์ - (พรบ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย๒๔๕๖ ม.๓) ดู เรือยนต์
เรือขุดหาแร่ - (พรบ.แร่ 2510 ม.4) เรือหรือแพซึ่งมีอุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ในการทำเหมืองหรือการแต่งแร่สำหรับใช้ในเรือหรือแพนั้น
เรือเดินทะเล – ๑.(พรบ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย ๒๔๕๖ ม.๓) เรือที่มีลักษณะสำหรับใช้ในทะเลตามกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ บางครั้งเรียกเรือทะเล ๒.(พรบ.ความรับผิดทางแพ่งและค่าเสียหายจากเรือโดนกัน ๒๕๔๘ ม.๔,พรบ.การช่วยเหลือกู้ภัยทางทะเล ๒๕๕๐ ม.๔) เรือที่มีลักษณะสำหรับใช้ในทะเลตามกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ ตามกม.ว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทย
เรือโดนกัน – (พรบ.ความรับผิดทางแพ่งและค่าเสียหายจากเรือโดนกัน 2548 ม.4) การปะทะกันระหว่างเรือเดินทะเลหรือการที่เรือเดินทะเลปะทะกับเรือลำอื่น ทำให้เกิดความเสียหายแก่เรือ ทรัพย์สินหรือบุคคลบนเรือที่ปะทะกันลำหนึ่งลำใดหรือทุกลำและให้หมายความรวมถึง การที่เรือเดินทะเลได้ก่อหรือได้รับความเสียหายดังกล่าว โดยมีสาเหตุจากการปฏิบัติการหรืองดเว้นปฏิบัติการเกี่ยวกับการบังคับหรือการควบคุมเรือหรือการฝ่าฝืนกฎข้อบังคับเกี่ยวกับการเดินเรือ แม้ว่าเรือจะมิได้มีการปะทะกัน ทั้งนี้ไม่ว่าเหตุจะเกิดขึ้นในน่านน้ำใดก็ตาม
เรือโดยสาร - (พรบ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย ๒๔๕๖ ม.๓) เรือที่บรรทุกคนโดยสารเกิน ๑๒ คน
เรือได้สูญเสียโดยสิ้นเชิงแล้ว – (ประกันภัยทางทะเล)เรือเดินทะเลรั่วและจมลง แม้จะมีเรือลากไปเกยตื้นไว้ แต่น้ำท่วมเต็มล้นปากระวางเรือ ไม่จำต้องแตกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย(ฎ.999/2496)
เรือทะเล - 1. (พรบ.เรือไทย 2481 ม.5) เรือที่มีลักษณะสำหรับใช้ในทะเล 2.(พรบ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย ๒๔๕๖ ม.๓) ดู เรือเดินทะเล
เรือนจำ – 1.(พรบ.ราชทัณฑ์ 2479 ม.4(1)) ที่ซึ่งใช้ควบคุมกักขัง ผู้ต้องขัง กับทั้งสิ่งที่ใช้ต่อเนื่องกัน และให้หมายความรวมตลอดถึงที่อื่นใดซึ่งรมว.(มหาดไทย) ได้กำหนดและประกาศในราชกิจจานุเบกษาวางอาณาเขตไว้โดยชัดเจน 2. (พรบ.เรือนจำทหาร 2479 ม.4(1)) ที่ซึ่งรมว.(กลาโหม) หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากรมต.กำหนดให้เป็นเรือนจำทหาร
เรือบรรทุกสินค้า - (พรบ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย ๒๔๕๖ ม.๓) เรือที่ไม่มีดาดฟ้าหรือมีไม่ตลอดลำ เดินด้วยกรรเชียง แจวหรือพาย หรือบางทีใช้ใบ และใช้บรรทุกสินค้า
เรือใบ – (พรบ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย ๒๔๕๖ ม.๓) เรือที่เดินด้วยใบและไม่ใช้เครื่องจักรกล บางครั้งเรียกเรือกำปั่นใบ
เรือประมง - (พรบ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย ๒๔๕๖ ม.๓) เรือที่ใช้สำหรับการจับสัตว์น้ำหรือทรัพยากรที่มีชีวิตอื่นๆ ที่อยู่ในทะเล
เรือเป็ดทะเลและอื่นๆ หรือเรือเป็ดทะเลและเรืออื่นๆ - (พรบ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย ๒๔๕๖ ม.๓) เรือที่ใช้ในเวลาเดินทะเล และใช้ใบหรือกรรเชียงหรือแจวในเวลาเดินในลำแม่น้ำ และให้หมายความรวมตลอดถึงเรือฉลอมทะเลหรือเรือเท้งฉลอมท้ายญวนหรือเรือสามก้าวด้วย ดู เรือยนต์
เรือโป๊ะ - (พรบ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย ๒๔๕๖ ม.๓) เรือทะเลที่มีรูปร่างแบบยุโรปและเครื่องเสาเพลาใบอย่างแบบจีนหรือแบบประเทศใด ๆ ในเอเชีย บางครั้งเรียก เรือโป๊ะจ้าย
เรือโป๊ะจ้าย - (พรบ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย ๒๔๕๖ ม.๓) ดู เรือโป๊ะ
เรือไม้ที่ต่อแบบโบราณ - (พรบ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย ๒๔๕๖ ม.๓) เรือใบเสาเดียว เรือสำเภาหรือเรือไม้ที่ต่อตามแบบเรือที่ใช้อยู่ในสมัยโบราณ
เรือยนต์ – (พรบ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย ๒๔๕๖ ม.๓) เรือที่เดินด้วยเครื่องยนต์จะใช้กำลังอื่นด้วยหรือไม่ก็ตาม บางครั้งเรียกเรือกำปั่นยนต์
เรือเล็ก - (พรบ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย ๒๔๕๖ ม.๓) เรือที่เดินด้วยกรรเชียง แจวหรือพาย
เรือลำน้ำ - (พรบ.เรือไทย 2481 ม.5) เรืออื่นที่มิใช่เรือทะเล
เรือลำเลียง - (พรบ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย ๒๔๕๖ ม.๓) เรือที่มิใช่เรือกล และใช้สำหรับลำเลียงหรือขนถ่ายสินค้าจากเรือกำปั่นหรือบรรทุกสินค้าส่งเรือกำปั่น
เรือลำเลียงทหาร - (พรบ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย ๒๔๕๖ ม.๓) เรือที่ใช้ในการลำเลียงทหาร ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นเรือของทางราชการทหารหรือไม่ก็ตาม
เรือสินค้า - (พรบ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย ๒๔๕๖ ม.๓) เรือที่มิใช่เรือโดยสาร
เรือสำราญและกีฬา - (พรบ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย ๒๔๕๖ ม.๓) เรือที่ใช้สำหรับหาความสำราญหรือเรือที่ใช้เพื่อการเล่นกีฬาโดยเฉพาะ และไม่ได้ใช้เพื่อการค้า การทหารหรือการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์
