วันอังคารที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2553

ดตถทธน



ดร๊าฟท์ – 1.ตั๋วแลกเงินประเภทหนึ่งซึ่งธนาคารสั่งให้ธนาคารอีกแห่งหนึ่งหรือสาขาเป็นผู้จ่ายเงิน (ถ้าตั๋วแลกเงินทั่วไป จะมีบุคคลธรรมดาเป็นผู้จ่ายเงิน) 2.(สหรัฐฯ)ตั๋วแลกเงิน  3. (อังกฤษ) ตั๋วเงินที่ยังไม่มีการรับรอง หรือไม่ต้องยื่นเพื่อรับรอง (ส่วนตั๋วที่ต้องรับรองและผู้จ่ายรับรองตั๋วนั้นแล้วเป็นตั๋วแลกเงิน)

ดอกผล – ส่วนของทรัพย์ที่เกิดจากตัวแม่ทรัพย์ มี 2 ประเภทคือ ดอกผลธรรมดาและดอกผลนิตินัย

ดอกผลธรรมดา – (ปพพ.) สิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติของทรัพย์ซึ่งได้มาจากตัวทรัพย์  โดยการมีหรือการใช้ทรัพย์นั้นตามปกตินิยม  และสามารถถือเอาได้เมื่อขาดจากทรัพย์นั้น  (ม. 148) เช่น ลูกสุกรที่เกิดจากสุกรพ่อและสุกรแม่(ฎ. 370 /2506)

ดอกผลนิตินัย – (ปพพ.) ทรัพย์หรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้มาเป็นครั้งคราวแก่เจ้าของทรัพย์จากผู้อื่นเพื่อการที่ได้ใช้ทรัพย์นั้น และสามารถคำนวณและถือเอาได้เป็นรายวันหรือตามระยะเวลาที่กำหนดไว้  (ม. 148)  เช่น กำไรหรือเงินปันผลที่บริษัทจำกัดแบ่งให้ผู้ถือหุ้น  ดอกเบี้ยเงินกู้ (ฎ.894 / 2540)  ค่าเช่าทรัพย์ (ฎ. 187/2490) เงินค่าประมูลกรีดยางซึ่งคู่กรณีพิพาทกันในชั้นบังคับคดีและได้นำมาวางศาล (ฎ. 67/2506)

ดอกเบี้ย –         ค่าเสียหายในหนี้เงิน  เป็นค่าเสียหายที่กม.กำหนดให้ไว้ล่วงหน้าในกรณีที่มีการผิดนัดในหนี้เงิน ซึ่งถ้าคู่สัญญาไม่กำหนดตกลงอัตรากันไว้  จะต้องคิดตามอัตราที่กม.กำหนดไว้

ดอกเบี้ยทบต้น – การนำเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระเข้าทบกับต้นเงินและกลายเป็นต้นเงินที่จะคิดดอกเบี้ยต่อไป เป็นการคิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ย ซึ่งปพพ. ม. 224 วางหลักทั่วไปไว้ว่า จะไม่ยอมให้มีการคิดดอกเบี้ยนี้เว้นแต่หนี้เงินกู้ที่ค้างชำระเกินกว่า 1 ปีหรือเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัด

ดอกไม้เพลิง – (พรบ.อาวุธปืนฯ ม. 4(4)) หมายความรวมตลอดถึงพลุประทัดไฟ   ประทัดลมและวัตถุอื่นใด อันมีสภาพคล้ายคลึงกัน

ดะโต๊ะยุติธรรม -   ข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมในศาลชั้นต้น ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้มีอำนาจและหน้าที่ในการวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดกในคดีซึ่งอิสลามศาสนิกเป็นทั้งโจทก์จำเลย หรือเป็นผู้เสนอคำขอในคดีที่ไม่มีข้อพิพาท ในเขต 4 จังหวัดภาคใต้คือ ปัตตานี นราธิวาส ยะลาและสตูล  โดยจะร่วมพิจารณาคดีกับผู้พิพากษาศาลชั้นต้น คุณสมบัติของดะโต๊ะยุติธรรมต้องมีอายุไม่น้อยกว่า 30 ปี เข้าใจภาษาไทยและมีความรู้เกี่ยวกับหลักศาสนาและกม.อิสลาม

ดัดแปลง – 1. (พรบ.ควบคุมอาคาร 2522 ม.4) เปลี่ยนแปลง ต่อเติม เพิ่ม ลด หรือขยายซึ่งลักษณะ ขอบเขต แบบ รูปทรง สัดส่วน น้ำหนัก เนื้อที่ของโครงสร้างของอาคารหรือส่วนต่างๆ ของอาคารซึ่งได้ก่อสร้างไว้แล้วให้ผิดไปจากเดิม และมิใช่การซ่อมแซม หรือการดัดแปลงที่กำหนดโดยกฎกระทรวง 2.(พรบ.ลิขสิทธิ์ฯ ม.4) ทำซ้ำโดยเปลี่ยนรูปใหม่ปรับปรุง แก้ไขเพิ่มเติม หรือจำลองงานต้นฉบับในส่วนอันเป็นสาระสำคัญ โดยไม่มีลักษณะเป็นการจัดทำงานขึ้นใหม่ทั้งนี้ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน

ด่านตรวจสัตว์ป่า –   (พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า  2535 ม.4) ด่านตรวจสัตว์ป่าและซากของสัตว์ป่า

ด่านศุลกากร - (พรบ.ศุลกากร (ฉ.7 ) 2480 ม.3) ด่านที่ตั้งขึ้นไว้โดยกฎกระทรวง ณ ทางอนุมัติเพื่อเก็บศุลกากรแก่ของที่ส่งโดยทางนั้นและเพื่อตรวจของด้วย  ดู ที่

ดำเนินคดีฟ้องร้อง – (ในหนังสือมอบอำนาจ) ฟ้อง  ยื่นคำร้องขอให้ศาลอกหมายบังคับคดี  ตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีให้ไปทำการยึดทรัพย์และนำชี้ให้ยึดทรัพย์ได้ด้วย  (ฎ.1763/2514)

ดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ – (ปวิพ.ม. 144) การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีในคดีใหม่ซึ่งมีประเด็นแห่งคดีอย่างเดียวกับที่ศาลได้เคยพิพากษาคดีหรือวินิจฉัยคดีมาก่อนแล้วในคดีเดิม  ศาลและคู่ความจะย้อนกลับไปดำเนินกระบวนพิจารณาเป็นคดีใหม่ไม่ได้ ยกเว้นคดีที่เป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อย หรือการพิจารณาคดีใหม่ในคดีที่เอกสารสูญหายหรือคดีที่คู่ความขาดนัดและมีการพิจารณาคดีไปฝ่ายเดียว   การยื่น การยอมรับหรือไม่ยอมรับอุทธรณ์หรือฎีกา  การดำเนินวิธีการบังคับชั่วคราวในระหว่างยื่นอุทธรณ์หรือฎีกา การย้อนสำนวนของศาลสูง   การบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง

ดำเนินคดี  –   (พรบ. พนักงานอัยการ 2498 ม.4) ดำเนินการไปตามอำนาจและหน้าที่ในทางอรรถคดีของพนักงานอัยการ 

ดุลพาห – วารสารราย 4 เดือนของสำนักงานศาลยุติธรรม มีเนื้อหาเกี่ยวกับ บทความทางกม. รายงานวิจัย คำพิพากษาศาลฎีกาหรือฎีกาวิเคราะห์มาเผยแพร่แก่ผู้พิพากษาและข้าราชการสำนักงานศาลยุติธรรม

ดุลอาณา – (กม.รปท.) อำนาจทางกม. ของรัฐ  อำนาจของรัฐในการออกกฎหมาย ดำเนินการทางการบริหารและอำนาจทาตุลาการที่จะบังคับการให้เป็นไปตามกม. นั้น คำนี้บัญญัติขึ้นโดยพลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ใช้ในการแปลคำว่า jurisdiction 

ดูหมิ่น –   (ปอ.ม. 136,393 ) การด่า  ดูถูกเหยียดหยามหรือสบประมาทให้อับอาย (ฎ.4327/2540) หรือทำให้อับอายขายหน้า ซึ่งอาจกระทำด้วยคำพูดเช่น ด่าด้วยถ้อยคำหยาบคายหรือแสดงกริยาอาการก็ได้เช่น ถ่มน้ำลายหรือปัสสาวะรด  ที่เป็นดูหมิ่นเช่น “กูไม่เอามึงให้เสียน้ำ  อีหหน้าหัวควย” (ฎ.1989/2506) “ออกมาซิ กูจะจับหีมึงฯ” (ฎ.439/2515) “ม่วยหีใหญ่ เย็ดหีอีม่วย” (ฎ.77/2516) “จิ้งเหลือง” (ฎ.843/2510) “ภิกษุหน้าผีเปรต” (ฎ.10/2527) “มารศาสนา” (ฎ.3226/2525)  ที่ไม่เป็นดูหมิ่น เช่น เป็นคำที่ไม่สุภาพ หรือ “แน่จริงมึงถอดเสื้อมาต่อยกับกูเลย” (ฎ.4327/2540)  ดูหมิ่นเป็นการที่ผู้กระทำรู้สึกดูหมิ่นหรือเกลียดชังผู้ถูกกระทำนั้นเอง ต่างจากหมิ่นประมาทที่เป็นการใส่ความต่อบุคคลที่สามเพื่อให้บุคคลที่สามนั้นดูแคลนผู้ที่ถูกกระทำ   ดู หมิ่นประมาท   แสดงอาฆาดมาดร้าย

ดูหมิ่นเจ้าพนักงาน -  ความผิดตาม ปอ. ม. 136 ซึ่งเป็นการดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่หรือเพราะได้กระทำตามหน้าที่  

เด็ก – 1. (พรบ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว  2534  ม. 4 )บุคคลอายุเกิน 7 ปีบริบูรณ์แต่ยังไม่เกิน 14 ปีบริบูรณ์    2. (พรบ.คุ้มครองเด็ก 2546 ม. 4) บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์  แต่ไม่รวมถึงผู้ที่บรรลุนิติภาวะด้วยการสมรส  3. (พรบ.มาตรการในการป้องกันและปราบปรามการค้าหญิงและเด็ก  2540 ม.4) บุคคลผู้มีอายุไม่เกิน 18 ปีบริบูรณ์

เด็กกำพร้า – (พรบ.คุ้มครองเด็ก 2546ม.4) เด็กที่บิดาหรือมารดาเสียชีวิต เด็กที่ไม่ปรากฏบิดามารดาหรือไม่สามารถสืบหาบิดามารดาได้

เด็กที่อยู่ในสภาพยากลำบาก – (พรบ.คุ้มครองเด็ก  2546ม.4) เด็กที่อยู่ในครอบครัวยากจนหรือบิดามารดาหย่าร้าง ทิ้งร้าง ถูกคุมขัง หรือแยกกันอยู่และได้รับความลำบาก หรือเด็กที่ต้องรับภาระหน้าที่ในครอบครัวเกินวัยหรือกำลังความสามารถและสติปัญญา  หรือเด็กที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้

เด็กที่เสี่ยงต่อการกระทำผิด – (พรบ.คุ้มครองเด็ก  2546ม.4) เด็กที่ประพฤติตนไม่สมควร  เด็กที่ประกอบอาชีพหรือคบหาสมาคมกับบุคคลที่น่าจะชักนำไปในทางกระทำผิดกฎหมายหรือขัดต่อศีลธรรมอันดีหรืออยู่ในสภาพแวดล้อมหรือสถานที่อันอาจชักนำไปทางเสียหาย ทั้งนี้ ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

เด็กพิการ – (พรบ.คุ้มครองเด็ก  2546ม.4) เด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกาย สมอง สติปัญญา หรือจิตใจ ไม่ว่าความบกพร่องนั้นจะมีมาแต่กำเนิดหรือเกิดขึ้นภายหลัง

เด็กเร่ร่อน – (พรบ.คุ้มครองเด็ก  2546ม.4) เด็กที่ไม่มีบิดามารดาหรือผู้ปกครองหรือมีแต่ไม่เลี้ยงดูหรือไม่สามารถเลี้ยงดูได้  จนเป็นเหตุให้เด็กต้องเร่ร่อนไปในที่ต่างๆ หรือเด็กที่มีพฤติกรรมใช้ชีวิตเร่ร่อนจนน่าจะเกิดอันตรายต่อสวัสดิภาพของตน

เดินเผชิญสืบ – (ปวิอ.ม. 230) การที่ศาลออกไปสืบพยานนอกที่ทำการศาลเนื่องจากพยานไม่อาจมาศาลได้ เช่น เจ็บป่วย หรือไปดูสถานที่พิพาท หรือที่ดินพิพาท เป็นต้น แต่ยังอยู่ในเขตอำนาจของศาลนั้น(ถ้าสืบพยานนอกเขตศาลจะเป็นการส่งประเด็นไปสืบพยาน) ในคดีอาญา ศาลอาจจะเดินเผชิญสืบเองหรือให้จ่าศาลไปเดินเผชิญสืบก็ได้   ดู ส่งประเด็น

แดนกรรมสิทธิ์ – สิทธิของเจ้าของที่ดินในที่ดิน เหนือพื้นดินและใต้พื้นดินเท่าที่ตนเองยึดถือได้ในที่ดินที่ตนเป็นเจ้าของ

โดยความสงบ - (ปพพ.ม.1382) ไม่มีการโต้แย้ง ถูกฟ้องร้องหรือถูกกำจัดให้ออกไปโดยประการอื่น แต่ไม่รวมการโต้เถียง (ฎ.772/2505) ที่ถือว่าไม่สงบเช่น ต่างฝ่ายต่างหวงห้ามอ้างความเป็นเจ้าของจนต้องไปแจ้งต่ออำเภอหลายครั้ง (ฎ.522/2480)

โดยฉ้อฉล – (ปพพ.ม.1605) ใช้อุบายโกงผู้อื่น การทำให้ผู้อื่นเสียเปรียบโดยใช้อุบาย

โดยไตร่ตรองไว้ก่อน – (ปอ.ม.289(4) ) โดยมีการคิด ไตร่ตรอง ตกลงใจ ก่อนที่จะกระทำความผิดตามที่ตกลงใจหรือ โดยมีระยะเวลาคิดทบทวนตกลงใจที่จะกระทำ  หรือมีการคิดไตร่ตรองตัดสินอย่างหนักในการตกลงใจกระทำความผิด (ฎ. 1248/2509) เช่น มีการวางแผน   มีการจ้างวานผู้อื่น  เป็นต้น

โดยทุจริต – (ปอ.ม. 1(1))  เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น  ซึ่งอาจเป็นประโยชน์ในทางทรัพย์สินเช่น เงิน สุรา(ฎ.197/2490) บัตรเอ.ที.เอ็ม.(ฎ.9/2543)  หรือมิใช่ประโยชน์ในทางทรัพย์สินก็ได้เช่น.ประโยชน์ที่ได้จากการหลอกลวงเจ้าหน้าที่จนทำให้ได้ประกันตัวต่อไปจากศาล (ฎ. 863/2513)   โดยทุจริตเป็นเจตนาพิเศษและเป็นองค์ประกอบความผิดในฐานความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ เช่น ลักทรัพย์ ยักยอก ฉ้อโกง

โดยเปิดเผย – (ปพพ.ม.1382) มิได้มีการปิดบัง ซ่อนเร้นหรืออำพราง

โดยพยายามด้วยความพยาบาทมาดหมาย – (ก) การฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เป็นคำที่ใช้ใน กม.ลักษณะอาญา ม. 250(3)
โดยพลัน – (ปพพ.ม.1320) ทันทีทันใดรวมทั้งระยะเวลาในการเตรียมตัวเพื่อติดตามด้วย

โดยมิชอบ – โดยไม่มีกม.ให้อำนาจให้กระทำการเช่นนั้นได้

โดยสุจริต – 1.    (ปพพ.ม. 910, 997, 998, 1000,1009) ทำโดยซื่อแม้จะมีความประมาทอยู่ด้วยก็ตาม    2. (ปพพ.ม.1299 ว.2) โดยไม่รู้ว่ามีผู้อื่นได้สิทธินั้นมาก่อนแล้ว ถือว่าไม่สุจริตถ้า (1) รู้ว่าผู้อื่นได้สิทธินั้นมาก่อน(ฎ.1507/2500,1057-1059/2501,1020/2504) หรือ(2) ความไม่รู้นั้นเกิดจากความประมาทเลินเล่อของผู้นั้น (ฎ270/2495, 2511/2518, 3277/2534)         3. (ปพพ.ม.1310) เข้าใจว่าตนเองมีสิทธิปลูกสร้างได้และต้องมีความสุจริตนี้ตั้งแต่ลงมือก่อสร้างจนกระทั่งสร้างเสร็จสมบูรณ์  (ฎ.2313/2537)   4. (ปพพ.ม.1330) ไม่รู้ในขณะที่ซื้อว่า ทรัพย์นั้นเป็นของผู้อื่น มิใช่ของจำเลยหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษา (ฎ.821/2516)

โดยเสน่หา – โดยไม่มีค่าตอบแทนหรือสิ่งตอบแทน





ตกไป – การที่ข้อกำหนดในพินัยกรรมไม่มีผลใช้บังคับได้อีกต่อไป  ดูโมฆะ , โมฆียะ ,ไม่บริบูรณ์

ตกหล่น – (ปพพ.ม.436) พลัดลง ร่วงหรือหล่นลงโดยไม่ใช่น้ำมือของมนุษย์

ตรวจสอบ – (พรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน 2542 ม. 4 )  การตรวจบัญชี ตรวจการรับ การใช้จ่าย การใช้ประโยชน์ การเก็บรักษา และการบริหารซึ่งเงิน ทรัพย์สิน สิทธิ และผลประโยชน์ของหน่วยรับตรวจที่ได้มาจากเงินงบประมาณ เงินนอกงบประมาณ เงินกู้ เงินอุดหนุน เงินบริจาค และเงินช่วยเหลือจากแหล่งในประเทศหรือต่างประเทศอันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ตามกม.หรือตามวัตถุประสงค์ของหน่วยรับตรวจ ทั้งนี้ไม่ว่า เงิน ทรัพย์สิน สิทธิ หรือผลประโยชน์ดังกล่าวจะเป็นของหน่วยรับตรวจหรือหน่วยรับตรวจมีอำนาจหรือสิทธิในการใช้จ่ายหรือใช้ประโยชน์ ทั้งนี้เพื่อให้การดังกล่าวเป็นไปตามกม. ระเบียบ ข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรี และแบบแผนการปฏิบัติราชการอันจะก่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการบริหารการเงินของรัฐ และเป็นมาตรการป้องกันการทุจริต และให้หมายความรวมถึงการตรวจสอบอื่นอันจำเป็นแก่การตรวจสอบดังกล่าวด้วย

ตระกูลกฎหมาย – (Legal Family) กลุ่มของกม.ที่ยังใช้กันอยู่ในประเทศต่างๆ และมีจุดเด่นหรือลักษณะ เช่น ที่มา ปรัชญาและนิติวิธีที่ใกล้เคียงกัน มี 4 ตระกูลได้แก่ ตระกูลกม.โรมาโน – เยอรมานิค ตระกูลกม.คอมมอนลอว์ ตระกูลกม.สังคมนิยมและตระกูลกม.ศาสนา  บางครั้งใช้คำว่า ระบบกม. หรือสกุลกม.

