วันอังคารที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2553

งดการบังคับคดี
เหตุที่ทำให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาไม่อาจดำเนินการบังคับคดีกับลูกหนี้ตามคำพิพากษาต่อไปได้ เนื่องจากผู้อุทธรณ์วางเงินหรือหาประกันหรือเป็นกรณีตามปวิพ.ม. 292  หรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ยื่นฟ้องเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเป็นอีกคดีหนึ่ง หรือมีการฝ่าฝืนกม.
งดเว้นกระทำ
(แพ่ง –อาญา) งดเว้นไม่กระทำการตามที่ผู้งดเว้นมีหน้าที่ต้องกระทำ หน้าที่นี้อาจเกิดจากกม.กำหนดเช่น หน้าที่ของบิดามารดาที่ชอบด้วยกม.ต่อบุตร หรือจากสัญญา เช่น สัญญาจ้างแพทย์รักษาโรค หรือจากการกระทำครั้งก่อนๆ ของตน หรือเกิดจากความสัมพันธ์พิเศษเฉพาะเรื่อง  ที่เป็นงดเว้นเช่นนายอำเภอไม่จดทะเบียนการซื้อขายที่ดินตามที่ร้องขอ (ฎ.881/2495) มีหน้าที่ปิดกั้นถนนเพื่อให้รถไฟผ่าน แต่ไม่ปิดทำให้รถไฟชนรถยนต์ (ฎ.1559-1560/2504) เทศบาลละเลยไม่ดูแลสะพานที่ผุพังเป็นช่องโหว่เป็นเหตุให้เด็กตกลงไป (ฎ.769/2513)
งานทาง
 (พรบ.ทางหลวง  2535 ม.4) ส่วนหนึ่งของกิจการใดที่ทำเพื่อหรือเนื่องในการสำรวจการก่อสร้าง การขยาย การบูรณะ หรือการบำรุงรักษาทางหลวง หรือการจราจรบนทางหลวง
งานทางนโยบายโดยตรง
  (พรบ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ม.4) งานในส่วนที่เป็นการกำหนดทิศทางหรือการพิจารณาสั่งการเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายในการบริหารราชการแผ่นดิน หาใช่งานที่มีลักษณะเป็นการปฏิบัติตามกม.หรือระเบียบราชการตามปกติไม่ (ฎ.2755/2545) ที่ไม่ใช่งานทางนโยบายโดยตรง เช่น การสั่งไม่อนุญาตให้คนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรตามพรบ.คนเข้าเมือง (ฎ.2755/2545)
งานที่ปรากฏอยู่แล้ว
  (พรบ.สิทธิบัตรฯ  )  การประดิษฐ์คิดค้นในเรื่องเดียวกันหรือที่เกี่ยวข้องกับการประดิษฐ์ที่จะขอรับสิทธิบัตรในลักษณะต่อไปนี้ ที่มีหรือใช้แพร่หลายอยู่แล้ว หรือที่มีการเปิดเผยสาระสำคัญหรือรายละเอียดอยู่แล้วหรือที่ได้รับสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตรไว้แล้ว หรือที่ได้มีการยื่นขอรับสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตรไว้ในต่างประเทศแล้ว หรือที่ได้มีการยื่นขอรับสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตรไว้ในประเทศไทยแล้วและได้ประกาศโฆษณาแล้ว
เงินขวัญถุง
   (พ.ร.ฎ. เงินช่วยเหลือผู้ซึ่งลาออกจากราชการก่อนเกษียณอายุ 2482 ม. 8) เงินที่ข้าราชการได้รับจำนวน 7 เท่า ของเงินเดือน เป็นส่วนหนึ่งของเงินที่ทางราชการจ่ายเพื่อช่วยเหลือข้าราชการที่ลาออกก่อนเกษียณอายุราชการ ถือว่าเป็นเงินบำเหน็จจึงไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. ม. 280 (2)(ฎ.8817/2547)
เงินค่าราชการ
