วันอังคารที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2553

ฆงจฉชซฌฎฏฐฒณ



ฆ่า – (ปอ.ม. 132,288,289) ทำให้ตายโดยไม่จำกัดวิธีการกระทำ

ฆ่าผู้อื่น – ความผิดตามปอ.ม.288 ที่เป็นการกระทำเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายโดยเจตนา

โฆษณา  –  1. (ปอ.ม. 328) การเผยแพร่ออกไปสู่ประชาชน ไม่ใช่จำกัดอยู่แต่ในเฉพาะในกลุ่มคนใดกลุ่มคนหนึ่ง(ฎ. 223/2524,1459/2527)  2. ( พรบ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.  2522 มาตรา 4 ) หมายความรวมถึงกระทำการไม่ว่าด้วยวิธีใดๆ ให้ประชาชนเห็นหรือทราบข้อความเพื่อประโยชน์ในทางการค้า แต่ไม่หมายความรวมถึงเอกสารทางวิชาการหรือตำราที่เกี่ยวกับการเรียนการสอน



งดการบังคับคดี –  เหตุที่ทำให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาไม่อาจดำเนินการบังคับคดีกับลูกหนี้ตามคำพิพากษาต่อไปได้ เนื่องจากผู้อุทธรณ์วางเงินหรือหาประกันหรือเป็นกรณีตามปวิพ.ม. 292  หรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ยื่นฟ้องเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเป็นอีกคดีหนึ่ง หรือมีการฝ่าฝืนกม.

งดเว้นกระทำ – (แพ่ง –อาญา) งดเว้นไม่กระทำการตามที่ผู้งดเว้นมีหน้าที่ต้องกระทำ หน้าที่นี้อาจเกิดจากกม.กำหนดเช่น หน้าที่ของบิดามารดาที่ชอบด้วยกม.ต่อบุตร หรือจากสัญญา เช่น สัญญาจ้างแพทย์รักษาโรค หรือจากการกระทำครั้งก่อนๆ ของตน หรือเกิดจากความสัมพันธ์พิเศษเฉพาะเรื่อง  ที่เป็นงดเว้นเช่นนายอำเภอไม่จดทะเบียนการซื้อขายที่ดินตามที่ร้องขอ (ฎ.881/2495) มีหน้าที่ปิดกั้นถนนเพื่อให้รถไฟผ่าน แต่ไม่ปิดทำให้รถไฟชนรถยนต์ (ฎ.1559-1560/2504) เทศบาลละเลยไม่ดูแลสะพานที่ผุพังเป็นช่องโหว่เป็นเหตุให้เด็กตกลงไป (ฎ.769/2513)

งานทาง – (พรบ.ทางหลวง  2535 ม.4) ส่วนหนึ่งของกิจการใดที่ทำเพื่อหรือเนื่องในการสำรวจการก่อสร้าง การขยาย การบูรณะ หรือการบำรุงรักษาทางหลวง หรือการจราจรบนทางหลวง

งานทางนโยบายโดยตรง – (พรบ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ม.4) งานในส่วนที่เป็นการกำหนดทิศทางหรือการพิจารณาสั่งการเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายในการบริหารราชการแผ่นดิน หาใช่งานที่มีลักษณะเป็นการปฏิบัติตามกม.หรือระเบียบราชการตามปกติไม่ (ฎ.2755/2545) ที่ไม่ใช่งานทางนโยบายโดยตรง เช่น การสั่งไม่อนุญาตให้คนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรตามพรบ.คนเข้าเมือง (ฎ.2755/2545)

งานที่ปรากฏอยู่แล้ว - (พรบ.สิทธิบัตรฯ  )  การประดิษฐ์คิดค้นในเรื่องเดียวกันหรือที่เกี่ยวข้องกับการประดิษฐ์ที่จะขอรับสิทธิบัตรในลักษณะต่อไปนี้ ที่มีหรือใช้แพร่หลายอยู่แล้ว หรือที่มีการเปิดเผยสาระสำคัญหรือรายละเอียดอยู่แล้วหรือที่ได้รับสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตรไว้แล้ว หรือที่ได้มีการยื่นขอรับสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตรไว้ในต่างประเทศแล้ว หรือที่ได้มีการยื่นขอรับสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตรไว้ในประเทศไทยแล้วและได้ประกาศโฆษณาแล้ว

เงินขวัญถุง –  (พ.ร.ฎ. เงินช่วยเหลือผู้ซึ่งลาออกจากราชการก่อนเกษียณอายุ 2482 ม. 8) เงินที่ข้าราชการได้รับจำนวน 7 เท่า ของเงินเดือน เป็นส่วนหนึ่งของเงินที่ทางราชการจ่ายเพื่อช่วยเหลือข้าราชการที่ลาออกก่อนเกษียณอายุราชการ ถือว่าเป็นเงินบำเหน็จจึงไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. ม. 280 (2)(ฎ.8817/2547)

เงินค่าราชการ – (ก) 1.เงินช่วยราชการแผ่นดิน  เงินที่ไพร่หลวงเสียให้แก่ราชการแทนการทำงานให้แก่ราชการ(เข้าเดือน) 2.  (พรบ.เก็บเงินค่าราชการ ร.ศ.120) เงินเลขค่าราชการ เงินสร่วยเลขระบาทว์และเงินเลขอื่นๆ เว้นแต่ค่าแรงผูกปี้ข้อมือจีน  โดยเรียกเก็บทุกวันที่ 1 เมย.ของทุกปีจากชายฉกรรจ์ อายุระหว่าง  18-60 ปี ยกเว้นบุคคลบางประเภทเช่นราชนิกูล ข้าราชการ กำนันผู้ใหญ่บ้าน ทหาร ภิกษุสามเณร ผู้ที่มีบุตรที่เสียเงินค่าราชการเกินกว่า 3 คน คนพิการ คนอนาถา  ผู้ที่ไม่มีเงินเสียจะต้องมาทำงานโยธาให้ทางราชการแทน ต่อมาได้เปลี่ยนมาเรียกว่า เงินรัชชูปการในสมัย ร.6  และถูกยกเลิกใช้ในพ.ศ. 2482 ดู เงินรัชชูปการ

เงินช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ - (พรบ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว 2550 ม.3 ) ค่าทดแทนความเสียหายเบื้องต้นสำหรับเงินหรือทรัพย์สินใด ๆ ที่ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวสูญเสียไป โดยผลของการกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว และให้หมายความรวมถึงรายได้ที่สูญเสียไป ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ค่าใช้จ่ายในการหาที่อยู่ใหม่ และค่าใช้จ่ายอื่นที่จำเป็น

เงินได้พึงประเมิน -  1.  (ป.รัษฎากร) เงินได้อันเข้าลักษณะพึงเสียภาษีในหมวดนี้ เงินได้ที่กล่าวนี้ให้หมายความรวมตลอดถึงทรัพย์สิน หรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้รับซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็นเงิน เงินค่าภาษีอากรที่ผู้จ่ายเงินหรือผู้อื่นออกให้แทนสำหรับเงินได้ประเภทต่างๆ ตามม.40 และเครดิตภาษีตามม.47 ทวิด้วย ( ม. 39) แต่ต้องเป็นสิ่งที่ได้รับมาแล้ว  ไม่ใช่เป็นเพียงสิทธิเรียกร้องที่จะได้รับมาในภายหน้า (ฎ. 1690/2548)    2. จำนวนเงินได้ที่ได้รับทั้งสิ้นก่อนหักรายจ่ายและค่าลดหย่อน

เงินได้สุทธิ -   (ป.รัษฎากร) จำนวนเงินที่นำมาคำนวณภาษีตามอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาซึ่งจำนวนเงินนี้ได้มาจากการนำเงินได้พึงประเมินมาหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน

เงินตรา – ( ปพพ.ม.1331, พรบ.เงินตรา  2501) เหรียญกษาปณ์และธนบัตร ซึ่งเป็นเงินตราที่ใช้ชำระหนี้ตามกม.  ไม่รวมถึงเงินตราที่เลิกใช้แล้ว  และเงินตราต่างประเทศ

เงินตราที่พึงเปลี่ยนได้ – (พรบ.เงินตรา 2501 ม.4) เงินตราของประเทศที่รับปฏิบัติแล้วตามพันธะที่ตั้งไว้ตามหมวด 8 แห่งข้อตกลงว่าด้วยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ

เงินตอบแทน - (พรบ.การช่วยเหลือกู้ภัยทางทะเล 2550 ม.4) เงินรางวัล หรือเงินค่าทดแทนพิเศษ ซึ่งต้องจ่ายตามพรบ.นี้

เงินทดแทน - (พรบ. เงินทดแทน  2541 ม.5) เงินที่จ่ายเป็นค่าทดแทน ค่ารักษาพยาบาล ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในหารทำงานและค่าทำศพ

เงินปันผล - เงินที่บริษัทจ่ายให้แก่ผู้ถือหุ้นเนื่องจากกำไรที่บริษัทได้รับในรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้ประกอบกิจการภายหลังจากได้กันกำไรเป็นเงินทุนสำรองไว้ก่อนแล้ว(ฎ.2796 / 2546)

เงินปี  - (ป.รัษฎากร ม.40(3))  เงินที่มีการรับหรือจ่ายเป็นรายปี

เงินฝาก – (พรบ.สถาบันคุ้มครองเงินฝาก 2551 ม.3) เงินที่สถาบันการเงินรับฝากจากประชาชน หรือบุคคลใดโดยมีความผูกพันว่าจะต้องจ่ายคืนแก่ผู้ฝากเงิน

เงินเพิ่ม – 1. (ป.รัษฎากร) เงินที่ผู้เสียภาษีต้องชำระเพิ่มขึ้นเนื่องจากการไม่ชำระภาษีภายในเวลาที่กม.กำหนด มีลักษณะเช่นเดียวกับดอกเบี้ย และถือว่าเป็นโทษทางแพ่งอย่างหนึ่งตามป.รัษฎากร  2. (พ.ร.บ.ศุลกากร 2469 ม.122 ตรี) เงินเพิ่มให้ถือเป็นเงินอากร หมายถึงให้ถือเป็นเงินประเภทเดียวกันเท่านั้น หาได้หมายความถึงเป็นมูลหนี้รายเดียวกันไม่หนี้ค่าอากรขาเข้าเกิดขึ้นในเวลาที่นำของเข้าสำเร็จ ในขณะนั้นหนี้เงินเพิ่มยังไม่เกิดขึ้น หนี้เงินเพิ่มเกิดขึ้นเนื่องจากไม่ชำระค่าอากรภายในกำหนด หนี้ค่าอากรกับหนี้เงินเพิ่มจึงเป็นมูลหนี้หลายราย(ฎ. 1378/2547)

เงินรัชชูปการ – (ก-) เงินช่วยราชการแผ่นดิน เรียกเก็บจากชายฉกรรจ์ อายุระหว่าง  18-60 ปี ที่มิได้เป็นทหารเกณฑ์และมีอัตราไม่เกิน 6 บาท  เดิมเป็นเงินค่าราชการ แต่ได้เปลี่ยนมาใช้คำนี้ในสมัย ร.6  และถูกยกเลิกใช้ในพ.ศ. 2482 ดู เงินค่าราชการ

เงินสมทบ  –    1. (พรบ.คุ้มครองแรงงาน 2541 ม.5) เงินที่นายจ้างจ่ายสมทบให้แก่ลูกจ้างเพื่อส่งเข้าสมทบกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง    2. (พรบ. เงินทดแทน  2541 ม.5) เงินที่นายจ้างจ่ายสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทนเพื่อใช้เป็นเงินทดแทนให้แก่ลูกจ้าง 