ตระกูลกฎหมายคอมมอนลอว์ – (Common Law family) ตระกูลกม.ที่เกิดและวิวัฒนาการขึ้นมาในประเทศอังกฤษและถือกันว่า กม.เกิดจากคำพิพากษาของศาลโดยเมื่อศาลได้พิพากษาคดีเรื่องใดแล้ว คดีภายหลังที่มีข้อเท็จจริงเดียวกันหรือคล้ายคลึงกันจะต้องพิพากษาตามคำพิพากษาบรรทัดฐาน (stare decisis) ที่ได้วินิจฉัยไว้ในคดีก่อนแล้ว  แต่อย่างไรก็ดี เนื่องจากคอมมอนลอว์อาจจะมีข้อบกพร่องและไม่อาจให้ความเป็นธรรมได้ในบางเรื่อง เช่น ในเรื่องการชดใช้ค่าเสียหายในกรณีผิดสัญญาหรือกระทำละเมิด  จึงได้มีการนำหลักความยุติธรรม (Equity) มาใช้ควบคู่กับกม.คอมมอนลอว์ด้วย ตระกูลกม.นี้ใช้กันอยู่ในประเทศอังกฤษ  สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แคนาดาหรือประเทศในเครือจักรภพอื่น

ตระกูลกฎหมายโรมาโน – เยอรมานิค – (Romano – Germanic Family) ตระกูลกม.ที่เกิดและพัฒนามาจากกม.โรมันโดยถือว่า กม.ลายลักษณ์อักษรเป็นบ่อเกิดกม.ที่สำคัญ คำพิพากษาศาลไม่ใช่บ่อเกิดหรือที่มาของกม. มีการแยกประเภทกม.มหาชนและกม.เอกชนออกจากกันโดยชัดแจ้ง ตระกูลกม.นี้ใช้กันในประเทศที่อยู่บนทวีปยุโรป เช่น อิตาลี เยอรมานี ฝรั่งเศส สวิสเซอร์แลนด์ บางครั้งเรียกตระกูลนี้ว่า ระบบกม.ซิวิล ลอว์ หรือระบบกม.ของประเทศที่ใช้ประมวล

ตระกูลกฎหมายศาสนา – ตระกูลกม.ที่ใช้หลักศาสนาในการควบคุมและจัดระบบความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ซึ่งมีประเทศที่ใช้ศาสนาอิสลาม หรือศาสนาอินดู.ใช้ระบบกม.นี้อยู่

ตระกูลกฎหมายสังคมนิยม – ตระกูลกม.ที่มีพื้นฐานมาจากกม.โรมันเช่นเดียวกับตระกูลกม.โรมาโน – เยอรมานิค  จึงยึดถือกม.ลายลักษณ์อักษรเป็นสำคัญเช่นเดียวกัน แต่มีแนวคิดพื้นฐานแตกต่างกัน โดยอยู่ภายใต้ปรัชญาความคิดของมาร์ก - เลนินและคอมมิวนิสต์ ตระกูลกม.นี้เกิดในสหภาพโซเวียตเมื่อค.ศ. 1917 มีหลักการในการที่จะสร้างความทัดเทียมกันแก่ชนชั้นในสังคม จึงยึดหลักการสวัสดิการสังคม มีหลักกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินในปรัชญาที่แตกต่างไปจากตระกูลกม.อื่น และให้ความสำคัญแก่กม.มหาชนมากกว่ากม.เอกชน ตระกูลกม.นี้มีที่ใช้ในสหภาพโซเวียตและประเทศที่ใช้ลัทธิคอมมิวนิสต์

ตระลาการ – (ก) ศาลหรือหน่วยงานหรือบุคคลตามกม.ตราสามดวง ที่ทำหน้าที่ในการชำระคดีความโดยรวบรวมพยานหลักฐานสืบสวนไต่ถามจนเสร็จสิ้นแต่ไม่มีหน้าที่ชี้ผิดหรือถูกหรือปรับบทลงโทษผู้กระทำความผิด   ดู ศาล ลูกขุน  ผู้ปรับ

ตราประทับไม้ – (พรบ.ป่าไม้ 2484 ม.4 (15)) วัตถุใดอันประดิษฐ์ขึ้นเพื่อให้เกิดเป็นรูป รอยหรือเครื่องหมายใดๆ นอกจากรูปรอยที่เป็นตัวเลข ไว้ที่ไม้ซึ่งอยู่ภายใต้ความควบคุมแห่งพรบ.นี้

ตราไว้ – (ปพพ.ม.702) ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม ม.714

ตราสาร –  (ป.รัษฎากร ม.103) เอกสารที่ต้องเสียอากรตามหมวดนี้ เช่น  ตั๋วแลกเงิน เลตเตอร์ออฟเครดิต (ฎ. 5439/2545) สัญญาเช่าที่ดิน โรงเรือน สิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นหรือแพ สัญญาเช่าซื้อ  ใบรับสำหรับการขายหรือโอนกรรมสิทธิ์ยานพาหนะ ยกเว้นที่ไม่ต้องติดเช่น สัญญาทรัสต์รีซีท (ฎ. 5439/2545)  สัญญาซื้อขายรถยนต์จากการขายทอดตลาดเนื่องจากไม่ใช่ใบรับสำหรับการขายหรือโอนกรรมสิทธิ์ยานพาหนะ (ฏ.2791/2540)สัญญาเช่ารถยนต์และเครื่องจักรกล (ฎ.656/2544)

ตราสาร – (กม.รปท.) ตราสารหลักแสดงความร่วมมือของกลุ่มประเทศ เช่น ตราสารนาโต ( แปลมาจาก Pact)  ดู สนธิสัญญา อนุสัญญา

ตราสารเปลี่ยนมือได้ - ตราสารที่มีการโอนเปลี่ยนสิทธิเรียกร้องตามตราสารได้ด้วยวิธีพิเศษและง่ายต่อการโอน เช่น เพียงแต่สลักหลังและส่งมอบ หรือเพียงแต่ส่งมอบเท่านั้น  เช่น ตั๋วเงิน

ตราสารอนุพันธ์ – ตราสารทางการเงินประเภทหนึ่งที่สัญญาหรือตกลงว่า ผู้ถือมีสิทธิที่จะซื้อหรือขายสินค้า(สินค้าโภคภัณฑ์หรือเงิน) ในราคา ปริมาณและเงื่อนไขตามที่ตกลงกันไว้ได้ โดยจะมีการส่งมอบสินค้าที่ซื้อขายกันในอนาคต มูลค่าหรือราคาของตราสารจะขึ้นอยู่กับกระแสเงินของสินทรัพย์อ้างอิง ซึ่งไม่ได้มีค่าจากกระแสเงินของตราสารเอง  อาจแยกเป็น 4 ประเภทคือ  ฟิวเจอร์  ฟอร์เวิร์ด ออปชั่นและสวอป

ตราหรือเครื่องหมายอันเจ้าพนักงานได้ประทับหรือหมายไว้เพื่อเป็นหลักฐานการยึด อายัดหรือรักษาสิ่งนั้น ๆ -  (ปอ.ม. 141 )  ไม่รวมถึงตัวอักษรและเลขหมายพานท้ายปืนอันเป็นเครื่องหมายทะเบียนอาวุธปืน (ฎ. 1269/2503) ตราหลักเขตป่าสงวน (ฎ. 544/2505)

ตลาดแบบตรง - (พรบ. ขายตรงและตลาดแบบตรง  2545 ม.3) การทำตลาดสินค้าหรือบริการในลักษณะของการสื่อสารข้อมูลเพื่อเสนอขายสินค้าหรือบริการโดยตรงต่อผู้บริโภคซึ่งอยู่ห่างโดยระยะทาง และมุ่งหวังให้ผู้บริโภคแต่ละรายตอบกลับเพื่อซื้อสินค้าหรือบริการจากผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงนั้น

ต่อสู้ (เจ้าพนักงาน) –  (ปอ. ม. 138 )  การกระทำที่มีลักษณะขัดขืนหรือโต้แย้งอำนาจของเจ้าพนักงาน เช่น  ตำรวจจับผู้กำลังยิงคน ผู้นั้นไม่ยอมและเกิดปล้ำกัน (ฎ. 319-320/2521)

ต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงาน –    ความผิดตาม ปอ. ม. 138  ซึ่งเป็นการต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานหรือผู้ซึ่งต้องช่วยเจ้าพนักงานตามกม.ในการปฏิบัติการตามหน้าที่

ต่อหน้าธารกำนัล – กระทำในลักษณะที่เปิดเผยให้บุคคลอื่นสามารถเห็นได้ (ฎ. 1794/ 2494) เป็นเหตุให้ผู้กระทำต้องรับโทษหนักขึ้นตาม ปอ.ม. 281  ที่ไม่เป็นต่อหน้าธารกำนัล เช่น กระทำในห้องนอนดับตะเกียงมืด มีเด็กอยู่ด้วยแต่นอนหลับ (ฎ. 1173/2508) หรือต่อหน้าผู้กระทำความผิดด้วยกัน (ฎ. 932/ 2529)

ต่อหน้าราชศัตรู -  (ปอ.ทหาร ม.4 ) หมายความตลอดถึงที่อยู่ในเขตซึ่งกองทัพได้กระทำสงครามนั้นด้วย

ตะกรัน -  (พรบ.แร่ 2510 ม.4) สารประกอบหรือสารพลอยได้อื่นใดที่เกิดจากการประกอบโลหกรรม

ตั้งโรงงาน  – (พรบ.โรงงาน 2535 ม.5 ) การก่อสร้างอาคารเพื่อติดตั้งเครื่องจักรสำหรับประกอบกิจการโรงงาน หรือนำเครื่องจักรสำหรับประกอบกิจการโรงงานมาติดตั้งในอาคารสถานที่ หรือยานพาหนะที่จะประกอบกิจการ

ตัวการ – 1.(ปพพ.) บุคคลซึ่งมอบอำนาจให้ผู้อื่น(ตัวแทน)กระทำการแทนตนเอง 2. (ปอ.ม. 83) ผู้ที่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกัน  การที่บุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปได้เข้าร่วมกันกระทำความผิดโดยมีเจตนาที่จะกระทำความผิดด้วยกัน ร่วมกระทำความผิดเช่น สมคบกัน แบ่งหน้าที่กันทำ ต้องเป็นการร่วมในระหว่างที่มีการกระทำความผิด (ฎ.505-506/2538)

ตัวการไม่เปิดเผยชื่อ – (ปพพ.ม.806) ตัวการที่ให้ตัวแทนทำการแทนโดยมิได้มีการระบุว่าทำแทนตัวการ ตัวการมีสิทธิที่จะกลับแสดงตนให้ปรากฏและเข้ารับเอาสัญญาที่ตัวแทนทำไว้ได้

ตั๋วเงิน  –     1.สัญญาประเภทหนึ่งที่คู่สัญญาแสดงเจตนาที่จะผูกพันกันลักษณะตามสัญญาตั๋วเงินโดยต้องทำเป็นหนังสือตราสารระบุข้อความตามที่กม.กำหนดเท่านั้น และลงลายมือชื่อคู่สัญญาที่รับผิด มีวัตถุแห่งหนี้เป็นเงินจำนวนแน่นอน  2.ชื่อกม.ในลักษณะ 21 บรรพ 3 ของ ปพพ.      3. ชื่อที่ใช้เรียกรวม ๆ ของตั๋วแลกเงิน ตั๋วสัญญาใช้เงินและเช็ค

ตั๋วเงินขาดความเชื่อถือ – ตั๋วเงินที่ผู้จ่ายปฏิเสธไม่ยอมรับรองหรือไม่ยอมจ่ายเงิน

ตั๋วเงินปลอม – ตั๋วเงินที่มีการลงลายมือชื่อปลอม  หรือมีการลงลายมือชื่อที่ปราศจากอำนาจ หรือมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อความสำคัญในตั๋วเงิน

ตั๋ว(เงิน)ผู้ถือ - (ตั๋วเงิน) ตั๋วเงินที่ผู้สั่งจ่ายไม่ระบุชื่อหรือเจาะจงตัวหรือยี่ห้อผู้รับเงิน เช่น ตั๋วที่มีข้อความว่าให้ใช้เงินแก่ผู้ถือ  จ่ายผู้ถือ จ่ายตามคำสั่งของผู้ถือ หรือจ่ายเงินสดแก่ผู้ถือ เป็นต้น   ผู้ที่ได้ตั๋วผู้ถือมาไว้ในครอบครองถือว่าเป็นผู้ทรง และการโอนตั๋วก็แต่เพียงส่งมอบตั๋วแก่กันเท่านั้น

ตั๋ว(เงิน) ภายในประเทศ – (ปพพ.ม. 965) ตั๋วเงินที่ออกในประเทศไทยและสั่งจ่ายเงินในประเทศไทย

ตัวแทน – 1. (ปพพ.ม. 797) สัญญาซึ่งให้บุคคลคนหนึ่งเรียกว่า ตัวแทน มีอำนาจทำการแทนบุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่า ตัวการและตกลงจะทำการดังนั้น 2. ชื่อของกม.ลักษณะที่ 15 ในบรรพ 3 ปพพ.  3. สัญญาที่ตัวการตั้งหรือมอบอำนาจให้ตัวแทนไปทำการต่อบุคคลที่สามแทน ซึ่งการทำการจะเป็นนิติกรรมหรือไม่ก็ได้  4. บุคคลที่ได้รับมอบอำนาจให้กระทำการแทนตัวการ   5. (ป.รัษฎากร ม. 77/1(7)) หมายความรวมถึง บุคคลซึ่งทำสัญญาหรือมีหน้าที่รับผิดชอบในการเก็บรักษาสินค้า หาลูกค้า หรือทำการใดๆ อันเกี่ยวกับการประกอบกิจการในราชอาณาจักรแทนผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักร

ตัวแทนขายตรง - (พรบ. ขายตรงและตลาดแบบตรง  2545 ม.3) บุคคลซึ่งได้รับมอบอำนาจจากผู้ประกอบธุรกิจขายตรงให้นำสินค้าหรือบริการไปเสนอขายตรงต่อผู้บริโภค

ตัวแทนค้าต่าง –     1. บุคคลซึ่งในทางค้าขายของเขาย่อมทำการซื้อ  หรือขายทรัพย์สิน  หรือรับจัดทำกิจการค้าขายอย่างอื่นในนามของตนเองต่างตัวการ (ปพพ.ม. 833)  2. ตัวแทนที่มีความสามารถสมบูรณ์และมีอาชีพในทางค้าขายและเป็นตัวแทนในกิจการค้าขายนั้น  และจะต้องทำกิจการตามที่ตัวการมอบหมายในนามตนเองจนเป็นผลสำเร็จ   โดยตัวแทนค้าต่างอาจเป้นโจทก์ฟ้องคดีเองหรือถูกฟ้องเป็นจำเลยโดยตรงได้ในฐานะที่เป็นคู่สัญญา

ตัวแทนช่วง – บุคคลผู้มีอำนาจกระทำการแทนผู้อื่นโดยได้รับมอบอำนาจมาจากตัวแทน

ตัวแทนเชิด – (ปพพ.ม. 821) บุคคลซึ่งไม่ใช่ตัวแทนหรือไม่ได้รับมอบอำนาจให้เป็นตัวแทน แต่เชิดตนเองหรือให้หรือยอมให้บุคคลอื่นเชิดตนเอง บุคคลอื่นจะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกในการที่ตัวแทนเชิดได้ทำไป นิติบุคคลก็เป็นตัวแทนเชิดได้ (ฎ. 1510/2537)

ตัวแทนประกันชีวิต - (พรบ.ประกันชีวิต 2535 ม.5) ผู้ซึ่งบริษัทมอบหมายให้ทำการชักชวนให้บุคคลทำสัญญาประกันชีวิตกับบริษัท

ตัวแทนประกันวินาศภัย - (พรบ.ประกันวินาศภัย  2535 ม.4) ผู้ซึ่งบริษัทมอบหมายให้ทำการชักชวนให้บุคคลทำสัญญาประกันภัยกับบริษัท

ตั๋วรูปพรรณ – (พรบ.สัตว์พาหนะ 2482 ม.4) เอกสารแสดงตำหนิรูปพรรณสัตว์พาหนะ

ตั๋วแลกเงิน -       1. (ป.พ.พ.ม.908)หนังสือตราสารซึ่งบุคคลคนหนึ่ง  เรียก ว่า  ผู้สั่งจ่าย สั่งบุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่า ผู้จ่าย ให้ใช้เงินจำนวนหนึ่งแก่บุคคลคนหนึ่งหรือให้ใช้ตามคำสั่งของบุคคลคนหนึ่งซึ่งเรียกว่า  ผู้รับเงิน มี 2 ชนิดคือ ชนิดที่ออกให้โดยระบุชื่อผู้รับเงินและชนิดที่ออกให้แก่ผู้ถือโดยไม่ระบุชื่อผู้รับเงิน 2. หนังสือตราสารซึ่งมีชื่อคู่สัญญา 3 คนคือ ผู้สั่งจ่าย ผู้จ่ายและผู้รับเงินอยู่บนหน้าตั๋ว  3.ตั๋วสั่งจ่ายเงิน

ตั๋วแลกเงินเป็นสำรับ – ตั๋วแลกเงินชนิดระบุชื่อที่มีต้นฉบับตั้งแต่ 2 ฉบับขึ้นไป แต่ละฉบับเรียกว่า คู่ฉีก  ซึ่งมีหมายเลขลำดับกำกับและใช้แทนกันได้ ดังนั้นเมื่อจ่ายเงินไปตามคู่ฉีกฉบับใด ตั๋วทั้งฉบับจะระงับไป

ตั๋วสัญญาใช้เงิน  - หนังสือตราสารซึ่งบุคคลคนหนึ่ง  เรียก ว่า ผู้ออกตั๋ว ให้คำมั่นสัญญาว่าจะใช้เงินจำนวนหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนี่งหรือให้ใช้ตามคำสั่งของบุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่า ผู้รับเงิน (ป.พ.พ. ม.982)

ต่างกรรมต่างวาระ – ดู หลายกรรม

ตาต่อตา ฟันต่อฟัน ,หลัก – หลักการแก้แค้นทดแทนให้สาสมแก่กัน เป็นหลักในการลงโทษในทางกม.มาแต่โบราณโดยถือว่าผู้กระทำความผิดจะต้องชดใช้ความผิดให้สาสมกับที่ได้กระทำไป แปลมาจาก ภ.ละตินว่า Lex Talionis

ตามทางค้าปกติ – (ปพพ.ม. 1009) ตามประเพณีหรือทางปฏิบัติปกติที่ธนาคารส่วนใหญ่ได้ปฏิบัติ

ตาย – 1. (อาญา) การที่ชีวิตสิ้นสุดลง การที่ร่างกายตายไปตามธรรมชาติ  2.(แพ่ง) การที่สภาพบุคคลสิ้นสุดลง ซึ่งแยกเป็นการตายโดยร่างกายตายไปตามธรรมชาติและการตายโดยผลของกม. คือ การที่ศาลสั่งให้เป็นบุคคลสาบสูญ