เรือสำเภา - (พรบ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย ๒๔๕๖ ม.๓) เรือเดินทะเลต่อแบบอย่างจีนหรือแบบประเทศใดๆ ในเอเซีย
แร่ – (พรบ.แร่ 2510 ม.4) ทรัพยากรธรณีที่เป็นอนินทรียวัตถุ มีส่วนประกอบทางเคมีกับลักษณะทางฟิสิกส์แน่นอนหรือเปลี่ยนแปลงได้เล็กน้อย ไม่ว่าจะต้องถลุงหรือหลอมก่อนใช้หรือไม่ และหมายความรวมตลอดถึงถ่านหิน หินน้ำมัน หินอ่อน โลหะและตะกรันที่ได้จากโลหกรรม น้ำเกลือใต้ดิน หินซึ่งกฎกระทรวงกำหนดเป็นหินประดับหรือหินอุตสาหกรรม และหินหรือทรายซึ่งกฎกระทรวงกำหนดเป็นดินอุตสาหกรรมหรือทรายอุตสาหกรรม แต่ทั้งนี้ไม่รวมถึงน้ำเกลือสินเธาว์ ลูกรัง หิน ดิน หรือทราย
โรคจิต – สภาพที่จิตบกพร่องเนื่องจากเกิดจากโรค หรือภาวะที่มีการสูญเสียหน้าที่การทำงานของจิตใจถึงระดับที่ทำให้เสียความสามารถในการหยั่งรู้ตนเอง ความสามารถที่จะสนองความต้องการที่จำเป็นในการดำรงชีพ หรือความรู้สึกนึกคิดและพฤติกรรมต่างๆที่อยู่ในกรอบของความเป็นจริง เช่น คลอดบุตรแล้วมีอาการ”บ้าเลือด” คุ้มดีคุ้มร้าย ผู้มีอาการคลุ้มคลั่ง จิตเภท ทำให้ไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือไม่สามารถบังคับตนเองได้ หรือ เป็นโรคจิตเภท (schizophrenia) (ฎ.733/2521) ผู้ที่กระทำความผิดโดยมีจิตบกพร่องจะไม่ต้องรับโทษตามปอ.ม.65
โรงค้าไม้แปรรูป – (พรบ.ป่าไม้ 2484 ม.4 (14)) สถานที่ที่ค้าไม้แปรรูปหรือที่มีไม้แปรรูปไว้เพื่อการค้า รวมถึงบริเวณสถานที่นั้น ๆด้วย
โรงงาน1 – (พรบ.โรงงาน 2535 ม.5 ) อาคาร สถานที่ หรือยานพาหนะที่ใช้เครื่องจักรมีกำลังรวมตั้งแต่ 5 แรงม้า หรือกำลังเทียบเท่าตั้งแต่ 5 แรงม้าขึ้นไป หรือใช้คนงานตั้งแต่ 7 คนขึ้นไปโดยใช้เครื่องจักรหรือไม่ก็ตาม สำหรับทำ ผลิต ประกอบ บรรจุ ซ่อม ซ่อมบำรุง ทดสอบ ปรับปรุง แปรสภาพ ลำเลียง เก็บรักษา หรือทำลายสิ่งใดๆ ทั้งนี้ตามประเภทหรือชนิดของโรงงานที่กำหนดในกฎกระทรวง
โรงงาน2- (พรบ.โรงงานผลิตอาวุธของเอกชน 2550ม.4) โรงงานตามกม.ว่าด้วยโรงงานซึ่งได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานผลิตอาวุธตามพรบ.นี้
โรงงานแปรรูปไม้ – (พรบ.ป่าไม้ 2484 ม.4 (13)) โรงงานหรือสถานที่ใดซึ่งจัดขึ้นไว้เป็นที่ทำการแปรรูปไม้ รวมถึงบริเวณโรงงานหรือสถานที่นั้น ๆด้วย
โรงพักสินค้า – (ศุลกากร) สถานที่ซึ่งใช้เป็นที่พักหรือที่เก็บสินค้าหรือสิ่งของเมื่อได้ขนถ่ายจากเรือแล้ว และใช้เป็นที่ตรวจปล่อยสินค้าหรือของเหล่านั้น โดยได้รับอนุมัติจากกรมศุลกากร
โรงภาพยนตร์ – ( พรบ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ๒๕๕๑ ม.๔) สถานที่ฉายภาพยนตร์ดังต่อไปนี้ ทั้งนี้ เท่าที่มิได้อยู่ภายใต้บังคับตาม กม.ว่าด้วยการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (๑) อาคารหรือส่วนใดของอาคารที่ใช้เป็นสถานที่สำหรับฉายภาพยนตร์ (๒) สถานที่กลางแจ้งสำหรับฉายภาพยนตร์ (๓) สถานที่อื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
โรงมหรสพ – (พรบ.ควบคุมอาคาร ๒๕๒๒ ม.๔) อาคารหรือส่วนใดของอาคารที่ใช้เป็นสถานที่สำหรับฉายภาพยนตร์ แสดงละคร แสดงดนตรี หรือการแสดงรื่นเริงอื่นใด และมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดให้สาธารณชนเข้าชมการแสดงนั้นเป็นปกติธุระ โดยจะมีค่าตอบแทนหรือไม่ก็ตาม
โรงรับจำนำ – (พรบ.โรงรับจำนำ ๒๕๐๕ ม.๔) สถานที่รับจำนำซึ่งประกอบการรับจำนำสิ่งของเป็นประกันหนี้เงินกู้เป็นปกติธุระแต่ละรายมีจำนวนเงินไม่เกินหนึ่งแสนบาท และหมายความรวมตลอดถึง การรับหรือซื้อสิ่งของโดยจ่ายเงินให้สำหรับสิ่งของนั้นเป็นปกติธุระแต่ละรายมีจำนวนเงินไม่เกินหนึ่งแสนบาท โดยมีข้อตกลงหรือเข้าใจกันโดยตรงหรือโดยปริยายว่า จะได้ไถ่คืนในภายหลังด้วย
โรงเรียนกฎหมาย – (ก) โรงเรียนที่กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ได้ทรงตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๐ เพื่อเปิดให้มีการสอนวิชากม.ให้แก่บุคคลทั่วไป ต่อมาเมื่อวันที่ ๖ มิ.ย. ๒๔๕๕ ได้โปรดเกล้าฯยกเป็นโรงเรียนหลวงอยู่ในกระทรวงยุติธรรมและอยู่ในความควบคุมของสภานิติศึกษาเมื่อวันที่ ๗ ส.ค. ๒๔๖๗ สิงหาคม ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๖ โรงเรียนนี้ได้โอนไปรวมอยู่กับแผนกรัฐศาสตร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียกว่า แผนกนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ และเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๗ จึงได้โอนแผนกนี้ไปดำเนินการสอนอยู่ในมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปัจจุบัน)
โรงเรือน – ๑. (ปพพ.ม.๔๓๔) อาคาร (ฎ.๙๘๕ / ๒๔๙๗, ๒๑๔๐ / ๒๕๒๐) โรงแรม (ฎ.๑๔๓๘ / ๒๕๒๖ ) บ้านเรือน ตึกและรวมถึงส่วนประกอบของอาคาร เช่น ท่อระบายน้ำจากดาดฟ้าโรงแรม (ฎ.๑๔๓๘ / ๒๕๒๖) ๒.(ปพพ.ม.๑๓๑๒) ตัวอาคารรวมทั้งส่วนอื่นของอาคาร เช่น ชายคาเรือน (ฎ.๗๔๑ / ๒๕๐๕) ที่ไม่ใช่โรงเรือน เช่น ท่อน้ำทิ้งและเครื่องปรับอากาศ (ฎ. ๗๗๘ / ๒๕๒๓) ถังส้วมซีเมนต์ (ฎ. ๒๓๑๖ / ๒๕๒๒) เสากำแพงที่แยกต่างหากจากเสาโรงเรือน (ฎ. ๒๐๓๖ / ๒๕๕๓๙)