เงินสะสม  –    (พรบ.คุ้มครองแรงงาน 2541 ม.5) เงินที่ลูกจ้างจ่ายเข้ากองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง

เงื่อนไข – 1. เหตุการณ์ในอนาคตซึ่งไม่แน่นอน อันทำให้นิติกรรมเป็นผลหรือสิ้นผล 2.(ปพพ. ม.182,183)  ข้อความอันใดอันบังคับไว้ให้นิติกรรมเป็นผลหรือสิ้นผลต่อเมื่อมีเหตุการณ์อันไม่แน่นอนว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ในอนาคต มี 2 ประเภทคือ เงื่อนไขบังคับก่อนและเงื่อนไขบังคับหลัง  3. (ปพพ. ม.706)  ข้อแม้

เงื่อนไขที่จะสำเร็จหรือไม่สุดแล้วแต่ใจของลูกหนี้ – เงื่อนไขบังคับก่อนประเภทหนึ่งซึ่งกำหนดเอาความพอใจของลูกหนี้แต่เพียงฝ่ายเดียวโดยไม่มีบุคคลอื่นหรืออำนาจใดๆเข้ามาผูกพันกับลูกหนี้ (ฎ. 693/2537) มากำหนดเป็นเงื่อนไขที่ทำให้นิติกรรมเป็นผล  นิติกรรมที่มีเงื่อนไขนี้จะตกเป็นโมฆะ

เงื่อนไขบังคับก่อน – เงื่อนไขในนิติกรรมประเภทหนึ่งโดยเป็นเหตุการณ์ในอนาคตซึ่งไม่แน่นอนอันทำให้นิติกรรมเป็นผลเมื่อเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นและสำเร็จแล้ว

เงื่อนไขบังคับหลัง - เงื่อนไขในนิติกรรมประเภทหนึ่งโดยเป็นเหตุการณ์ในอนาคตซึ่งไม่แน่นอนอันทำให้นิติกรรมสิ้นผลเมื่อเงื่อนไขนั้นเกิดขึ้นและสำเร็จแล้ว

เงื่อนเวลา - (ปพพ. ม.143)  เหตุการณ์ในอนาคตที่แน่นอนหรือกำหนดเวลาที่จะทำให้นิติกรรมเริ่มต้นมีผลหรือสิ้นสุดการมีผลบังคับ มี 2 ประเภทคือ เงื่อนเวลาเริ่มต้นและเงื่อนเวลาสิ้นสุด  

เงื่อนเวลาเริ่มต้น - กำหนดเวลาที่จะทำให้นิติกรรมเป็นผล

เงื่อนเวลาสิ้นสุด - กำหนดเวลาที่จะทำให้นิติกรรมสิ้นผลบังคับ




จงใจ – (ปพพ.ม.420)  รู้สำนึกถึงผลที่เกิดจากการกระทำของตนแต่ไม่ถึงกับขนาดมุ่งหมายต่อผล เพียงแต่รู้ว่า การกระทำของตนจะมีความเสียหายเกิดขึ้นก็เพียงพอ  การกระทำโดยเจตนาเป็นจงใจด้วยเสมอแต่การกระทำโดยจงใจอาจไม่ใช่การกระทำโดยเจตนาก็ได้ ดูเจตนา 

จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย – (พรบ.คุ้มครองแรงงาน  2541 ม.119(2)) ลูกจ้างกระทำโดยตั้งใจให้เกิดความเสียหายโดยรู้ถึงผลเสียหายที่จะเกิดขึ้นแก่นายจ้างด้วย (ฎ.902/2545)

จนกว่าคดีจะถึงที่สุด – (พรบ.ให้ใช้พระธรรมนูญศาลยุติธรรม  2543) ถึงที่สุดตามความในปวิพ. ม.147  คดีที่ได้มีการอุทธรณ์หรือฎีกา และศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาแล้ว กรณีหาได้มีความหมายว่าถึงที่สุดในแต่ละชั้นศาล (ฎ.7223/2545)

จพท. – (ย.) เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์

จรรณยาบรรณ - กฎเกณฑ์ความประพฤติของผู้ประกอบวิชาชีพใดวิชาชีพหนึ่ง  ซึ่งมีขึ้นเพื่อรักษา ผดุงเกียรติคุณและคุณธรรมของการประกอบวิชาชีพนั้นๆ

จอห์น ล็อค  – (John Locke) (ค.ศ. 1632 – 1694) นักปราชญ์ชาวอังกฤษ เขียนหนังสือชื่อ Second Treatise of Civil Government  อธิบายว่า อำนาจอธิปไตยแบ่งออกเป็น 3 อำนาจคือ  (1) อำนาจนิติบัญญัติ ซึ่งเป็นอำนาจที่สำคัญที่สุดเนื่องจากเป็นอำนาจที่กำหนดกฎเกณฑ์ และขอบเขตของสิทธิตามธรรมชาติของมนุษย์ (2) อำนาจบริหารซึ่งเป็นอำนาจบังคับบัญชาให้เป็นไปตามกม. โดยลงโทษผู้ฝ่าฝืน (3) อำนาจในการทำสงคราม ทำสนธิสัญญา และแลกเปลี่ยนนักโทษ

จอห์น ออสติน –( John Austin) (ค.ศ.1790-1859) นักปรัชญาชาวอังกฤษยึดถือปรัชญา สำนักกฎหมายฝ่ายบ้านเมือง (Legal Positivism)

จังหวัด – องค์กรที่ใหญ่ที่สุดในการจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาค มีฐานะเป็นนิติบุคคล การตั้งหรือยุบหรือเปลี่ยนเขตต้องทำโดยพรบ. มีการแบ่งส่วนราชการออกเป็นสำนักงานจังหวัดและส่วนราชการอื่นๆ ประจำจังหวัด  มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นหัวหน้าผู้บังคับบัญชาข้าราชการสูงสุดในจังหวัดและมีคณะกรรมการจังหวัดเป็นที่ปรึกษา

จัดการงานนอกสั่ง – (ปพพ.) การที่บุคคลเข้าทำกิจการแทนผู้อื่นโดยมิได้ถูกว่าขานวานใช้ให้ทำหรือโดยไม่มีสิทธิที่จะทำการงานนั้นแทนผู้อื่น มี 2 ประเภทคือ จัดการงานนอกสั่งที่สมประโยชน์ตัวการและจัดการงานนอกสั่งที่ไม่สมประโยชน์ตัวการ

จัดหางาน – (พรบ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน ม.4 ) ประกอบธุรกิจจัดหางานให้แก่คนหางานหรือหาลูกจ้างให้แก่นายจ้าง โดยจะเรียกหรือรับค่าบริการตอบแทนหรือไม่ก็ตาม

จ้างทำของ  – 1. (ปพพ.ม. 587) อันว่า จ้างทำของนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่า ผู้รับจ้าง  ตกลงรับจะทำการงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จให้แก่อีกบุคคลหนึ่ง เรียกว่า ผู้ว่าจ้างและผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้น 2.ชื่อกม.ลักษณะ 7 บรรพ 3 ปพพ. 3. สัญญาซึ่งผู้ว่าจ้างและผู้รับจ้างมีนิติสัมพันธ์กันโดยผู้ว่าจ้างไม่มีอำนาจบังคับบัญชาหรือสั่งให้ลูกจ้างปฏิบัติงานในความควบคุมของตนเอง  เป็นสัญญาที่คำนึงถึงผลสำเร็จของานโดยผู้ว่าจ้างจะจ่ายสินจ้างให้เมื่องานเสร็จ

จ้างแรงงาน – 1. (ปพพ.ม. 575)  อันว่า จ้างแรงงานนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่า ลูกจ้าง  ตกลงจะทำงานให้แก่อีกบุคคลหนึ่ง เรียกว่า นายจ้างและนายจ้างตกลงจะให้สินจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้     2. ชื่อกม.ลักษณะ 6 บรรพ  3 สัญญาซึ่งนายจ้างและลูกจ้างมีนิติสัมพันธ์กันโดยนายจ้างมีอำนาจที่จะสั่งให้ลูกจ้างปฏิบัติงานในความควบคุมของตนเองโดยไม่ได้คำนึงถึงผลสำเร็จของานและนายจ้างจ่ายสินจ้างให้

จารีตประเพณี – 1. กม.ที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งเป็นประเพณีที่มีการปฏิบัติติดต่อกันมานานในท้องถิ่นใดท้องถิ่นหนึ่ง ไม่ขัดต่อกม.และความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน  ถือเป็นบ่อเกิดกม.ประเภทหนึ่งนอกเหนือจากกม.ลายลักษณ์อักษร 2.แบบแผนความประพฤติของมนุษย์ที่ถือปฏิบัติต่อกันมาเป็นเวลานานและชอบด้วยกม. ซึ่งอาจจะเป็นจารีตประเพณีเฉพาะคนบางกลุ่ม เช่น ประเพณีทางการค้า ประเพณีเฉพาะถิ่นใดถิ่นหนึ่งก็ได้

จารีตประเพณีระหว่างประเทศ – กม.ระหว่างประเทศซึ่งไม่ได้เป็นลายลักษณ์อักษร เป็นแนวทางปฏิบัติของรัฐทั่วๆไป ที่มีการปฏิบัติตามกันมาเป็นเวลานาน และมีการยอมรับกันว่า เป็นกม. ตามม.  38  แห่งพระธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศกำหนดให้มีองค์ประกอบ ดังนี้ (1) ต้องเป็นแนวทางปฏิบัติของรัฐ  เช่น  คำแถลงการณ์  หรือแนวทางปฏิบัติของรัฐเกี่ยวกับคดีใดคดีหนึ่ง  หรือคำแถลงการณ์ของรัฐเกี่ยวกับมติสหประชาชาติ  หรือการตรากฎหมาย   (2) ต้องมีการต่อเนื่องในทางปฏิบัติ    (3) ต้องเป็นหลักปฏิบัติโดยทั่วไป    (4) ต้องมีความต่อเนื่องของระยะเวลา 

จ่าศาล – (ก) หัวหน้าเจ้าหน้าที่ธุรการของศาลแต่ละศาลปัจจุบันคือตำแหน่ง ผู้อำนวยการศาล

จำคุก – โทษทางอาญาอย่างหนึ่งที่จำกัดเสรีภาพในการเดินทางของผู้กระทำความผิดโดยการขังตัวผู้กระทำความผิดไว้ในเรือนจำ

จำนอง -   (ป.พ.พ. ม.702)สัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า ผู้จำนอง เอาทรัพย์สินตราไว้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่า ผู้รับจำนองเป็นการประกันการชำระหนี้ โดยไม่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้รับจำนอง

จำนำ -   (ป.พ.พ. ม.747) สัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า ผู้จำนำ ส่งมอบสังหาริมทรัพย์สิ่งหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่า ผู้รับจำนำ เพื่อเป็นการประกันการชำระหนี้

จำโนท – (ก) ชายที่ลักลอบได้เสียกับหญิงคู่หมั้นของชายอื่น

จำเป็น – เหตุยกเว้นโทษเหตุหนึ่งตามปอ. ซึ่งเป็นการกระทำความผิดโดยความจำเป็น แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ     (1) เพราะอยู่ในที่บังคับ หรือภายใต้อำนาจซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้ หรือ (2) เพราะเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นพ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึง  และไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้พ้นโดยวิธีอื่นใดได้  เมื่อภยันตรายนั้นตนมิได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะความผิดของตน
    การกระทำโดยจำเป็นยังเป็นความผิดอยู่ เพียงแต่กม.ยกเว้นโทษให้เท่านั้น และภยันตรายนั้นอาจจะไม่ใช่ละเมิดต่อกม.ก็ได้