  (ก) 1.เงินช่วยราชการแผ่นดิน  เงินที่ไพร่หลวงเสียให้แก่ราชการแทนการทำงานให้แก่ราชการ(เข้าเดือน) 2.  (พรบ.เก็บเงินค่าราชการ ร.ศ.120) เงินเลขค่าราชการ เงินสร่วยเลขระบาทว์และเงินเลขอื่นๆ เว้นแต่ค่าแรงผูกปี้ข้อมือจีน  โดยเรียกเก็บทุกวันที่ 1 เมย.ของทุกปีจากชายฉกรรจ์ อายุระหว่าง  18-60 ปี ยกเว้นบุคคลบางประเภทเช่นราชนิกูล ข้าราชการ กำนันผู้ใหญ่บ้าน ทหาร ภิกษุสามเณร ผู้ที่มีบุตรที่เสียเงินค่าราชการเกินกว่า 3 คน คนพิการ คนอนาถา  ผู้ที่ไม่มีเงินเสียจะต้องมาทำงานโยธาให้ทางราชการแทน ต่อมาได้เปลี่ยนมาเรียกว่า เงินรัชชูปการในสมัย ร.6  และถูกยกเลิกใช้ในพ.ศ. 2482 ดูเงินรัชชูปการ
เงินช่วยเหลือบรรเทาทุกข์
 (พรบ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว 2550 ม.3 ) ค่าทดแทนความเสียหายเบื้องต้นสำหรับเงินหรือทรัพย์สินใด ๆ ที่ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวสูญเสียไป โดยผลของการกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว และให้หมายความรวมถึงรายได้ที่สูญเสียไป ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ค่าใช้จ่ายในการหาที่อยู่ใหม่ และค่าใช้จ่ายอื่นที่จำเป็น
เงินได้พึงประเมิน
   1.  (ป.รัษฎากร) เงินได้อันเข้าลักษณะพึงเสียภาษีในหมวดนี้ เงินได้ที่กล่าวนี้ให้หมายความรวมตลอดถึงทรัพย์สิน หรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้รับซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็นเงิน เงินค่าภาษีอากรที่ผู้จ่ายเงินหรือผู้อื่นออกให้แทนสำหรับเงินได้ประเภทต่างๆ ตามม.40 และเครดิตภาษีตามม.47 ทวิด้วย ( ม. 39) แต่ต้องเป็นสิ่งที่ได้รับมาแล้ว  ไม่ใช่เป็นเพียงสิทธิเรียกร้องที่จะได้รับมาในภายหน้า (ฎ. 1690/2548)    2. จำนวนเงินได้ที่ได้รับทั้งสิ้นก่อนหักรายจ่ายและค่าลดหย่อน
เงินได้สุทธิ
   (ป.รัษฎากร) จำนวนเงินที่นำมาคำนวณภาษีตามอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาซึ่งจำนวนเงินนี้ได้มาจากการนำเงินได้พึงประเมินมาหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน
เงินตรา
 ( ปพพ.ม.1331, พรบ.เงินตรา  2501) เหรียญกษาปณ์และธนบัตร ซึ่งเป็นเงินตราที่ใช้ชำระหนี้ตามกม.  ไม่รวมถึงเงินตราที่เลิกใช้แล้ว  และเงินตราต่างประเทศ
เงินตราที่พึงเปลี่ยนได้
 (พรบ.เงินตรา 2501 ม.4) เงินตราของประเทศที่รับปฏิบัติแล้วตามพันธะที่ตั้งไว้ตามหมวด 8 แห่งข้อตกลงว่าด้วยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ
เงินตอบแทน
  (พรบ.การช่วยเหลือกู้ภัยทางทะเล 2550 ม.4) เงินรางวัล หรือเงินค่าทดแทนพิเศษ ซึ่งต้องจ่ายตาม พรบ.นี้
เงินทดแทน
 (พรบ. เงินทดแทน  2541 ม.5) เงินที่จ่ายเป็นค่าทดแทน ค่ารักษาพยาบาล ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในหารทำงานและค่าทำศพ
เงินปันผล
  เงินที่บริษัทจ่ายให้แก่ผู้ถือหุ้นเนื่องจากกำไรที่บริษัทได้รับในรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้ประกอบกิจการภายหลังจากได้กันกำไรเป็นเงินทุนสำรองไว้ก่อนแล้ว(ฎ.2796 / 2546)
เงินปี
 (ป.รัษฎากร ม.40(3))  เงินที่มีการรับหรือจ่ายเป็นรายปี
เงินฝาก
