วันพฤหัสบดีที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2553

ผู้จัดการมรดก -ยักยอกทรัพย์

หลักกฎหมายและ ฎีกา
ผู้จัดการมรดก ยักยอกทรัพย์

๐ความหมายและการตั้งผู้จัดการมรดก

ผู้จัดการ มรดก คือ ตัวแทนของทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกตามกฎหมาย มีหน้าที่ในการรวบรวมทรัพย์มรดก และแบ่งทรัพย์มรดกแก่ทายาทตามสิทธิของทายาทผู้มีสิทธิรับมรดก

ผู้มีสิทธิเป็นผู้จัดการมรดก ต้องมีคุณสมบัติครบถ้วนตามกฎหมาย

๐ การตั้งผู้จัดการมรดก อาจตั้งโดยกำหนดไว้ในพินัยกรรม หรือเจ้ามรดกตั้งไว้ก่อนตาย หรือตั้งโดยคำสั่งศาล   การตั้งผู้จัดการมรดก โดยคำสั่งศาลนั้น มีได้ในกรณี ดังนี้ 1.เจ้ามรดกไม่ได้ตั้งบุคคลใดเป็นผู้จัดการมรดก  2.ผู้จัดการมรดกลาออก  3.ผู้จัดการมรดกตาย  4.ศาลมีคำสั่งถอดถอนผู้จัดการมรดก

การ ขอตั้งผู้จัดการมรดกในกรณีที่เจ้ามรดกไม่ได้ตั้งบุคคลใดเป็นผู้จัดการมรดก ต้องอาศัยคำสั่งศาลเท่านั้น โดยต้องยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดก

ผู้มีสิทธิร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดก คือ ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดก

เมื่อศาลตั้งผู้จัดการมรดกแล้ว ผู้จัดการมรดกต้องทำหน้าที่ของตนเอง เช่น การทำบัญชีทรัพย์ภายในกำหนดเวลา 15 วัน นับแต่ศาลมีคำสั่ง

ปัญหาที่เกิดเกี่ยวกับผู้จัดการมรดก มีมากมายนับไม่ถ้วน แต่ที่เด่นๆ
มักเกิดจากทายาทด้วยกัน
แย่งกันเป็นผู้จัดการมรดก
ผู้จัดการมรดกไม่ยอมแบ่งทรัพย์มรดกแก่ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดก
การฟ้องถอดถอนผู้จัดการมรดก
คัดค้านการขอตั้งผู้จัดการมรดก
ไม่ยินยอมให้ศาลตั้งคนนี้เป็นผู้จัดการมรดก
ผู้จัดการมรดกปิดบังทรัพย์มรดก
ผู้จัดการมรดกยักยอกทรัพย์มรดก
ตอนร้องขอจัดการมรดกแจ้งว่ามีทายาทไม่ครบตามความเป็นจริง
ฮุบมรดก
ตั้งผู้จัดการมรดกโดยร้องขอให้จัดการเฉพาะส่วน
หลังจากที่ศาลมีคำสั่งตั้งบุคคลใดเป็นผู้จัดการมรดกแล้ว  สิทธิ และหน้าที่ของผู้จัดการมรดกย่อมเป็นไปตามบทบัญญัติกฎหมายแห่งประมวลกฎหมาย แพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยมรดกซึ่งได้บัญญัติถึงสิทธิหน้าที่ความรับผิดชอบและ การเพิกถอนผู้จัดการมรดก  ตลอดถึงการรวบรวมจำหน่ายทรัพย์มรดกเป็นตัวเงิน  และการชำระหนี้กับแบ่งปันทรัพย์มรดก  นอกจากนี้ได้บัญญัติถึงกรณีมรดกที่ไม่มีผู้รับและอายุความมรดก  เพราะผู้จัดการมรดกถือเป็นตัวแทนของทายาททุกคนในอันที่จะรวบรวมทรัพย์มรดก   ทั้งจัดแบ่งทรัพย์มรดกและมอบทรัพย์มรดกแก่ทายาท  โดยต้องชำระหนี้กองมรดกก่อน(ถ้ามี)  มิใช่ว่าเมื่อศาลมีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกแล้ว  ผู้จัดการ มรดกจะทำได้ตามอำเภอในตนเองโดยโอนทรัพย์สินเป็นของตนเองโดยลำพังและไม่แจ้ง หรือปรึกษาบรรดาทายาทก่อนทั้งที่กฎหมายกำหนดบทบาทของผู้จัดการมรดกไว้แล้วใน ที่นี้จะขอกล่าวแต่เฉพาะที่เห็นว่าจำเป็นและควรรู้เท่านั้น  ดังมีรายละเอียดต่อไปนี้