จำเลย – 1. บุคคลซึ่งถูกฟ้องยังศาลแล้วโดยข้อหาว่าได้กระทำความผิด(ปวิอ.ม. 1(3)) ดังนั้นจำเลยในคดีอาญาได้แก่ ผู้ซึ่งอัยการฟ้องคดีต่อศาล และ ผู้ซึ่งถูกฟ้องในคดีที่ราษฎรเป็นโจทก์และศาลมีคำสั่งประทับฟ้องแล้ว   จำเลยมีสิทธิตาม ปวิอ.ม. 8 ,14 และ 173          2. (พรบ. ค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา  2544 ม. 3 )   บุคคลซึ่งถูกฟ้องต่อศาลว่า ได้กระทำความผิดอาญา

จำเลยฎีกา – คู่ความฝ่ายที่ไม่ได้ยื่นคำฟ้องฎีกา

จำเลยอุทธรณ์  –  คู่ความฝ่ายที่ไม่ได้ยื่นคำฟ้องอุทธรณ์ซึ่งอาจจะเป็นโจทก์หรือจำเลยเดิมก็ได้  (ส่วนคู่ความที่ยื่นอุทธรณ์เรียกว่า  ผู้อุทธรณ์)

จำหน่าย -   1.(พรบ.ยาเสพติดให้โทษ 2522 มาตรา 4) ขาย จ่าย แจก แลกเปลี่ยน ให้ เช่น ถือถุงกัญชาขึ้นจากลำห้วยมาส่งมอบให้ตำรวจที่ปลอมตัวเป็นผู้ซื้อ, ส่งมอบ ๓ , ๔ - เมทิลลีนไดออกซีเมทแอมเฟตามีนของกลางให้แก่สายลับที่เข้าล่อซื้อและแม้จะยังไม่ได้ชำระเงิน  2. (พรบ.เชื้อโรคและพิษจากสัตว์ 2525 ม. 4) ขาย จ่าย แจก แลกเปลี่ยน ให้สูญหาย เสียหาย ทิ้งหรือทำลาย  3.(พรบ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ  2542 ) ขาย แลกเปลี่ยน ให้ จ่ายแจก โอนสิทธิการครอบครองสินค้าให้แก่บุคคลอื่นหรือให้บริการ

จำหน่ายคดี –   คำสั่งศาลที่ให้คดีเสร็จไปจากศาลโดยไม่มีการวินิจฉัยชี้ขาดคดี  ซึ่งอาศัยบทบัญญัติที่กม.บัญญัติไว้หรือโดยอำนาจทั่วไปของศาล  เปรียบเทียบ คำพิพากษาหรือคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดคดี

จำหน่ายคดีชั่วคราว- คำสั่งศาลที่ให้งดการพิจารณาคดีใดคดีหนึ่งเป็นการชั่วคราวเนื่องจากมีเหตุตามกม.ที่ไม่อาจจะดำเนินกระบวนพิจารณาในคดีนั้นต่อไปได้ เช่น ในคดีอาญาเมื่อจำเลยหลบหนี หรือวิกลจริต เป็นต้น

จิตบกพร่อง – สภาพที่มันสมองบกพร่อง หรือสมองไม่เจริญเติบโตตามวัย ซึ่งอาจจะเกิดมาแต่กำเนิดหรือเสื่อมลงเพราะวัยชราหรือจากโรคเช่น เนื้องอกในสมอง สมองอักเสบ กะโหลกศรีษะผิดปกติ หรือสมองได้รับอันตรายจากอุบัติเหตุ (จิตทราม จิตเปลี้ย สมองอ่อน พิการทางสมอง หรือปัญญาอ่อน) ก็ได้  ทำให้ไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือไม่สามารถบังคับตนเองได้   ผู้ที่กระทำความผิดโดยมีจิตบกพร่องจะไม่ต้องรับโทษตามปอ.ม.65

จิตฟั่นเฟือน – อาการหลงผิด ประสาทหลอนและหวาดระแวงว่าคนจะทำร้ายเพราะโรคจิตจากพิษสุรา (ฎ.371/2527) หรือมีอาการทางจิตใจเนื่องจากเป็นโรคประสาทหรือมีภาวะทางจิตแปรปรวนชั่วคราว ทำให้ไม่สามารถรู้ผิดชอบชั่วดีหรือไม่สามารถบังคับตนเองได้ 

เจตนา – (อาญา) การที่ผู้กระทำรู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบภายนอกของความผิดและผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น  แบ่งเป็น เจตนาตามข้อเท็จจริงได้แก่ เจตนาประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผล  และเจตนาโดยผลของกม.เช่น การกระทำโดยพลาด ตามปอ.ม. 60

เจตนาซ่อนเร้น – (ปพพ.ม. 154) การที่ผู้แสดงเจตนามีเจตนาแท้จริงในใจอย่างหนึ่งแต่กลับแสดงเจตนาออกมาผิดแผกแตกต่างไปจากเจตนาที่แท้จริง โดยผู้รับการแสดงเจตนาไม่รู้เจตนาแท้จริงนั้น กม.ถือว่า เจตนาที่แสดงออกมานั้นสมบูรณ์มีผลผูกพันผู้แสดงเจตนา เช่น มีเจตนาแท้จริงที่จะขายลดเช็คแทนผู้อื่นแต่แสดงเจตนาว่าตนเองเป็นผู้ขายลดเช็ค ผู้แสดงเจตนาต้องผูกพันรับผิดตามเจตนาที่แสดงออกมา (ฎ.3313-3315/2536) ยกเว้นแต่ผู้รับการแสดงเจตนาทราบเจตนาที่แท้จริง   เจตนาที่แสดงออกมาจึงจะตกเป็นโมฆะ

เจตนาโดยพลาด – ดู การกระทำโดยพลาด

เจตนาธรรมดา -  เจตนาประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผล ซึ่งความผิดอาญาส่วนใหญ่ต้องการเพียงเจตนาธรรมดาเท่านั้น ไม่ต้องการเจตนาพิเศษเพิ่มเติมอีก   ดู เจตนาพิเศษ

เจตนาประสงค์ต่อผล - เจตนาที่ผู้กระทำมุ่งหมายจะให้ผลเกิดขึ้น  แม้ผลไม่เกิดตามความมุ่งหมายก็เป็นการกระทำความผิดฐานพยายาม

เจตนาพิเศษ - มีมูลเหตุจูงใจในการกระทำโดยเฉพาะหรือมีวัตถุประสงค์ในการกระทำโดยเฉพาะ เป็นองค์ประกอบภายในที่กม.ต้องการเพิ่มเติมจากเจตนาธรรมดาในความผิดอาญาบางฐาน  เช่น เจตนา ”โดยทุจริต” ในความผิดฐานลักทรัพย์  ตามปอ.ม. 334 หรือ “เพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่า เป็นเอกสารที่แท้จริง” ในความผิดฐานปลอมเอกสารตามปอ.ม.264 ส่วนใหญ่ในตัวบท ปอ.จะใช้คำว่า “เพื่อ”   ดู เจตนาธรรมดา

เจตนาย่อมเล็งเห็นผล -  เจตนาที่ผู้กระทำไม่ได้มุ่งหมายจะให้ผลเกิดขึ้น แต่ผู้กระทำเล็งเห็นผลได้ว่า ผลร้ายจะเกิดขึ้นได้อย่างแน่ชัดจากการกระทำนั้น หรือผู้กระทำไม่ไยดีว่าผลการกระทำขึ้นจะเป็นเช่นไร  เช่น ใช้ปืนกลเล็กยิงหลายนัดเพื่อให้จักรยานยนต์ผู้เสียหายล้มลง แต่กระสุนถูกผู้เสียหายถึงแก่ความตาย (ฎ.2991/2536)

เจตนาลวง - (ปพพ.ม. 155) การที่คู่กรณีในนิติกรรมทั้งสองฝ่ายไม่มีเจตนาแท้จริงที่จะทำนิติกรรมกัน แต่ตกลงสมคบกันทำนิติกรรมขึ้นมาเพื่อลวงผู้อื่นว่า ได้ทำหรือมีนิติกรรมนั้นเกิดขึ้น  นิติกรรมที่เกิดขึ้นมานั้นจะตกเป็นโมฆะ  เช่น สมคบกันซื้อและรับซื้อหุ้นบริษัทเพื่อหลีกเลี่ยงข้อห้ามของธนาคารแห่งประเทศไทย (ฎ.848/2534) สมคบกันจดทะเบียนยกที่ดินให้ภายหลังที่ถูกฟ้องและกำลังถูกศาลบังคับชำระหนี้เพื่อหลีกเลี่ยงมิให้ที่ดินถูกยึด (ฎ.4056/2533) สมคบกันทำสัญญาจำนองและสัญญากู้เงิน (ฎ. 1986/2533) 

เจตนาโอน – ดู การกระทำโดยพลาด

เจ็บป่วย - (พรบ.เงินทดแทน 2537 ม. 5) การที่ลูกจ้างเจ็บป่วย หรือถึงแก่ความตายด้วยโรคซึ่งเกิดขึ้นตามลักษณะหรือสภาพของงานหรือเนื่องจากการทำงาน

 เจ้าของ - (ปพพ.ม.434,434)ผู้มีกรรมสิทธิ

เจ้าของความลับทางการค้า –(พรบ.ความลับทางการค้า 2545ม.3) ผู้ค้นพบ คิดค้น รวบรวม หรือสร้างสรรค์ข้อมูลการค้าที่เป็นความลับทางการค้าโดยมิได้เป็นการละเมิดสิทธิในความลับทางการค้าของผู้อื่น หรือผู้มีสิทธิโดยชอบในผลการทดสอบหรือข้อมูลการค้าที่เป็นความลับทางการค้าและให้หมายความรวมถึงผู้รับโอนสิทธิตามพรบ.นี้ด้วย

เจ้าของเคหะ – (พรบ.การเคหะแห่งชาติ 2537 ม.25/1 )ผู้เป็นเจ้าของเคหะในโครงการ และหมายความรวมถึงคู่สัญญากับ กคช. ตามสัญญาจะซื้อจะขายหรือสัญญาเช่าซื้อเคหะในโครงการด้วย แต่ไม่รวมถึง กคช.ในฐานะที่เป็นเจ้าของเคหะในโครงการ

เจ้าของพาหนะ – (พรบ.คนเข้าเมือง  2522 ม.4) หมายความรวมถึงตัวแทนเจ้าของ ผู้เช่า ตัวแทนผู้เช่า ผู้ครอบครองหรือตัวแทนผู้ครอบครองพาหนะแล้วแต่กรณี

เจ้าของรถ – 1. (พรบ.จราจรทางบก  2522 ม. 4 (30)) หมายความรวมถึงผู้มีรถไว้ในครอบครองด้วย     2..(พรบ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ  2535 ม.4) ผู้ซึ่งมีกรรมสิทธิ์ในรถหรือผู้มีสิทธิครอบครองรถตามสัญญาเช่าซื้อ และหมายความรวมถึงผู้นำรถที่จดทะเบียนในต่างประเทศเข้ามาใช้ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวด้วย   3. (พรบ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ 2535 ม.26) เจ้าของรถที่ก่อให้เกิดความเสียหายซึ่งมิได้จัดให้มีการประกันความเสียหายตามม.23 (1) ไว้เท่านั้น (ฎ.5865/2545)

เจ้าของรวม -   บุคคลตั้งแต่สองคนหรือหลายคนต่างเป็นเจ้าของทรัพย์สินเดียวกันโดยยังมิได้แบ่งแยกความเป็นเจ้าของออกเป็นสัดส่วน  เจ้าของรวมมีสิทธิจัดการทรัพย์สินรวมกันแต่ละคนย่อมใช้สิทธิในทรัพย์นั้นในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมได้  ดู กรรมสิทธิ์รวม