ตำบล – องค์การปกครองท้องที่ในระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาค ซึ่งย่อยมาจากอำเภอและกิ่งอำเภอ ตามพรบ.ลักษณะปกครองท้องที่ 2457  จะจัดตั้งได้ต่อเมื่อมีหมู่บ้านรวม 20 บ้าน (แต่ทางปฏิบัติมีเพียงไม่น้อยกว่า 8 หมู่บ้านและมีจำนวนพลเมือง 3200 คนเท่านั้น) มีแนวเขตที่แน่นอน ข้าราชการจังหวัดพิจารณาและรายงานขอตั้ง และกระทำโดยประกาศของกระทรวงมหาดไทยในราชกิจจานุเบกษา  ไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล  มีเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจบริหารโดยเฉพาะคือ กำนัน แพทย์ประจำตำบลและสารวัตรกำนันและคณะกรรมการตำบลเป็นที่ปรึกษา

ตำรับยา  -   1.(พรบ.ยา 2510 ม.4) สูตรซึ่งระบุส่วนประกอบสิ่งปรุงที่มียารวมอยู่ด้วย ไม่ว่าสิ่งปรุงนั้นจะมีรูปลักษณะใด และให้หมายความรวมถึงยาที่มีลักษณะเป็นวัตถุสำเร็จรูปทางเภสัชกรรมซึ่งพร้อมที่จะนำไปใช้แก่มนุษย์หรือสัตว์ได้   2. ( พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ  2522 มาตรา 4 ) สูตรของสิ่งปรุงไม่ว่าจะมีรูปลักษณะใดที่มียาเสพติดให้โทษรวมอยู่ด้วย  ทั้งนี้รวมทั้ง ยาเสพติดให้โทษที่มีลักษณะเป็นวัตถุสำเร็จรูปทางเภสัชกรรมซึ่งพร้อมที่จะนำไปใช้แก่คนหรือสัตว์ได้

ตำหนิรูปพรรณ – (พรบ.สัตว์พาหนะ  2482 ม.4) ลักษณะสัณฐานโดยเฉพาะของสัตว์พาหนะแต่ละตัวซึ่งเป็นอยู่เองหรือซึ่งทำให้มีขึ้นใช้เป็นเครื่องหมาย

ติดยาเสพติดให้โทษ -  ( พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ   2522 ม. 4 ) เสพเป็นประจำติดต่อกันและตกอยู่ในสภาพที่จำเป็นต้องพึ่งยาเสพติดให้โทษนั้น โดยสามารถตรวจพบสภาพเช่นว่านั้นได้ตามหลักวิชาการ 

ติดวัตถุออกฤทธิ์  -  ( พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท  2518 ม. 4 ) เสพเป็นประจำติดต่อกันและตกอยู่ในสภาพที่จำเป็นต้องพึ่งวัตถุออกฤทธิ์นั้น โดยสามารถตรวจพบสภาพเช่นว่านั้นได้ตามหลักวิชาการ 

ตีความกฎหมาย – การค้นหาความหมายของบทบัญญัติกม.ที่มีถ้อยคำกำกวม ไม่ชัดเจน เคลือบคลุม หรือแปลความหมายได้หลายทาง เพื่อทราบความหมายที่แท้จริงของบทบัญญัติกม.นั้น ๆ 

ตีความการแสดงเจตนา – การค้นหาความหมายที่แท้จริงของเจตนาที่ได้แสดงออกมาแล้ว แต่กำกวม ไม่ชัดเจนเคลือบคลุมหรือแปลความหมายได้หลายทาง  แต่ไม่หมายความรวมถึงเจตนาที่ยังไม่ได้แสดงออกมา (ฎ.196 / 2478 ) มีหลักการตีความว่า ให้เพ่งเล็งเจตนาที่แท้จริง ยิ่งกว่าถ้อยคำตามตัวอักษร

ตีความตามเจตนารมณ์ – หลักการตีความกม. ที่ค้นหาเจตนารมณ์ในการบัญญัติกม.นั้นๆ ออกมา

ตีความตามตัวอักษร – หลักการตีความกม.ที่เพ่งเล็งเฉพาะภาษาอักษรและไวยากรณ์

ตีความสัญญา – การตีความถ้อยคำในสัญญาเพื่อทราบวัตถุประสงค์หรือเจตนาที่แท้จริงของคู่สัญญา มีหลักการตีความดังนี้ (1) เพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษร (ปพพ.ม.171)  (2) ตีความไปตามความประสงค์ในทางสุจริตโดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีด้วย (ปพพ.ม.368) (3) ตีความตามนัยที่มีผลบังคับได้  (4) ตีความในทางที่เป็นคุณแก่ฝ่ายซึ่งจะเป็นผู้ต้องเสียในมูลหนี้นั้น (ปพพ.ม.11)   (5) นำธรรมเนียมปฏิบัติหรือประเพณีมาใช้บังคับเสริมด้วย เช่น ประเพณีการค้าที่ให้เรียกค่าจ้างเพิ่มตามส่วนในกรณีที่เรือลำเลียงขนถ่ายสินค้าจากเรือเดินสมุทรมาถึงท่าเรือและการขนถ่ายเสียเวลาเกินไป 7 วันซึ่งมิใช่ความผิดของโจทก์ ประเพณีปฏิบัตินี้นำมาใช้บังคับได้เท่ากับได้มีการตกลงไว้โดยปริยาย (ฎ.845/2497)

ตุลาการ  - (1) ตุลาการศาลปกครอง (2) ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ  (3) แต่เดิม หมายถึง ผู้พิพากษาในศาลยุติธรรม ซึ่งในปัจจุบันก็ยังใช้คำนี้ทั่วไปในความหมายนี้

ตุลาการเจ้าของสำนวน -  ตุลาการศาลปกครองที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพื่อเสนอต่อตุลาการอื่นที่เป็นองค์คณะและเสนอต่อตุลาการผู้แถลงคดีพิจารณา

ตุลาการผู้แถลงคดี – ตุลาการศาลปกครองในศาลปกครองชั้นต้นหรือในศาลปกครองสูงสุดคนหนึ่งที่อธิบดีศาลปกครองชั้นต้นหรือประธานศาลปกครองสูงสุดแล้วแต่กรณีแต่งตั้งให้มีหน้าที่ในการจัดทำคำแถลงการณ์เพื่อเสนอต่อองค์คณะที่พิจารณาพิพากษาคดีก่อนที่องค์คณะจะลงมติวินิจฉัยคดีนั้น  แต่ตุลาการผู้แถลงคดีต้องไม่ใช่ตุลาการในองค์คณะที่พิจารณาพิพากษาคดีนั้น   มี 2  ประเภทคือ  ตุลาการผู้แถลงคดีในศาลปกครองชั้นต้นและตุลาการผู้แถลงคดีในศาลปกครองสูงสุด
ตุลาการผู้แถลงคดีในศาลปกครองสูงสุดนั้น ประ ธานศาลปกครองสูงสุดจะแต่งตั้งจากตุลาการศาลปกครองสูงสุดหรือตุลาการศาลปกครองชั้นต้นก็ได้ 
คำแถลงการณ์ที่เสนอโดยตุลาการผู้แถลงคดีจะ ต้องจัดทำโดยมีการตรวจสอบและสรุปข้อเท็จจริง ข้อกม. รวมทั้งให้ความเห็นในทางชี้ขาดตัดสินคดี แต่ไม่ถือว่า เป็นคำพิพากษาหรือคำตัดสินชี้ขาดในคดีเพราะคำตัดสินขององค์คณะเท่านั้นที่จะถือว่าเป็นคำพิพากษา แต่กม.ก็กำหนดให้ศาลปกครองต้องตีพิมพ์เผยแพร่คำแถลงการณ์ของตุลาการผู้แถลงคดีต่อสาธารณะไปพร้อมกับการตีพิมพ์คำพิพากษาขององค์คณะด้วย

ตุลาการศาลปกครอง  - 1. ตุลาการในตำแหน่งต่อไปนี้ (1) ตุลาการศาลปกครองชั้นต้นได้แก่ อธิบดีศาลปกครองชั้นต้น รองอธิบดีศาลปกครองชั้นต้น ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองชั้นต้น และตุลาการศาลปกครองชั้นต้น (2) ตุลาการศาลปกครองสูงสุด ได้แก่ ประธานศาลปกครองสูงสุด รองประธานศาลปกครองสูงสุด ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด และตุลาการศาลปกครองสูงสุด  2. (พรบ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542 ม.3) ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดและตุลาการในศาลปกครองชั้นต้น

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ – ประธานศาลรัฐธรรมนูญ 1 คนกับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอื่นอีก 14 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา โดยมาจากผู้พิพากษาในศาลฎีกา ซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกา และได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาโดยวิธีลงคะแนนลับ จำนวน 5 คน ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดโดยวิธีลงคะแนนลับ จำนวน 2 คน ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ จำนวน 5 คน  ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์จำนวน 3 คน

แต่ง (ฟ้อง) – (พรบ.ทนายความ  2528 ม.33) เรียงหรือร่าง

แต่งเครื่องแบบโดยไม่มีสิทธิ – ความผิดตามปอ.ม.146 ซึ่งเป็นการกระทำที่เป็นการสวมเครื่องแบบหรือประดับเครื่องหมายของเจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาลหรือใช้ยศ ตำแหน่ง เครื่องราชอิสริยาภรณ์หรือสิ่งที่หมายถึงเครื่องราชอิสริยาภรณ์โดยไม่มีสิทธิเพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่า ตนมีสิทธิ

แต่งแร่ -  (พรบ.แร่ 2510 ม.4) การกระทำอย่างใดๆ เพื่อทำแร่ให้สะอาด  หรือเพื่อให้แร่ที่ปนกันอยู่ตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไปแยกออกจากกัน และหมายความรวมตลอดถึงบดแร่ หรือคัดขนาดแร่

โต้แย้งสิทธิ - (ปวิพ.ม. 55 ) กระทำล่วงสิทธิผู้อื่น หรือทำผิดหน้าที่ที่มีต่อบุคคลอื่น เช่น ผิดนัดชำระหนี้  กระทำละเมิด  ผู้จัดการมรดกจัดการไม่ถูกต้องตามพินัยกรรม(ฎ.1699/2515)

ไตร่ตรองไว้ก่อน – (ปอ.ม. 289 (4)) มีการทบทวนหรือวางแผนเตรียมการล่วงหน้าไว้ก่อนลงมือกระทำ

ไต่สวนมูลฟ้อง -   กระบวนพิจารณาของศาลในคดีอาญาภายหลังจากโจทก์(โดยปกติเป็นราษฎร)ยื่นฟ้อง แต่ก่อนที่ศาลจะประทับฟ้องโดยศาลจะไต่สวนพยานหลักฐานของโจทก์(ต่างจากสืบพยานในชั้นพิจารณา) เพื่อตรวจสอบว่า  คดีโจทก์มีมูลที่จะฟ้องร้องจำเลยได้





ถนน – (พรบ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง 2535 ม. 4) หมายความรวมถึง ทางเดินรถ ทางเท้า ขอบทาง ไหล่ทาง ทางข้ามตามกม.ว่าด้วยการจราจรทางบก ตรอก ซอย สะพาน หรือถนนส่วนบุคคล ซึ่งเจ้าของยินยอมให้ประชาชนใช้เป็นทางสัญจรได้

ถวายสัตย์ – การที่คณะรัฐมนตรี ผู้พิพากษาศาลหรือตุลาการศาลต่างๆ เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณด้วยถ้อยคำที่กำหนดไว้ตามกม.ก่อนที่จะปฏิบัติหน้าที่  การถวายสัตย์ถือเป็นเงื่อนไขที่สำคัญที่ต้องทำก่อนการปฏิบัติหน้าที่ หากไม่มีการถวายสัตย์ผู้ดำรงตำแหน่งนั้น จะปฏิบัติหน้าที่มิได้

ถอน –  (ปอ.ม.141) ดึง แกะ หรือทำให้หลุดออกไป

ถอนการบังคับคดี –  การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่อาจดำเนินการบังคับคดีกับลูกหนี้ตามคำพิพากษาต่อไปได้ เนื่องจากลูกหนี้ตามคำพิพากษาวางเงินหรือหาประกัน  หรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาสละสิทธิในการบังคับคดี หรือคำพิพากษาถูกกลับหรือหมายบังคับคดีถูกยกเลิก

ถอนทนายความ – (ปวิพ.) การที่ทนายความขอถอนตนจากการเป็นทนายของคู่ความโดยยื่นคำขอต่อศาลและศาลจะสั่งอนุญาตได้ต่อเมื่อตัวความได้ทราบหรือการที่ตัวความเองถอนทนายความ

ถอนฟ้อง - การที่โจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลแสดงความประสงค์ที่จะไม่ดำเนินคดีกับจำเลยอีกต่อไป

ถ้อยคำสำนวน    – (ปวิอ. ม. 2(19))หนังสือใดที่ศาลจดเป็นหลักฐานแห่งรายละเอียดทั้งหลายในการดำเนินคดีอาญาในศาลนั้น

ถามค้าน - การถามพยานบุคคลภายหลังจากเสร็จการซักถามแล้ว  โดยคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งเพื่อทำลายน้ำหนักพยานนั้นและเพื่อให้คำเบิกความพยานปากนั้นสนับสนุนน้ำหนักพยานฝ่ายตน        ดู ซักถาม  ถามค้าน

ถามติง - การถามพยานบุคคลหลังจากที่มีการถามค้านแล้วโดยคู่ความฝ่ายที่อ้างพยานเพื่อให้โอกาสพยานได้อธิบายคำเบิกความที่ตอบคำถามค้านไปโดยขัดกับคำเบิกความในตอนซักถาม หรือโดยเข้าใจผิดหรือคลุมเครือ  เพื่อให้คำเบิกความพยานกลับมีน้ำหนักและไม่ทำให้คดีเสียหาย  ดู ซักถาม  ถามค้าน

ถิ่นที่อยู่ถาวร – คำที่ใช้แทนคำว่า ภูมิลำเนา ในกม.ระหว่างประเทศเพื่อขจัดข้อขัดแย้งเรื่องความหมาย แปลมาจากคำว่า (Permanent Residence)

ถือเอาได้ – (ปพพ.ม. 138) ยึดถือ หวงแหนหรือแสดงกริยาอาการที่เข้าหวงกันไว้เพื่อตนเองได้ เช่น ปลาที่อยู่ในโป๊ะ (ฎ.1272/2473) รังนกในถ้ำสัมปทาน  ฯลฯ ไม่จำเป็นต้องยึดถือทางกายภาพเท่านั้น

ถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม – การที่ถูกบุคคลอื่นกลั่นแกล้ง รังแก เช่น ขืนใจให้ดื่มสุราเอาแก้วขว้าง ผลักล้มลงแล้วเอาไหล่ดัน (ฎ.2264/2520) หลอกหญิงไปร่วมประเวณีแล้วมาด่าใส่ความว่า เป็นคนชั่วในทางประเวณีต่อสามีของหญิงนั้น (ฎ. 551/2514) พูดจาคุกคาม (ฎ.526/2513) โดยที่ผู้นั้นไม่มีสิทธิกระทำได้      เป็นเงื่อนไขประการหนึ่งของการกระทำโดยบันดาลโทสะ ซึ่งเป็นเหตุลดโทษตามปอ. 

แถลงนโยบาย -  การที่คณะรัฐมนตรีแถลงแนวทางการปกครองประเทศต่อรัฐสภาภายในกำหนด 15 วันนับแต่วันเข้ารับหน้าที่ โดยไม่มีการลงมติไว้วางใจ



ทนาย – 1.(พ.) ผู้ที่ว่าความแทนผู้อื่น 2. (ก) คำที่ใช้ในกม.เก่า หมายถึง ผู้ที่มีตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือผู้ที่ว่าความแทนผู้อื่น แต่เมื่อมีพรบ. อัตราค่าธรรมเนียมทนายความ ร.ศ.123 จึงใช้คำว่า  ทนายความ

ทนายของแผ่นดิน – (ก) อัยการ  ใช้ใน พรบ.ลักษณะข้าหลวงและตระลาการเมืองเชียงใหม่ จ.ศ. 1246 ข้อ 18

ทนายความ – 1. บุคคลผู้เข้าว่าต่างแก้ต่างคดีให้คู่ความ     2. (พรบ.ทนายความ 2528 ม.4) ผู้ที่สภาทนายความได้รับจดทะเบียนและออกใบอนุญาตให้เป็นทนายความ   ในการตั้งทนายความ  จะต้องยื่นใบแต่งทนายความต่อศาล  ในคดีแพ่งทนายความมีอำนาจกระทำการแทนตัวความ เช่น ลงลายมือชื่อในฟ้องแทนคู่ความได้ (ฎ.1959/2500) นำฟ้องมายื่นต่อศาลเองได้  (ฎ.948/2479, 427/2501) ยื่นคำร้องขอเพิ่มเติมฟ้องในนามทนายความเอง (ฎ.419/2493)  ลงชื่อในคำให้การแก้ฟ้องแย้งเองได้(ฎ. 2008/2500)  ยื่นคำร้องขอให้งดการบังคับคดีไว้ก่อนเมื่อตัวความตาย (ฎ. 1748/2501)  แต่จะดำเนินกระบวนพิจารณาในทางจำหน่ายสิทธิของตัวความไม่ได้ยกเว้นแต่ได้รับอำนาจจากตัวความ   
    ในคดีอาญา  โจทก์จะต้องลงชื่อในฟ้องเอง ทนายความจะลงแทนไม่ได้ (ฎ.618/2490)
    ตามกม.เก่าจะใช้คำว่าทนาย  แต่เมื่อมี พรบ.อัตราค่าธรรมเนียมทนายความ ร.ศ.123 จึงใช้คำว่าทนายความ

ทนายความชั้นสอง – ทนายความที่จบเพียงอนุปริญญาและว่าความได้เพียง 10 จังหวัดเท่านั้น ไม่ใช่ทั่วราชอาณาจักร

ทนายความชั้นหนึ่ง – ทนายความที่สามารถว่าความได้ทั่วราชอาณาจักร

ทนายแผ่นดิน –ดู ทนายของแผ่นดิน

ทนายหน้าหอ – (ก) ผู้ต้อนรับ

ทบวง – หน่วยราชการที่ต่ำกว่ากระทรวงแต่สูงกว่ากรม มีรัฐมนตรีว่าการทบวงและปลัดทบวงเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบงานเหมือนกระทรวง เช่น ทบวงมหาวิทยาลัยของรัฐ แต่ปัจจุบันไม่มีหน่วยงานนี้แล้ว

ทบวงการเมือง – (ป.ที่ดิน ม.1) หน่วยราชการที่มีฐานะเป็นนิติบุคคลของราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค หรือราชการส่วนท้องถิ่น