โรงแรม – ๑.(พรบ.โรงแรม ๒๔๗๘ ม.๓) บรรดาสถานที่ทุกชนิดที่จัดตั้งขึ้นเพื่อรับสินจ้างสำหรับคนเดินทางหรือบุคคลที่ประสงค์จะหาที่อยู่หรือที่พักชั่วคราว ๒.(พรบ.คนเข้าเมือง ๒๕๒๒ ม.๔) บรรดาสถานที่ทุกชนิดที่จัดตั้งขึ้นเพื่อรับสินจ้างสำหรับคนเดินทางหรือบุคคลที่ประสงค์จะหาที่อยู่หรือที่พักชั่วคราว ตามกม.ว่าด้วยโรงแรม
ล
ลงคะแนน – (รธน.) มีวิธีการลงคะแนน ๒ วิธีคือ การลงคะแนนโดยเปิดเผย และการลงคะแนนโดยลับ มติให้ถือเอาเสียงข้างมาก สมาชิกคนหนึ่งมีเพียง ๑ เสียง หากมีคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานสภาเป็นผู้ชี้ขาด
ลงคะแนนโดยเปิดเผย – การลงคะแนนที่ประธานรัฐสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือประธานวุฒิสภา ต้องจัดให้มีการบันทึกการออกเสียงลงคะแนนของสมาชิกแต่ละคนไว้ และเปิดเผยบันทึกดังกล่าวไว้ในที่ที่ประชาชนเข้าไปตรวจ สอบได้
ลงคะแนนโดยลับ – การลงคะแนนที่ไม่มีการเปิดเผยบันทึกการลงคะแนนไว้ให้ประชาชนตรวจสอบได้ ส่วนใหญ่ใช้กับการออกเสียงลงคะแนนเลือกหรือให้ความเห็นชอบในการที่บุคคลจะเข้าดำรงตำแหน่งใด
ลงมือ – (ปอ.ม.83) การกระทำที่ผ่านพ้นขั้นตอนตระเตรียมการกระทำความผิดแล้ว
ลงลายมือชื่อ – 1.(ปพพ.ม.9) การลงลายมือชื่อในเอกสาร หรือการลงลายพิมพ์นิ้วมือ แกงได หรือเครื่องหมายอื่นในเอกสารโดยมีพยานลงลายมือชื่อรับรอง 2 คน 2. (ปพพ.ม.900, ตั๋วเงิน) การลงลายมือชื่อเพียงอย่างเดียวไม่รวมการลงเครื่องหมายอื่นเช่นแกงไดหรือลายพิมพ์นิ้วมือ
ลดมาตราส่วนโทษ – การลดโทษที่จะลงแก่จำเลยโดยลดโทษจากอัตราโทษที่กม.กำหนดไว้ ดู ลดโทษที่จะลง
ลดโทษ – การบรรเทาโทษที่จะลงแก่จำเลย ตามกม.อาญามี 2 อย่างคือ ลดมาตราส่วนโทษและลดโทษที่จะลง
ลดโทษที่จะลง – การบรรเทาโทษที่จะลงแก่จำเลยโดยศาลต้องกำหนดโทษที่จะลงแก่จำเลยจริงๆ ก่อนแล้ว จึงลดโทษที่จะลงนั้น ดู ลดมาตราส่วนโทษ
ลบล้าง – (ปพพ.ม. 996) ทำให้หมดไปหรือสิ้นไป เพิ่มเติม แก้ไข
ล่วงสิทธิ – การกระทำอันเป็นเหตุให้ให้ผู้อื่นเสียหายในสิทธิ ใช้ในกม.ละเมิดคู่กับคำว่า ผิดหน้าที่ เป็น ล่วงสิทธิผิดหน้าที่
ลหุโทษ - โทษที่ลงโทษไม่หนัก โทษเบา โทษไม่ร้ายแรง ดู ความผิดลหุโทษ
ละเมิด – 1. การฝ่าฝืน การกระทำความผิดกม.หรือต่อสิทธิของผู้อื่น 2. (ปพพ.) การกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกม.ให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิต แก่ร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใด เดิมใช้คำว่า ประทุษร้ายทางแพ่ง
ละเมิดลิขสิทธิ์ขั้นต้น – (พรบ.ลิขสิทธิ์ 2537 ม. 27) การทำซ้ำหรือดัดแปลง หรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานอันมีลิขสิทธิ์โดยไม่ได้รับอนุญาต
ละเมิดลิขสิทธิ์ขั้นรอง – (พรบ.ลิขสิทธิ์ 2537 ม. 31) การกระทำที่สืบเนื่องจากการละเมิดลิขสิทธิ์ขั้นต้นโดยมีลักษณะที่ส่งเสริมให้งานที่ละเมิดลิขสิทธิ์แพร่หลายออกไป ได้แก่การกระทำดังต่อไปนี้ ขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขาย ให้เช่า เสนอให้เช่า ให้เช่าซื้อหรือเสนอให้เช่าซื้อ เผยแพร่ต่อสาธารณชน แจกจ่ายในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของลิขสิทธิ์ หรือนำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งงานที่ตนรู้ว่าหรือมีเหตุควรรู้ว่า ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อหากำไร
ละเมิดอำนาจศาล – ความผิดพิเศษที่กำหนดไว้ในปวิพ. ม.30-32 ซึ่งศาลอาจจะลงโทษผู้กระทำความผิดได้ไม่ต้องมีการฟ้องร้องลงโทษ เหตุที่ถือว่า เป็นการละเมิดอำนาจศาล เช่น การฝ่าฝืนข้อกำหนดของศาลในระหว่างการพิจารณาคดี หรือการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล หรือฟ้องหรือต่อสู้คดีอย่างคนอนาถาเป็นเท็จ หรือจงใจหลีกเลี่ยงไม่รับคำคู่ความหรือเอกสาร หรือเพราะตรวจหรือคัดลอกเอกสารโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือขัดขืนไม่มาศาลตามคำสั่งศาล ฯลฯ หรือพาอาวุธปืนติดตัวมาบริเวณศาล (ฎ.2083/2543)
ลักทรัพย์ – ความผิดตามปอ.ม.334 ซึ่งเป็นการกระทำความผิดที่ทำลายคุณธรรมทางกม.ในเรื่องกรรมสิทธิ์และสิทธิครอบครอง เป็นการกระทำที่ผู้กระทำเอาทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต
ลักทรัพย์โดยใช้อุบาย - การกระทำความผิดอาญาฐานลักทรัพย์โดยผู้กระทำได้หลอกลวงผู้เสียหายเพื่อให้มีโอกาสเอาทรัพย์นั้นไป (ต่างจากความผิดฐานฉ้อโกง ที่เป็นการหลอกลวงเพื่อให้ส่งมอบทรัพย์สิน)
ลักษณะบ่งเฉพาะ(เครื่องหมายการค้า) - ลักษณะเด่น พิเศษ หรือแตกต่างจากเครื่องหมายการค้าอื่น ซึ่งอาจจะเป็นลักษณะบ่งเฉพาะในตัวเองทำให้ผู้ใช้สินค้าจดจำลักษณะนั้นได้ง่ายหรือโดยทันทีหรือลักษณะบ่งเฉพาะที่เกิดจากการใช้เครื่องหมายการค้าก็ได้
ลักษณะพยาน ร.ศ. 113 , พรบ. – กม.ว่าด้วยพยานโดยกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ได้ยกเลิกพรบ.เรื่องพยาน จุลศักราช 1232 พรบ.ลักษณะพยาน จุลศักราช 1239 กม.นี้ถูกยกเลิกไปโดยปริยายโดยปวิพ.