เจ้าของร่วม – (พรบ.อาคารชุด  2522 ม.4 ) เจ้าของห้องชุดในอาคารชุดแต่ละอาคารชุด

เจ้าของลายมือชื่อ   -   (พรบ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ 2544 ม.4)  ผู้ซึ่งถือข้อมูลสำหรับใช้สร้างลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์และสร้างลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์นั้นในนามตนเองหรือแทนบุคคลอื่น

เจ้าของลิขสิทธิ์ – (พรบ. การผลิตผลิตภัณฑ์ซีดี 2548 ม.3 )เจ้าของลิขสิทธิ์ตามกฎหมายว่าด้วยลิขสิทธิ์และให้หมายความรวมถึงผู้รับโอนลิขสิทธิ์ หรือผู้ได้รับอนุญาตให้ทำการผลิตงานอันมีลิขสิทธิ์

เจ้าของหนังสือพิมพ์ – (พรบ.จดแจ้งการพิมพ์ 2550 ม.4) บุคคลซึ่งเป็นเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์

เจ้าทุกข์ – 1.(ก) ผู้เสียหาย  2. ผู้เสียหายตามพรบ.คุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม   2474

เจ้าบ้าน – 1. (พรบ.ลักษณะปกครองท้องที่ 2457 ม.7 ข้อ 2) ผู้อยู่ปกครองบ้าน ซึ่งได้ว่ามาแล้วในข้อก่อน (ม.7 ข้อ 1.)จะครอบครองด้วยเป็นเจ้าของก็ตาม ด้วยเป็นผู้เช่าก็ตาม ด้วยเป็นผู้อาศัยโดยชอบด้วยกม.ก็ตาม นับตามพรบ.นี้ว่า เป็นเจ้าบ้าน   2.(พรบ.การทะเบียนราษฎร  2534 ม.4) ผู้ซึ่งเป็นหัวหน้าครอบครองบ้านในฐานะเป็นเจ้าของ ผู้เช่า หรือในฐานะอื่นใดก็ตาม  ในกรณีที่ไม่ปรากฏเจ้าบ้าน หรือเจ้าบ้านไม่อยู่ ตาย สูญหาย สาบสูญหรือไม่สามารถปฏิบัติกิจการได้ให้ถือว่า ผู้มีหน้าที่ดูแลบ้านในขณะนั้นเป็นเจ้าบ้าน   3. (พรบ.คนเข้าเมือง  2522 ม.4) ผู้ซึ่งเป็นหัวหน้าครอบครองบ้านในฐานะเป็นเจ้าของ ผู้เช่า หรือในฐานะอื่นใดก็ตามตามกม.ว่าด้วยการทะเบียนราษฎร 3. (พรบ.การทะเบียนคนต่างด้าว  2493 ม.4) บุคคลซึ่งเป็นครอบครองบ้านในฐานะเป็นเจ้าของ ผู้เช่า หรือในฐานะอย่างอื่นใดก็ตาม ในกรณีที่เจ้าบ้านไม่อยู่ควบคุมบ้าน แต่ได้มอบหมายให้บุคคลใดควบคุมอยู่ ในระหว่างที่ควบคุมอยู่นั้นให้ถือว่า ผู้ควบคุมเท่านั้นเป็นเจ้าบ้าน 

เจ้าพนักงาน – 1. ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งโดยทางการของรัฐไทย ให้ปฏิบัติราชการของรัฐไทย (ฎ.700/2490) 2.บุคคลที่มีกม.บัญญัติแต่งตั้งไว้โดยเฉพาะว่า ให้เป็นเจ้าพนักงาน เช่น พรบ.การสื่อสารแห่งประเทศไทย 2519 บัญญัติให้พนักงานการสื่อสารแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าพนักงานตามปอ.(ฎ. 3485/2539)  3. ข้าราชการซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยกม.ว่าด้วยการแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่ง (ฎ. 253/2503)หรือบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการไม่ว่าจะโดยประจำหรือชั่วคราว  ที่ไม่ใช่เจ้าพนักงานตามปอ.เช่น สมาชิกสภานิติบัญญัติ  สมาชิกสภาจังหวัด  สมาชิกสภาเทศบาล ลูกจ้างเช่นลูกจ้างของโรงงานสุรา (ฎ. 253/2503) พนักงานของสำนักงานตลาดกรุงเทพมหานครซึ่งไม่ได้รับเงินเดือนจากหมวดงบประมาณเงินเดือน (ฎ. 1173/2539)  4.(ปอ.ทหาร ม.4 ) คำว่า “เจ้าพนักงาน” ที่ใช้ในป.กฎหมายลักษณะอาญานั้น ท่านหมายความตลอดถึงบรรดานายทหารบก นายทหารเรือ ชั้นสัญญาบัตรและชั้นประทวนที่อยู่ในกองประจำการนั้นด้วย

เจ้าพนักงานกรรโชกทรัพย์ - ความผิดตาม ปอ. ม. 147 ซึ่งผู้กระทำต้องเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจหรือจูงใจผู้อื่นเพื่อให้บุคคลอื่นมอบให้หรือหามาให้ซี่งทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองหรือผู้อื่น  ที่เป็นความผิดเช่น  ตำรวจแกล้งจับผู้เสียหาย  แล้วพูดข่มขืนใจให้มอบเงินแล้วและค้นลักเอาเงินไป(ฎ.798/2502) หรือยึดเอารถยนต์ไป (ฎ.1085/2536) หรือหยิบเอาเงินและปืนไป (ฎ. 1389/2506)

เจ้าพนักงานกำหนดราคาทรัพย์สินหรือสินค้าโดยทุจริต  –  ความผิดตาม ปอ. ม. 155 ซึ่งผู้กระทำต้องเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่กำหนดราคาทรัพย์สินหรือสินค้าใดๆ เพื่อเรียกเก็บภาษีอากรหรือค่าธรรมเนียมตามกม.  กำหนดราคาทรัพย์สินหรือสินค้านั้นโดยทุจริต  เพื่อให้ผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีอากรหรือค่าธรรมเนียมนั้นมิต้องเสีย  หรือเสียน้อยกว่าที่จะต้องเสีย 

เจ้าพนักงานเข้ามีส่วนได้เสียในกิจการหน้าที่  –  ความผิดตาม ปอ. ม. 152 ซึ่งผู้กระทำต้องเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการ หรือดูแลกิจการ เข้ามีส่วนได้เสียเนื่องด้วยกิจการนั้นเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น

เจ้าพนักงานจราจร – (พรบ.จราจรทางบก  2522 ม. 4 (37)) ข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตรซึ่งรัฐมนตรี(ว่าการกระทรวงมหาดไทย)แต่งตั้งให้เป็นเจ้าพนักงานจราจร

เจ้าพนักงานจ่ายทรัพย์เกินกว่าที่ควรจ่าย –  ความผิดตาม ปอ. ม. 153 ซึ่งผู้กระทำต้องเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จ่ายทรัพย์ จ่ายทรัพย์นั้นเกินกว่าที่ควรจ่าย เพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น

เจ้าพนักงานใช้ดวงตราหรือรอยตราโดยมิชอบ –  ความผิดตาม ปอ. ม. 160 ซึ่งผู้กระทำต้องเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่รักษาหรือใช้ดวงตราหรือรอยตราของราชการหรือของผู้อื่น กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่โดยใช้ดวงตราหรือรอยตรานั้น  หรือโดยยินยอมให้ผู้อื่นกระทำเช่นนั้นซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย

เจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต –  ความผิดตาม ปอ. ม. 151 ซึ่งผู้กระทำต้องเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด  ใช้อำนาจในตำแหน่งอันเป็นการเสียหายแก่รัฐ  เทศบาล สุขาภิบาลหรือเจ้าของทรัพย์นั้นโดยทุจริต 

เจ้าพนักงานตรวจสอบบัญชีโดยทุจริต –  ความผิดตาม ปอ. ม. 156 ซึ่งผู้กระทำต้องเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ตรวจสอบบัญชีตามกม. แนะนำหรือกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดโดยทุจริต  เพื่อให้มีการละเว้นการลงรายการในบัญชี   ลงรายการเท็จในบัญชี  แก้ไขบัญชีหรือซ่อนเร้นหรือทำลายหลักฐานในการลงบัญชีอันจะเป็นผลให้การเสียภาษีอากรหรือค่าธรรมเนียมนั้น  มิต้องเสียหรือเสียน้อยกว่าที่จะต้องเสีย

เจ้าพนักงานท้องถิ่น - (พรบ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง 2535 ม. 4) (1) นายกเทศมนตรี สำหรับในเขตเทศบาล (2) ประธานกรรมการสุขาภิบาล สำหรับในเขตสุขาภิบาล  (3) ผู้ว่าราชการจังหวัด สำหรับในเขตองค์การบริหารส่วนจังหวัด (4) ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สำหรับในเขตกรุงเทพมหานคร (5) ปลัดเมืองพัทยา สำหรับในเขตเมืองพัทยา (6) หัวหน้าผู้บริหารท้องถิ่นขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่นอื่นที่กม.กำหนดให้เป็นราชการส่วนท้องถิ่น สำหรับในเขตราชการส่วนท้องถิ่นนั้น

เจ้าพนักงานทำให้เสียหายซึ่งตราหรือเครื่องหมาย - ความผิดตาม ปอ. ม. 159 ซึ่งผู้กระทำต้องเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ดูแลรักษาทรัพย์หรือเอกสารใด กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่โดยถอน ทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้ไร้ประโยชน์หรือโดยยินยอมให้ผู้อื่นกระทำเช่นนั้น ซึ่งตราหรือเครื่องหมายอันเจ้าพนักงานได้ประทับหรือหมายไว้ที่ทรัพย์หรือเอกสารนั้นในการปฏิบัติการตามหน้าที่ เพื่อเป้นหลักฐานในการยึดหรือรักษาสิ่งนั้น

เจ้าพนักงานทำให้เสียหายซึ่งทรัพย์หรือเอกสาร - ความผิดตาม ปอ. ม. 158 ซึ่งผู้กระทำต้องเป็นเจ้าพนักงานทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหายหรือทำให้ไร้ประโยชน์หรือยินยอมให้ผู้อื่นกระทำเช่นนั้น ซึ่งทรัพย์หรือเอกสารใดอันเป็นหน้าที่ของตนที่จะปกครองหรือรักษาไว้

เจ้าพนักงานทำเอกสารเท็จ - ความผิดตาม ปอ. ม. 162 ซึ่งผู้กระทำต้องเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสาร รับเอกสารหรือกรอกข้อความลงในเอกสารหรือดูแลรักษาเอกสาร กระทำการดังต่อไปนี้ (1) รับรองเป็นหลักฐานว่า ตนได้กระทำการอย่างใดขึ้น หรือว่ากระทำการอย่างใดได้กระทำต่อหน้าตนอันเป็นเท็จ (2) รับรองเป็นหลักฐานว่า ได้มีการแจ้งข้อความอันมิได้มีการแจ้ง (3) ละเว้นไม่จดข้อความซึ่งตนมีหน้าที่รับจด หรือจดเปลี่ยนแปลงข้อความเช่นนั้น (4) รับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นเท็จ

เจ้าพนักงานในการยุติธรรม – เจ้าพนักงานที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการยุติธรรม ได้แก่ ผู้พิพากษา ตุลาการ ดาโต๊ะยุติธรรม พนักงานอัยการ ผู้ว่าคดี พนักงานสอบสวน เจ้าพนักงานที่มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา

เจ้าพนักงานบังคับคดี - (พรบ.ล้มละลาย  2483 ม.6) เจ้าพนักงานบังคับคดีตามปวิพ.

เจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต  –  ความผิดตาม ปอ. ม. 157 ซึ่งผู้กระทำต้องเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต  เช่น  กรอกบันทึกจับกุมเท็จว่า  ผู้ต้องหาให้การรับสารภาพ (ฎ . 1797 / 2536)  จับกุมผู้ต้องหา แต่ไม่นำส่งพนักงานสอบสวนทันทีกลับยอมให้แวะพบญาติ จึงเป็นเหตุให้หลบหนี (ฎ. 2754 / 2536)   พนักงานสอบสวนทำร้ายร่างกายผู้ต้องหาเพื่อให้รับสารภาพ (ฎ.1339/2508) เห็นการกระทำความผิดซึ่งหน้าซึ่งตนมีอำนาจจับ แล้วไม่จับ(ฎ.999/2527) หน่วงเหนี่ยวประกันตัวผู้ต้องหาให้เป็นไปอย่างล่าช้า(ฎ.2577/2534)

เจ้าพนักงานปลอมเอกสาร - ความผิดตาม ปอ. ม. 161 ซึ่งผู้กระทำต้องเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสาร กรอกข้อความลงในเอกสารหรือดูแลรักษาเอกสาร กระทำการปลอมเอกสารโดยอาศัยโอกาสที่ตนมีหน้าที่นั้น

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ - (พรบ.ล้มละลาย  2483 ม.6) หมายความตลอดถึงบุคคลที่ได้รับมอบหมายจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ให้ปฏิบัติการแทน

เจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ –  ความผิดตาม ปอ. ม. 147 ซึ่งผู้กระทำต้องเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด  เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตน หรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต  หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นเสีย

เจ้าพนักงานเรียกเก็บหรือไม่เรียกเก็บภาษีอากรโดยทุจริต  –  ความผิดตาม ปอ. ม. 154 ซึ่งผู้กระทำต้องเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่หรือแสดงว่าตนมีหน้าที่เรียกเก็บหรือตรวจสอบภาษีอากร ค่าธรรมเนียม หรือเงินอื่นใด เรียกเก็บหรือละเว้นไม่เรียกเก็บภาษีอากร ค่าธรรมเนียมหรือเงินนั้นโดยทุจริต   หรือกระทำการหรือไม่กระทำการใดเพื่อให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากรหรือค่าธรรมเนียมนั้นมิต้องเสีย หรือเสียน้อยไปกว่าที่จะต้องเสีย

เจ้าพนักงานเรียกสินบน  –  ความผิดตาม ปอ. ม. 149 ซึ่งผู้กระทำเป็นเจ้าพนักงาน  สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ  สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล เรียก รับ หรือจะยอมรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่  ความผิดฐานนี้แตกต่างจากความผิดฐานเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์เนื่องจากฐานเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ต้องเป็นกรณีที่ผู้ถูกจับไม่ผิดแต่แกล้งกล่าวหาหรือจับกุมและเรียกเงินเพื่อปล่อยตัวไป  แต่ความผิดฐานนี้ผู้ถูกจับผิดจริง แต่เจ้าพนักงานเรียกเงิน

เจ้าพนักงานเรียกสินบนก่อนรับตำแหน่ง  –  ความผิดตาม ปอ. ม. 150 ซึ่งผู้กระทำเป็นเจ้าพนักงาน กระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง โดยเห็นแก่ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดซึ่งตนได้เรียกรับ หรือยอมจะรับไว้ก่อนที่ตนจะได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าพนักงานในตำแหน่งนั้น 

เจ้าสำนัก - (พรบ.โรงแรม  2478 ม.3) บุคคลผู้ควบคุมและจัดการโรงแรม

เจ้าสำนักโรงแรม – (ปพพ.ม. 674, 675 ว. 1 ) เจ้าของกิจการโรงแรม ผู้ถือกรรมสิทธิ์เก็บผลประโยชน์รายได้จากกิจการของโรงแรม (ฎ.2322/2537) ไม่ใช่บุคคลผู้ควบคุมและจัดการโรงแรมซึ่งเป็นตัวแทน(ฎ.2322/2537)

เจ้าหน้าที่ – (พรบ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ 2539 ม. 4) ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง คณะบุคคลหรือผู้ที่ปฏิบัติงานในประเภทอื่น ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตั้งในฐานะเป็นกรรมการหรือฐานะอื่นใด

เจ้าหน้าที่ของรัฐ – 1. (พรบ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542 ) (1) ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง คณะบุคคลหรือผู้ที่ปฏิบัติงานในหน่วยงานทางปกครอง (2)  คณะกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาท คณะกรรมการหรือบุคคลซึ่งมีกม.ให้อำนาจในการออกกฎ คำสั่งหรือมติใดๆ ที่มีผลกระทบต่อบุคคล และ(3) บุคคลที่อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐตาม (1) หรือ (2)  เช่น คณะกรรมการแห่งพรบ. จัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียงฯ (86/44)  คณะกรรมการเนติบัณฑิตยสภา (อ.7/46)  คณะกรรมการสรรหาฯกรรมการ กสช. (อ.4/46)  2.(พรบ.ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ 2540 ม.4) ผู้ซึ่งปฏิบัติงานให้แก่หน่วยงานของรัฐ  3. (พรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2542 ม.4) ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ พนักงานหรือบุคคลผู้ปฏิบัติงานในรัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐ ผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่นซึ่งมิใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เจ้าพนักงานตามกม.ว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่ และให้หมายความรวมถึงกรรมการ อนุกรรมการ ลูกจ้างของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐ และบุคคลหรือคระบุคคลซึ่งใช้อำนาจหรือได้รับมอบอำนาจทางการปกครองของรัฐในการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งตามกม. ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งขึ้นในระบบราชการ รัฐวิสาหกิจหรือกิจการอื่นของรัฐ

เจ้าหน้าที่คดีพิเศษ – (พรบ.การสอบสวนคดีพิเศษ 2547 ม.3) ผู้ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้ช่วยเหลือพนักงานสอบสวนคดีพิเศษในการสืบสวนและสอบสวนคดีพิเศษตามที่กำหนดไว้ในพรบ.นี้

เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย - (พรบ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น 2545 ม.4) ข้าราชการตำรวจ หรือข้าราชการพลเรือน หรือข้าราชการทหาร หรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือสมาชิกอาสารักษาดินแดน หรือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ที่ได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำที่เลือกตั้ง

เจ้าหนี้ – 1. (ปพพ.ม. 237) หมายรวมถึงเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาด้วย (ฎ. 5207/2545)    2. (พรบ.ล้มละลาย 2483 ม.56) เจ้าหนี้ทั้งที่ยื่นคำขอรับชำระหนี้และที่ยังมิได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ด้วย  ดังนั้นเมื่อมีการประนอมหนี้แล้ว  เจ้าหนี้ที่มิได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้จะมาฟ้องขอให้จำเลยรับผิดอีกไม่ได้ (ฎ 1243/2519, 1401/2509) 3. (พรบ.ล้มละลาย  2483 ม.90/1) เจ้าหนี้มีประกันหรือเจ้าหนี้ไม่มีประกัน

เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา – 1. คู่ความหรือบุคคลที่ศาลพิพากษาให้มีสิทธิได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาจากอีกฝ่ายหนึ่ง 2. (ปวิพ.ม.290) เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาถึงที่สุด

เจ้าหนี้ที่อยู่นอกราชอาณาจักร - (พรบ.ล้มละลาย  2483 ม.91)  เจ้าหนี้ทั้งที่เป็นคนไทยและต่างประเทศโดยถือเอาสถานที่อยู่ตามความเป็นจริงของเจ้าหนี้ในช่วงระยะเวลาที่มีการประกาศโฆษณาให้เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ ไม่ใช่ถือเอาภูมิลำเนาตามกม.ของเจ้าหนี้ (ฎ.2110/2540)

เจ้าหนี้บุริมสิทธิ – เจ้าหนี้ที่มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินของลูกหนี้ก่อนเจ้าหนี้สามัญ

เจ้าหนี้ผิดนัด - (ปพพ.ม. 207) การที่เจ้าหนี้ไม่ยอมรับชำระหนี้โดยไม่อาจอ้างเหตุตามกม.ได้  มีผลทำให้ลูกหนี้ไม่ต้องเสียดอกเบี้ยในระหว่างเจ้าหนี้ผิดนัด ปลดเปลื้องความรับผิดชอบของลูกหนี้อันเกิดแต่การไม่ชำระหนี้ และมีสิทธิวางทรัพย์ ณ สำนักงานวางทรัพย์เพื่อให้หลุดพ้นจากการชำระหนี้

เจ้าหนี้มีประกัน - (พรบ.ล้มละลาย  2483 ม.6) เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ในทางจำนอง จำนำ หรือสิทธิยึดหน่วง หรือเจ้าหนี้ผู้มีบุริมสิทธิที่บังคับได้ทำนองเดียวกับผู้รับจำนำ

เจ้าหนี้ไม่มีประกัน - (พรบ.ล้มละลาย 2483 ) เจ้าหนี้ซึ่งไม่มีสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ในทางจำนอง จำนำ หรือสิทธิยึดหน่วง หรือไม่มีบุริมสิทธิที่บังคับได้ทำนองเดียวกับผู้รับจำนำ

เจ้าหนี้ร่วม   -  (ปพพ.ม. 298) เจ้าหนี้หลายคนในหนี้รายเดียวกัน  โดยเจ้าหนี้คนใดคนหนึ่งมีสิทธิเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้สิ้นเชิงได้แต่เพียงครั้งเดียวและลูกหนี้จะชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้คนใดคนหนึ่งก็ได้ตามแต่ละเลือก  แม้ทั้งเจ้าหนี้คนหนึ่งจะได้ยื่นฟ้องเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้แล้ว  ลูกหนี้ก็ยังมีสิทธิชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ร่วมคนอื่นได้

เจาะน้ำบาดาล – (พรบ.น้ำบาดาล  2520 ม.3) กระทำแก่ชั้นดิน กรวด ทรายหรือหินเพื่อให้ได้มาซึ่งน้ำบาดาลหรือเพื่อระบายน้ำลงบ่อน้ำบาดาล

แจ้งข้อความ –  (ปอ.ม.137, 172, 173, 174) ทำให้ผู้อื่นทราบข้อความนั้นซึ่งอาจโดยการพูดหรือตอบคำถาม การเขียนหรือแสดงกริยาอาการก็ได้

 แจ้งความเท็จ –   1. ความผิดตาม ปอ. ม. 137 ซึ่งเป็นการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย  2. ความผิดตาม ปอ. ม. 172, 173, 174 ซึ่งเป็นการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย 

แจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความเท็จ – ความผิดตาม ปอ. ม. 267

โจทก์ – 1. (แพ่ง) ผู้ยื่นคำฟ้องต่อศาลและเป็นคู่ความตามปวิพ.ม.1(11) (ฎ.7812/2538) 2.(ปวิอ.ม.14)  พนักงานอัยการหรือผู้เสียหายซึ่งฟ้องคดีอาญาต่อศาล หรือทั้งคู่ในเมื่อพนักงานอัยการและผู้เสียหายเป็นโจทก์ร่วมกัน

โจทก์ขาดนัด – (อาญา) โจทก์ไม่มาศาลในวันนัดไต่สวนมูลฟ้อง

โจทก์   - 1. (ป.วิ.อ. ม.2(16)) พนักงานอัยการหรือผู้เสียหายซึ่งฟ้องคดีอาญาต่อศาลหรือทั้งคู่ในเมื่อพนักงานอัยการและผู้เสียหายเป็นโจทก์ร่วมกัน  2. (ปวิพ. 254) โจทก์เดิมในศาลชั้นต้น  ไม่รวมถึงจำเลยเดิมซึ่งเป็นผู้อุทธรณ์หรือฎีกาคดีนั้นด้วย(คส.คร. 587/2513 ป)