1.  หน้าที่ผู้จัดการมรดก
1.  หน้าที่ผู้จัดการมรดกที่ศาลเริ่มนับตั้งแต่วันที่ได้ฟังคำสั่งศาลแล้ว (ม.๑๗๑๖)
2.  หน้าที่ผู้จัดการมรดกต้องลงมือจัดทำบัญชีทรัพย์มรดกภายใน  ๑๕  วัน  นับแต่วันที่เริ่มหน้าที่ผู้จัดการมรดก (วันฟังคำสั่งศาลหรือถือว่าได้ฟังคำสั่งศาลแล้ว  ตามข้อ ๑) (ม.๑๗๒๘)
3.  ผู้จัดการมรดกต้องจัดทำบัญชีทรัพย์มรดกให้เสร็จภายใน  ๑  เดือน  หากไม่เสร็จภายใน  ๑  เดือน  ผู้จัดการมรดกร้องขอต่อศาลอนุญาตขยายเวลาอีกได้  แต่ต้องขอขยายก่อนสิ้นกำหนดเวลาหนึ่งเดือน (ม.๑๗๒๙)
4.  บัญชีทรัพย์มรดกต้องมีพยาน  ๒  คน  และต้องเป็นทายาทที่มีส่วนได้เสียในกองมรดก (ม.๑๗๒๙ วรรค  ๒)
(ข้อสังเกต*  คำว่าบัญชีทรัพย์มรดกซึ่งจัดทำขึ้นโดยผู้จัดการมรดกหมายถึง  บัญชีทรัพย์ซึ่งผู้จัดการมรดกที่ได้รับแต่งตั้งจากศาลเป็นผู้ทำ  หา ใช่บัญชีทรัพย์ที่ยื่นพร้อมคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกไม่เพราะขณะทำบัญชี ทรัพย์ถือว่ายังไม่มีหน้าที่เป็นผู้จัดการมรดก (คำพิพากษาฎีกาที่  ๑๒๙๒-๑๒๙๓/๒๕๑๒)
                        - มาตรา    ๑๗๒๘,  ๑๗๒๙  เป็นบทบังคับให้ทำบัญชีทรัพย์มรดกไม่ใช่บทบังคับให้ทำบัญชีรับและจ่ายทรัพย์มรดก
                        -  บัญชีทรัพย์มรดกต้องมีรายการแสดงว่าเป็นทรัพย์สิน, สิทธิเรียกร้องอะไรบ้างเงินมูลค่าเท่าใดและแจ้งจำนวนเจ้าหนี้ว่ามีใครบ้าง   เป็นเงินรวมเท่าใด
5.  ถ้าผู้จัดการมรดกมิได้จัดทำบัญชีทรัพย์มรดกให้เสร็จภายในกำหนดเวลาและตามแบบที่กำหนดหรือบัญชีไม่เป็นที่พอใจแก่ศาล  เพราะความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงหรือการทุจริต  หรือความไม่สามารถอันเห็นประจักษ์ของผู้จัดการมรดก  ศาลจะถอนผู้จัดการมรดกเสียก็ได้               (ม.๑๗๓๑)
6.  ผู้จัดการมรดกต้องจัดการตามหน้าที่  และทำรายงานแสดงบัญชีการจัดการและแบ่งปันมรดกให้เสร็จภายใน  ๑  ปี  นับแต่วันฟังคำสั่งศาล  หรือถือว่าได้ฟังคำสั่งศาลแล้วเว้นแต่ทายาทโดยจำนวนข้างมาก  หรือศาลจะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น (ม.๑๗๓๒)
7.  ผู้จัดการมรดกไม่มีสิทธิที่จะได้รับบำเหน็จจากกองมรดกเว้นแต่พินัยกรรมหรือทายาทจำนวนข้างมากจะได้กำหนดไว้ (ม.๑๗๒๑)
8.  ผู้จัดการมรดกจะทำพินัยกรรมใด ๆ  ซึ่งตนมีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกไม่ได้  เว้นแต่พินัยกรรมจะได้อนุญาตไว้หรือได้รับอนุญาตจากศาล (ม.๑๗๒๒)