ลาภมิควรได้ – (ปพพ.) การที่บุคคลได้มาซึ่งทรัพย์สินเพราะการที่บุคคลอีกบุคคลหนึ่งกระทำเพื่อชำระหนี้หรือโดยประการอื่นโดยปราศจากมูลอันอาจจะอ้างกม.ได้ และเป็นทางให้บุคคลอีกคนหนึ่งนั้นเสียเปรียบ
ลายมือชื่อ – 1. ชื่อของบุคคลที่เขียนด้วยตนเอง (ลายมือชื่อไม่มีกม.ให้ลงชื่อแทนกันได้ แม้จะมอบอำนาจก็จะลงลายมือชื่อแทนกันไม่ได้ (ฎ.1020/2517)) 2. การเขียนลายมือชื่อลงไว้ในเอกสาร หรือลงลายพิมพ์นิ้วมือ แกงได ตราประทับหรือเครื่องหมายอื่นทำนองเช่นว่านั้นในเอกสารแทนการลงลายมือชื่อโดยมีพยานลงลายมือชื่อรับรอง 2 คน หรือลงต่อหน้าพนักงานเจ้าหน้าที่
ลายมือชื่อที่ลงปราศจากอำนาจ – (ปพพ.ม.1008) การที่บุคคลเขียนลายมือชื่อผู้อื่นลงในตั๋วเงินโดยมีเจตนาจะลงแทนเจ้าของลายมือชื่อที่แท้จริง แต่มิได้มีการมอบอำนาจให้ลงลายมือแทน
ลายมือชื่อปลอม – (ปพพ.ม.1006) การที่บุคคลเขียนปลอมลายมือชื่อผู้อื่นลงในตั๋วเงินโดยมีเจตนาให้บุคคลที่เกี่ยวข้องเข้าใจว่า เป็นลายมือชื่อที่แท้จริงของผู้อื่นนั้น
ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ - (พรบ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ 2544 ม.4) อักษร อักขระ ตัวเลข เสียงหรือสัญลักษณ์อื่นใด ที่สร้างขึ้นให้อยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งนำมาใช้ประกอบกับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เพื่อแสดงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อระบุตัวบุคคลผู้เป็นเจ้าของลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้น และเพื่อแสดงว่า บุคคลดังกล่าวยอมรับข้อความในข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้น
ล่า – (พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 2535 ม.4)เก็บ ดัก จับ ยิง ฆ่า หรือทำอันตรายด้วยประการอื่นใดแก่สัตว์ป่าที่ไม่มีเจ้าของและอยู่เป็นอิสระ และหมายความรวมถึง การไล่ การต้อน การเรียกหรือการล่อเพื่อกระทำการดังกล่าวด้วย
ล่าม – บุคคลผู้แปลคำให้การหรือคำเบิกความของคู่ความหรือพยาน
ล้างมลทิน – คำที่ใช้ใน พรบ.ล้างมลทิน ซึ่งจะออกมาในวาระสำคัญๆ ของประเทศหมายถึง การที่ให้ถือว่า ผู้ต้องโทษและผู้ถูกลงโทษทางวินัยที่ได้พ้นโทษไปแล้ว มิได้เคยถูกลงโทษหรือลงทัณฑ์ทางวินัยเลย เทียบ อภัยโทษ
ลิขสิทธิ์ – สิทธิแต่ผู้เดียวที่จะกระทำการใดๆ ตามพรบ.ลิขสิทธิ์เกี่ยวกับงานที่ผู้สร้างสรรค์ได้กระทำขึ้น ได้แก่สิทธิดังนี้ ทำซ้ำหรือดัดแปลง เผยแพร่ต่อสาธารณชน ให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์และสิ่งบันทึกเสียง ให้ประโยชน์อันเกิดจากลิขสิทธิ์แก่ผู้อื่น อนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิ
ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537, พรบ. – กม.ที่ว่าด้วยลิขสิทธิ์ เจ้าของ สิทธิในการใช้และสิทธิอื่นๆ โดยกำหนดความผิดและโทษไว้
ลุแก่โทษ – มอบตัวและบอกความผิดของตนเพื่อขอความกรุณาต่อเจ้าพนักงาน เป็นเหตุบรรเทาโทษอย่างหนึ่ง ที่เป็นลหุโทษ เช่น ให้การรับสารภาพต่อตำรวจในชั้นสอบสวน อันเป็นประโยชน์ในการพิจารณาคดีของศาล (ฎ.825 / 2530) ยอมให้จับแต่โดยดี พร้อมนำมีดของกลางมามอบให้ (ฎ.479/2520) นำปืนที่ใช้ในการกระทำความผิดเข้ามอบตัวกับตำรวจ (ฎ. 1499/2513) ฉุดคร่าหญิงมาแล้ว ขอขมาเลี้ยงเป็นภริยา (ฎ.1665/2520) ดู เหตุบรรเทาโทษ
ลูกขุน – (ก) เจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่ตัดสินคดีตามกม.ตราสามดวงว่า ฝ่ายไหนจะชนะหรือแพ้คดี
ลูกจ้าง – 1. (พรบ.คุ้มครองแรงงาน 2541 ม.5) ผู้ซึ่งตกลงทำงานให้แก่นายจ้างเพื่อรับค่าจ้าง ไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร 2. (พรบ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ 2543 ม.6, พรบ.แรงงานสัมพันธ์ 2518 ม.5) ผู้ซึ่งตกลงทำงานให้แก่นายจ้างเพื่อรับค่าจ้าง 3. (พรบ. ประกันสังคม 2533 ม.5) ผู้ซึ่งทำงานให้แก่นายจ้างโดยรับค่าจ้าง ไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร แต่ไม่รวมถึงลูกจ้างซึ่งทำงานเกี่ยวกับงานบ้านอันมิได้มีการประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย 4. (พรบ. เงินทดแทน 2541 ม.5) ผู้ซึ่งตกลงทำงานให้แก่นายจ้างเพื่อรับค่าจ้าง ไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร แต่ไม่รวมถึงลูกจ้างซึ่งทำงานเกี่ยวกับงานบ้านอันมิได้มีการประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย
ลูกจ้างของรัฐบาล – (ปวิพ.ม.286(2) ) ที่ไม่ใช่ลูกจ้างของรัฐบาล เช่น ลูกจ้างการรถไฟแห่งประเทศไทย (ฎ.2541/2545)
ลูกเรือ - (พรบ.การจำนองเรือและบุริมสิทธิทางทะเล 2537 ม.4 ) คนประจำเรือนอกจากนายเรือ
ลูกหนี้ตามคำพิพากษา – 1. คู่ความหรือบุคคลที่เป็นฝ่ายแพ้คดี ดู เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา 2.(ปวิพ.ม. 290) ลูกหนี้ตามคำพิพากษาผู้ถูกยึดทรัพย์สิน หาได้หมายความถึงลูกหนี้ตามคำพิพากษาอื่นในคดีที่ผู้ขอเฉลี่ยชนะคดีหรือบุคคลอื่นอีกไม่ (ฎ. 2252/2536)
ลูกหนี้ร่วม - (ปพพ.ม. 291) ลูกหนี้หลายคนในหนี้รายเดียวกันโดยลูกหนี้แต่ละคนมีความผูกพันที่จะต้องชำระหนี้ดังกล่าวโดยสิ้นเชิงเพียงครั้งเดียว และเจ้าหนี้มีสิทธิเรียกให้ลูกหนี้ร่วมคนใดคนหนึ่งชำระหนี้อย่างสิ้นเชิงหรือโดยส่วนก็ได้ตามแต่จะเลือก แต่ลูกหนี้ทุกคนก็ยังต้องผูกพันที่จะชำระหนี้ดังกล่าวจนกว่าหนี้นั้นจะได้ชำระเสร็จโดยสิ้นเชิง