  (พรบ.สถาบันคุ้มครองเงินฝาก 2551 ม.3) เงินที่สถาบันการเงินรับฝากจากประชาชน หรือบุคคลใดโดยมีความผูกพันว่าจะต้องจ่ายคืนแก่ผู้ฝากเงิน
เงินเพิ่ม
 1. (ป.รัษฎากร) เงินที่ผู้เสียภาษีต้องชำระเพิ่มขึ้นเนื่องจากการไม่ชำระภาษีภายในเวลาที่กม.กำหนด มีลักษณะเช่นเดียวกับดอกเบี้ย และถือว่าเป็นโทษทางแพ่งอย่างหนึ่งตามป.รัษฎากร  2. (พ.ร.บ.ศุลกากร 2469 ม.122 ตรี) เงินเพิ่มให้ถือเป็นเงินอากร หมายถึงให้ถือเป็นเงินประเภทเดียวกันเท่านั้น หาได้หมายความถึงเป็นมูลหนี้รายเดียวกันไม่หนี้ค่าอากรขาเข้าเกิดขึ้นในเวลาที่นำของเข้าสำเร็จ ในขณะนั้นหนี้เงินเพิ่มยังไม่เกิดขึ้น หนี้เงินเพิ่มเกิดขึ้นเนื่องจากไม่ชำระค่าอากรภายในกำหนด หนี้ค่าอากรกับหนี้เงินเพิ่มจึงเป็นมูลหนี้หลายราย(ฎ. 1378/2547)
เงินรัชชูปการ
 (ก-) เงินช่วยราชการแผ่นดิน เรียกเก็บจากชายฉกรรจ์ อายุระหว่าง  18-60 ปี ที่มิได้เป็นทหารเกณฑ์และมีอัตราไม่เกิน 6 บาท  เดิมเป็นเงินค่าราชการ แต่ได้เปลี่ยนมาใช้คำนี้ในสมัย ร.6  และถูกยกเลิกใช้ในพ.ศ. 2482 ดู เงินค่าราชการ
เงินสมทบ
    1. (พรบ.คุ้มครองแรงงาน 2541 ม.5) เงินที่นายจ้างจ่ายสมทบให้แก่ลูกจ้างเพื่อส่งเข้าสมทบกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง    2. (พรบ. เงินทดแทน  2541 ม.5) เงินที่นายจ้างจ่ายสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทนเพื่อใช้เป็นเงินทดแทนให้แก่ลูกจ้าง
เงินสะสม
    (พรบ.คุ้มครองแรงงาน 2541 ม.5) เงินที่ลูกจ้างจ่ายเข้ากองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง
เงื่อนไข
  1. เหตุการณ์ในอนาคตซึ่งไม่แน่นอน อันทำให้นิติกรรมเป็นผลหรือสิ้นผล 2.(ปพพ. ม.182,183)  ข้อความอันใดอันบังคับไว้ให้นิติกรรมเป็นผลหรือสิ้นผลต่อเมื่อมีเหตุการณ์อันไม่แน่นอนว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ในอนาคต มี 2 ประเภทคือ เงื่อนไขบังคับก่อนและเงื่อนไขบังคับหลัง  3. (ปพพ. ม.706)  ข้อแม้
เงื่อนไขที่จะสำเร็จหรือไม่สุดแล้วแต่ใจของลูกหนี้
  เงื่อนไขบังคับก่อนประเภทหนึ่งซึ่งกำหนดเอาความพอใจของลูกหนี้แต่เพียงฝ่ายเดียวโดยไม่มีบุคคลอื่นหรืออำนาจใดๆเข้ามาผูกพันกับลูกหนี้ (ฎ. 693/2537) มากำหนดเป็นเงื่อนไขที่ทำให้นิติกรรมเป็นผล  นิติกรรมที่มีเงื่อนไขนี้จะตกเป็นโมฆะ
เงื่อนไขบังคับก่อน
  เงื่อนไขในนิติกรรมประเภทหนึ่งโดยเป็นเหตุการณ์ในอนาคตซึ่งไม่แน่นอนอันทำให้นิติกรรมเป็นผลเมื่อเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นและสำเร็จแล้ว
เงื่อนไขบังคับหลัง
  เงื่อนไขในนิติกรรมประเภทหนึ่งโดยเป็นเหตุการณ์ในอนาคตซึ่งไม่แน่นอนอันทำให้นิติกรรมสิ้นผลเมื่อเงื่อนไขนั้นเกิดขึ้นและสำเร็จแล้ว

เงื่อนเวลา
 (ปพพ. ม.143)  เหตุการณ์ในอนาคตที่แน่นอนหรือกำหนดเวลาที่จะทำให้นิติกรรมเริ่มต้นมีผลหรือสิ้นสุดการมีผลบังคับ มี 2 ประเภทคือ เงื่อนเวลาเริ่มต้นและเงื่อนเวลาสิ้นสุด 
เงื่อนเวลาเริ่มต้น
  กำหนดเวลาที่จะทำให้นิติกรรมเป็นผล
เงื่อนเวลาสิ้นสุด
 กำหนดเวลาที่จะทำให้นิติกรรมสิ้นผลบังคับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น