9.  ผู้จัดการมรดกต้องจัดการมรดกด้วยตนเอง (ม.๑๗๒๓)
10.  ถ้าผู้จัดการมรดกเข้าทำนิติกรรมกับบุคคลภายนอก  โดยเห็นแก่ทรัพย์สินอย่างใด  ๆ  หรือประโยชน์อื่นใด  อันบุคคลภายนอกได้ให้    หรือได้ให้คำมั่นว่าให้เป็นลาภส่วนตัวย่อมไม่ผูกพันทายาท  เว้นแต่ทายาท   เว้นแต่ทายาทจะได้ยินยอมด้วย (ม.๑๗๒๔  วรรค ๒)
11.  ผู้จัดการ มรดกต้องสืบหาโดยสมควรซึ่งตัวผู้มีส่วนได้เสียและแจ้งไปให้ทราบถึงข้อกำหนด พินัยกรรมที่เกี่ยวกับผู้มรส่วนได้เสียนั้นภายในเวลาอันสมควร       (ม.๑๗๒๕)
12.  ทายาทจะต้องบอกทรัพย์สินมรดกและหนี้สินของผู้ตายตามที่ตนรู้ทั้งหมดแก่ผู้จัดการมรดก (ม.๑๗๓๕)
13.  ผู้จัดการมรดกต้องจัดแบ่งสินมรดกและมอบโดยเร็วโดยชำระหนี้กองมรดก (ถ้ามี) เสียก่อน (ม.๑๗๔๔)
size="3" color="black"
size="3" color="black"
size="3" color="black"
2.  ความรับผิดชอบของผู้จัดการมรดก
1.  ผู้จัดการมรดกต้องรับผิดชอบต่อทายาทในฐานะผู้จัดการและตัวแทนของทายาท (ม.๑๗๒๐) กล่าวคือ
                        1.1  เมื่อทายาทมีความประสงค์จะทราบความเป็นไปของการที่ได้มอบหมายแก่ผู้จัดการมรดกนั้นในเวลาใด ๆ ซึ่งสมควรแก่เหตุ  ผู้จัดการมรดกก็ต้องแจ้งให้ทายาททราบอนึ่ง  เมื่อการเป็นผู้จัดการมรดกนั้นสิ้นสุดลงแล้ว  ผู้จัดการมรดกต้องแถลงบัญชีด้วย (ม.๘๐๙)
                        1.2  เงินและทรัพย์สินอย่างอื่นบรรดาที่ผู้จัดการมรดกได้รับไว้เกี่ยวด้วยการเป็นผู้จัดการการมรดกนั้น   ท่านว่าผู้จัดการมรดก  ต้องส่งให้แก่ทายาทจนสิ้น
                        ­อนึ่ง  สิทธิทั้งหลายที่ผู้จัดการมรดกขวนขวายได้มาในนามของตนเองแต่โดยฐานที่ทำการแทนทายาทนั้น  ผู้จัดการมรดกก็ต้องโอนให้แก่ทายาทจนสิ้น (ม.๘๑๐)
                        1.3  ถ้าผู้จัดการมรดกเอาเงินซึ่งควรจะได้ส่งแก่ทายาท  หรือซึ่งควรจะใช้ในกิจของทายาทนั้นไปใช้สอยเป็นประโยชน์ตนเสีย  ผู้จัดการมรดกต้องเสียดอกเบี้ยในเงินนั้นนับแต่วันที่ได้เอาไปใช้ (ม.๘๑๑)
                        1.4  ถ้ามีความเสียหายเกิดขึ้นอย่างใด ๆ   เพราะความประมาทเลินเล่อของผู้จัดการมรดกก็ดี  เพราะไม่ทำการเป็นผู้จัดการมรดกก็ดี  หรือเพราะทำการโดนปราศจากอำนาจ  หรือนอกเหนืออำนาจก็ดี  ผู้จัดการมรดกจะต้องรับผิด        (ม.๘๑๒)
                        1.5  ถ้าผู้จัดการมรดกกระทำอันใดอันหนึ่งโดยปราศจากอำนาจก็ดีหรือทำนอกเหนืออำนาจก็ดี  ย่อมไม่ผูกพันทายาท  เว้นแต่ทายาทจะให้สัตยาบันแก่การนั้น