โจรสลัด – ความผิดฐานชิงทรัพย์และปล้นทรัพย์ตามปอ.ม. 339 และ ม. 340 ตามลำดับที่กระทำในทะเลหลวง




ฉกฉวย – (ปอ.ม. 336) กริยาที่เอาทรัพย์ไปต่อหน้าไม่ใช่ลอบลักไป และไม่จำต้องคว้าหรือหยิบไปโดยเร็ว เพียงแต่หยิบไปธรรมดาๆ ก็ถือว่า เป็นการฉกฉวย เช่น หยิบสุราเดินออกจากร้านไป (ฎ. 919/2503)

ฉลาก -   (พรบ.ยา  2510 ม.4) หมายความรวมถึง รูป รอยประดิษฐ์ เครื่องหมายหรือข้อความใดๆ ซึ่งแสดงไว้ที่ภาชนะหรือหีบห่อบรรจุยา

ฉ้อโกง – ความผิดอาญาตามปอ.ม.341 ซึ่งเป็นการกระทำโดยทุจริตหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งและโดยการหลอกลวงดังว่านั้น ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สามหรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สามทำ ถอนหรือทำลายเอกสารสิทธิ (ฎ.3074/2539) 2. ความผิดฐานหนึ่งตาม ปอ.ม. 341

ฉ้อโกงการประกันวินาศภัย  – ความผิดอาญาตามปอ.ม.347  ซึ่งเป็นการแกล้งทำให้เกิดเสียหายแก่ทรัพย์สินอันเป็นวัตถุที่เอาประกันภัยเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์จากการประกันวินาศภัย  

ฉ้อโกงค่าอาหาร  – ความผิดอาญาตามปอ.ม.345  ซึ่งเป็นการกระทำโดยสั่งซื้อและบริโภคเครื่องดื่มหรือเข้าอยู่ในโรงแรม   โดยรู้อยู่ว่าตนไม่สามารถชำระเงินค่าอาหาร   ค่าเครื่องดื่ม หรือค่าอยู่ในโรงแรมนั้น  แต่ไม่รวมการสั่งให้จัดโต๊ะอาหาร (ฎ.1688/2505) หรือซื้อเชื่อ  (ฎ1077/2511) ที่ต้องชำระราคากันในภายหล้ง

ฉ้อโกงประชาชน - ความผิดอาญาตาม ปอ. 343 ซึ่งเป็นการกระทำการฉ้อโกงโดยหลอกลวงประชาชนทั่วไป ไม่ได้จำกัดเฉพาะบุคคลใดบุคคลหนึ่ง

ฉ้อโกงแรงงาน – ความผิดอาญาตาม ปอ. 344 ซึ่งเป็นการกระทำโดยทุจริตหลอกลวงบุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไปให้ประกอบการงานอย่างใด ๆ ให้แก่ตนหรือให้แก่บุคคลที่สาม โดยจะไม่ใช้ค่าแรงงานหรือค่าจ้างแก่บุคคลเหล่านั้น หรือโดยจะใช้ค่าแรงงานหรือค่าจ้างแก่บุคคลเหล่านั้นต่ำกว่าที่ตกลงกัน 

ฉ้อฉล – (ปพพ.ม.1605) โกง หรือทำให้ผู้อื่นเสียเปรียบ

ฉาย – ( พรบ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ 2551 ม.4) การนำภาพยนตร์หรือวีดิทัศน์มากระทำให้ปรากฏภาพ หรือภาพและเสียงด้วยเครื่องฉาย หรือเครื่องมืออื่นใด และให้หมายความรวมถึงการถ่ายทอดด้วย

ฉีด - ใช้กำลังอัดหรือดันของเหลวพุ่งออกจากช่องเล็ก ๆ(ฎ. 7037/2547) เช่น  กระบอกฉีดยาที่ไม่มีเข็มฉีดยาก็สามารถฉีดของเหลวเข้าสู่ร่างกายกระบือโดยทางปากหรือทางทวารได้ จำเลยมีกระบอกฉีดยาบรรจุสารพิษไว้แล้ว และจำเลยกำลังจับเชือกที่ผูกกระบือของผู้เสียหายซึ่งพร้อมที่จะลงมือฉีดสารพิษใส่เข้าไปในตัวกระบือ จึงเป็นการใกล้ชิดต่อผลแห่งการกระทำให้เสียทรัพย์ถือว่าเป็นการลงมือกระทำความผิดแล้วแต่กระทำไปไม่ตลอดเพราะผู้เสียหายมาพบและเข้าขัดขวางเสียก่อน จำเลยจึงมีความผิดฐานพยายามทำให้เสียทรัพย์ (ฎ. 7037/2547)

โฉนดตราแดง – หนังสือถาวรที่ออกในสมัย ร.5 ที่ออกให้แก่เจ้าของสวนหรือเจ้าของนาคู่โคเพื่อกำหนดภาษีอากรที่จะต้องเสียตามเนื้อที่ที่ทำสวนหรือทำนา  ดู ใบจอง

โฉนดที่ดิน -  1. เอกสารราชการแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดิน  2. (ป.ที่ดิน ม.1) หนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดิน และให้หมายความรวมถึงโฉนดแผนที่ โฉนดตราจองและตราจองที่ตราว่า “ได้ทำประโยชน์แล้ว”




ชนิด –  (ของสัตว์) (ปพพ.ม.433) ประเภทของสัตว์ว่า เป็นสัตว์ดุหรือสัตว์ร้าย

ช่วงทรัพย์ – 1. การเปลี่ยนทรัพย์ชำระหนี้อันใหม่แทนที่ทรัพย์เก่าโดยผลของกม. เหตุของการช่วงทรัพย์คือ การชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยอันทำให้ลูกหนี้ได้ทรัพย์สินอื่นแทนมาหรือมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทน เจ้าหนี้จะเรียกของแทนหรือค่าสินไหมทดแทนก็ได้ 2. (ปพพ.ม.226) เอาทรัพย์สินอันหนึ่งเข้าแทนที่ทรัพย์สินอีกอันหนึ่งในฐานะนิตินัยอย่างเดียวกับทรัพย์สินอันก่อน

ช่องเดินรถ – (พรบ.จราจรทางบก  2522 ม. 4 (4)) ทางเดินรถที่จัดแบ่งไว้เป็นช่องสำหรับการเดินรถ โดยทำเครื่องหมายเป็นเส้นหรือแนวแบ่งเป็นช่องไว้

ช่องเดินรถประจำทาง – (พรบ.จราจรทางบก  2522 ม. 4 (5)) ช่องเดินรถที่กำหนดให้เป็นช่องเดินรถสำหรับรถ โดยสารประจำทางหรือรถบรรทุกคนโดยสารประเภทที่อธิบดี(กรมตำรวจ)กำหนด

ชักลาก – (พรบ.ป่าไม้  2484 ม.4(9)) การนำไม้หรือของป่าจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งด้วยกำลังแรงงาน

ชันสูตรพลิกศพ – การตรวจพิสูจน์ศพเพื่อให้ทราบว่า ผู้ตายคือใคร ตายที่ใดและเมื่อใด สาเหตุและพฤติการณ์ที่ตาย

 ชาติ -  (กม.มหาชน) การที่มนุษย์แต่ละคนเข้ามาอยู่ร่วมกันโดยมีความผูกพันร่วมกันทั้งทางสาระวัตถุและทางจิตใจ และมีความรู้สึกผิดแผกแตกต่างจากชนชาติอื่น

ชิงทรัพย์ –   ความผิดอาญาตามปอ.ม. 339 โดยเป็นการลักทรัพย์โดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อ (1) ให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์หรือการพาทรัพย์นั้นไป  (2) ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้น (3) ยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้ (4) ปกปิดการกระทำความผิดนั้น หรือ (5) ให้พ้นจากการจับกุม  

ชี้สองสถาน – กระบวนพิจารณาในคดีแพ่งที่ชี้ขาดสถานใดสถานหนึ่งระหว่างสองสถาน  กล่าวคือชี้ขาดคดีโดยมิต้องมีการพิสูจน์ข้อเท็จจริง ในกรณีที่คู่ความยอมรับข้อเท็จจริงกันสถานหนึ่ง กับชี้ขาดคดีโดยต้องพิสูจน์ข้อเท็จจริงในกรณีที่คู่ความโต้แย้งกันอีกสถานหนึ่ง

ชื่อตัว – (พรบ.ชื่อบุคคล 2505 ม.4) ชื่อประจำบุคคล

ชื่อรอง – (พรบ.ชื่อบุคคล 2505 ม.4) ชื่อประกอบถัดจากชื่อตัว

ชื่อสกุล – (พรบ.ชื่อบุคคล 2505 ม.4) ชื่อประจำวงศ์สกุล

ชุลมุนต่อสู้ – (ปอ.ม. 294) การไม่ทราบว่า ผู้ใดทำร้ายให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย (ฎ. 791-792/2504)

ชู้เหนือขันหมาก – (ก) ผิดเมียในขันหมาก

ชู้เหนือผี – (ก) ชายที่ลักลอบได้เสียกับหญิงที่ผัวตายขณะศพผัวยังอยู่บนเรือน

ชู้เหนือผัว – (ก) ชายที่ลักลอบได้เสียกับเมียผู้อื่นขณะที่ผัวยังมีชีวิต

เชิงกระยาดอกเบี้ย – (ก) ทำงานต่างดอกเบี้ย

เช็ค -       (ป.พ.พ. ม.987) หนังสือตราสารซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า ผู้สั่งจ่าย สั่งธนาคารให้ใช้เงินจำนวนหนึ่งเมื่อทวงถามให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งหรือให้ใช้ตามคำสั่งของบุคคลอีกคนหนึ่งอันเรียกว่า ผู้รับเงิน  เช็คมี 6 ประเภทคือ เช็คเงินสด เช็คระบุชื่อผู้รับเงิน เช็คระบุชื่อผู้รับเงินแต่ไม่ได้ขีดฆ่าคำว่าผู้ถือ  เช็คขีดคร่อม  เช็คที่ธนาคารเป็นผู้สั่งจ่ายและเช็คที่ธนาคารรับรอง

เช็คขีดคร่อม – เช็คที่มีเส้นขนานคู่ขีดขวางที่ด้านหน้าเช็คซึ่งอาจจะมีข้อความหรือไม่ก็ได้ ผู้ทรงจะนำเช็คไปเบิกเงินสดจากธนาคารไม่ได้ แต่จะต้องนำเช็คไปเข้าบัญชีธนาคารของตนเองหรือของผู้อื่นเพื่อให้ธนาคารนั้นเรียกเก็บเงินจากธนาคาร(ผู้จ่าย)ตามเช็ค  แบ่งเป็นเช็คขีดคร่อมทั่วไปและเช็คขีดคร่อมเฉพาะ

เช็คขีดคร่อมเฉพาะ – เช็คที่มีเส้นขนานคู่ขีดขวางที่ด้านหน้าเช็คโดยมีหรือระบุชื่อธนาคารใดธนาคารหนึ่งไว้โดยเฉพาะในระหว่างเส้นคู่ขนานทั้งสอง ผู้ทรงจะต้องนำเช็คไปเข้าบัญชีธนาคารที่ระบุในเส้นคู่ขนาน  ธนาคาร(ผู้จ่าย)จึงจะจ่ายเงินให้ 

