วันพฤหัสบดีที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2553

ฎ-บรรยายฟ้องคดีอาญา

 158 ฟ้องต้องทำเป็นหนังสือ และมี
(1) ชื่อศาลและวันเดือนปี
(2) คดีระหว่างผู้ใดโจทก์ ผู้ใดจำเลย และฐานความผิด
(3) ตำแหน่งพนักงานอัยการผู้เป็นโจทก์ ถ้าราษฎรเป็นโจทก์ ให้ใส่ชื่อตัว นามสกุล อายุ ที่อยู่ ชาติและบังคับ
(4) ชื่อตัว นามสกุล ที่อยู่ ชาติและบังคับของจำเลย
(5) การกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ข้อเท็จจริง และรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลย เข้าใจข้อหาได้ดี
ในคดีหมิ่นประมาท ถ้อยคำพูด หนังสือ ภาพขีดเขียนหรือสิ่งอื่น อันเกี่ยวกับข้อหมิ่นประมาท ให้กล่าวไว้โดยบริบูรณ์หรือติดมาท้ายฟ้อง
(6) อ้าง มาตรา กฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็น ความผิด
(7) ลายมือชื่อโจทก์ ผู้เรียง ผู้เขียนหรือพิมพ์ฟ้อง

207/2528 โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยกล่าวดูหมิ่นเจ้าพนักงานคือร้อยตำรวจโทธวัชชัย เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยกล่าวดูหมิ่นสิบตำรวจโทสมศรี มิใช่กล่าวดูหมิ่นร้อยตำรวจโทธวัชชัย จึงถือได้ว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่ กล่าวในฟ้องในข้อสาระสำคัญ ต้องยกฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192

2208/2528  โจทก์ฟ้องว่า มีคนร้ายหลายคนลักยางพาราแผ่น 11 มัดของ จ. ผู้เสียหายไป ต่อมาเจ้าพนักงานจับจำเลยทั้งสองได้ และยึดยางพาราแผ่น 1 มัดของผู้เสียหายที่ถูกคนร้ายลักไป ดังกล่าวเป็นของกลางทางพิจารณาได้ความว่ายางพาราแผ่น 1 มัดของกลางที่จำเลยทั้งสองลักไป เป็นยางคนละชนิดคนละ จำนวนกับยางพาราแผ่น 11 มัดของผู้เสียหายที่ถูกคนร้ายลัก ไป จึงเป็นที่เห็นได้ว่าโจทก์มิได้มุ่งประสงค์ให้ลงโทษ จำเลยทั้งสองฐานลักหรือรับของโจรยางพาราแผ่น 1 มัดของกลางข้อเท็จจริงในทางพิจารณาจึงแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวใน ฟ้องและมิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษศาล จะลงโทษจำเลยทั้งสองฐานลักยางพาราแผ่น 1 มัดของกลางมิได้

3086/2515  ค้นไม่พบ (ความผิดฐานหมิ่นประมาทไม่ต้องระบุชื่อบุคคลที่ 3 ฟ้องก็สมบูรณ์ตามมาตรา 158)
1876/2528  ขณะผู้เสียหายนั่งคุยกับ จ. จำเลยที่ 2 ได้เข้าไปขอเงิน 5 บาท ผู้เสียหายพูดว่าไม่มีให้จำเลยที่1 ใช้มีดจี้คอผู้เสียหายและพูดว่า ถ้าไม่ให้เจ็บตัวจ. ส่งเงิน 10 บาท ให้ผู้เสียหายแล้วผู้เสียหายส่งให้จำเลยที่ 2 รับไป เมื่อได้เงินแล้วจำเลยที่ 2 ได้เดินไปพร้อมกับจำเลยที่ 1 และถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับ ค้นตัวได้เงินเพียง10 บาทที่ จ.ให้ไปเท่านั้นจ.ตอบคำถามค้านว่าให้เงินแก่จำเลยที่ 2 ด้วยความสมัครใจเต็มใจ เพราะสงสาร ดังนี้ พฤติการณ์แห่งคดีเห็นได้ว่าจำเลยที่ 2 กระทำโดยสุจริตมิได้มีเจตนา ร่วมกับจำเลยที่ 1 เพื่อทำการชิงทรัพย์ผู้เสียหายมาแต่แรกเมื่อได้เงินตามที่ขอแล้วก็ไม่ขู่เอา ทรัพย์อื่นต่อไปอีกการเอา เงินไปจึงถือไม่ได้ว่า เกิดจากการลักทรัพย์จึงไม่เป็น ความผิดฐานชิงทรัพย์
ส่วนท้ายของคำฟ้อง
(การร่างฟ้องมี 3 ส่วน  ส่วนต้นอนุมาตรา  1-4  ส่วนกลาง 5  ส่วนสุดท้าย 6 7)
คำขอท้ายฟ้อง ตามอนุมาตรา 6 ต้องอ้างมาตราในกฎหมายว่าการกระทำนั้นเป็นความผิด และขอให้ลงโทษ แต่ไม่ต้องระบุอนุมาตรา