ทรมาน – (ฆ่าผู้อื่น ปอ.ม. 289(5)) ทำให้ผู้ถูกฆ่าได้รับความทุกข์ทรมานจนตายหรือได้รับความยากลำบากก่อนตายโดยมิให้ตายทันที  ซึ่งต้องมีการกระทำเป็นพิเศษอื่นนอกจากการฆ่าเพื่อให้ผู้ตายได้รับความลำบากอย่างสาหัสก่อนตาย  (ฎ. 1970 / 2500) โดยดูจากแง่ผู้ถูกกระทำ เช่น เอาเชือกรัดคอแล้วกระชากให้ล้มลงแล้วลากไปตามพื้นดินจนขาดใจตาย (ฎ.361/2477) เผาทั้งเป็นโดยจับแก้ผ้า  มัดมือมัดเท้า เอาล้อยางสวม  ใช้น้ำมันราดแล้วจุดไฟเผา ขณะที่ยังไม่ตายทันที(ฎ. 449/2526)  ดู ทารุณโหดร้าย

ทรัพยสิทธิ – สิทธิที่มีวัตถุแห่งสิทธิเป็นทรัพย์สิน เป็นสิทธิของบุคคลที่มีต่อ หรือเหนือหรือที่มีอยู่ในตัวทรัพย์ เช่น กรรมสิทธิ์ ครอบครองภารจำยอม อาศัย สิทธิเก็บกิน สิทธิเหนือพื้นดิน ภารติดพันในอสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ สิทธินี้ใช้ยันกับบุคคลได้ทั้งโลกและแตกต่างจากบุคคลสิทธิซึ่งเป็นสิทธิที่บุคคลมีต่อบุคคล ทรัพยสิทธิจะก่อตั้งได้โดยกม.เท่านั้น ดูบุคคลสิทธิ

ทรัพยสิทธิเกี่ยวกับทรัพย์ซึ่งประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดิน - (ปพพ. ม. 139)             ทรัพยสิทธิในทรัพย์ที่ประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดิน ดังนี้ กรรมสิทธิ์   สิทธิครอบครอง(ฎ.350/2540)  ภารจำยอม สิทธิอาศัย  สิทธิเหนือพื้นดิน  สิทธิเก็บกิน ภารติดพันในอสังหาริมทรัพย์  สิทธิรับจำนองที่ดิน(ฎ. 321-322/ 2504)  เช่นในสระน้ำ เป็นต้น

ทรัพยสิทธิเกี่ยวกับทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดิน - (ปพพ. ม. 139)             ทรัพยสิทธิในทรัพย์ที่ติดอยู่กับที่ดินซึ่งเป็นการถาวร ดังนี้ กรรมสิทธิ์   สิทธิครอบครอง(ฎ.350/2540)  ภารจำยอม สิทธิอาศัย  สิทธิเหนือพื้นดิน  สิทธิเก็บกิน ภารติดพันในอสังหาริมทรัพย์  สิทธิรับจำนองที่ดิน(ฎ. 321-322/ 2504)  เช่น ในบ้านเรือน เป็นต้น

ทรัพยสิทธิอย่างอื่น – (ปพพ.ม. 722) ทรัพยสิทธิที่ตัดรอนหรือทำให้อำนาจในการใช้กรรมสิทธิ์ของเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ลดลง ทำนองเดียวกับภารจำยอม เช่น สิทธิอาศัย สิทธิเหนือพื้นดิน สิทธิเก็บกิน หรือภารติดพันในอสังหาริมทรัพย์  เป็นต้น ที่ไม่ใช่ทรัพยสิทธิอย่างอื่น เช่น สิทธิการเช่า (ฎ.1005/2507) จำนองหรือบุริมสิทธิในมูลจ้างทำของบนอสังหาริมทรัพย์

ทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับที่ดิน - (ปพพ. ม. 139)             ทรัพยสิทธิในที่ดินดังนี้ กรรมสิทธิ์   สิทธิครอบครอง(ฎ.350/2540)  ภารจำยอม สิทธิอาศัย  สิทธิเหนือพื้นดิน  สิทธิเก็บกิน ภารติดพันในอสังหาริมทรัพย์  สิทธิรับจำนองที่ดิน(ฎ. 321-322/ 2504)

ทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์  – (ปพพ. ม. 139)             ทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับที่ดิน ทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดิน และทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับทรัพย์ซึ่งประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดิน

ทรัพย์ -     1.  วัตถุมีรูปร่าง   ซึ่งอาจมีราคาและอาจถือเอาได้   2. (ปพพ.ม.137) วัตถุมีรูปร่าง   3. (ก) (กม.ลักษณะอาญา ม.6(10) )บรรดาสิ่งของอันบุคคลสามารถมีกรรมสิทธิ์หรือถืออำนาจเป็นเจ้าของได้  4.(ปอ.ม. 334) หมายความรวมถึงทรัพย์สินด้วย เช่น กระแสไฟฟ้า(ฎ. 877 / 2501 ป.,1880/2542) คลื่นสัญญาณโทรศัพท์( ฎ. 2286 / 2545) 

ทรัพย์จำนำ – (พรบ.โรงรับจำนำ 2505 ม.4) สิ่งของที่รับจำนำ

ทรัพย์ซึ่งประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดิน –(ปพพ.ม.139)  ทรัพย์ที่ประกอบเป็นพื้นดิน เช่น แม่น้ำ ลำคลอง แร่ธาตุ กรวดทราย ทรัพย์ชนิดนี้เป็นอสังหาริมทรัพย์ประเภทหนึ่ง   ไม่ถือว่า เป็นทรัพย์ชนิดนี้ เช่น สังหาริมทรัพย์ที่ตกหล่นอยู่ในทราย

ทรัพย์เฉพาะสิ่ง – ทรัพย์ที่ระบุ บ่งหรือกำหนดตัวและจำนวนแน่นอน  มีผลต่อสถานที่ชำระหนี้ ถ้าเป็นทรัพย์เฉพาะสิ่งชำระหนี้ที่ทรัพย์นั้นอยู่

ทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ – (ปอ.ม.360) ได้แก่ ถนนสาธารณะ (ฎ. 2538/2522) บ่อน้ำสาธารณะ (ฎ.361/2518) ป้ายบอกชื่อหนองน้ำสาธารณะ (ฎ. 1196/2518) ที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน(ฎ. 264/2522) ถนนสาธารณะ (ฎ. 1517/2519) ที่ไม่ใช่ทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ เช่น ธงชาติที่ชักอยู่หน้าเสาธงของโรงเรียน (ฎ. 588/2509)

ทรัพย์ที่เกิดอันตรายได้โดยสภาพ – (ปพพ.ม. 437) สายไฟฟ้า (ฎ.514/2537)

ทรัพย์นอกพาณิชย์  -         (ป.พ.พ.ม.143)  ทรัพย์ที่ไม่สามารถถือเอาได้และทรัพย์ที่โอนแก่กันมิได้โดยชอบด้วยกฎหมาย เช่น สาธารณสมบัติของแผ่นดินที่สงวนไว้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ (ฎ. 395/2538) สิทธิที่จะได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดู (ปพพ.ม. 1598/41)  ที่วัด ที่ธรณีสงฆ์หรือศาสนสมบัติกลางตามพรบ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505

ทรัพย์แบ่งได้  -     (ปพพ. ม. 141)              ทรัพย์อันอาจแยกออกจากกันเป็นส่วนๆ ได้จริงถนัดชัดแจ้ง  แต่ละส่วนได้รูปบริบูรณ์ลำพังตัว

ทรัพย์แบ่งไม่ได้   -       (ปพพ. ม.142)        ทรัพย์อันจะแยกออกจากกันไม่ได้นอกจากเปลี่ยนแปลงภาวะของทรัพย์ และหมายความรวมถึงทรัพย์ที่มีกฎหมายบัญญัติว่าแบ่งไม่ได้ด้วย

ทรัพย์ประธาน – (ปพพ.ม.1316) ทรัพย์ที่มีสภาพของทรัพย์นั้นสำคัญมากกว่าหรือที่มีราคามากกว่าทรัพย์อื่นที่มารวมเป็นส่วนควบ

ทรัพย์ส่วนบุคคล – (พรบ.อาคารชุด  2522 )  ห้องชุดและหมายความรวมถึงสิ่งปลูกสร้าง หรือที่ดินที่จัดไว้ให้เป็นเจ้าของห้องชุดแต่ละราย (ม.4) เช่น ส่วนของระเบียงห้องชุด (ฎ.4495/2540)

ทรัพย์ส่วนกลาง – (พรบ.อาคารชุด  2522 ) ส่วนของของอาคารที่มิใช่ห้องชุด ที่ดินที่ตั้งอาคารชุดและที่ดินหรือทรัพย์สินอื่นที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกันสำหรับเจ้าของร่วม   (ม.4) ทรัพย์นี้จะถูกฟ้องให้แบ่งแยกบังคับจำนองหรือบังคับให้ขายทอดตลาดแยกจากทรัพย์ส่วนบุคคลไม่ได้   ดู ทรัพย์ส่วนบุคคล

ทรัพย์สิน -     1.  (ปพพ. ม.138)  หมายความรวมทั้งทรัพย์และวัตถุไม่มีรูปร่างซึ่งอาจมีราคาและอาจถือเอาได้ เช่น หุ้นในบริษัท(ฎ.1174/2487)กระแสไฟฟ้า (877/2501 ป.) สัญญาณโทรศัพท์ (ฎ. 2286 / 2545)  สิทธิทำเหมืองแร่ตามประทานบัตร (ฎ. 2855/2519)  สิทธิการเช่าตึก (ฎ. 536/2498) สิทธิการเช่าโทรศัพท์ (ฎ.195/2531) สิทธิตามสัญญาจะซื้อทรัพย์ (ฎ.1476/2518)สิทธิตามสัญญาเช่าซื้อ (ฎ. 1502/2522)  สิทธิเก็บค่ารักษาความสะอาดจากพ่อค้าแม่ค้าที่ใช้พื้นที่ในที่ดินทำการค้า (ฎ. 1255/2537)    2. ชื่อของบรรพ 4 แห่ง ปพพ.    3.(พรบ.การช่วยเหลือกู้ภัยทางทะเล 2550 ม.4)  ทรัพย์สินใด ๆ ที่ไม่ได้มุ่งหมายให้ติดตรึงถาวรอยู่กับแนวชายฝั่งและให้หมายความรวมถึงสิทธิที่จะได้รับค่าระวางด้วย

ทรัพย์สินของแผ่นดิน – (ปพพ.) ทรัพย์สินทุกชนิดของแผ่นดินซึ่งอาจจะใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกันหรือไม่ก็ได้ แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ ทรัพย์สินของแผ่นดินธรรมดาและสาธารณสมบัติของแผ่นดิน  จะยึดทรัพย์สินของแผ่นดินไม่ได้  แต่ถ้านำมาใช้กระทำความผิดอาจถูกริบได้ (ฎ. 5167/2537)

ทรัพย์สินของแผ่นดินธรรมดา –   ทรัพย์สินของรัฐทุกชนิดแต่ไม่ใช่ทรัพย์ที่ใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกันหรือที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เช่น ที่ราชพัสดุที่กระทรวงการคลังให้เอกชนเช่า (ฎ. 837 / 2492) ทรัพย์ที่ศาลสั่งริบตามปอ.

ทรัพย์สินทางปัญญา – สิทธิเกี่ยวกับผลงานที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ ได้แก่ ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า ความลับทางการค้า การคุ้มครองพันธ์พืช การคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย การคุ้มครองแบบผังภูมิของวงจรรวม

ทรัพย์สินที่ใช้ประโยชน์ร่วมกัน -  (พรบ.การเคหะแห่งชาติ 2537 ม.25/1 ) ที่ดิน อาคาร หรือทรัพย์สินอื่นที่ กคช. ได้จัดทำหรือมีไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกันของผู้อยู่อาศัย หรือที่ผู้อยู่อาศัยได้จัดทำหรือร่วมกันจัดให้มีขึ้นเพื่อประโยชน์ส่วนรวม

ทรัพย์สินที่ได้ใช้ในการกระทำความผิดหรือได้มาโดยการกระทำความผิด – (ปพพ.ม. 1327) ทรัพย์สินที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐเก็บรักษาไว้โดยไม่มีการฟ้องร้องต่อศาล  หรือหากมีการฟ้องร้องก็ต้องเป็นกรณีที่ศาลมิได้พิพากษาให้ริบหรือสั่งคืนทรัพย์สินของกลางให้แก่เจ้าของ  (ฎ. 2568/2545) ต่างจาก ปอ.ม. 35 และ 36  ที่ต้องมีการฟ้องร้องคดีและศาลมีคำพิพากษาให้ริบ

ทรัพย์สินในอนาคต  -         ทรัพย์ที่ต้องทำขึ้นหรือหามาได้ภายหลังจากทำสัญญาแล้ว

ทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ  – (พรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2542 ม.4) การที่ทรัพย์สินหรือหนี้สินในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ยื่นเมื่อพ้นจากตำแหน่งมีการเปลี่ยนแปลงไปจากบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินที่ได้ยื่นเมื่อเข้ารับตำแหน่งในลักษณะที่ทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติหรือหนี้สินลดลงผิดปกติ

ทรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน – (ปพพ.ม.1304) ทรัพย์สินของแผ่นดินซึ่งโดยสภาพประชาชนทั่วไปย่อมมีสิทธิใช้สอยร่วมกัน เช่น ที่ชายตลิ่ง ทางน้ำ ทางหลวง ทะเลสาบ ทุ่งหญ้าสำหรับเลี้ยงสัตว์สาธารณะ (ฎ.936/2520,2311-2312/2536) ที่ดินซึ่งใช้เลี้ยงสัตว์สำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน (ฎ. 5924/2537)  หนองน้ำสาธารณะ ลำรางสาธารณประโยชน์ (ฎ. 1189/2535) ที่ดินตั้งสถานีขนส่งผู้โดยสารสาธารณะ (ฎ.3226/2540) เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทหนึ่ง ดูสาธารณสมบัติของแผ่นดิน

ทรัพย์สินหาย – 1.(ปพพ.ม.1323) ทรัพย์ที่มีเจ้าของแต่หลุดพ้นไปจากความยึดถือและหาไม่พบ โดยเจ้าของหรือผู้ครอบครองมิได้มีเจตนาที่จะสละการครอบครอง    และเจ้าของไม่ได้ติดตามหาอยู่    2. (อาญา) ทรัพย์ที่หลุดพ้นไปจากความยึดถือของเจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยมิได้ตั้งใจไม่ใช่เรื่องสละการครอบครอง (ฎ.1363/2503 ป.)   ทรัพย์ที่มีเจ้าของแต่หลุดพ้นไปจากความยึดถือและหาไม่พบ โดยเจ้าของหรือผู้ครอบครองมิได้มีเจตนาที่จะสละการครอบครองและผู้กระทำความผิดเก็บเอาได้โดยไม่รู้หรือไม่ควรรู้ว่าเจ้าทรัพย์กำลังหรือจะติดตามเอาคืน    ดู ของตก

ทรัพย์อันตราย – (ปพพ.ม.437) ทรัพย์ที่เป็นอันตรายดังนี้ (1) โดยสภาพหรือตัวทรัพย์นั้นเอง เช่น กระแสไฟฟ้า (ฎ.1869/2492, 179/2522, 1919/2523) แก๊ส (ฎ.4029/2533) น้ำกรด (ฎ.963/2467) น้ำมันเบนซิน (ฎ. 408/2478) ดินปืน ระเบิด (2)โดยความมุ่งหมายหรือที่เกิดจากการใช้ เช่น พลุและ(3)โดยกลไกของทรัพย์นั้นเอง เช่น เครื่องตัดกระดาษในโรงพิมพ์

ทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดินมีลักษณะเป็นการถาวร –(ปพพ.ม.139)  ทรัพย์ที่เกิดหรือติดกับที่ดินโดยธรรมชาติ เช่น ไม้ยืนต้น  ต้นพลู (ฎ. 372/2498) ต้นไผ่(ฎ.6303/2539) หรือที่มีผู้นำมาติด เช่น ตึก บ้านเรือน แต่ต้องมีลักษณะถาวร  ทรัพย์ชนิดนี้เป็นอสังหาริมทรัพย์ประเภทหนึ่ง   ไม่ถือว่า เป็นทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดินมีลักษณะเป็นการถาวร เช่น เครื่องจักรโรงสี (ฎ.399/2509) ร้านแผงลอย (ฎ. 1733/2500)

ทรัสต์ – 1. การมอบหมายให้ผู้อื่นจัดการดูแลทรัพย์สินแทนเจ้าของ 2. (ปพพ.)การจัดตั้งกองทรัพย์สินเพื่อมิให้มีการแบ่งปันทรัพย์มรดก

ทรัสต์รีซีท – ใบรับสินค้าที่แสดงว่า ผู้ซื้อสินค้าได้ครอบครองสินค้าเพื่อประโยชน์ของธนาคาร  โดยถือว่า กรรมสิทธิ์ในสินค้ายังเป็นของธนาคาร (ฎ. 2546/2524 , 2157/2524)

ทฤษฎีการลงโทษ – (อาญา) แนวคิดที่อธิบายจุดประสงค์ในการลงโทษทางอาญา มี 4 ทฤษฎีคือ (1)ทฤษฎีแก้แค้นทดแทนซึ่งเป็นแนวความคิดลงโทษทางอาญาที่เก่าแก่ที่สุดมาจากหลักที่ว่า ตาต่อตา ฟันต่อฟัน     มีแนวคิดว่า ผู้กระทำความผิดใด ต้องได้รับโทษที่สาสมความผิดเช่นนั้น โดยไม่คำนึงถึงสภาวการณ์ทางสังคมอื่น แต่มุ่งประสงค์จะลงโทษผู้กระทำความผิด และเน้นความผิดกับการลงโทษต้องมีสัดส่วนเท่ากัน (2) ทฤษฎีข่มขู่ มาจากแนวความคิดปรัชญาอรรถประโยชน์นิยมที่ว่า การลงโทษทางอาญาแก่ผู้กระทำความผิดต้องมีผลถึงอนาคต โดยมุ่งข่มขู่มิให้มีการกระทำความผิดเช่นนั้นอีก  (3) ทฤษฎีตัดโอกาสผู้กระทำความผิด เป็นแนวความคิดที่มีวัตถุประสงค์ไม่ให้ผู้กระทำความผิดกลับไปมีโอกาสกระทำความผิดได้อีก ซึ่งอาจจะเป็นการตัดโอกาสตลอดไป เช่น ประหารชีวิต หรือตัดโอกาสชั่วคราว เช่น จำคุก   (4) ทฤษฎีแก้ไขฟื้นฟู  มีแนวความคิดที่มุ่งจะให้ผู้กระทำความผิดสามารถกลับคืนเข้าสู่สังคมได้  จึงมุ่งแก้ไขปรับปรุงมากกว่าการลงโทษ

ทฤษฎีความสมบูรณ์แห่งการแสดงเจตนา – แนวความ คิดที่ว่า การแสดงเจตนาในนิติกรรมจะมีผลสมบูรณ์เมื่อใด มี 4 ทฤษฎีคือ ทฤษฎีเผยเจตนา ทฤษฎีส่งเจตนา ทฤษฎีรับเจตนาและทฤษฎีรับทราบเจตนา