เช็คขีดคร่อมทั่วไป – เช็คที่ผู้สั่งจ่ายขีดเส้นขนานคู่ขวางที่ด้านหน้าเช็คซึ่งอาจจะมีคำว่า และบริษัทหรือคำย่ออื่นใดของข้อความนี้อยู่ในระหว่างเส้นขนานหรือไม่ก็ได้ ผู้ทรงจะนำเช็คไปเบิกเงินสดจากธนาคารไม่ได้ แต่จะต้องนำเช็คไปเข้าบัญชีธนาคารของตนเองหรือของผู้อื่นเพื่อให้ธนาคารนั้นเรียกเก็บเงินจากธนาคาร(ผู้จ่าย)ตามเช็ค 

เช็คของขวัญ - เช็คที่ธนาคารเป็นผู้สั่งจ่ายหรือเป็นผู้ออกสำหรับให้คนทั่วไปซื้อไปใช้ในการมอบเป็นของขวัญ

เช็คเงินสด – เช็คที่ผู้สั่งจ่ายมิได้ระบุชื่อผู้รับเงินเพียงแต่เขียนในช่องจ่ายเงินว่า “จ่ายเงินสด”โดยไม่ได้ขีดคำว่า “หรือผู้ถือ”ออก โดยประสงค์จะให้ธนาคารใช้เงินแก่ผู้นำเช็คมาขึ้นเงินเท่านั้น  ผู้ครอบครองเช็คประเภทนี้เป็นผู้ทรงและสามารถโอนสิทธิกันได้โดยการส่งมอบเท่านั้น บางครั้งเรียกเช็คผู้ถือ

เช็คเดินทาง - เช็คที่ธนาคารหรือบริษัททางการเงินเป็นผู้สั่งจ่ายหรือผู้ออกโดยมีวัตถุประสงค์ที่จะให้นักเดินทางพกติดตัวและใช้เบิกเงินสดที่ต่างประเทศ  ส่วนใหญ่จะเรียกว่า  Traveler’s Cheque

เช็คที่ธนาคารเป็นผู้รับรอง – เช็คที่ธนาคารซึ่งมีหน้าที่จะต้องจ่ายเงินตามเช็คได้เข้ามาเขียนข้อความ(เช่นใช้ได้ ใช้เงินได้หรือคำที่แสดงผลอย่างเดียวกัน) และลงลายมือชื่อรับรองเช็ค  ซึ่งธนาคารจะต้องรับผิดที่จะใช้เงินแก่ผู้ทรงในฐานะที่เป็นลูกหนี้ชั้นต้น

เช็คที่ธนาคารเป็นผู้สั่งจ่าย – เช็คที่ธนาคารเป็นผู้สั่งจ่ายหรือเป็นผู้ออก ได้แก่ แคชเชียร์เช็คหรือแคชเชียร์ออร์เดอร์เช็ค  เช็คเดินทางและเช็คของขวัญ

เช็คผู้ถือ – ดู เช็คเงินสด

เช็คระบุชื่อผู้รับเงิน – เช็คที่ผู้สั่งจ่ายระบุชื่อผู้รับเงินไว้เป็นการเฉพาะและขีดฆ่าคำว่า “หรือผู้ถือออก” โดยประสงค์จะให้ธนาคารใช้เงินแก่ผู้ที่ระบุชื่อในเช็คเท่านั้น  เช็คประเภทนี้สามารถโอนสิทธิกันได้โดยการสลักหลังเฉพาะหรือสลักหลังลอย

เช็คระบุชื่อผู้รับเงินแต่ไม่ได้ขีดฆ่าคำว่า “หรือผู้ถือ” ออก – เช็คที่ผู้สั่งจ่ายระบุชื่อผู้รับเงินไว้เป็นการเฉพาะแต่ไม่ได้ขีดฆ่าคำว่า “หรือผู้ถือ”ออก โดยประสงค์จะให้ธนาคารใช้เงินแก่ทั้งผู้ที่ระบุชื่อในเช็คและทั้งผู้ถือด้วย 

เชื้อโรค – (พรบ.เชื้อโรคและพิษจากสัตว์  2525 ม. 4) (1) เชื้อจุลินทรีย์ (2) เชื้ออื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง (3) ผลิตผลจาก (1) หรือ (2)  ทั้งนี้เฉพาะที่ทำให้เกิดโรคในคน ปศุสัตว์ สัตว์พาหนะหรือสัตว์อื่นที่กำหนดในกฎกระทรวง

ชำระหนี้เป็นพ้นวิสัย -  ไม่สามารถชำระหนี้ให้สำเร็จตามความประสงค์แท้จริงแห่งมูลหนี้ได้อย่างถาวรและแน่ นอน  เช่น ขายที่ดินโดยมีข้อตกลงว่า จะโอนกันเมื่อออก นส.3 แล้ว   แต่เมื่อออก นส. 3 กลับมีข้อกำหนดห้ามโอน 10 ปี (ฎ. 1718/2539)   ไม่เป็นการชำระหนี้โดยพ้นวิสัย เช่น  การที่วัสดุก่อสร้างมีราคาแพงขึ้น (ฎ. 928/2521, 2829/2522)  การที่นำรถยนต์เข้ามาในราชอาณาจักรโดยมีข้อตกลงกับกรมศุลกากรว่า จะนำรถกลับออกไปภายในเวลากำหนด  แต่ประเทศที่จะนำรถกลับเปลี่ยนแปลงการปกครอง  จำเลยไม่กล้านำกลับ (ฎ.1185 /2533)  การที่ส่งมอบดินขาวจากโรงงานของจำเลยไม่ได้เพราะมีโจรแบ่งแยกดินแดนข่มขู่เรียกค่าคุ้มครองจากโรงงาน จำเลย  (ฎ. 2046/2531) การที่บริษัทผู้ผลิตไม่ส่งวิทยุหาทิศให้  จึงไม่สามารถส่งมอบวิทยุหาทิศ (ฎ. 3342/2532) ไม่สามารถส่งทรายกองได้อ้างว่ามีเหตุสุดวิสัยเนื่องจากฝนตกชุก  ไม่มีแดดตากทรายให้แห้ง (ฎ. 5516/2537)

ใช้กำลังทำร้าย –  (ปอ.ม. 391) การกระทำที่เป็นการใช้กำลังอันเป็นปฏิปักษ์ทำต่อเนื้อตัวร่างกายของผู้อื่น เช่น ใช้เล็บข่วนจมูกเป็นแผลยาว 1 ซม. โลหิตไหล (ฎ.1867/2527) ถ่ายปัสสาวะรด (ฎ. 634/2486) ราดด้วยอุจจาระถูกร่างกาย (ฎ.1416,1417/2479)  ต่างจากใช้กำลังประทุษร้าย

ใช้เครื่องชั่งที่ผิดอัตรา –  ความผิดตาม ปอ. ม. 270

ใช้น้ำบาดาล – (พรบ.น้ำบาดาล  2520 ม.3) นำน้ำจากบ่อน้ำบาดาล ขึ้นมาใช้

ใช้ยานพาหนะที่น่าจะเกิดอันตราย – ความผิดตามปอ.ม. 233

ใช้สิทธิ – (ปพพ.ม.1359) รวมถึง การใช้สิทธิทางศาลด้วย

ใช้สิทธิเกินส่วน – (ปพพ.ม. 421) การใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นโดยผู้กระทำมีเจตนาหรือจงใจกลั่นแกล้งโดยมุ่งประสงค์ที่จะให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นฝ่ายเดียว (ฎ. 220/2538)

ใช้สิทธิในทางศาล – การร้องขอต่อศาลเพื่อขอให้รับรองสิทธิของผู้ร้องโดยสิทธิดังกล่าวต้องมีกม.สาระบัญญัติรับรอง  เช่น ร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก ร้องต่อศาลขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่บริษัท (ฎ.1537/2514)  เป็นเงื่อนไขในการดำเนินคดีไม่มีข้อพิพาท

ใช้สิทธิไม่สุจริต – (ปพพ.ม. 5) หลักที่ว่า การที่จะบังคับตามสิทธิหรือขอใช้สิทธิโดยการฟ้องร้องคดีก็ต้องสืบเนื่องมาจากการกระทำอันสุจริตของตนในตอนแรก  หากไม่สุจริตมาแต่แรกก็จะนำคดีมาฟ้องศาลไม่ได้

ใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ – (ปพพ. ม.233) การที่เจ้าหนี้ใช้สิทธิเรียกร้องแทนลูกหนี้เมื่อลูกหนี้ขัดขืนหรือเพิกเฉยไม่ยอมใช้สิทธิเรียกร้องของตนอันทำเจ้าหนี้เสียประโยชน์

ใช้หรืออ้างเอกสารปลอม –   ความผิดตาม ปอ. ม. 268

เช่า – ดู เช่าทรัพย์  เช่าทรัพย์สิน

เช่าช่วง – สัญญาเช่าทรัพย์สินที่ผู้เช่า(ไม่ใช่เจ้าของ)เป็นผู้นำทรัพย์สินที่เช่าออกให้ผู้อื่นเช่าต่ออีกทอดหนึ่ง

เช่าทรัพย์ -ชื่อของกม.ลักษณะที่ 4 ในบรรพ 3 ปพพ.
 
เช่าทรัพย์สิน  - 1. สัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า ผู้ให้เช่า ตกลงให้บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่า ผู้เช่า ได้ใช้หรือได้รับประโยชน์ในทรัพย์สินอย่างใดอย่างหนึ่งชั่วระยะเวลาอันมีจำกัด และผู้เช่าตกลงจะให้ค่าเช่าเพื่อการนั้น (ปพพ.ม. 537) 2. ชื่อของสัญญาประเภทหนึ่ง 

เช่าซื้อ -    – 1.สัญญาซึ่งเจ้าของเอาทรัพย์สินออกให้เช่าและให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินนั้นหรือว่าจะให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นสิทธิแก่ผู้เช่า โดยเงื่อนไขที่ผู้เช่าได้ใช้เงินเป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้คราว (ปพพ.ม.572) สัญญาเช่าซื้อต้องทำตามแบบโดยต้องทำเป็นหนังสือมิฉะนั้นจะเป็นโมฆะ  2. ชื่อของกม.ลักษณะที่ 5 ในบรรพ 3 ปพพ.  3. ชื่อของสัญญาประเภทหนึ่ง 




ซ่องโจร -   ความผิดอาญาฐานหนึ่งตาม ป.อ. ม.210 ซึ่งเป็นการกระทำที่ผู้กระทำสมคบกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่บัญญัติไว้ใน ปอ.ภาค 2 และความผิดนั้นมีกำหนดโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป 

ซ่อนเร้น – (ปอ.ม. 142 ) การกระทำที่เป็นการปกปิด  หรือปิดบังเพื่อไม่ให้หาเจอหรือยากแก่การค้นหา

ซ่อมแซม – (พรบ.ควบคุมอาคาร 2522 ม.4) ซ่อมหรือเปลี่ยนส่วนต่างๆ ของอาคารให้คงสภาพเดิม

ซ้อมพยาน – การที่ทนายความหรืออัยการสอบถามพยานบุคคลก่อนขึ้นเบิกความต่อศาล ต่อหน้าพยานอื่นๆ หลายคนพร้อมกันเพื่อให้ข้อเท็จจริงเป็นอย่างเดียวกันและไม่แตกต่างกัน

ซักถาม – การที่คู่ความถามพยานที่ตนเองอ้างมาในการสืบพยาน เป็นการเริ่มต้นถามพยานปากนั้นเป็นครั้งแรกโดยกม.ห้ามมิให้ใช้คำถามนำ         ดู ถามค้าน  ถามติง     