เลตเตอร์ออฟเครดิต – สัญญาประเภทหนึ่งที่กำหนดวิธีการชำระสินค้าในการซื้อขายระหว่างประเทศ โดยผู้ซื้อจะขอให้ธนาคารแห่งหนึ่งตกลงจะมีหนังสือไปถึงธนาคารอีกแห่งหนึ่งเพื่อให้จ่ายเงินให้แก่ผู้ขายสินค้าเมื่อผู้ขายได้ส่งมอบสินค้าแก่ผู้ขนส่งและนำเอกสารการส่งมอบมายื่นต่อธนาคารแห่งนั้น (ฎ.775 / 2535)
เล่นแชร์ - สัญญาประเภทหนึ่งที่สมาชิกผู้เล่นตกลงระหว่างกันจะประมูลผลประโยชน์ที่จะให้แก่สมาชิกลูกวงแชร์ด้วยกันซึ่งมีจำนวนมากหรือน้อยตามความต้องการของผู้ประมูล เป็นสัญญาที่บังคับกันได้ตามกม.(ฎ.803/2545)
เลียนเครื่องหมายการค้า – 1. ใช้เครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะท่าทางเกือบเหมือนของคนอื่น คนทั่วๆไปอาจหลงผิดข้อแตกต่าง จะสังเกตได้ก็ต่อเมื่อเทียบกันโดยใกล้ชิด (ฎ.645/2507,1127/2504)หรือออกเสียงคล้ายกัน ทำให้ผู้ใช้หลง (ฎ.2636/2529) เช่น ใช้เครื่องหมายการค้าคนขี่กระบือกับลิงขี่กระบือ ซึ่งมีท่าทางเกือบเหมือนกัน (ฎ.645 /2507 ,1127/2504) 2.ความผิดตามปอ.ม. 274 ซึ่งเป็นการกระทำโดยเลียนเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นซึ่งได้จดทะเบียนแล้ว ไม่ว่าจะได้จดทะเบียนภายในหรือนอกราชอาณาจักรเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่า เป็นเครื่องหมายการค้าของผู้อื่น
เลิกจ้าง – (พรบ.คุ้มครองแรงงาน 2541 ม.118) การกระทำใดที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้างหรือเหตุอื่นใด และหมายความรวมถึงกรณีที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้างเพราะเหตุที่นายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไป
เลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม - (พรบ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน 2522 ม.) การเลิกจ้างที่ไม่มีเหตุสมควรและเพียงพอที่จะเลิกจ้างลูกจ้างได้ (ฎ.6252-6282/2540) เช่น ปิดกิจการโดยไม่ได้ประสบภาวะขาดทุน (ฎ.6252-6282/2540)
เลือกตั้ง – การออกเสียงลงคะแนนเพื่อเลือกบุคคลใดบุคคลหนึ่งเพื่อทำหน้าที่ตามที่กม.กำหนด
เลือกตั้ง (สส.) 1 – การออกเสียงลงคะแนนเพื่อเลือกสส.เข้าไปทำหน้าที่ในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งในโลกมีวิธีการเลือกตั้งอยู่ 3 รูปแบบคือ การเลือกตั้งโดยเสียงข้างมาก การเลือกตั้งแบบอัตราส่วนและการเลือกตั้งแบบผสม
เลือกตั้ง (สส.) 2 – 1. (รัฐธรรมนูญฯ) การออกเสียงลงคะแนนเพื่อเลือกสส.เข้าไปทำหน้าที่ในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งแบ่งเป็น (1.) การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ การเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อและการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต และ (2.) การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา วิธีการเลือกตั้งต้องออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ 2. (พรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง 2541 ม.4) เลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นแล้วแต่กรณี
เลือกตั้งซ่อม - (รธน.) การเลือกตั้งสส. หรือ เนื่องจากตำแหน่งสส.ที่มาจากการแบ่งเขตเลือกตั้ง หรือตำแหน่งสว. ตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งหรือหลายตำแหน่งว่างลง ไม่ใช่เนื่องจากถึงคราวออกตามอายุของสภาผู้แทนราษฎรหรือเมื่อมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะเป็นการเลือกตั้งใหญ่ สส.แบบบัญชีรายชื่อไม่มีการเลือกตั้งซ่อมแต่จะใช้วิธีเลื่อนลำดับบัญชีรายชื่อถัดไปขึ้นเป็นสส.แทน
เลือกตั้งทั่วไป - (รธน.) การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและ การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาเนื่องจากถึงคราวออกตามอายุของสภาผู้แทนราษฎรหรือเมื่อมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร เป็นการเลือกตั้งใหญ่เพื่อเลือก ส.ส.และส.ว.เข้ารัฐสภาใหม่ทั้งชุด ไม่ใช่การเลือกตั้งซ่อม
เลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ – (รธน.) การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งที่พรรคการเมืองจัดทำขึ้นเพียงบัญชีเดียวและถือเขตประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง
เลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง – (รธน.) การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งผู้สมัครรับเลือกได้เขตละ 1 คน
เลือกตั้งแบบผสม – วิธีการเลือกตั้งสส.ที่ใช้ระบบการเลือกตั้งแบบเสียงข้างมากผสมกับระบบอัตราส่วน โดยในการเลือกตั้งสส. ผู้ลงคะแนนจะมีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ใบหนึ่งลงคะแนนให้กับผู้สมัครในเขตเลือกตั้งและอีกใบหนึ่งลงคะแนนตามบัญชีรายชื่อโดยคิดตามอัตราส่วนของผู้มาใช้สิทธิลงคะแนน ประเทศที่ใช้ระบบการเลือกตั้งนี้คือ เยอรมนี ญี่ปุ่น และประเทศไทยในปัจจุบัน
เลือกตั้งแบบเสียงข้างมาก – การเลือกตั้งสส.ที่ถือเอาผู้ที่ได้รับคะแนนเสียงสูงสุดเป็นผู้ได้รับเลือกตั้ง มี 2 รูปแบบคือ (1) เลือกตั้งแบบเสียงข้างมากรอบเดียว โดยถือเอาผู้ที่ได้รับคะแนนเสียงสูงสุดเป็นผู้ได้รับเลือกตั้ง แม้จะได้คะแนนเสียงมากกว่าคนในลำดับถัดไปเพียงคะแนนเดียวก็ตาม ซึ่งอังกฤษ อินเดียและประเทศไทยเดิมใช้วิธีการเลือกตั้งนี้ (2) การเลือกตั้งแบบเสียงข้างมากสองรอบ ซึ่งใช้กับการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต ในแต่ละเขตจะมีผู้แทนได้ 1 คน ผู้ที่จะได้รับการเลือกตั้งจะต้องได้คะแนนเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งในการเลือกตั้งรอบแรก ถ้าหากได้คะแนนน้อยกว่า จะต้องมีการเลือกตั้งเป็นครั้งที่สองโดยให้ผู้ที่ได้รับคะแนนมากในสองอันดับต้นมาแข่งกัน การลงคะแนนในรอบนี้ใครได้คะแนนสูงสุดเป็นผู้ได้รับเลือกตั้ง ประเทศที่ใช้วิธีนี้คือ ฝรั่งเศส