ทฤษฎีเงื่อนไข – ทฤษฎีว่าความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผลทฤษฎีหนึ่ง ซึ่งมีหลักวินิจฉัยว่า  ถ้าไม่มีการกระทำของจำเลย ผลจะไม่เกิด  หรือการกระทำของจำเลยก่อให้เกิดผลนั้นโดยตรง แม้ว่าจะมีการกระทำของคนอื่นประกอบด้วยก็ตาม ต้องถือว่ามีความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผลและจำเลยต้องรับผิดในผลการกระทำนั้น แต่ถ้าหากไม่มีการกระทำของจำเลย ผลก็ยังเกิด ต้องถือว่า  ผลไม่ได้เกิดจากการกระทำของจำเลยและไม่มีความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผล  จำเลยไม่ต้องรับผิดในผลการกระทำนั้น  ดูเหตุแทรกแซง

ทฤษฎีปฏิฐานนิยม – ดู สำนักกฎหมายบ้านเมือง

ทฤษฎีเผยแสดงเจตนา – แนวความคิดที่ว่า การแสดงเจตนาในนิติกรรมจะมีผลสมบูรณ์ในทันทีที่แสดงออกมา

ทฤษฎีมูลเหตุเหมาะสม - ทฤษฎีว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผลทฤษฎีหนึ่ง ซึ่งมีหลักวินิจฉัยว่า  ผู้กระทำจะรับผิดก็ต่อเมื่อเป็นเหตุที่ตามปกติย่อมก่อให้เกิดผลเช่นว่านั้น

ทฤษฎีรับเจตนา – แนวความคิดที่ว่า การแสดงเจตนาในนิติกรรมจะมีผลสมบูรณ์เมื่อผู้รับได้การแสดงเจตนาที่ส่งมานั้นแล้ว

ทฤษฎีรับทราบเจตนา – แนวความคิดที่ว่า การแสดงเจตนาในนิติกรรมจะมีผลสมบูรณ์เมื่อผู้รับได้ทราบถึงการแสดงเจตนานั้นแล้ว

ทฤษฎีว่าด้วยเจ้าของอำนาจอธิปไตย - ทฤษฎีที่อธิบายความชอบธรรมในการปกครองประเทศ โดยอ้างความเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ซึ่งได้แก่  ทฤษฎีว่าด้วยอำนาจอธิปไตยเป็นของพระเจ้า    ทฤษฎีว่าด้วยอำนาจอธิปไตยเป็นของพระสันตปปา   ทฤษฎีว่าด้วยอำนาจอธิปไตยเป็นของกษัตริย์ ทฤษฎีว่าด้วยอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน และทฤษฎีว่าด้วยอำนาจอธิปไตยเป็นของชาติ 

ทฤษฎีว่าด้วยอำนาจอธิปไตยเป็นของกษัตริย์ - ทฤษฎีที่อธิบายความชอบธรรมในการปกครองประเทศ โดยอ้างว่า กษัตริย์เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ทฤษฎีนี้เกิดในปลายยุคกลาง หลังจากการเกิดทฤษฎีว่าด้วยอำนาจอธิปไตยเป็นของพระเจ้า    และทฤษฎีว่าด้วยอำนาจอธิปไตยเป็นของพระสันตปปา   โดยในยุคนั้นอาณาจักรมีอำนาจแข็งแกร่งกว่าศาสนจักรและต้องการที่จะปกครองตนเองเป็นอิสระ จึงมีแนวความคิดที่จะเพิ่มอำนาจอาณาจักรขึ้นและลดอำนาจของศาสนจักรลงมีการใช้คำว่า อำนาจอธิปไตย (Sovereignty) แทนคำว่าอำนาจสูงสุด (Supremacy) โดยฌองส์ โบแดงซึ่งอธิบายไว้ว่าอำนาจอธิปไตยเป็นอำนาจสูงสุดในการปกครองรัฐ เป็นอำนาจที่แยกต่างหากจากอำนาจของพระเจ้า พระมหา กษัตริย์เป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยเนื่องจากเป็นประมุขของรัฐและเป็นตัวแทนของรัฐฎาธิปัตย์  นักคิดสำคัญของทฤษฎีนี้ คือ ฌองส์ โบแดง และ โทมัส ฮอปส์ (Thomas Hobbes)

ทฤษฎีว่าด้วยอำนาจอธิปไตยเป็นของชาติ - ทฤษฎีที่อธิบายความชอบธรรมในการปกครองประเทศ โดยอ้างว่า ชาติเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ในฐานะที่ชาติเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากประชาชนที่ประกอบกันเข้าเป็นชาติ  เนื่องจากชาติประกอบด้วยประชาชนทั้งที่มีชีวิตอยู่ ที่ตายไปแล้วและที่จะเกิดมาในอนาคตด้วย ทฤษฎีนี้เป็นแนวความคิดที่ตรงกันข้ามกับทฤษฎีว่าด้วยอำนาจอธิปไตยเป็นของกษัตริย์ โดยผลของทฤษฎีนี้มีดังนี้ (1)  อำนาจอธิปไตยไม่ได้เป็นของประชาชน แต่เป็นของชาติ ชาติจึงเป็นผู้มีสิทธิเรียกอำนาจอธิปไตยคืน ไม่ใช่ประชาชน (2) การออกเสียงเลือกตั้งเป็นหน้าที่ ไม่ใช่สิทธิ   (3) ต้องใช้ใช้อำนาจอธิปไตยโดยผู้แทนแต่เพียงอย่างเดียว  นักคิดสำคัญของทฤษฎีนี้ คือ ซิแยส

ทฤษฎีว่าด้วยอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน - ทฤษฎีที่อธิบายความชอบธรรมในการปกครองประเทศ โดยอ้างว่า ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ทฤษฎีนี้เกิดเพื่อลบล้างทฤษฎีว่าด้วยอำนาจอธิปไตยเป็นของกษัตริย์เนื่องจากกษัตริย์ไม่ได้ปกครองโดยทศพิธราชธรรม แต่กดขี่ข่มเหงประชาชน จึงเกิดแนวความคิดว่า อำนาจอธิปไตยมีอยู่แล้วแต่เดิมในตัวมนุษย์ทุกคน  แต่เมื่อมนุษย์มาอยู่รวมกันเป็นรัฐ จึงมีการตกลงทำสัญญากันโอนอำนาจอธิปไตยที่มีอยู่ในตัวมนุษย์แต่ละคนเข้าเป็นของรัฐ   โดยผลของทฤษฎีนี้มีดังนี้ (1)  การออกเสียงเลือกตั้งเป็นสิทธิ ไม่ใช่หน้าที่ (2) เหมาะสมกับการปกครองในระบอบสาธารณรัฐหรือระบอบที่มีประธานาธิบดีเป็นประมุข   (3) ส่งเสริมการใช้อำนาจอธิปไตยโดยตรงหรือโดยผู้แทน นักคิดสำคัญของทฤษฎีนี้ คือ ฌอง ฌาคส์ รุสโซ

ทฤษฎีว่าด้วยอำนาจอธิปไตยเป็นของพระเจ้า - ทฤษฎีแรกที่อธิบายความชอบธรรมในการปกครองประเทศ โดยอ้างว่า พระเจ้าเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย เนื่องจากพระเจ้าเป็นพระผู้สร้างทุกสรรพสิ่ง จึงอยู่เหนือทุกสิ่งและเป็นผู้กำหนดทุกสิ่ง  อำนาจอธิปไตยจึงเป็นของพระเจ้า  โดยทฤษฎีนี้ศาสนจักรจึงอยู่เหนืออาณาจักร  กม.ที่ออกโดยอาณาจักรจะอยู่ต่ำกว่า กม.ของพระเจ้า  กม.ธรรมชาติ และกม.ศาสนา  นักคิดสำคัญของทฤษฎีนี้ คือ นักบุญออกัสติน (St. Augustin)

ทฤษฎีว่าด้วยอำนาจอธิปไตยเป็นของพระสันตปปา – ทฤษฎีที่อธิบายความชอบธรรมในการปกครองประเทศควบคู่กับทฤษฎีว่าด้วยอำนาจอธิปไตยเป็นของพระเจ้า โดยอธิบายว่า เนื่องจากพระเจ้าเป็นเทพผู้บริสุทธิ์ไม่อาจที่จะเข้าข้องแวะกับมนุษย์ได้ทุกคน ทุกเวลาหรือทุกสถานที่ พระองค์จึงได้ให้พระเยซูซึ่งเป็นพระบุตรมาไถ่บาปแทน เพื่อมนุษย์จะได้ปฏิบัติตามเจตน์จำนงอิสระของตนได้ ต่อมาพระเยซูได้เลือกให้นักบุญปีเตอร์ (St. Peter)   ให้เป็นผู้ปกครองดูแลศาสนจักร นักบุญปีเตอร์ได้มอบอำนาจนี้ให้พระสันตปปาต่อ ๆ มา พระสันตปปาซึ่งได้รับมอบอำนาจมาจากเป็นตัวแทนของพระเจ้าในโลกมนุษย์จึงเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยของทุกรัฐแทนพระเจ้าไปด้วย โดยไม่จำกัดในรัฐใดรัฐหนึ่งเท่านั้น เป็นทฤษฎีแรกที่ยอมรับว่า มนุษย์เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย โดยทฤษฎีนี้ศาสนจักรจึงอยู่เหนืออาณาจักร  แนวความคิดนี้เจริญมากในยุคกลาง ศาสนจักรมีอำนาจครอบงำอาณาจักรมาก เช่น การสวมมงกุฎเพื่อขึ้นครองราชของพระราชาจะต้องกระทำโดยพระสันตปปาเท่านั้น การสมรสจะต้องกระทำภายในโบสถ์และโดยพระเท่านั้น

ทฤษฎีส่งแสดงเจตนา – แนวความคิดที่ว่า การแสดงเจตนาในนิติกรรมจะมีผลสมบูรณ์เมื่อมีการส่งการแสดงเจตนานั้นไปยังผู้รับ เช่น ทันทีที่ส่งทางไปรษณีย์

ทวินิยม – (รปท.) (Dualism) ทฤษฎีอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างกม.ระหว่างประเทศกับกม.ภายใน โดยถือว่า กม.ทั้งสองแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง จะใช้กม.ใดบังคับดูจากกิจการที่จะนำไปใช้ ถ้าเป็นกิจการภายในให้ใช้กม.ภายใน ถ้าเป็นกิจการระหว่างประเทศ ให้นำกม.ระหว่างประเทศมาใช้บังคับ

ทหารกองเกิน - (พรบ.รับราชการทหาร 2497 ม.4(2)) ผู้ซึ่งมีอายุตั้งแต่ 18 ปีบริบูรณ์ และยังไม่ถึง 30 ปีบริบูรณ์ ซึ่งได้ลงบัญชีทหารกองเกินตามม.16 หรือผู้ซึ่งได้ลงบัญชีทหารกองเกินตาม ม.18 แล้ว

ทหารกองประจำการ – (พรบ.รับราชการทหาร 2497 ) ผู้ซึ่งทะเบียนกองประจำการและได้เข้ารับราชการในกองประจำการจนกว่าจะได้ปลด  (ม.4(3))ทหารกองประจำการจึงไม่ใช่ทหารประจำการ ไม่ใช่ข้าราชการทหารและไม่ใช่ข้าราชการ (ฎ.1111/2545)  ดู ทหารประจำการ ข้าราชการทหาร

ทหารกองหนุนประเภทที่ 1  - (พรบ.รับราชการทหาร 2497 ม.4(4)) ทหารที่ปลดจากกองประจำการ โดยรับราชการในกองประจำการจนครบกำหนด หรือทหารกองเกินซึ่งสำเร็จการฝึกวิชาทหารตามกม.ว่าด้วยการส่งเสริมการฝึกวิชาทหาร และได้ขึ้นทะเบียนกองประจำการแล้วปลดเป็นกองหนุนตามพรบ.นี้

ทหารกองหนุนประเภทที่ 2  - (พรบ.รับราชการทหาร 2497 ม.4(5)) ทหารที่ปลดจากกองเกินตาม ม. 39 หรือปลดจากกองประจำการตาม ม.40 

ทหารประจำการ – (พรบ.รับราชการทหาร2497 ม.4(8)) ทหารซึ่งรับราชการตามที่กระทรวงกลาโหมกำหนด ซึ่งไม่ใช่ทหารกองประจำการ )  ดู ทหารกองประจำการ ข้าราชการทหาร

ท้องตลาด – (ปพพ.ม.1332) สถานที่ซึ่งมีสินค้าไว้เสนอขายแก่ประชาชนทั่วไปโดยปกติ (ฎ.847/2486) ที่ชุมนุมแห่งการค้า (ฎ.907/2490,185/2508)

ท่อผ่านคลอง - (พรบ.รักษาคลองประปา 2526 ม.4) ท่อส่งน้ำจากคลองอื่นหรือแหล่งน้ำอื่นที่ฝังลอดใต้คลองประปา

ท่อส่งน้ำดิบ - (พรบ.รักษาคลองประปา 2526 ม.4) ท่อส่งน้ำดิบที่ใช้ในการผลิตน้ำประปาของการประปารวมทั้งท่ออื่นใดซึ่งส่งน้ำดิบจากคลองประปาลอดใต้คลองอื่นที่มิใช่คลองประปา

ทะเบียนคนเกิด - (พรบ.การทะเบียนราษฎร  2534 ม.4) ทะเบียนซึ่งแสดงรายการคนเกิด

ทะเบียนคนตาย - (พรบ.การทะเบียนราษฎร  2534 ม.4) ทะเบียนซึ่งแสดงรายการคนตาย

ทะเบียนที่ดิน – (ปพพ.ม. 1373) โฉนดที่ดิน หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3, น.ส. 3 ก.) (ฎ. 3565/2538, 4343/2539, 5132/2539 )

ทะเบียนบ้าน - (พรบ.การทะเบียนราษฎร 2534 ม.4) ทะเบียนประจำบ้านแต่ละบ้านซึ่งแสดงเลขประจำบ้านและรายการของคนทั้งหมดผู้อยู่ในบ้าน

ทะเบียนบ้านกลาง - (พรบ.การทะเบียนราษฎร 2534 ม.4) ทะเบียนซึ่งผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนดให้จัดทำขึ้นสำหรับลงรายการบุคคลที่ไม่อาจมีชื่อในทะเบียนบ้าน

ทะเลอาณาเขต – 1. พื้นน้ำและแผ่นดินใต้พื้นน้ำที่อยู่ระหว่างพื้นแผ่นดินและทะเลหลวง 2.พื้นน้ำที่มิใช่ส่วนภายในส่วนของประเทศที่เป็นพื้นดิน หากแต่อยู่ในหรือเป็นส่วนหนึ่งของพื้นน้ำภายนอก ซึ่งรัฐชายฝั่งกำหนดเอาส่วนหนึ่งวัดจากชายฝั่งออกไปให้เป็นส่วนของประเทศได้ มีกำหนดระยะ 12 ไมล์ทะเลหรือ 22 กิโลเมตร (ประกาศพระบรมราชโองการกำหนดความกว้างของทะเลอาณาเขตของประเทศไทยลงวันที่ 6 ตค.2509

ทาง – (พรบ.จราจรทางบก  2522 ม. 4 (2)) ทางเดินรถช่องเดินรถ ช่องเดินรถประจำทาง ไหล่ทาง ทางเท้า ทางข้าม ทางร่วมทางแยก ทางลาด ทางโค้ง สะพานและลานที่ประชาชนใช้ในการจราจร และให้หมายความรวมถึงทางส่วนบุคคลที่เจ้าของยินยอมให้ประชาชนใช้ในการจราจรหรือที่เจ้าพนักงานจราจรได้ประกาศให้เป็นทางตามพรบ.นี้ด้วย แต่ไม่รวมไปถึงทางรถไฟ

ทางขนาน – (พรบ.ทางหลวง  2535 ม.4) ส่วนหนึ่งของทางหลวงที่ทำหรือจัดไว้ทั้งสองข้างหรือเฉพาะข้างใดข้างหนึ่งของทางหลวงเพื่อใช้เป็นทางจราจรหรือทางเท้า

ทางข้าม – (พรบ.จราจรทางบก  2522 ม. 4 (12)) พื้นที่ที่ทำไว้สำหรับให้คนเดินเท้าข้ามทางโดยทำเครื่องหมายเป็นเส้นหรือแนวหรือตอกหมุดไว้บนทางและให้หมายความรวมถึงพื้นที่ที่ทำให้คนเดินเท้าข้ามไม่ว่าในระดับใต้หรือเหนือพื้นดินด้วย

ทางจราจร – (พรบ.ทางหลวง  2535 ม.4) ส่วนหนึ่งของทางหลวงที่ทำหรือจัดไว้เพื่อการจราจรของยานพาหนะ

ทางจำเป็น - (ปพพ. ม.1349) ทางที่กม.ให้เจ้าของที่ดินที่ถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมรอบจนไม่มีทางออกสู่สาธารณะได้ มีสิทธิผ่านที่ดินล้อมรอบออกไปสู่ทางสาธารณะได้ โดยต้องเสียค่าทดแทนแต่ไม่ต้องจดทะเบียนต่อเจ้าหน้าที่ (ฎ.1224/2539)  การขอเปิดทางจำเป็นปลายทางไม่จำต้องติดทางสาธาธารณะ(ฎ. 7524/2538)

ทางเดินรถ – (พรบ.จราจรทางบก  2522 ม. 4 (3)) พื้นที่ที่ทำไว้สำหรับการเดินรถไม่ว่าในระดับพื้นดิน ใต้หรือเหนือพื้นดิน

ทางเดินรถทางเดียว – (พรบ.จราจรทางบก  2522 ม. 4 (6)) ทางเดินรถใดที่กำหนดให้ผู้ขับรถขับไปทิศทางเดียวกันตามเวลาที่เจ้าพนักงานจราจรกำหนด

ทางเท้า – 1. (พรบ.จราจรทางบก  2522 ม. 4 (11)) พื้นที่ที่ทำไว้สำหรับคนเดิน ซึ่งอยู่ข้างใดข้างหนึ่งของทาง หรือทั้งสองข้างของทาง หรือส่วนที่อยู่ชิดขอบทางซึ่งใช้เป็นที่สำหรับคนเดิน  2. (พรบ.ทางหลวง  2535 ม.4) ส่วนหนึ่งของทางหลวงที่ทำหรือจัดไว้สำหรับคนเดิน 

ทางน้ำ –  1. (ปพพ.ม.1304) แม่น้ำ ลำคลอง ลำห้วย คู ซึ่งสาธารณชนใช้สัญจรไปมา แม้จะตื้นเขินไปแล้ว (ฎ.979/2477) หรือแม้เดิมจะเป็นที่ดินมีโฉนดแต่ได้พังทลายเป็นทางน้ำสาธารณะก็ตาม(ฎ.199/2533) ก็ยังถือว่าเป็นทางน้ำและเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทหนึ่ง    2. (ปพพ.ม.1354) ทางน้ำสาธารณะ เช่นแม่น้ำ ลำคลอง ลำห้วย คู 3. (พรบ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง 2535 ม. 4) ทะเล ทะเลสาบ หาดทราย ชายทะเล อ่างเก็บน้ำ แม่น้ำ ห้วย หนอง คลอง คันคลอง บึง คู ลำราง และหมายความรวมถึงท่อระบายน้ำด้วย