ถ้าไม่ได้ระบุมาตรามาในคำขอท้ายฟ้องเลย จะลงโทษจำเลยในความผิดฐานนั้นไม่ได้ ต้องพิพากษายกฟ้อง  ถือว่าเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์จะลงโทษ ศาลจะลงโทษเกินคำขอท้ายฟ้องไม่ได้

3323/2527  บรรยายฟ้องว่า จำเลยกับพวกได้ร่วมกันใช้อาวุธปืนยิงใส่ย. โดยเจตนาฆ่าเพื่อจะเอาไว้ซึ่งผลประโยชน์อันเกิดแต่การที่จำเลยกับพวกได้ กระทำผิดฐานชิงทรัพย์ ฯลฯ แต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล แต่โจทก์ไม่ได้ระบุอ้างประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 มาในคำขอท้ายฟ้อง กรณีมิ ใช่โจทก์อ้างฐานความผิด หรือบทมาตราผิด แต่โจทก์ไม่ได้ อ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการ กระทำเช่นนั้นเป็น ความผิดตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(6)มาในฟ้อง ฟ้องโจทก์ฐานพยายามฆ่าตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 ประกอบด้วย มาตรา 80จึงเป็นฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ลงโทษจำเลยสำหรับความผิด ฐานนี้ไม่ได้

การอ้างบทมาตราผิดหรือใกล้เคียงกัน ศาลสามารถลงโทษจำเลยตามฐานความผิดที่ใกล้เคียงกันได้

5188/2549  โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและ ได้รับอันตรายแก่กาย อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 291 และมาตรา 390 มิใช่ได้รับอันตรายสาหัสตาม ป.อ. มาตรา 300 ที่โจทก์ระบุมาในคำขอท้ายฟ้อง เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำให้การรับสารภาพว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง กรณีเป็นเรื่องโจทก์อ้างบทมาตราผิด ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยตามฐานความผิดที่ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคห้า ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยไม่ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นอ้างและปรับบทกฎหมายที่ลงโทษจำเลยให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

การอ้างบทมาตราที่ขอให้ลงโทษต้องอ้างชื่อกฎหมายและบทมาตราที่ขอให้ลงโทษด้วย
แม้คำขอท้ายฟ้องของโจทก์อ้างเฉพาะเลขมาตราอย่างเดียว แต่ไม่อ้างกฎหมาย แต่จากการประมวลคำฟ้องทั้งหมดแล้ว ศาลตีความได้ว่าชอบสมบูรณ์ตามมาตรา 158

1700/2514 หน้าฟ้องลงข้อหาว่า "ปลอมหนังสือ ใช้หนังสือปลอม"คำบรรยายฟ้องก็ชัดเช่นนั้น ส่วนคำขอท้ายฟ้องพิมพ์ไว้แต่เพียงว่าขอให้ลงโทษตามมาตรา 264, 265, 266, 268 โดยมิได้อ้างชื่อกฎหมายแห่งมาตรานั้น ๆ ว่าเป็นกฎหมายอะไรก็จริงอยู่แต่เมื่อประมวลแล้วทราบได้ว่ากฎหมายที่ขอให้ลง โทษนั้นคือประมวลกฎหมายอาญา ทั้งมาตราที่พิมพ์ไว้ในคำขอท้ายฟ้องตรงกับมาตราที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมาย อาญาในหมวดว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับเอกสาร คำฟ้องของโจทก์คดีนี้ขาดตกบกพร่องเพียง แต่มิได้ระบุชื่อของกฎหมาย แต่ก็มีพฤติการณ์แสดงให้เห็นได้ว่าเป็นกฎหมายอะไร เช่นนี้ หาเพียงพอที่จะถือว่าคำฟ้องนั้นเป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธี พิจารณาความอาญามาตรา 158(6) แต่อย่างใดไม่ ฟ้องโจทก์จึงสมบูรณ์
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 25/2514)
ถ้าฟ้องระบุชื่อกฎหมายแต่ไม่ระบุเลขมาตราให้ลงโทษ แต่ต้องบรรยายให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีและจำเลยไม่หลงต่อสู้ จึงครบถ้วน ดูตัวอย่างฏีกา