ซากของสัตว์ป่า –   (พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า  2535 ม.4) ร่างกายหรือส่วนของร่างของสัตว์ป่าที่ตายแล้ว หรือเนื้อของสัตว์ป่า ไม่ว่าจะได้ปิ้ง ย่างรม ตากแห้ง หมักหรือทำอย่างอื่นเพื่อไม่ให้เน่าเปื่อย และไม่ว่าจะชำแหละ  แยกออก หรืออยู่ในร่างของสัตว์ป่านั้นและหมายความรวมถึงเขา หนัง กระดูกฟัน งา ขนาย นอ ขน เกล็ด เล็บ กระดอง เปลือกหรือส่วนต่างๆ ของสัตว์ป่าที่แยกออกจากร่างของสัตว์ป่าไม่ว่าจะยังมีชีวิตหรือตายแล้ว

ซากรถยนต์  – (พรบ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง 2535 ม. 4) รถยนต์ รถจักรยานยนต์ เครื่องจักรกล เรือ ล้อเลื่อน ยานพาหนะอื่นๆ ที่เสื่อมสภาพจนไม่อาจใช้การได้ และหมายความรวมถึงชิ้นส่วนของรถ เครื่องจักรกลหรือยานพาหนะ

ซื้อ – 1. (ป.รัษฎากร ม. 77/1(15)) การรับโอนหรือรับมอบสินค้าจากการขาย  2. (พรบ. ขายตรงและตลาดแบบตรง  2545 ม.3) หมายความรวมถึง เช่า เช่าซื้อ หรือได้มาไม่ว่าด้วยประการใดๆ โดยให้ค่าตอบแทนเป็นเงินหรือผลประโยชน์อย่างอื่น

ซื้อขาย -               1. (ปพพ.ม. 453)  สัญญาซึ่งบุคคลฝ่ายหนึ่งเรียกว่า ผู้ขายโอนกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินให้แก่บุคคลอีกฝ่ายหนึ่งเรียกว่า ผู้ซื้อ และผู้ซื้อตกลงว่าจะใช้ราคาทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้ขาย 2. ชื่อของกม.ลักษณะที่ 1 ในบรรพ 3 ปพพ.  3. ชื่อของสัญญาประเภทหนึ่ง 

ซื้อแร่  -  (พรบ.แร่ 2510 ม.4) การรับโอนแร่ด้วยประการใดจากบุคคลอื่นนอกจากการตกทอดทางมรดก

ซื้อหรือขายทันที – (พรบ.เงินตรา 2501 ม.4) ซื้อหรือขายโดยโอนตามคำสั่งทางโทรเลข

ซึ่งหน้า -   1. (ปอ. ม.336) รู้สึกตัวและเห็นเหตุการณ์ในทันที  ไม่จำเป็นต้องฉกฉวยเอาข้างหน้า เช่น กระตุกสร้อยข้างหลัง (ฎ.1315/2513,393/2520) 2. (ปอ.ม.393) การกระทำที่ทำให้ผู้อื่นได้รู้เห็นในทันทีทันใดที่ได้กระทำหรือได้ทราบข้อความที่ดูหมิ่นในทันที ดังนั้นด่าลับหลังจึงไม่ใช่ซึ่งหน้า(ฎ. 256/2509,1487/2516,2180/2531)

แซง – กิริยาที่แทรกหรือเสียด  เบียดเข้าไปหรือเฉียดไป (ฎ.1288/2508)

ฌ-ญ-ฎ-ฏ


ฌองส์  ฌาคส์ รุสโซ – (ค.ศ. 1712 – 1778) นักปรัชญาการเมืองชาวสวิส ซึ่งเสนอทฤษฎีว่าด้วยอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน โดยเขียนไว้ในหนังสือเรื่อง สัญญาประชาคม (Social Contract) ได้อธิบายว่า อำนาจอธิปไตยมีอยู่แล้วในตัวมนุษย์ทุกคน เมื่อมนุษย์มารวมตัวกันเป็นรัฐ ต่างได้ทำสัญญากันว่า จะโอนอำนาจอธิปไตยที่มีอยู่ในตัวให้กับรัฐ

ฌอง  โบแดง – (ค.ศ. 1530 -1596) นักปรัชญาการเมืองของฝรั่งเศส ซึ่งเสนอทฤษฎีว่าด้วยอำนาจอธิปไตยเป็นของกษัตริย์ และเป็นผู้ริเริ่มใช้คำว่า อำนาจอธิปไตย (Sovereignty) โดยเขียนไว้ในหนังสือเรื่อง วรรณกรรมหกเล่มว่าด้วยรัฐ (Six Books Concernning the States)  อธิบายว่า อำนาจอธิปไตยเป็นอำนาจสูงสุดในการปกครองรัฐ

ญัตติ – ข้อเสนอเพื่อลงคะแนนหรือเพื่อให้มีมติ

ญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ – (รัฐธรรมนูญฯ) เป็นวิธีการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินวิธีการหนึ่งซึ่งมีประสิทธิภาพมากกว่าการตั้งกระทู้ถาม ญัตตินี้ต้องมีการลงมติ หากผลการลงมติมีคะแนนเสียงข้างมากเกินกว่ากึ่งจำนวนของสส.ทั้งหมดที่มีอยู่ในสภาผู้แทนราษฎรจะมีผลให้รัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่ง
    มี 2 กรณีคือ ญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี และญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรมต.เป็นรายบุคคล

ญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี – (รธน.) การเสนอญัตติเพื่อควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน โดยจะต้องมี สส. ไม่น้อยกว่า 2 ใน 5 ของจำนวน สส. เท่าที่มีอยู่ในสภาผู้แทนราษฎรมีสิทธิเข้าชื่อเสนอญัตติ และในญัตตินี้ต้องมีการเสนอชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไปไว้ด้วย หากญัตติมีเนื้อหาที่เกี่ยวกับพฤติกรรมของนายกรัฐมนตรีที่มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ราชการหรือจงใจฝ่าฝืนบทบัญญัติรัฐธรรมนูญหรือกม. จะต้องมีการเสนอเรื่องให้วุฒิสภาพิจารณาถอดถอนนายกรัฐมนตรีด้วย
เมื่อเสนอญัตตินี้แล้ว จะยุบสภาผู้แทนราษฎรมิได้ เว้นแต่จะมีการถอนญัตติหรือมีการลงมติไม่ไว้วางใจมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของสส.ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร
การลงมติ จะต้องกระทำในวันเดียวกับที่การอภิปรายสิ้นสุดลง (1) หากมีมติไม่ไว้วางใจด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของสส.เท่าที่มีอยู่ นายกรัฐมนตรีจะพ้นจากตำแหน่ง และประธานสภาผู้แทนราษฎรต้องนำชื่อผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อตามญัตติกราบบังคมทูลเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งต่อไป   (2) หากมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่เกินกึ่งหนึ่ง สส.ที่เข้าชื่อเสนอญัตติจะหมดสิทธิที่จะเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายนายกรัฐมนตรีตลอดสมัยประชุมนั้น

ญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล – (รธน.) การเสนอญัตติเพื่อควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน โดยจะต้องมี สส. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวน สส. เท่าที่มีอยู่ในสภาผู้แทนราษฎรมีสิทธิเข้าชื่อเสนอญัตติ   หากมีมติไม่ไว้วางใจด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของสส.เท่าที่มีอยู่  รัฐมนตรีจะพ้นจากตำแหน่ง

ญัตติขอฟังความคิดเห็นจากรัฐสภา – การที่นายกรัฐมนตรีแจ้งไปยังประธานรัฐสภาเพื่อขอให้มีการเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อรับฟังความคิดเห็นของ สส. และ สว. ในปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งการอภิปรายนี้จะไม่มีการลงมติ

ญัตติขอให้รัฐบาลแถลงข้อเท็จจริง – (รธน.)การที่ สว.จำนวนไม่น้อยกว่า 3 ใน 5 ของ สว.เท่าที่มีในวุฒิสภาเข้าชื่อเสนอญัตติขอให้คณะรัฐมนตรีแถลงข้อเท็จจริงหรือชี้แจงปัญหาสำคัญของการบริหารราชการแผ่นดินโดยไม่มีการลงมติ การยื่นญัตตินี้ทำได้ครั้งเดียวในสมัยประชุมหนึ่งๆ 

ญัตติขอให้สภาพิจารณาเรื่องใดๆ – (รธน.)การที่สส.หรือสว.เสนอญัตติเพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาพิจารณาปัญหาใดๆ และเมื่อสภาพิจารณาแล้ว จะต้องมีมติว่าจะดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง 
การเสนอญัตตินี้จะต้องมีสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่า 5 คน แต่ถ้าเป็นญัตติขอให้สภาจัดตั้งกรรมาธิการวิสามัญขึ้นเพื่อพิจารณาศึกษาเรื่องใดในสภาผู้แทนราษฎรต้องมี สส.รับรองไม่น้อยกว่า 30 คน
เรื่องที่เสนออาจเป็นทั้งเรื่องทั่วๆไป (ซึ่งเสนอเป็นญัตติธรรมดา) หรือเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับประโยชน์สำคัญของแผ่นดิน หรือมีความจำเป็นเร่งด่วนในอันที่จะรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือความมั่นคงของประเทศไม่ว่าในการเศรษฐกิจหรือในทางใดๆ หรือในอันที่จะขจัดเหตุใดๆ ที่จะกระทบกระเทือนต่อเสรีภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง (ซึ่งจะเสนอเป็นญัตติด่วน)

ญัตติธรรมดา – ญัตติที่เสนอให้มีการพิจารณาปัญหาทั่วๆไป

ญัตติด่วน - ญัตติที่เสนอให้พิจารณาปัญหาที่เกี่ยวกับประโยชน์สำคัญของแผ่นดิน หรือมีความจำเป็นเร่งด่วนในอันที่จะรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือความมั่นคงของประเทศไม่ว่าในการเศรษฐกิจหรือในทางใดๆ หรือในอันที่จะขจัดเหตุใดๆ ที่จะกระทบกระเทือนต่อเสรีภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง

ฎีกา  -    1.คำฟ้องที่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยื่นต่อศาลฎีกาโดยอ้างว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไม่ถูกต้องในข้อเท็จจริงหรือในข้อกม.  2. ภาษาพูดหมายถึง คำพิพากษาฎีกา 3.ชื่อแบบพิมพ์ศาลแบบพิมพ์หนึ่งที่ใช้ในการเขียนคำฟ้องฎีกา

ฐ-ฒ-ณ

ฐานความผิด – ชื่อของความผิดอาญาในมาตราใดมาตราหนึ่ง เช่น ฐานความผิดลักทรัพย์  ฐานความผิดยักยอกทรัพย์

ฐานที่อยู่ – ข้อต่อสู้ของจำเลยในคดีอาญาที่อ้างว่า ในขณะที่มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น จำเลยไม่ได้อยู่ในสถานที่เกิดเหตุ แต่อยู่ ณ ที่แห่งอื่น ในคำพิพากษาของศาล มักจะใช้ว่า จำเลยต่อสู้โดยอ้างฐานที่อยู่  หรือจำเลยนำสืบอ้างฐานที่อยู่

ฐานภาษี – สิ่งที่ใช้เป็นเกณฑ์ในการจัดเก็บภาษี เช่น เงินได้สุทธิ ในภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา   กำไรสุทธิในภาษีเงินได้นิติบุคคล  ได้แก่ ฐานรายได้  ฐานการบริโภค ฐานทรัพย์สินและฐานสิทธิพิเศษในการประกอบกิจการ

ฐานะ – ความเป็นอยู่  อัตภาพ

ฐานานุรูป – สมควรแก่ความเป็นอยู่หรือฐานะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น