ทางร่วมทางแยก – (พรบ.จราจรทางบก  2522 ม. 4 (9)) พื้นที่ที่ทางเดินรถตั้งแต่สองสายตัดผ่านกัน รวมบรรจบกัน หรือติดกัน

ทางสาธารณ –   (ปอ.ม. 1(2)) ทางบกหรือทางน้ำสำหรับประชาชนใช้ในการจราจร  และให้หมายความรวมถึงทางรถไฟและทางรถรางที่มีรถเดิน  สำหรับประชาชนโดยสารด้วย   แต่ถ้าเป็นทางส่วนบุคคลและยังไม่ได้อุทิศเป็นทางสาธารณ แม้จะมีผู้สัญจรก็ไม่ใช่ทางสาธารณ เช่น คลองที่เจ้าของที่ดินขุดขึ้น  แต่ไม่ได้อุทิศเป็นทางสาธารณ แม้จะมีผู้ใช้คลองนั้นก็ไม่ใช่ทางสาธารณ (ฎ.1186/2500,1020-1021/ 2505 ) ทางสาธารณเป็นองค์ประกอบความผิดตาม ปอ.ม. 229, 372, 378, 385,386,387 และ 396

ทางหลวง –   1. (ปพพ.ม.1304) ถนนหรือทางที่สาธารณชนใช้สัญจรไปมา  แต่ไม่รวมถึงที่หรือทางของเอกชน   2. (พรบ.ทางหลวง  2535 ม.4) ทางหรือถนนซึ่งจัดไว้เพื่อประโยชน์ในการจราจรสาธารณะทางบก ไม่ว่าในระดับพื้นดิน ใต้หรือเหนือพื้นดิน หรือใต้หรือเหนืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นนอกจากทางรถไฟ และให้หมายความรวมถึงที่ดิน พืช พันธุ์ไม้ทุกชนิด สะพาน ท่อ หรือรางระบายน้ำ อุโมงค์ ร่องน้ำ กำแพงกันดิน เขื่อน รั้ว หลักสำรวจ หลักเขต หลักระยะ ป้ายจราจร เครื่องหมายจราจร เครื่องหมายสัญญาณ เครื่องสัญญาณไฟฟ้า เครื่องแสดงสัญญาณ  ที่จอดรถ ที่พักคนโดยสาร เรือสำหรับขนส่งข้ามฟาก ท่าเรือสำหรับขึ้นหรือลงรถ และอาคารหรือสิ่งอื่นอันเป็นอุปกรณ์งานทางบรรดาที่ได้จัดไว้ในเขตทางหลวงและเพื่อประโยชน์แก่งานทางนั้นด้วย

ทางหลวง พ.ศ. 2535, พรบ. – กม.ที่ว่าด้วยการใช้ทางหลวงแผ่นดิน โดยกำหนดความผิดและโทษไว้

ท่าซึ่งกำหนดให้นำเข้าหรือส่งออก – (พรบ.ศุลกากร) ท่าทางทะเล ตั้งเรียงรายอยู่ตามชายฝั่งในจังหวัดต่างๆ ที่มีอาณาเขตติดต่อกับชายทะเล     ดู ที่  ด่านศุลกากร

ทายาท – 1.ผู้มีสิทธิได้รับมรดกตกทอดของผู้ตาย มี 2 ประเภทคือ ทายาทโดยธรรมและผู้รับพินัยกรรม 2.(ปพพ.ม.1605) ทายาทโดยธรรมและผู้รับพินัยกรรมลักษณะทั่วไปเท่านั้น ไม่หมายความรวมถึงผู้รับพินัยกรรมเฉพาะสิ่งเฉพาะอย่าง

ทายาทโดยธรรม –  ทายาทที่มีสิทธิได้รับมรดกตาม กม.(ปพพ.ม. 1603) ได้แก่ สามีภริยาโดยชอบด้วยกม.  ญาติพี่น้องคือ ผู้สืบสันดาน  บิดามารดา พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน  พี่น้องร่วมบิดาหรือมารดาเดียวกัน ปู่ย่าตายาย ลุงป้าน้าอา

ทารุณกรรม – (พรบ.คุ้มครองเด็ก  2546 ม. 4) การกระทำหรือละเว้นการกระทำด้วยประการใดๆ จนเป็นเหตุให้เด็กเสื่อมเสียเสรีภาพหรือเกิดอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจ การกระทำผิดทางเพสต่อเด็ก การใช้เด็กให้กระทำหรือประพฤติในลักษณะที่น่าจะเป็นอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจหรือขัดต่อกม.หรือศีลธรรมอันดี ทั้งนี้ไม่ว่าเด็กจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม

ทารุณโหดร้าย(ฆ่าผู้อื่น ปอ.ม. 289(5)) – วิธีการฆ่าซึ่งแสดงลักษณะอาการเหี้ยมโหด ร้ายกาจ หยาบช้าและผิดธรรมดามนุษย์  เช่น ทยอยให้ผู้ตายเสพรับสารพิษสตริกนินเข้าสู่ร่างกายเป็นระยะๆ เป็นเหตุให้เจ็บป่วยรับทุกข์ทรมานต่อมาได้เพิ่มจำนวนมากขึ้นจนร่างกายรับไม่ได้และถึงแก่ความตาย(ฎ.4050/2532) เผาทั้งเป็นโดยจับแก้ผ้า  มัดมือมัดเท้า เอาล้อยางสวม  ใช้น้ำมันราดแล้วจุดไฟเผา ขณะที่ยังไม่ตายทันที(ฎ. 449/2526)  ตีและแทงสามี ภริยาที่ตั้งครรภ์ และเด็กอายุ  1 ปี 6 เดือนตายทั้งครอบครัว (ฎ. 2230/2531) เชือดคอเด็กอายุ 5 ขวบตาย กระทืบเด็กอายุ 8 เดือนแล้วเอาผ้าอุดจมูกจนหายใจไม่ออกตาย  กรอกยาพิษและเชือดคอมารดาเด็กจนหลอดเสียงขาด แต่ไม่ตาย(ฎ. 1101 / 2509) ซึ่งดูจากวิธีการที่ผู้กระทำได้กระทำลงไปไม่ใช่ดูจากแง่ของผู้ถูกกระ ทำได้รับการกระทำซึ่งเป็นเรื่องของทรมาน  ซึ่งอาจจะเป็นทั้งทรมานและทารุณโหดร้ายในเวลาเดียวกันก็ได้ เดิมในกม.ลักษณะอาญา ร.ศ.127 ม.250(4) ใช้ข้อความว่า “ ฆ่าคนด้วยกระทำทรมานหรือการแสดงความดุร้ายทำแก่ผู้ตายให้ได้รับความลำบากอย่างสาหัส” ดูทรมาน
ที่ไม่เป็นทารุณโหดร้ายเช่น การกระทำที่มีเจตนาให้ผู้ตายตายในทันที ใช้ขวานฟันคอผู้ตายแต่ผู้ตายไม่ตายทันทีและร้องครางขึ้น จึงย้อนกลับมาฟันอีกทีเพื่อให้ตาย (ฎ314/2511)ฟันเป็นบาดแผล 10 แห่ง เจตนาให้ตายทันที (ฎ.1427/2511,1614/2513)

ทำการประมง – (พรบ.การประมง 2490 ม.4 (2)) จับ ดัก ล่อ ทำอันตราย ฆ่า หรือเก็บสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำด้วยเครื่องมือทำการประมงหรือด้วยวิธีใดๆ

ทำคำรับรองเอกสารอันเป็นเท็จ - ความผิดตาม ปอ. ม. 269 ซึ่งเป็นการกระทำโดยผู้ประกอบการงานในวิชาแพทย์ กฎหมาย บัญชีหรือวิชาชีพอื่นใด  ทำคำรับรองเป็นเอกสารอันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน

ทำงาน - (พรบ.การทำงานของคนต่างด้าว  2521 ม.5) การทำงานโดยใช้กำลังกายหรือความรู้ด้วยประสงค์ค่าจ้างหรือประโยชน์อื่นใดหรือไม่ก็ตาม

ทำซ้ำ – (พรบ.ลิขสิทธิ์ฯ ม.4) หมายความรวมถึงคัดลอกไม่ว่าโดยวิธีใดๆ เลียนแบบ ทำสำเนา ทำแม่พิมพ์ บันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกเสียงและภาพจากต้นฉบับ ทั้งนี้ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน  สำหรับในส่วนที่เกี่ยวกับโปรแกรมคอมพิวเตอร์ให้หมายความถึง คัดลอกหรือทำสำเนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์จากสื่อบันทึกใด ไม่ว่าด้วยวิธีใดๆ ในส่วนอันเป็นสาระสำคัญ โดยไม่มีลักษณะเป็นการจัดทำงานขึ้นใหม่ทั้งนี้ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน

ทำเทียม – (พรบ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ 2504 ม.4) เลียนแบบ จำลองหรือทำเอาอย่างด้วยวิธีการใดๆ ให้เหมือนหรือคล้ายของจริง ทั้งนี้ไม่ว่าจะมีขนาด รูปลักษณะและวัสดุอย่างเดิมหรือไม่

ทำนา  – (พรบ.การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม  2524 ม.21) การเพาะปลูกข้าวหรือพืชไร่

ทำไม้ – 1. (พรบ.ป่าไม้  2484 ม.4(5)) ตัด ฟัน กาน โค่น ลิด เลื่อย ผ่า ถาก ทอน ขุด ชักลาก ไม้ในป่า หรือนำไม้ออกจากป่าด้วยประการใดๆและหมายความรวมถึงการกระทำดังกล่าวกับไม้สักหรือไม้ยางที่ขึ้นอยู่ในที่ดินที่มิใช่ป่า หรือการนำไม้สักหรือไม้ยางออกจากที่ดินที่ไม้นั้นๆ ขึ้นอยู่ด้วย   2. (พรบ.ป่าสงวนแห่งชาติ  2507 ม.4)  ตัด ฟัน กาน โค่น ลิด เลื่อย ผ่า ถาก ทอน ขุด หรือชักลากไม้ที่มีอยู่ในป่า หรือนำไม้ที่มีอยู่ในป่าออกจากป่าด้วยประการใดๆ

ทำลาย1 – (ปอ.ม. 141, 142) ทำให้แตกหักหรือทำให้สูญหายไป เช่น ทุบให้แตก  เอาไฟเผา (ฎ. 3964/2532)

ทำลาย2 – (ปพพ.ม.1695) การที่ทำให้เกิดผลดังต่อไปนี้คือ รื้อ ทำให้ทลาย ทำให้พัง ทำให้ฉิบหาย ทำให้หมดสิ้นไป (ฎ.838/2508)

ทำเหมือง -  (พรบ.แร่ 2510 ม.4) การกระทำแก่พื้นที่ไม่ว่าจะเป็นที่บกหรือที่น้ำเพื่อให้ได้มาซึ่งแร่ด้วยวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายวิธี แต่ไม่รวมถึงการขุดเจาะน้ำเกลือใต้ดินตามหมวด 5 ทวิ และการขุดหาแร่รายย่อยหรือการร่อนแร่ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

ทำเหมืองใต้ดิน  -  (พรบ.แร่ 2510 ม.4) การทำเหมืองด้วยวิธีการเจาะเป็นปล่องหรืออุโมงค์ลึกลงไปใต้ผิวดิน เพื่อให้ได้มาซึ่งแร่ใต้ผิวดิน

ทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ – (ปพพ.ม.237) ทำให้ทรัพย์สินของลูกหนี้ลดน้อยถอยลงจนไม่พอชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ ซึ่งการที่ลูกหนี้ทำนิติกรรมที่มีผลดังกล่าวย่อมเป็นการฉ้อฉลเจ้าหนี้ และเจ้าหนี้อาจฟ้องขอเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้

ทำให้สูญหาย – (ปอ.ม. 142) กระทำในลักษณะที่ทำให้ไม่สามารถหาสิ่งนั้นได้พบ

ทำให้เสียทรัพย์ -  ความผิดอาญาตามปอ.ม.358ซึ่งเป็นการที่ทำให้เสียหาย  ทำลาย  ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์ของผู้อื่นหรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย

ทำให้เสียหาย – (ปอ.ม.141, 142 ) ทำให้ลบเลือน ทำให้บุบ

ทำให้ไร้ประโยชน์ – (ปอ.ม.141,142) ทำให้ใช้ไม่ได้

ทำไม้ – (พรบ.ป่าไม้ 2484) ทำให้ต้นไม้ขาดจากลำต้นหรือจากพื้นดินที่ต้นไม้นั้นปลูกอยู่(ฎ. 115/2537)

ทิ้งฟ้อง – การที่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาตามที่ศาลกำหนด (ปวิพ.ม. 174)

ที่ – (พรบ.ศุลกากร) สถานที่ทางบกซึ่งกำหนดให้นำของเข้าหรือส่งออกได้ ตั้งอยู่บริเวณเขตแดนทางบกซึ่งติดต่อกับต่างประเทศ ดู ท่า  ด่านศุลกากร

ที่คับขัน – (พรบ.จราจรทางบก 2522 ม. 4 (14)) ทางที่มีการจราจรพลุกพล่านหรือมีสิ่งกีดขวางหรือในที่ซึ่งมองเห็นหรือทราบได้ล่วงหน้าว่า อาจเกิดอันตรายหรือความเสียหายแก่รถหรือคนได้ง่าย

ที่งอกริมตลิ่ง – (ปพพ.ม.1308) ที่ดินที่งอกต่อจากริมตลิ่งของที่ดินเดิมตามธรรมชาติ(ฎ.7435/2540) ออกไปในแม่น้ำ ทะเล ทะเลสาบหรือหนองบึง และติดต่อเป็นแปลงเดียวกับที่ดินเดิมโดยไม่มีถนน ทางหลวง(ฎ. 1769/2492)หรือลำธารทางน้ำตกไหลคั่น (ฎ. 524/2497) เวลาน้ำขึ้นตามปกติน้ำจะท่วมไม่ถึง เช่น หาดทรายงอกต่อจากที่นาไปทางแม่น้ำ (ฎ.1138/2484)   ที่งอกนี้ถือเป็นส่วนควบกับที่ดินเดิมและเจ้าของที่ดินเดิมมีกรรมสิทธิ์ในที่งอกนี้

ที่จับสัตว์น้ำ – (พรบ.การประมง  2490 ม.4 (5) ) ที่ซึ่งมีน้ำขังหรือไหล เช่น ทะเล แม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึง บ่อ เป็นต้น และหาดทั้งปวง บรรดาซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน รวมทั้งป่าไม้และพื้นดินซึ่งน้ำท่วมในฤดูน้ำ ไม่ว่าจะเป็นที่ สาธารณสมบัติของแผ่นดิน หรือที่ดินอันบุคคลถือกรรมสิทธิ์ และภายในเขตน่านน้ำไทยหรือน่านน้ำอื่นใด ซึ่งประเทศไทยใช้อยู่ หรือมีสิทธิที่จะใช้ต่อไปในการทำประมง โดยที่น่านน้ำเหล่านั้น ปรากฏโดยทั่วไปว่า มีขอบเขตตามกม.ท้องถิ่น หรือธรรมเนียมประเพณี หรือตามกม.ระหว่างประเทศหรือตามสนธิสัญญาหรือด้วยประการใด

ที่ชายตลิ่ง  -   (ปพพ.ม.1304) ที่ดินที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำ ลำคลอง หรือทะเลซึ่งในหน้าน้ำตามปกติจะมีน้ำท่วมถึงทุกปี  (ฎ. 451/2496, 2199/2515)  ซึ่งอาจเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินได้ถ้าเป็นทรัพย์สินที่พลเมืองใช้ร่วมกัน                    

ที่ดิน – 1. (ปพพ.ม.139)  พื้นดินทั่วไปแต่ไม่รวมถึงห้วย หนอง คลอง บึง บาง ลำน้ำ และทะเลสาบ  ที่ดินเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่สำคัญ  มี 2 ประเภทคือ (1)ที่ดินซึ่งเจ้าของมีกรรมสิทธิ์ได้แก่ ที่ดินที่มีโฉนดที่ดิน ที่ดินที่มีโฉนดแผนที่ตามพรบ.ออกโฉนดที่ดิน ร.ศ. 127  ที่ดินที่มีโฉนดตราจอง ตามพรบ.ออกโฉนดตราจอง ร.ศ. 124  ที่ดินที่มีตราจองว่าได้ทำประโยชน์แล้วตามพรบ.ออกโฉนดที่ดิน (ฉ. 6)  2479 และที่บ้านที่สวนตามกม.ลักษณะเบ็ดเสร็จบทที่ 42  (2) ที่ดินที่เจ้าของมีแต่เพียงสิทธิครอบครอง ได้แก่ ที่ดินที่มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์คือ น.ส. 3 , น.ส. 3 ก. หรือแบบแจ้งการครอบครอง (ส.ค. 1) หรือใบไต่สวนหรือไม่มีเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินเลย     2. (ป.ที่ดิน ม.1, พรบ.อุทยานแห่งชาติ 2504 ม.4) พื้นดินทั่วไปและให้หมายความรวมถึง ภูเขา ห้วย หนอง คลอง บึง บาง ลำน้ำ ทะเลสาบ เกาะและที่ชายทะเลด้วย 

ที่ดินของรัฐ – ที่ดินที่รัฐยึดถือครอบครองไว้เพื่อประโยชน์ของรัฐ ได้แก่ที่ดินรกร้างว่างเปล่า ที่สาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน ที่ดินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของทางราชการโดยเฉพาะ ที่ดินที่เป็นทรัพย์สินของแผ่นดินตาม ปพพ. และที่ดินที่อยู่ในความดูแลรักษาหรือใช้ประโยชน์ของทางราชการส่วนท้องถิ่น และรัฐวิสาหกิจ

ที่ดินซึ่งกลับมาเป็นของที่ดินโดยประการอื่น –  (ปพพ.ม.1304) ที่ดินซึ่งกลับมาเป็นของแผ่นดินตามพรบ.เวนคืนอสังหาริมทรัพย์

ที่ดินทอดทิ้ง –  (ปพพ.ม.1304 , ป.ที่ดิน ม.6 ) ที่ดินซึ่งเอกชนมีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองแล้ว แต่ได้ทอดทิ้งไม่ทำประโยชน์หรือปล่อยให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่าภายใน 10 ปีสำหรับที่ดินที่มีโฉนด และ 5 ปีสำหรับที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์   และศาลได้สั่งเพิกถอนหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามที่อธิบดีกรมที่ดินร้องขอ

ที่ดินที่ราษฎรใช้ประโยชน์ร่วมกัน –  มีความหมายในทำนองเดียวกับทรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตาม ปพพ.ม.1304 (2) เช่น ทางน้ำ ทางหลวง ทะเลสาบ ที่ชายตลิ่ง