เลือกตั้งแบบอัตราส่วน – วิธีการเลือกตั้งสส.ที่ผู้ที่จะได้รับการเลือกตั้งคิดคะแนนจากอัตราส่วนของผู้มาใช้สิทธิลงคะแนน เป็นวิธีที่ใช้กันอยู่ในประเทศยุโรป เช่น เดนมาร์ค นอรเวย์ สวีเดน อิตาลี สวิสเซอร์แลนด์
เลือกตั้งใหญ่ – (พ) เลือกตั้งทั่วไป
เลื่อยโซ่ยนต์ – (พรบ.เลื่อยโซ่ยนต์ 2545 ม.3) เครื่องมือสำหรับใช้ตัดไม้ หรือแปรรูปไม้ที่มีฟันเลื่อยติดกับโซ่ซึ่งขับเคลื่อนด้วยกำลังเครื่องจักรกล และให้หมายความรวมถึงส่วนหนึ่งส่วนใดที่เป็นส่วนประกอบของเครื่องมือดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ตามที่ รมว.(เกษตรและสหกรณ์) กำหนดในกฎกระทรวง
แลกเปลี่ยน - 1. สัญญาซึ่งคู่กรณีต่างโอนกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินให้กันและกัน (ปพพ.ม. 518) 2. ชื่อของกม.ลักษณะที่ 2 ในบรรพ 3 ปพพ. 3. ชื่อของสัญญาประเภทหนึ่ง
โลหกรรม - (พรบ.แร่ 2510 ม.4) การถลุงแร่หรือการทำแร่ให้เป็นโลหะด้วยวิธีอื่นใดและหมายความรวมตลอดถึงการทำโลหะให้บริสุทธิ์ การผสมโลหะ การผลิตโลหะสำเร็จรูปหรือกึ่งสำเร็จรูปชนิดต่างๆ โดยวิธีหลอม หล่อ รีดหรือวิธีอื่นใด
ว
วงศ์ญาติ – (ปวพ ม.248 ) ผู้เกี่ยวข้องในฐานะเป็นญาติกับจำเลย ไม่ว่าจะชั้นใด รวมทั้งญาติทางฝ่ายภริยาของจำเลยด้วย
วงเวียน – (พรบ.จราจรทางบก 2522 ม. 4 (10)) ทางเดินรถที่กำหนดให้รถเดินรอบเครื่องหมายจราจรหรือสิ่งที่สร้างขึ้นในทางร่วมทางแยก
วัฒนธรรม – (พรบ.วัฒนธรรมแห่งชาติ 2485) ลักษณะที่แสดงถึงความเจริญงอกงาม ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความกลมเกลียวก้าวหน้าของชาติ และศีลธรรมอันดีของประชาชน
วัดในพระพุทธศาสนา – วัดตามพรบ.สงฆ์ 2505 มี 2 ประเภทคือ วัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา และสำนักสงฆ์
วัตถุตำรับ – (พรบ.วัตถุที่ออกฤทธ์ต่อจิตและประสาท 2518 ม.4) สิ่งปรุงไม่ว่าจะมีรูปลักษณะใด ที่มีวัตถุออกฤทธิ์รวมอยู่ด้วย ทั้งนี้รวมทั้งวัตถุออกฤทธิ์ที่มีลักษณะเป็นวัตถุสำเร็จรูปทางเภสัชกรรม ซึ่งพร้อมที่จะนำไปใช้แก่คนหรือสัตว์ได้
วัตถุตำรับยกเว้น – (พรบ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท 2518 ม.4) วัตถุตำรับที่รัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้ได้รับการยกเว้นจากมาตรการควบคุมบางประการสำหรับวัตถุออกฤทธิ์ที่มีอยู่ในวัตถุตำรับนั้น
วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518, พรบ. – กม.อาญาที่กำหนดให้ การเสพ ครอบครอง จำหน่าย ผลิต นำเข้าหรือส่งออกวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทที่ไม่ได้รับอนุญาต มีความผิดและโทษ
วัตถุในทางศาสนา – (ปอ.ม. 335 ทวิ) ไม่เป็น เช่นวัตถุในทางศาสนา รูปพระฤาษีที่เก็บบนกุฏิพระ (ฎ.2382/2519) ผงดินซึ่งเป็นของขลังเก็บมาจากแหล่งสำคัญทางพุทธศาสนา บรรจุในฐานองค์พระพุทธรูปเพื่อให้เป็นที่เลื่อมใสยิ่งขึ้น (ฎ. 745/2520) พระพุทธรูปกับสิงห์สัมฤทธิ์ที่ขุดได้ และเก็บรักษาเองไว้ที่บ้าน (ฎ. 1024/2518) พระพุทธรูปหน้าตักกว้าง 5 นิ้วตั้งอยู่บนโต๊ะหมู่ในหอสวดมนต์ในวัด (ฎ. 1024/2518)
วัตถุประสงค์ – (นิติกรรม ปพพ.ม. 150) วัตถุประสงค์ของนิติกรรมได้แก่ (1) ความมุ่งหมายหรือประโยชน์สุดท้ายที่ผู้ทำนิติกรรมคาดหวังจากการทำนิติกรรมนั้น (2)มูลเหตุชักจูงใจที่คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้ด้วย(ฎ.282/2525)
วัตถุประสงค์แห่งหนี้ - ประโยชน์สุดท้ายที่เจ้าหนี้จะได้รับจากการชำระหนี้ของลูกหนี้
วัตถุระเบิด – (พรบ.อาวุธปืนฯ ม. 4(3)) วัตถุที่สามารถส่งกำลังดันอย่างแรงต่อสิ่งห้อมล้อมโดยฉับพลัน ในเมื่อระเบิดขึ้น โดยมีสิ่งเหมาะมากทำให้เกิดกำลังดัน หรือโดยการสลายตัวของวัตถุระเบิดนั้นทำให้มีแรงทำลาย หรือแรงประหาร กับหมายความรวมตลอดถึงเชื้อประทุต่างๆ หรือวัตถุอื่นใดอันมีสภาพคล้ายคลึงกันซึ่งใช้หรือทำขึ้นเพื่อทำให้เกิดการระเบิด ซึ่งรัฐมนตรีจะได้ประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา
วัตถุแห่งหนี้ – สิ่งที่ต้องกระทำในการชำระหนี้ มี 3 ประเภทคือ กระทำการ งดเว้นกระทำการ และส่งมอบทรัพย์สิน ดู วัตถุประสงค์แห่งหนี้
วัตถุออกฤทธิ์ – (พรบ.วัตถุที่ออกฤทธ์ต่อจิตและประสาท 2518 ม.4) วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทที่เป็นสิ่งธรรมชาติหรือที่ได้จากสิ่งธรรมชาติ หรือวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทที่เป็นวัตถุสังเคราะห์ ทั้งนี้ตามที่รัฐมนตรี(ว่าการกระทรวงสาธารณสุข)ประกาศในราชกิจจานุเบกษา แบ่งเป็น 4 ประเภท
วัตถุอันตราย – (พรบ.วัตถุอันตราย 2535 ม.4) วัตถุดังต่อไปนี้ (1)วัตถุระเบิดได้ (2) วัตถุไวไฟ (3) วัตถุออกซิไดซ์และวัตถุเปอร์ออกซิไดต์ (4) วัตถุมีพิษ (5) วัตถุที่ทำให้เกิดโรค (6) วัตถุกัมมันตรังสี (7) วัตถุที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม (8) วัตถุกัดกร่อน (9) วัตถุที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง (10) วัตถุอย่างอื่น ไม่ว่าจะเป็นเคมีภัณฑ์หรือสิ่งอื่นใดที่อาจทำให้เกิดอันตรายแก่บุคคล สัตว์ พืช หรือสิ่งแวดล้อม