                        ถ้า ทายาทไม่ให้สัตยาบันผู้จัดการมรดกย่อมต้องรับผิดชอบต่อบุคคลภายนอกโดยลำพัง ตนเองเว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าบุคคลภายนอกนั้นได้รู้อยู่ว่าตนทำการโดยปราศจาก อำนาจ  หรือทำนอกเหนือขอบอำนาจ (ม.๘๒๓)
2.  เมื่อศาลเห็นสมควรโดยลำพัง  หรือเมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรืออัยการร้องขอศาลอาจสั่งให้ผู้จัดการมรดก
                        1.  หาประกันอันสมควรในการจัดการทรัพย์สินของทายาทตลอดจนการมอบคืนทรัพย์สินนั้น
                        2.  แถลงถึงความเป็นอยู่แห่งทรัพย์สินของทายาท (ม.๑๗๓๐ ประกอบ ม.๑๕๙๗)
3.  การเพิกถอนผู้จัดการมรดก
                        ผู้ มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะร้องขอให้ศาลสั่งให้ถอนผู้จัดการมรดกเพราะเหตุ ผู้จัดการมรดกละเลยไม่ทำการตามหน้าที่หรือเพราะเหตุอย่างอื่นที่สมควรก็ได้  แต่ต้องร้องขอเสียก่อนที่การปันมรดกเสร็จสิ้นลง
                        แม้ถึงว่าจะได้เข้ารับตำแหน่งแล้วก็ดี  ผู้จัดการมรดกจะลาออกจากตำแหน่งโดยมีเหตุอันสมควรก็ได้  แต่ต้องได้รับอนุญาตจากศาล (ม.๑๗๒๗)
4.  ข้อควรระวังในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้จัดการมรดก
                        ในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้จัดการมรดกนั้น  ผู้จัดการมรดกต้องมีจิตสำนึกว่าเป็นการจัดการแทนทายาทผู้มีสิทธิ์ได้รับมรดกในกรณีเจ้ามรดกไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้  หรือจัดการแทนผู้รับพินัยกรรมในกรณีที่มีการทำพินัยกรรม  มิใช่กระทำเพื่อตัวผู้จัดการมรดกเอง  ผู้ที่เป็นผู้จัดการมรดกได้จึงต้องเป็นผู้เสียสละและมีความซื่อสัตย์สุจริตเพราะถ้ากระทำไปเพื่อแสวงหาประโยชน์ส่วนตัว  เช่น  เบียดบังทรัพย์มรดกเป็นของตนเองแล้งก็จะเป็นการกระทำผิดอาญาข้อหายักยอกทรัพย์มรดก  ซึ่งมีโทษถึงขั้นติดคุกได้
                        กรณีที่พนักงานอัยการได้ดำเนินการยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดก  ซึ่งเป็นการดำเนินการคุ้มครองสิทธิ  เมื่อศาลมีคำสั่งแต่งตั้งผู้จัดการมรดกตามคำร้องแล้ว  หากมีปัญหาในการจัดการมรดก  ผู้จัดการมรดกสามารถขอรับคำปรึกษาจากสำนักงานอัยการได้  เพราะเป็นหน้าที่ของพนักงานอัยการที่จะต้องคอยแนะนำช่วยเหลือผู้ที่มีปัญหาด้านกฎหมายอยู่แล้ว