ที่ดินมือเปล่า – ที่ดินที่ไม่มีโฉนดตราจองตามพรบ.ออกโฉนดที่ดิน ร.ศ. 127 หรือไม่มีโฉนดที่ดินตามป.ที่ดิน  และเจ้าของที่ดินมีแต่สิทธิครอบครองในที่ดิน

ที่ดินรกร้างว่างเปล่า – 1. (ปพพ.ม.1304) ที่ดินซึ่งเอกชนยังไม่เคยมีกรรมสิทธิ์  ถือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทหนึ่ง 2. (พรบ.ว่าด้วยการหวงห้ามที่รกร้างว่างเปล่าอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน  2478) ที่ดินที่มีพระราชกฤษฎีกา และประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่าก่อนขึ้นทะเบียนเป็นที่สาธารณประโยชน์ 

ที่ดินเวนคืน –  (ปพพ.ม.1304) ที่ดินซึ่งเอกชนมีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองแล้ว แต่ได้เวนคืนสิทธินั้นให้รัฐตาม ป.ที่ดิน ม.5   ดู เวนคืน

ที่ธรณีสงฆ์ – (พรบ.สงฆ์  2505 ม. 33) ที่ดินซึ่งเป็นสมบัติของวัด ซึ่งถือเป็นทรัพย์นอกพาณิชย์ ดู ที่วัด

ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา – การวินิจฉัยคดีโดยผู้พิพากษาในศาลฎีกาทุกคน เนื่องจากประธานศาลฎีกาเห็นว่า มีปัญหาสำคัญที่สมควรที่จะวินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา

ที่มั่นคง – (ศุลกากร) อาณาบริเวณของกองควบคุมยามและสินค้า และกองตรวจสินค้าขาเข้าที่ท่าเรือกรุงเทพฯ

ที่รโหฐาน  -           (ป.วิ.อ. ม.2(13))  ที่ต่างๆ ซึ่งมิใช่ที่สาธารณสถานดังบัญญัติไว้ในกฎหมายลักษณะอาญา

ที่ราชพัสดุ - (พรบ.ที่ราชพัสดุ 2518 )      อสังหาริมทรัพย์อันเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินทุกชนิด  เว้นแต่สาธารณสมบัติของแผ่นดินดังต่อไปนี้ (1) ที่ดินรกร้างว่างเปล่า และที่ดินซึ่งมีผู้เวนคืน หรือทอดทิ้ง หรือกลับมาเป็นของแผ่นดินโดยประการอื่นตามกม.ที่ดิน  (2) อสังหาริมทรัพย์สำหรับพลเมืองใช้ หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ของพลเมืองใช้ร่วมกัน เป็นต้นว่า ที่ชายตลิ่ง  ทางน้ำ ทางหลวง  ทะเลสาบ    ส่วนอสังหาริมทรัพย์ของรัฐวิสาหกิจที่เป็นนิติบุคคล และขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ถือว่าเป็นที่ราชพัสดุ  (ม.4) ที่ราชพัสดุอาจจะเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่ก็ได้  ที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เช่น ที่ดินของจังหวัด เพื่อใช้เป็นสวนยางของโรงเรียนเกษตรกรรมประจำจังหวัด (ฎ.459/2522) ที่ดินที่ใช้ในราชการกองทัพบก (ฎ.2397/2534) ที่ราชพัสดุอยู่ในความดูแลของกรมธนารักษ์

ที่เลือกตั้ง - (พรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา 2541 ม. 4) สถานที่ที่กำหนดให้ทำการลงคะแนนเลือกตั้ง และให้หมายความรวมถึงบริเวณที่กำหนดขึ้นโดยรอบที่เลือกตั้ง

ที่ว่าง -  (พรบ.แร่ 2510 ม.4) ที่ซึ่งมิได้มีบุคคลใดมีกรรมสิทธิ์หรือมีสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดิน และมิใช่สาธารณสมบัติของแผ่นดินอันราษฎรใช้ประโยชน์ร่วมกัน และมิใช่ที่ดินในเขตที่มีการคุ้มครองหรือสงวนไว้ตามกม.

ที่วัด – (พรบ.สงฆ์  2505 ) ที่ดินที่ตั้งวัดตลอดจนอาณาเขตของวัด ซึ่งถือเป็นทรัพย์นอกพาณิชย์

ที่สาธารณะ – 1. .(พรบ.ควบคุมอาคาร 2522 ม. 4) ที่ซึ่งเปิดหรือยินยอมให้ประชาชนเข้าไปหรือใช้เป็นทางสัญจรได้  ทั้งนี้ ไม่ว่าจะมีการเรียกเก็บค่าตอบแทนหรือไม่ 2.(พรบ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง 2535 ม. 4) สาธารณสมบัติของแผ่นดินนอกจากที่รกร้างว่างเปล่า และหมายความรวมถึงถนนและทางน้ำด้วย

ที่อยู่ – (พรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง  2541 ม. 4) ที่อยู่ตามกม.ว่าด้วยการทะเบียนราษฎร

ทุจริต – (พรบ.คุ้มครองแรงงาน  2541 ม. 119(1)) ประพฤติชั่ว โกง ไม่ซื่อตรง   (ฎ. 3589/2546) ไม่ถือว่าทุจริต เช่น รับเงินสินน้ำใจจากลูกค้าโดยไม่ได้เรียกร้อง หรือสร้างเงื่อนไข (ฎ. 3589/2546)

ทุจริตต่อหน้าที่  – (พรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2542 ม.4) ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในพฤติการณ์ที่อาจทำให้ผู้อื่นเชื่อว่ามีตำแหน่งหรือหน้าที่  ทั้งที่ตนมิได้มีตำแหน่งหรือหน้าที่นั้น  หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ ทั้งนี้เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบสำหรับตนเองหรือผู้อื่น

ทุน – (พรบ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว  2542 ม.4) ทุนจดทะเบียนของบริษัทจำกัด หรือทุนชำระแล้วของบริษัทมหาชนจำกัด หรือเงินที่ผู้เป็นหุ้นส่วนหรือสมาชิกนำมาลงหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือนิติบุคคลนั้น

ทุนขั้นต่ำ – (พรบ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว  2542 ม.4) ทุนของคนต่างด้าวในกรณีที่คนต่างด้าวเป็นนิติบุคคลซึ่งจดทะเบียนในประเทศไทย และในกรณีที่คนต่างด้าวเป็นนิติบุคคลซึ่งไม่ได้จดทะเบียนในประเทศไทยหรือเป็นบุคคลธรรมดาให้หมายถึงเงินตราต่างประเทศที่คนต่างด้าวนำมาใช้เมื่อเริ่มต้นประกอบธุรกิจในประเทศไทย

ทุเลาการบังคับ – เหตุที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของศาลไม่อาจทำการบังคับคดีได้เนื่องจากการที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ยื่นอุทธรณ์หรือฎีกาและได้ขอให้ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาไม่ให้บังคับคดีกับผู้นั้นในระหว่างการพิจารณาเนื่องจากมีเหตุที่จะทุเลาการบังคับ  การขอทุเลาการบังคับต้องเป็นกรณีที่ยังไม่มีการบังคับตามคำพิพากษาไม่ว่าโดยศาลใด ( คส.คร. 331/2537,152/2538)

เทศบัญญัติ – กม.ลำดับรองที่ออกโดยเทศบาลซึ่งเป็นองค์กรปกครองท้องถิ่นของไทยเพื่อบริหาร จัดหรือปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่ตามพรบ.เทศบาล 2496 

เทศบาล – องค์การตามระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่น เป็นทบวงการเมือง มีฐานะเป็นนิติบุคคล มี 3 ประเภทคือ เทศบาลตำบล เทศบาลเมืองและเทศบาลนคร

แท้งลูก – การทำให้ลูกที่อยู่ในครรภ์คลอดออกมาโดยไม่มีชีวิต  หากคลอดออกมามีชีวิตแล้วตายภายหลังไม่ใช่แท้งลูก(ฎ.677/2510)  ซึ่งในปอ.กำหนดว่า เป็นความผิดอาญาไม่ว่าจะกระทำโดยตนเองหรือโดยผู้อื่น  ดู ปอ.ม.301-305

โทรมเด็กหญิง -       ความผิดอาญาตาม ป.อ. ม.277 ซึ่งเป็นการกระทำของชายตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปร่วมกันผลัดเปลี่ยนข่มขืนกระทำชำเราเด็กหญิงอายุไม่เกิน 15 ปี  

โทรมหญิง  -        1.) ชายตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปร่วมกันผลัด เปลี่ยนข่มขืนกระทำชำเราหญิง แม้ผู้กระทำความผิดคนอื่นจะยังมิได้ข่มขืนกระทำชำเรา เช่น ถอดกางเกงรออยู่  (ฎ.1403/2521, 2200/2527) ถูกตำรวจจับเสียก่อน (ฎ.2677 /2530) สอดใส่อวัยวะเพศไม่ได้ (3007/2532(ป) ) ถือเป็นโทรมหญิง  2.) ความผิดอาญาตาม ป.อ. ม.276 วรรคสอง

โทษ – สภาพบังคับทางอาญาที่ลงแก่ชีวิต เสรีภาพหรือทรัพย์สินของผู้กระทำความผิด  มี 5 อย่างคือ ประหารชีวิต  จำคุก  กักขัง  ปรับและริบทรัพย์สิน

โทษชั้น 1 – (ก) โทษลหุโทษในกฎหมายลักษณะอาญาซึ่งปรับไม่เกินหนึ่งร้อยบาท

โทษชั้น 2 – (ก) โทษลหุโทษในกฎหมายลักษณะอาญาซึ่งปรับไม่เกินห้าร้อยบาท

โทษชั้น 3 – (ก) โทษลหุโทษในกฎหมายลักษณะอาญาซึ่งจำคุกไม่เกินสิบวันหรือปรับไม่เกินห้าร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

โทษชั้น 4 – (ก) โทษลหุโทษในกฎหมายลักษณะอาญาซึ่งจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 



ธง- (ปอ.ม.118) ธงชาติไทย

ธรรมนูญ – (1) รัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้เป็นการชั่วคราว

ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 , พรบ.  – รัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทย แต่เป็นฉบับชั่วคราว ร่างโดยคณะราษฎร ประกาศใช้มื่อวันที่ 27 มิย. 2475 มีจำนวน 39 ม. มีเนื้อหาวางรูปแบบการปกครองแบบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นพระประมุขและมีอำนาจโดยจำกัด  การกระทำของพระมหากษัตริย์จะต้องมีกรรมการราษฎรคนในคนหนึ่งลงนามด้วยมิฉะนั้นจะตกเป็นโมฆะ ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นชั่วคราวที่พระมหากษัตริย์ทำหน้าที่ไม่ได้หรือไม่อยู่ในพระนคร คณะกรรมการราษฎรจะใช้อำนาจแทน  มีสภาผู้แทนราษฎรเพียงสภาเดียว แต่แบ่งสมาชิกออกเป็น 3 สมัย มีสส. จำนวน 70 คนมาจากการแต่งตั้งชั่วคราว กม.นี้ถูกยกเลิกไปโดยปริยายเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวรเมื่อวันที่ 10 ธค. 2475 

ธัญชาติ – (ปพพ.ม. 145) ต้นข้าวต่างๆ

ธุรกรรม – (พรบ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ 2544 ม.4)  การกระทำใดๆ ที่เกี่ยวกับกิจกรรมในทางแพ่งและพาณิชย์ หรือในการดำเนินงานของรัฐตามที่กำหนดในหมวด 4

ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ – (พรบ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ 2544 ม.4)  ธุรกรรมที่กระทำขึ้นโดยใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน

ธุรกิจ – 1.(พรบ.การแข่งขันทางการค้า  2542 ม.3 ) กิจการในทางเกษตรกรรม อุตสาหกรรม  พาณิชยกรรม  การเงิน การประกันภัย และการบริการ และให้หมายความรวมถึงกิจการอื่นที่กำหนดในกฎกระทรวง 2.(พรบ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ม.4 ) การประกอบกิจการในทางเกษตรกรรม อุตสาหกรรม หัตถกรรม พาณิชยกรรม การบริการ หรือกิจการอย่างอื่น อันเป็นการค้า

ธุรกิจข้อมูลเครดิต -  (พรบ.การประกอบข้อมูลธุรกิจเครดิต 2545 ม.3) กิจการเกี่ยวกับการควบคุม หรือการประมวลผลข้อมูลเครดิตเพื่อให้ข้อมูลแก่สมาชิกหรือผู้ใช้บริการ

ธุรกิจเงินทุน – (พรบ.การประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์  2522 ) ธุรกิจการจัดหามาซึ่งเงินทุนและใช้เงินนั้นประกอบกิจการอย่างใดอย่าหนึ่งซึ่งจำแนกประเภทได้ดังต่อไปนี้

ธุรกิจหาทุนจากประชาชน – ธุรกิจที่มีการจัดหาทุนดำเนินกิจการ เช่น กู้ยืมเงินหรือรับฝากเงินจากประชาชนพลเมืองทั่วไปไม่มีจำกัดว่าจะเป็นใคร (ฎ. 6469/2545)
ธุรกิจอันเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน – (ปอ.ม.354) ธุรกิจโรงรับจำนำของเทศบาล (ฎ. 1800/2517)



น.บ. –  (ย) นิติศาสตรบัณฑิต

น.ม. - (ย) นิติศาสตรมหาบัณฑิต

นมตกอกพร่อง – (ก) กรณีที่หญิงเสียความบริสุทธิ์ให้แก่ชายแล้ว

นรม. – (ย) นายกรัฐมนตรี

น.ส. 2 – 1. ใบจอง -หนังสือรับรองจากพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าได้ทำประโยชน์ในที่ดินแล้ว ซึ่งมี 4 ประเภทคือ น.ส.2, น.ส.2ข.,แบบหมายเลข 3 และตราจองที่ได้ออกมาก่อนประมวลกฎหมายที่ดิน 2. หนังสือแสดงการยอมให้เข้าครอบครองที่ดินของรัฐชั่วคราว ยังไม่ได้รับรองว่า ได้ทำประโยชน์แล้วตามพรบ.ให้ใช้ป.ที่ดิน  2497 ม.9 จึงโอนกันไม่ได้และไม่อาจฟ้องบังคับให้ผู้มีชื่ออยู่ใน น.ส.2 ไปยื่นหรือขอให้เปลี่ยนชื่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่เจ้าพนักงานที่ดินจะออกให้ตาม น.ส.2 เป็นชื่อโจทก์ได้ (ฎ.8322/2538)

น.ส. 2 ข.–  ใบจอง -หนังสือรับรองจากพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าได้ทำประโยชน์ในที่ดินแล้ว เช่นเดียวกับ น.ส.2

น.ส. 3 .–  หนังสือคำรับรองจากพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าได้ทำประโยชน์ในที่ดินแล้ว  ซึ่งในเอกสารจะมีครุฑดำปรากฏอยู่

น.ส. 3 ก .–  หนังสือคำรับรองจากพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าได้ทำประโยชน์ในที่ดินแล้ว  ซึ่งจะมีระวางที่ดินและในเอกสารจะมีครุฑสีเขียวปรากฏอยู่
น.ส. 5 .–  ใบไต่สวน- หนังสือแสดงการสอบสวนเพื่อออกโฉนดที่ดิน

นักกฎหมาย – ผู้ที่ใช้ความรู้ทางกม.ในการประกอบวิชาชีพ

นักโทษ – (พรบ.เรือนจำทหาร 2479  ม.4(2) (ก))  บุคคลซึ่งถูกจำคุกภายหลังคำพิพากษาถึงที่สุด

นักโทษเด็ดขาด – (พรบ.ราชทัณฑ์ 2479 ม.4(3)) บุคคลซึ่งถูกขังไว้ตามหมายจำคุกภายหลังคำพิพากษาถึงที่สุด และหมายความรวมถึงบุคคลซึ่งถูกขังไว้ตามคำสั่งที่ชอบด้วยกม.ให้ลงโทษด้วย

นักโทษพิเศษ – (พรบ.ราชทัณฑ์ 2479 ม.4(6)) นักโทษเด็ดขาดซึ่งส่งไปอยู่ทัณฑนิคมตามพรบ.นี้

นักศึกษา -  1. (พรบ.คุ้มครองเด็ก  2546ม.4) เด็กซึ่งกำลังรับการศึกษาระดับอุดมศึกษาหรือเทียบเท่าอยู่ในสถานศึกษาของรัฐหรือเอกชน  2. (พรบ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน 2546 ม.5) ผู้ซึ่งเข้ารับการศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาเอกชน  ซึ่งสำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าขั้นพื้นฐานตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการ  หรือเทียบเท่า หรือผู้ซึ่งสภาสถาบันอนุมัติให้เข้าศึกษาได้ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ(การอุดมศึกษาตามกม.ว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ) กำหนด

นักแสดง - (พรบ.ลิขสิทธิ์ 2537 ม. 4) ผู้แสดง นักดนตรี นักร้อง นักเต้น นักรำและผู้ซึ่งแสดงท่าทางร้อง กล่าวพากย์ แสดงตามบทหรือในลักษณะอื่นใด

นักเรียน -  (พรบ.คุ้มครองเด็ก  2546ม.4) เด็กซึ่งกำลังรับการศึกษาขั้นพื้นฐานระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาทั้งประเภทสามัญศึกษาและอาชีวศึกษาหรือเทียบเท่าอยู่ในสถานศึกษาของรัฐหรือเอกชน

นักเรียนในสังกัดกระทรวงกลาโหม - (พรบ.ระเบียบข้าราชการทหาร 2521 ม.4) นักเรียนที่เข้าศึกษาในโรงเรียนของทางราชการทหารตามที่กระทรวงกลาโหมกำหนด

นัดหยุดงาน  – (พรบ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์  2543 ม.6) การที่ลูกจ้างร่วมกันไม่ทำงาน เฉื่อยงานหรือถ่วงงานเพื่อให้การดำเนินงานบางส่วน หรือทั้งหมดของรัฐวิสาหกิจต้องหยุดชะงักหรือช้าลง

นา  – (พรบ.การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม  2524 ม.21) ที่ดินที่เช่าเพื่อทำนาทั้งหมดหรือเป็นส่วนใหญ่

น่านน้ำสยาม -   (พรบ.เรือไทย  2481 ม.5) บรรดาน่านน้ำที่อยู่ภายใต้อธิปไตยของประเทศสยาม

นายกรัฐมนตรี - ผู้บังคับบัญชาสูงสุดของฝ่ายบริหารและเป็นหัวหน้ารัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรี แต่งตั้งมาจากสส.หรือผู้เคยเป็นสส. แต่พ้นจากสมาชิกสภาพเนื่องจากได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี (ม.118(7)) ในอายุของสภาผู้แทนราษฎรชุดเดียวกัน 
    วิธีการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีกระทำโดย สส.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสส.ทั้งหมดเท่าที่มีเสนอชื่อและรับรอง    มติที่ให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีต้องเป็นการลงคะแนนโดยเปิดเผยและมีคะแนนเสียงมาก กว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสส.ทั้งหมดเท่าที่มี   สภาผู้แทน ราษฎรจะต้องพิจารณาเรื่องนี้ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่มีการเรียกประชุมรัฐสภาเป็นครั้งแรก
    นายกรัฐมนตรี(รวมทั้งรมต.) จะเป็นสส.หรือสว.ในขณะเดียวกันไม่ได้   สส.ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี (รวมทั้งรมต.) จะต้องพ้นจากตำแหน่ง สส.ในวันถัดจากวันที่ครบ 30 วันนับแต่วันที่มีพระบรมราชดองการแต่งตั้ง