วัน – 1. (ปพพ.ม. 193/4)เวลาทำการตามที่ได้กำหนดขึ้นโดยกฎหมาย คำสั่งศาลหรือระเบียบข้อบังคับ หรือเวลาทำการตามปกติของกิจการนั้น แล้วแต่กรณี 2.(ปพพ.ม.909) วัน เดือนและปี
วันขายทอดตลาดทรัพย์สิน – (ปวิพ. ม. 290 วรรค 3) วันสิ้นสุดการขายทรัพย์สินที่ยึดมาในคราวนั้นทั้งหมด (ฎ.464 /2524ป)
วันโฆษณา – (พรบ.ล้มละลาย 2483 ม.91) วันที่ได้มีการเผยแพร่หนังสือออกไปยังสาธารณชน (ฎ.882/2535) ถ้าหากมีการประกาศโฆษณาทั้งในราชกิจจานุเบกษาและในหนังสือพิมพ์รายวัน ให้นับจากวันที่โฆษณาหลังสุด (ฎ. 690/2509)
วันต้องขัง – วันที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยถูกคุมขังระหว่างสอบสวนหรือการพิจารณาคดีก่อนศาลพิพากษาคดี
วันทำงาน – (พรบ.คุ้มครองแรงงาน 2541 ม.5 , พรบ. ประกันสังคม 2533 ม.5) วันที่กำหนดให้ลูกจ้างทำงานตามปกติ
วันผ่อน – (ปพพ. 903) ขยายระยะเวลาการใช้เงินหรือชำระหนี้ ดู ผ่อนเวลา
วันลา – (พรบ.คุ้มครองแรงงาน 2541 ม.5) วันที่ลูกจ้างลาป่วย ลาเพื่อทำหมัน ลาเพื่อกิจธุระอันจำเป็น ลาเพื่อรับราชการทหาร ลาเพื่อการฝึกอบรมหรือพัฒนาความรู้ความสามารถ หรือลาเพื่อคลอดบุตร
วันเลือกตั้ง - (พรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา 2541 ม. 4) วันที่กำหนดให้เป็นวันเลือกตั้งตามพรฎ.ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา แล้วแต่กรณี
วันศาลยุติธรรม – วันที่ 21 เมษายน ของทุกปี โดยถือเอาจากวันที่ ร.5 ได้ทรงวางศิลาก่อพระฤกษ์อาคารศาลสถิตยุติธรรม(อาคารศาลฎีกาปัจจุบัน) เมื่อปี พ.ศ. 2425
วันหยุด – (พรบ.คุ้มครองแรงงาน 2541 ม.5) วันที่กำหนดให้ลูกจ้างหยุดประจำสัปดาห์ หยุดตามประเพณี หรือหยุดพักผ่อนประจำปี
วันออก (เช็ค , ตั๋วเงิน) – 1. (ปพพ.) วันที่ลงในตั๋วไม่ใช่วันที่ผู้สั่งจ่ายเขียนตั๋วเงิน (ฎ. 415/2502 , 254/2503, 1017/2507) 2. (พรบ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค 2534) วันที่ลงในเช็ค ไม่ใช่วันที่เขียนเช็ค (ฎ. 5829/2540)
ว่าความ – (ปวิพ. ม.60) การซักถามพยานบุคคลในศาล การแถลงการณ์ด้วยวาจาในศาลหรือเป็นหนังสือ แต่ไม่รวมการเรียงหรือแต่งคำฟ้อง (2947/2516) การยื่นคำร้องขอเลื่อนคดี การแถลงข้อเท็จจริงต่อศาลในกรณีที่มีการชี้สองสถาน การยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำคู่ความ
วางทรัพย์ – การที่ลูกหนี้หรือบุคคลภายนอกได้นำทรัพย์ซึ่งเป็นวัตถุแห่งหนี้ไปวางไว้ที่สำนักงานวางทรัพย์ตามที่กม.กำหนด เนื่องจากเจ้าหนี้ได้บอกปัดไม่ยอมรับชำระหนี้หรือไม่สามารถรับชำระหนี้ได้ หรือลูกหนี้หรือบุคคลภายนอกไม่รู้ตัวเจ้าหนี้หรือไม่อาจหยั่งรู้สิทธิของเจ้าหนี้ได้โดยไม่ใช่ความผิดของตน การวางทรัพย์ไม่ทำให้หนี้ระงับแต่ทำให้ลูกหนี้หลุดพ้นจากหนี้นั้น อาจทำได้ตามปพพ.ม. 232, 302, 631, 679, 754, 772, 947, 1246 หรือตามกม.อื่น เช่น ปวิพ.ม. 236 พรบ.เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ 2530
วางหมาย – (ปวิพ.) การส่งหมายโดยวิธีอื่นนอกจากวิธีปกติธรรมดา
วาระ – ระเบียบขั้นตอนที่กำหนดในการประชุม เช่น วาระการพิจารณาร่างพรบ.ประกอบด้วย วาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ วาระที่ 2 ขั้นพิจารณาเรียงมาตรา วาระที่ 3 ขั้นให้ความเห็นชอบ
ว่าด้วยสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542, พรบ. – กม.ที่ว่าด้วยการกำหนดราคาสินค้าและบริการ และป้องกันการผูกขาด โดยกำหนดความผิดและโทษไว้
วิกลจริต – (อาญา)(ก) คำที่ใช้ในกม.ลักษณะอาญา ร.ศ. 127 แต่ปอ.ม.65 ไม่ได้ใช้คำนี้แล้ว ดู จิตบกพร่องจิตฟั่นเฟือน โรคจิต
วิ่งความ – (ก.) การอวดอ้างว่า เป็นสมัครพรรคพวกกับอัยการหรือผู้พิพากษาและสามารถวิ่งเต้นคดีให้ชนะคดีหรือช่วยเหลือทางคดีได้
วิ่งราวทรัพย์ – การลักทรัพย์โดยฉกฉวยเอาซึ่งหน้า เป็นความผิดอาญา ตามปอ. ม. 336
วิจักขณพยาน – (ก) พยานผู้เชี่ยวชาญ พยานบุคคลที่เบิกความให้ความเห็นต่อศาล พยานความเห็น ดู สามัญพยาน พยานผู้เชี่ยวชาญ
วิญญูชน – บุคคลตามปกติธรรมดาทั่วๆไปที่มีเหตุผลและมีระดับความระมัดระวัง เป็นบุคคลที่กม.สมมุติขึ้นเพื่อใช้ในการวัดระดับมาตรฐานความระมัดระวังของคู่สัญญา ส่วนในการทำละเมิดหรือทางอาญาไม่ใช้มาตรฐานวิญญูชนแต่ใช้ระดับมาตรฐานของบุคคลที่อยู่ในภาวะและพฤติการณ์อย่างเดียวกับผู้กระทำ แปลมาจากคำว่า reasonable man
วิทยานิพนธ์ – ผลงานทางวิชาการของผู้ศึกษาในระดับอุดมศึกษา ที่ศึกษา ค้นคว้า หรือวิจัยองค์ความรู้ใหม่และถือเป็นเงื่อนไขสำคัญในการสำเร็จการศึกษาในชั้นนั้นๆ
วิธีการชั่วคราวก่อนศาลพิพากษา (ปวิพ.) – มี 3 วิธีการคือ การที่จำเลยขอให้โจทก์วางเงินประกันค่าธรรมเนียม การที่โจทก์ขอให้คุ้มครองชั่วคราว และการที่คู่ความขอคุ้มครองประโยชน์ระหว่างพิจารณา
วิธีการเพื่อความปลอดภัย – วิธีการตามปอ.ที่กำหนดไว้เพื่อรักษาความปลอดภัยของสังคม แต่ไม่ใช่โทษ มี 5 อย่างคือ กักกัน ห้ามเข้าเขตกำหนด เรียกประกันทัณฑ์บน คุมตัวไว้ในสถานพยาบาล และห้ามการประกอบอาชีพบางอย่าง
วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง – (พรบ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง 2539 ม.5) การเตรียมการและการดำเนินการของเจ้าหน้าที่เพื่อจัดให้มีคำสั่งทางปกครองหรือกฎ และการรวมถึงการดำเนินการใด ๆ ในทางปกครองตามพรบ.นี้
วินาศภัย – 1. (ปพพ.ม.869)หมายความรวมเอาความเสียหายอย่างใดๆ บรรดาซึ่งจะพึงประมาณเป็นเงินได้ 2. (พรบ.ประกันวินาศภัย 2535 ม.4) ความเสียหายอย่างใดๆ บรรดาที่จะพึงประมาณเป็นเงินได้ และหมายความรวมถึงความสูญเสียในสิทธิ ผลประโยชน์หรือรายได้ด้วย