พี่น้อง เกิดมาท้องเดียวกันใช่ว่าจะพูดจากันรู้เรื่อง โดยเฉพาะการแบ่งทรัพย์มรดกที่มีการโอนขายระหว่างทายาท ภายหลังบิดาเจ้ามรดกถึงแก่กรรม หากผู้จัดการมรดกไม่อธิบายถึงสิทธิของทายาทแต่ละคนให้เป็นที่เข้าใจ ทายาทบางคนอาจฟ้องทั้งผู้จัดการมรดกและฟ้องขอให้มีการเพิกถอนการซื้อขายทรัพย์มรดกของผู้ตายได้
ฟ้องกันไปใช่ว่าจะมองหน้ากันสนิทนัก ไม่ฟ้องรึไม่อาจทำใจได้ว่าสิทธิของลูกทายาทคนหนึ่ง ถูกทายาทบางคนร่วมมือกันยักยอกหรือไม่
พี่น้องครอบครัวนี้มีอยู่ด้วยกัน 5 คนมีชีวิตทุกคน ครั้นบิดาชื่อนายปัญญา เสียชีวิตลงด้วยวัยชรา ก่อนเกษียณอายุบิดารับราชการที่กระทรวงศึกษาธิการ มีทรัพย์มรดกที่ดินพร้อมบ้านตั้งอยู่ที่เขตลาดพร้าว กรุงเทพฯ มูลค่ารวมกัน 2,000,000 บาท
ปัญญาผู้เป็นสามีเสียชีวิต พ.ศ.2522 จินดาภริยาเสียชีวิต พ.ศ.2535 สามีภริยาคู่นี้ร่วมกันก่อร่างสร้างตัวเลี้ยงลูกถึง 5 คน ภายหลังปัญญาเสียชีวิตมีหนี้สินกับธนาคารเหลือเพียง 200,000 บาท โดยมีที่ดินและบ้านดังกล่าวจดทะเบียนจำนองไว้ ทายาททั้งหลายจึงตกลงใจให้นางจุรีพี่สาวคนโตเป็นผู้จัดการมรดก และนายจรัลชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองจากธนาคารและรับซื้อบ้านในราคา 1,800,000 บาท
ภายหลังแม่เสียชีวิตสองปี จรัลขับไล่น้องชายชื่อนายจุรินทร์ออกจากบ้านหลังนั้นที่อยู่ด้วยกันมาดั้งเดิม จุรินทร์ไปตรวจสอบที่สำนักงานที่ดินว่าไม่มีชื่อของเขาในโฉนดรวมถึงทายาทคนอื่น จึงได้บอกกล่าวให้ทั้งจุรีและจรัลจดทะเบียนใส่ชื่อทายาททุกคนเป็นผู้รับมรดกของพ่อ แต่ทั้งสองเพิกเฉย
จุรินทร์จึงฟ้องศาล ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนรับโอนที่ดินมรดกและเพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินระหว่างจุรีและจรัล ให้จุรีในฐานะผู้จัดการมรดกแบ่งทรัพย์มรดกดังกล่าวให้โจทก์ตามสิทธิ 1 ใน 5 ส่วน หากไม่สามารถจดทะเบียนแบ่งให้โจทก์ได้ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 389,000 บาท
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยทั้งสองได้ทำตามข้อตกลงร่วมกันไถ่ถอนจำนองจากธนาคาร และขายบ้านให้จรั,จำเลยที่ 2 ในราคา 1,800,000 บาท พ.ศ.2532 และได้แบ่งปันเงินระหว่างทายาทรวมทั้งโจทก์ด้วย ถือว่าการจัดการมรดกเสร็จสิ้นตั้งแต่วันจดทะเบียนโอนขายดังกล่าว โจทก์ฟ้องเกินกว่า 5 ปี นับแต่การจัดการมรดกเสร็จสิ้น จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ที่สุดศาลฏีกาวินิจฉัยว่า ตามรายการจดทะเบียนหลังสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารที่อ้างจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกได้จดทะเบียนโอนบ้านและที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 1 ในนามจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดก แต่ก็ยังไม่อาจถือได้ว่าเป็นการแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทเสร็จสิ้น ที่กระทำเช่นนั้นเพื่อความสะดวกที่จะขายเพื่อนำเงินมาแบ่งปันกัน
ดังนั้น การจัดการมรดกจะเสร็จสิ้นก็ต่อเมื่อได้แบ่งเงินราคาขายกันแล้ว ในเมื่อโจทก์เบิกความยอมรับว่ายังไม่ได้แบ่งเงินราคาขายแก่ทายาท การจัดการมรดกจึงไม่เสร็จสิ้น ฟ้องไม่ขาดอายุความ
ที่โจทก์อ้างว่าจำเลยทั้งสองเบียดบังยักยอกทรัพย์มรดกยังรับฟังไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องซื้อขายทรัพย์มรดกกันตามปกติธรรมดาโดยมีหลักฐานตามเอกสารที่ว่า จำเลยที่ 2 ต้องไปกู้เงินจากองค์การโทรศัพท์ฯ ต้นสังกัดของจำเลยที่ 2 จำนวน 1,800,000 บาท เพื่อนำมาชำระราคาค่าซื้อบ้านและที่ดินพิพาทแล้วนำมาบ้านและที่ดินพิพาทจำนองเจ้าหนี้ไว้เป็นประกัน รวมถึงมีเหตุให้เชื่อตามที่จำเลยทั้งสองเบิกความรับกันว่าจินดาซึ่งเป็นมารดาผู้เป็นหัวหน้าครอบครัวรู้เห็นยินยอมในการซื้อขายโดยตลอด
เมื่อการซื้อขายเป็นไปโดยชอบ ศาลก็ไม่อาจสั่งเพิกถอนได้ และเมื่อทรัพย์มรดกตกไปเป็นของผู้ซื้อแล้ว ก็ไม่เป็นทรัพย์มรดกที่โจทก์จะขอให้ใส่ชื่อโจทก์ร่วมด้วยได้ โจทก์คงมีสิทธิได้รับส่วนแบ่ง จากเงินค่าขายทรัพย์มรดกจำนวน 360,000 บาท จากจำเลยที่ 1 เท่านั้น จำเลยที่ 2 ไม่ใช่ผู้จัดการมรดก ไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ฏีกาของโจทก์ฟังขึ้นเพียงบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 360,000 บาทแก่โจทก์ นอกนั้นให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
ข้อมูล: เทียบเคียงคำพิพากษาฎีกาที่ 5265/2539

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น