นายคลังสินค้า – (ปพพ.ม. 770)บุคคลผู้รับทำการเก็บรักษาสินค้าเพื่อบำเหน็จเป็นทางค้าปกติของตน

นายจ้าง – 1. (พรบ.คุ้มครองแรงงาน  2541 ม.5) ผู้ซึ่งตกลงรับลูกจ้างเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้างให้และหมายความรวมถึง (1) ผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำงานแทนนายจ้าง   (2) ในกรณีที่นายจ้างเป็นนิติบุคคลให้หมายความรวมถึง ผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคล  และผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลให้ทำการแทนด้วย (3) ในกรณีที่ผู้ประกอบกิจการได้ว่าจ้างด้วยวิธีเหมาค่าแรง โดยมอบให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดรับช่วงไปควบคุมดูแลการทำงานและรับผิดชอบจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างอีกทอดหนึ่งก็ดี มอบ หมายให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นผู้จัดหาลูกจ้างมาทำงานอันมิใช่การประกอบธุรกิจจัดหางานก็ดี โดยการทำงานนั้นเป็นส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดในกระบวนการผลิตหรือธุรกิจในความรับผิดชอบของผู้ประกอบกิจการ ให้ถือว่าผู้ประกอบกิจการเป็นนายจ้างของลูกจ้างดังกล่าวด้วย  2. (พรบ.แรงงานสัมพันธ์ 2518 ม.5)  ผู้ซึ่งตกลงรับลูกจ้างเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้างให้         และหมายความรวมถึงผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากนายจ้างให้ทำการแทน ในกรณีที่นายจ้างเป็นนิติบุคคลหมายความว่า ผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลนั้น และหมายความรวมถึงผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลให้ทำการแทน  3. (พรบ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์  2543 ม.6) รัฐวิสาหกิจซึ่งตกลงรับลูกจ้างเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้างให้ และให้หมายความรวมถึงผู้มีอำนาจกระทำการแทนรัฐวิสาหกิจหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้ที่มีอำนาจกระทำการแทนรัฐวิสาหกิจด้วย   4. (พรบ. ประกันสังคม  2533 ม.5) ผู้ซึ่งรับลูกจ้างเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้างให้ และให้หมายความรวมถึงผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำงานแทนนายจ้าง ในกรณีที่นายจ้างเป็นนิติบุคคลให้หมายความรวมถึง ผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลนั้น และผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลให้ทำการแทนด้วย   5. (พรบ.เงินทดแทน 2537 ม. 5) ผู้ซึ่งตกลงรับลูกจ้างเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้างให้และหมายความรวมถึงผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำงานแทนนายจ้าง ในกรณีที่นายจ้างเป็นนิติบุคคลให้หมายความรวมถึง ผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลนั้น และผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลให้ทำการแทนด้วย 

นายทะเบียนท้องถิ่น – (พรบ.การทะเบียนราษฎร 2534) ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการแจ้งเกิด การตาย ได้แก่ ผู้อำนวยการเขต  แต่ไม่รวมกรุงเทพมหานคร (ฎ.4730/2545)

นายทะเบียนเรือ - (พรบ.การจำนองเรือและบุริมสิทธิทางทะเล  2537 ม.4 ) นายทะเบียนเรือหรือผู้รักษาการแทนนายทะเบียนเรือตามกม.ว่าด้วยเรือไทย

นายเรือ - (พรบ.การจำนองเรือและบุริมสิทธิทางทะเล  2537 ม.4 ) ผู้ควบคุมเรือ

นายอำเภอ – 1. หัวหน้าข้าราชการในอำเภอ  2. (พรบ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น 2545 ม.4) หมายความรวมถึง ผู้อำนวยการเขตและปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ

นายหน้า -       1. สัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งตกลงจะชี้ช่องให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งให้ได้เข้าทำสัญญา  จัดการให้ได้ทำสัญญา โดยคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งนั้นตกลงจะให้บำเหน็จตอบแทนเมื่อสัญญาได้ทำขึ้นสำเร็จอันเนื่องมาจากผลแห่งการที่นายหน้าได้ชี้ช่องหรือได้จัดการนั้น     2. ชื่อของกม.ลักษณะที่ 16 ในบรรพ 3 ปพพ.      3. ชื่อของสัญญาประเภทหนึ่ง        4. บุคคลที่ชี้ช่องให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งให้ได้เข้าทำสัญญา  หรือจัดการให้คู่กรณีได้เข้าทำสัญญา

นายหน้าประกันชีวิต -   (พรบ.ประกันชีวิต  2535 ม.5) ผู้ชี้ช่องหรือจัดการให้บุคคลทำสัญญาประกันชีวิตกับบริษัท  โดยกระทำเพื่อบำเหน็จเนื่องจากการนั้น

นายหน้าประกันวินาศภัย - (พรบ.ประกันวินาศภัย  2535 ม.4) ผู้ชี้ช่องหรือจัดการให้บุคคลทำสัญญาประกันภัยกับบริษัท  โดยกระทำเพื่อบำเหน็จเนื่องจากการนั้น

น้ำเกลือใต้ดิน – (พรบ.แร่ 2510 ม.4) น้ำเกลือที่มีอยู่ใต้ดินตามธรรมชาติและมีความเข้มข้นของเกลือในปริมาณมากกว่าที่กำหนดในกฎกระทรวง

นำเข้า – 1. ( พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ  2522 ม. 4 , พรบ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท 2518) นำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักร   2. (ป.รัษฎากร ม. 77/1(12)) นำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรและให้หมายความรวมถึงการนำเข้าที่ต้องเสียอากรขาเข้าหรือที่ได้ยกเว้นอากรขาเข้าตามกม.ว่าด้วยศุลกากรออกจากเขตอุตสาหกรรมส่งออกโดยมิใช่เพื่อส่งออกด้วย

นำเคลื่อนที่ – (พรบ.ป่าไม้ 2484 ม.4(10)) ชักลากหรือทำให้ไม้หรือของป่าเคลื่อนจากที่ไปด้วยประการใดๆ

น้ำบาดาล – (พรบ.น้ำบาดาล  2520 ม.3) น้ำใต้ดินที่เกิดอยู่ในชั้นดิน กรวด ทรายหรือหิน ซึ่งอยู่ลึกจากผิวดินเกินความลึกที่รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา แต่จะกำหนดความลึกน้อยกว่า 10 เมตรมิได้

นำผ่าน  –   1. (พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า  2535 ม.4) นำหรือส่งผ่านราชอาณาจักร  2. (พรบ.เชื้อโรคและพิษจากสัตว์  2525 ม. 4) นำหรือส่งผ่านราชอาณาจักรโดยมีการขนถ่ายหรือเปลี่ยนพาหนะ

น้ำมัน - (พรบ.การจำนองเรือและบุริมสิทธิทางทะเล  2537 ม.4 ) น้ำมันดิบ น้ำมันเตา น้ำมันดีเซลหนักหรือน้ำมันหล่อลื่นซึ่งเป็นน้ำมันแร่ จำพวกไฮโดรคาร์บอนที่ไม่สลายตัวโดยง่ายและให้หมายความรวมถึงน้ำมันอื่นๆ ที่ก่อให้เกิดภาวะมลพิษตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

นิติ – กม.

นิติกร – นักกม. เจ้าหน้าที่ทางกม.ของส่วนราชการหรือเอกชน

นิติกรณ์ – การรับรองของเจ้าพนักงานว่า ลายมือชื่อในตราสารนั้นถูกต้องตามกม.

นิติกรรม -          1. การกระทำที่บุคคลทำด้วยใจสมัครและโดยชอบด้วยกม. มีเจตนาที่จะก่อให้เกิดความผูกพันทางกม.ระหว่างบุคคลและมุ่งที่จะให้มีการเคลื่อนไหวในสิทธิ 2. (ป.พ.พ. ม. 149) การใดๆ อันทำลงโดยชอบด้วยกฎหมายและด้วยใจสมัคร  มุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลเพื่อจะก่อ  เปลี่ยนแปลง  โอน  สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ
   
นิติกรรมเปิดเผย - นิติกรรมที่ทำขึ้นเพื่อปกปิดหรืออำพรางนิติกรรมอีกอันหนึ่ง ดู นิติกรรมอำพราง

นิติกรรมฝ่ายเดียว -         นิติกรรมที่มีการแสดงเจตนาของบุคคลเพียงฝ่ายเดียว ซึ่งแยกเป็นนิติกรรมฝ่ายเดียวที่ต้องมีผู้รับการแสดงเจตนาและนิติกรรมฝ่ายเดียวที่ไม่ต้องมีผู้รับการแสดงเจตนา

นิติกรรมฝ่ายเดียวที่ต้องมีผู้รับการแสดงเจตนา  -         นิติกรรมที่ต้องมีผู้รับการแสดงเจตนาจึงจะก่อให้เกิดผลของนิติกรรมได้  เช่น คำเสนอ คำสนอง การบอกล้างโมฆียกรรม 

นิติกรรมฝ่ายเดียวที่ไม่ต้องมีผู้รับการแสดงเจตนา  -         นิติกรรมที่เพียงมีการแสดงเจตนาของบุคคลเพียงฝ่ายเดียวก็ก่อให้เกิดผลของนิติกรรมได้  ไม่ต้องมีผู้รับการแสดงเจตนา เช่น การทำพินัยกรรม

นิติกรรมสองฝ่าย -         นิติกรรมที่ต้องมีการแสดงเจตนาของบุคคลสองฝ่ายจึงจะก่อให้เกิดผลเป็นนิติกรรมอันทำให้บุคคลทั้งสองฝ่ายต้องผูกพันกัน เช่น  สัญญาซื้อขาย  สัญญาเช่า สัญญาจ้างแรงงาน

นิติกรรมหลายฝ่าย -         นิติกรรมที่ต้องมีการแสดงเจตนาของบุคคลหลายฝ่ายประกอบกันจึงจะก่อให้เกิดผลเป็นนิติกรรมอันทำให้บุคคลเหล่านั้นต้องผูกพันกัน เช่น  สัญญาจัดตั้งบริษัท 

นิติกรรมอำพราง –  1. (ปพพ.ม.155 ว.2 ) การที่คู่กรณีสมคบกันทำนิติกรรมซ้อนกันขึ้นมา 2 นิติกรรมในเวลาเดียวกัน คือนิติกรรมที่เปิดเผยซึ่งทำลวงขึ้นมาปกปิดหรืออำพรางนิติกรรมที่แท้จริง โดยนิติกรรมที่เปิดเผยนั้นคู่กรณีไม่ต้องการผูกพัน  แต่ต้องการผูกพันตามนิติกรรมที่ถูกปกปิดไว้ นิติกรรมที่เปิดเผยจึงเป็นโมฆะ เช่น ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินอำพรางนิติกรรมการกู้ยืมเงิน (ฎ. 1050/2536) ทำสัญญาซื้อขายรถยนต์อำพรางสัญญากู้ยืมเงิน (ฎ.4696/2536)  2.นิติกรรมที่ถูกปกปิดไว้และคู่กรณีต้องการจะบังคับตามนิติกรรมนี้   ดู นิติกรรมเปิดเผย

นิติการณ์ – (ก) คำที่ใช้เรียกนิติเหตุแต่เดิม ดู นิติเหตุ

นิติธรรม – 1. หลักกม. 2. (ไดซีย์-Dicey) หลักที่เกิดจากหลักนิติรัฐ มีลักษณะ 3 ประการคือ ฝ่ายบริหารไม่มีอำนาจตามอำเภอใจ  บุคคลทุกคนย่อมเสมอภาคกันโดยอยู่ภายใต้กม.เดียวกันและจะต้องถูกพิจารณาโดยศาลเดียวกันและหลักทั่วไปของกม.รัฐธรรมนูญเป็นผลมาจากกม.ธรรมดาของประเทศ 3. หลักที่ว่า กม. จะต้องเป็นกฎเกณฑ์ทั่วไป  มีการประมวลไว้เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้  มีการจัดทำหรือบังคับใช้น้อยที่สุด  ไม่มีข้อโต้แย้ง  ไม่กำหนดให้บุคคลต้องปฏิบัติเกินกว่าความสามารถ  มีความแน่นอนตลอดเวลาและต้องมีความสอดคล้องกันระหว่าง กม.กับการบริหารจัดการภายใต้กม.

นิตินัย – นัยในทางกม.  ทางกม. ความหมายในแง่มุมของกม. ต่างจาก พฤตินัย ซึ่งเป็นนัยตามข้อเท็จจริง

นิติบัญญัติ – การตรากม.

นิติบุคคล1  -           1. (แพ่ง) บุคคลที่กม.สมมติขึ้นโดยให้มีสิทธิและหน้าที่เช่นเดียวกับบุคคลธรรมดาเว้นแต่สิทธิและหน้าที่ซึ่งโดยสภาพจะพึงมีพึงเป็นได้เฉพาะแก่บุคคลธรรมดาเท่านั้น  เช่น กองทุนรวมที่จดทะเบียนตามพรบ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ (ฎ.3500/2545) มิซซังโรมันคาธอลิคตามพรบ.ว่าด้วยลักษณะฐานะของวัดบาทหลวงโรมันคาทอลิคในกรุงสยามตามกม. รศ. 128(ฎ. 8033-8037/2538) จังหวัด (ฎ.2667/2537) กรม (ฎ.2881/2537) กองบัญชาการทหารสูงสุด  กองทัพบก  กองทัพเรือ กองทัพอากาศ  แต่กรมพลาธิการทหารบกไม่ใช่นิติบุคคล (ฎ.2009/2500)  ยกเว้น รัฐบาล (ฎ.724/2490)   2. (ป.รัษฎากร ม. 77/1(4)) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามม. 39 องค์การของรัฐบาลตามม.2  สหกรณ์และองค์กรอื่นที่กม.กำหนดให้เป็นนิติบุคคล

นิติบุคคล2 (มหาชน) – นิติบุคคลซึ่งมีอำนาจมหาชนหรืออำนาจทางปกครอง มีหน้าที่ในการจัดทำบริการสาธารณะ  มีฐานะเหนือกว่านิติบุคคลเอกชนและจัดตั้งขึ้นหรือยกเลิกได้โดยกม.เท่านั้น เช่น หน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจ

นิติปรัชญา – วิชาที่ศึกษาว่า กม.ที่แท้จริงควรจะเป็นเช่นไร

นิติภาวะ – ความเป็นผู้มีความสามารถในการใช้สิทธิเต็มที่ในทางกม.

นิติรัฐ – 1.รัฐที่ผู้ปกครองยอมตนอยู่ภายใต้กม. และให้หลักประกันต่อการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นมูลฐานของประชาชนที่จะไม่ถูกละเมิด  มีมาตรการตรวจสอบและถ่วงดุลย์การใช้อำนาจรัฐสอดคล้องกับความยุติธรรมและมีเป้าหมายที่จะคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพและความเป็นธรรมของรัฐ  บางครั้งเรียก หลักการปกครองโดยกม.  2. (ศ.ดร. หยุด แสงอุทัย) รัฐที่ยอมตนอยู่ใต้บังคับแห่งกม. ซึ่งรัฐเป็นผู้ตราขึ้นเองหรือบังคับใช้

นิติวิธี – วิธีคิด ใช้ ตีความและอุดช่องว่างกม.ของนักกม.ในตระกูลกม.ใดกม.หนึ่งๆ

นิติเวชวิทยา – วิชาว่าด้วยการแพทย์ที่เกี่ยวกับกม.

นิติศาสตร์ – วิชากม.

นิติศาสตรบัณฑิต – ปริญญาตรีทางกม.

นิติศาสตรมหาบัณฑิต - ปริญญาโททางกม.

นิติสมบัติ – ดู คุณธรรมทางกม.

นิติสัมพันธ์ – ความสัมพันธ์ตามกม.หรือที่กม.รับรอง

นิติเหตุ –  เหตุ ข้อเท็จจริงหรือการกระทำซึ่งทำให้เกิดการเคลื่อนไหวในสิทธิหรือมีผลตามกม.  แบ่งเป็น (1) นิติเหตุที่ เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ เช่น การเกิด การตายชองบุคคล   และ(2) นิติเหตุที่เกิดขึ้นโดยการกระทำของบุคคลได้แก่ (2.1) นิติกรรม  ซึ่งผู้กระทำมีเจตนาที่จะก่อให้เกิดความเคลื่อนไหวในสิทธิ (2.2) ผู้กระทำจะมีเจตนาที่จะก่อให้เกิดความเคลื่อนไหวในสิทธิหรือไม่ก็ได้ เช่น ละเมิด จัดการงานนอกสั่ง ลาภมิควรได้   บางครั้งเรียกว่า นิติการณ์

นิรโทษกรรม – (ละเมิด) การกระทำที่กม.ยกเว้นให้ผู้กระทำละเมิดไม่ต้องรับผิดชดใช้หรือลดหย่อนการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เนื่องมาจากการกระทำป้องกันโดยชอบด้วยกม. การกระทำตามคำสั่งอันชอบด้วยกม.  การกระทำเพื่อจะบำบัดป้องกันภยันตรายสาธารณะหรืออันมีแก่เอกชนโดยฉุกเฉิน   การกระทำเพื่อป้องกันภยันตรายฉุกเฉิน  การกระทำการป้องกันเพื่อให้สมดังสิทธิ  และการจับและยึดหรือฆ่าสัตว์ที่เข้ามาทำความเสียหายในอสังหาริมทรัพย์

ในทางการที่จ้าง – (ปพพ.ม.425) ในขอบเขตหน้าที่หรือคำสั่งตามสัญญาจ้าง หรือทำงานในหน้าที่ แม้จะฝ่าฝืนคำสั่งหรือเป็นการกระทำต่อเนื่องกับการทำงานในหน้าที่

ในเวลาทำสัญญาประกันภัย -  (ปพพ. ม. 865) ช่วงเวลาก่อนทำสัญญาจนถึงเวลาทำสัญญารวมทั้งก่อนที่จะตกลงต่ออายุสัญญาด้วย

โนตารีปับลิก –1.  (ปวิพ. ม.47 ) เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจเป็นพยานรับรองข้อเท็จจริงตามกม.ของแต่ละประเทศ เช่น ลงลายมือชื่อเป็นพยาน หรือรับรองลายมือชื่อ หรือรับรองหนังสือมอบอำนาจ เป็นต้น ซึ่งหนังสือมอบอำนาจที่โนตารีปับลิกลงลายมือชื่อเป็นพยานหรือรับรองมีผลใช้ในศาลไทยได้   2.  เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจเป็นพยานรับรองข้อเท็จจริงหรือนิติกรรม หรือเป็นพยานแห่งสิทธิตามกม.ของแต่ละประเทศ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น