วิสัยของสัตว์ - (ปพพ.ม.433) นิสัยของสัตว์ว่า เป็นสัตว์ดุหรือเชื่อง
วิสามัญฆาตกรรม – 1.การที่ผู้ตายถูกฆ่าโดยเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติงานตามหน้าที่หรือตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานดังกล่าว 2. (ก) (พรบ.ชันสูตรพลิกศพ 2457) คดีฆาตกรรมที่ผู้ตายได้ตายด้วยการถูกเจ้าพนักงานฆ่าตายในเวลากระทำการตามหน้าที่
วิสาสะ – คุ้นเคยสนิทสนม การถือว่าเป็นกันเอง (ฎ.217/2501) หรือขออนุญาตใช้ (ฎ.74/2540) ใช้ในการวินิจฉัยในเรื่องภาระจำยอม โดยถ้าเป็นการใช้ทางโดยวิสาสะแล้ว จึงไม่ใช่การใช้ทางในทางอันเป็นปรปักษ์แก่เจ้าของที่ดินและไม่อาจอ้างภาระจำยอมได้
วีดิทัศน์ – ( พรบ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ 2551 ม.4) วัสดุที่มีการบันทึกภาพ หรือภาพและเสียงซึ่งสามารถนำมาฉายให้เห็นเป็นภาพที่เคลื่อนไหวได้อย่างต่อเนื่องในลักษณะที่เป็นเกมการเล่น คาราโอเกะที่มีภาพประกอบหรือลักษณะอื่นใดตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
วุฒิสภา – องค์กรนิติบัญญัติซึ่งทำหน้าที่พิจารณาร่างกม. ที่ผ่านการพิจารณามาจากสภาผู้แทนราษฎรมีประธานวุฒิสภา 1 คนและรองประธานฯ 1- 2คน มีสมาชิกรวม 150 คน แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ สมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งในแต่ละจังหวัด จังหวัดละ 1 คน และสมาชิกที่เหลือมาจากการสรรหา มีกำหนดอายุคราวละ 6 ปีนับแต่วันที่มีเลือกตั้งหรือวันที่ กกต.ประกาศผลการสรรหา
อำนาจหน้าที่ของวุฒิสภามีดังนี้ (1) อำนาจหน้าที่ที่มีมากกว่าสภาผู้แทนราษฎร คือ (1.1) เลือก แต่งตั้ง แนะนำ หรือให้ความเห็นชอบในการที่บุคคลจะเข้าดำรงตำแหน่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญคือ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการศาลปกครอง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการศาลปกครอง กรรมการตุลาการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรม การตุลาการศาลยุติธรรม คณะกรรมการปปช. คณะกรรม การกกต. ผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (1.2) ถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่มีพฤติกรรมทุจริต (2) อำนาจหน้าที่ที่มีเท่ากับหรือต้องใช้ร่วมกับสภาผู้แทนราษฎร คือ (2.1) การให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (2.2) การปฏิญาณตนของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต่อรัฐสภา (2.3) การรับทราบการแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ (2.4) การรับทราบหรือให้ความเห็นชอบในการสืบราชสมบัติ (2.5) การปรึกษาร่างพรบ.หรือร่างพรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญ (2.6) การมีมติให้รัฐสภาพิจารณาเรื่องอื่นนอกจากร่างพรบ.ได้ในสมัยประชุมสภาสามัญนิติบัญญัติ (2.7) การให้ความเห็นชอบในการปิดสมัยประชุมสภา (2.8) การเปิดสมัยประชุมสภา (2.9) การให้ความเห็นชอบในการพิจารณาร่างพรบ. หรือร่างพรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญ (2.10) การให้ความเห็นชอบให้พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (2.11) การตราข้อบังคับการประชุมรัฐสภา (2.12) การแถลงนโยบาย (2.13) การเปิดอภิปรายทั่วไป (2.14) การให้ความเห็นชอบในการประกาศสงคราม (2.15) การให้ความเห็นชอบหนังสือสัญญา หรือสนธิสัญญา (2.16) การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ (3) อำนาจหน้าที่ที่วุฒิสภาไม่มีเลย ได้แก่ (3.1) การเสนอร่างกม. (3.2) การเสนอหรือแปรญัตติร่างพรบ.งบประมาณ (3.3) การเสนอและลงมติในญัตติไม่ไว้วางใจของรัฐบาล
เวนคืน(อสังหาริมทรัพย์) – การที่รัฐบังคับเวนคืนกรรมสิทธิ์ที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นของเอกชน คืนมาเป็นของรัฐตามเงื่อนไขที่กม.บัญญัติ
เว้นแต่จะปรากฏจากข้อกำหนดว่า ผู้สั่งจ่ายหมายเพียงแต่จะปลดตนเองให้พ้นจากการประกันรับรอง - (ปพพ.ม.973) การที่ผู้สั่งจ่ายไม่ได้กำหนดเวลายื่นตั๋วให้รับรองเป็นเงื่อนไขในการใช้สิทธิไล่เบี้ย แต่กำหนดโดยมีเจตนาแต่เพียงว่า ถ้ายื่นช้ากว่ากำหนด ผู้สั่งจ่ายไม่รับรองว่าผู้จ่ายจะรับรอง ดังนี้การไม่ยื่นตั๋วให้รับรองจึงไม่ทำให้เสียสิทธิไล่เบี้ย
เวลา – (ปวิอ.ม.158(5)) วัน เดือน ปี และเวลากระทำความผิดด้วย(เวลากลางวันหรือ กลางคืน) (ฎ. 512/ 2493 )ฟ้องระบุวันที่ทำผิดแต่ไม่กล่าวถึงเวลา ถือว่าฟ้องไม่สมบูรณ์ (ฎ. 508/2490)
เวลากลางคืนก่อนเที่ยง – คำว่า เที่ยง ในที่นี้หมายถึง เที่ยงวัน จึงหมายถึง เวลาภายหลังเที่ยงคืน( 00.01) ของวันนั้นจนถึงเวลาพระอาทิตย์ขึ้นซึ่งเป็นเวลาก่อนเที่ยงวัน(12.00) ของวันนั้น มักใช้ในคำฟ้องคดีอาญาเพื่อบรรยายเวลากระทำความผิด
เวลากลางคืนหลังเที่ยง – คำว่า เที่ยง ในที่นี้หมายถึง เที่ยงวัน จึงหมายถึง เวลากลางคืนภายหลังพระอาทิตย์ตกดินของวันนั้นจนถึงเที่ยงคืนของวันนั้น ซึ่งเป็นเวลาหลังเที่ยง(12.00)ของวันนั้น มักใช้ในคำฟ้องคดีอาญาเพื่อบรรยายเวลากระทำความผิด
โวหารกรมสวัสดิ์ (หนังสือ) - หนังสือรวบรวมคำตัดสินของสมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ อธิบดีศาลฎีกา โดยหลวงราชบัญชาเป็นผู้รวบรวม จัดพิมพ์ในปีพ.ศ. 2454
วันอังคารที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2553
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น