4335/2544  แม้คำฟ้องโจทก์บรรยายแต่เพียงว่าเหตุเกิดที่อำเภอ เมืองจังหวัดเชียงใหม่ โดยไม่ได้ระบุตำบลเกิดเหตุให้ชัดเจน ก็ถือว่าคำฟ้องได้บรรยายถึงสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ แล้ว ทั้งจำเลยมิได้ต่อสู้เกี่ยวกับเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้น และรูปคดีเป็นที่เข้าใจว่าจำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว การที่โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าเหตุเกิดที่ตำบลอะไรนั้นจึงเป็นเพียงราย ละเอียดที่โจทก์จะนำสืบให้ปรากฏในชั้นพิจารณาคำฟ้องของโจทก์ชอบด้วย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5)
พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯมีบทบัญญัติเพียง 11 มาตรา และมีเพียงมาตรา 4 มาตราเดียวที่บัญญัติการกระทำเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ ส่วนมาตราอื่น ๆล้วนบัญญัติในเรื่องอื่น แม้คำขอท้ายฟ้องของโจทก์ระบุเพียงชื่อกฎหมายไม่ได้ระบุมาตราในกฎหมายซึ่ง บัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดก็ตาม แต่ก็ได้บรรยายถึงการออกเช็คโดยมีลักษณะหรือการกระทำความผิดของจำเลยไว้ชัด แจ้งครบถ้วนตามมาตรา 4 ของพระราชบัญญัติดังกล่าว ทั้งจำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีและไม่หลงต่อสู้ จึงไม่อาจเป็นการกระทำความผิดตามมาตราอื่นได้อีก มีผลเท่ากับการอ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(6) แล้ว
คำขอท้ายฟ้องต้องอ้างมาตราที่กำหนดความผิดและกำหนดโทษไว้มาในคำขอท้ายฟ้องด้วย

652/2490 มียาสูบตั้งแต่สองกิโลกรัมไว้ในครอบครองโดยไม่ปิดแสตมป์ยาสูบเป็นผิดตามพระราชบัญญัติยาสูบ มาตรา 36 และ40
โจทก์ฟ้องบรรยายความผิดอันต้องด้วยบทห้ามตามกฎหมายแม้มิได้อ้างบทห้ามมาในฟ้องเป็นแต่อ้างบทกำหนดโทษมาศาลก็ลงโทษได้
โจทก์ กล่าวหาจำเลยรับบางข้อปฏิเสธบางข้อ ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานโจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษในความผิด ซึ่งจำเลยให้การปฏิเสธแต่มีได้ข้อสืบพยานดังนี้ ศาลฎีกาย่อมพิจารณาเฉพาะตามฟ้องและคำให้การ

1959/2535  โจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับสถานที่เกิดเหตุที่จำเลยปลูกสร้างอาคารรุกล้ำชาน คลองเขตคันคลองชลประทานว่า อยู่บริเวณถนนสุขุมวิท หลักกิโลเมตรที่ 40 จำนวนเนื้อที่ 60 ตารางเมตรตำบลบางปูใหม่ อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ เป็นการบรรยายถึงรายละเอียดเกี่ยวกับสถานที่ซึ่งเกิดการ กระทำผิดพอสมควรที่จะทำให้จำเลยเข้าใจได้ดีแล้ว ฟ้องของโจทก์ไม่เคลือบคลุม การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติการชลประทานหลวงพ.ศ. 2485 มาตรา 23 พระราชบัญญัติการชลประทานหลวง (ฉบับที่ 3)พ.ศ. 2507 มาตรา 12 ส่วนพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พ.ศ. 2485มาตรา 37 พระราชบัญญัติการชลประทานหลวง (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2507มาตรา 17 และพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง (ฉบับที่ 4)พ.ศ. 2518 มาตรา 7 เป็นมาตราที่กำหนดโทษในการกระทำความผิดตามมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว มิใช่มาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่า การกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดที่โจทก์จะต้องบรรยายไว้ในฟ้องตามประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(6)

7653/2547  ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (6) ที่บัญญัติให้อ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด หมายถึง มาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเป็นความผิดฐานหรือบทใด ส่วนมาตรา 90 แห่ง ป.อ. มิใช่มาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่า การกระทำเป็นความผิดฐานหรือบทใด แต่บัญญัติว่าความผิดนั้นเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทและต้องลง โทษตามความผิดฐานหรือบทใด แม้โจทก์จะมิได้อ้างมาตรา 90 แห่ง ป.อ. มาในฟ้อง ก็ไม่ทำให้ฟ้องไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ที่เกิดเหตุเป็นถนนเปียกและลื่น จำเลยขับรถยนต์ซึ่งมีสภาพเก่าบรรทุกสัมภาระและคนมาเต็มคันรถยนต์ ควรจะขับรถยนต์ให้ช้าไม่ควรขับด้วยความเร็ว เพราะหากขับรถยนต์ด้วยความเร็วในสภาพของรถยนต์และถนนดังกล่าวรถยนต์อาจเสีย หลักและพลิกคว่ำได้โดยง่าย แต่เมื่อถึงที่เกิดเหตุจำเลยกลับขับรถยนต์ด้วยความเร็ว จึงเป็นความประมาทในเบื้องต้นของจำเลยแล้ว เมื่อจำเลยเห็นรถยนต์อยู่ข้างหน้าซึ่งจำเลยจะต้องแซงรถจักรยานยนต์นั้น จำเลยจะต้องให้สัญญาณเสียงเพื่อให้ผู้ขับรถจักรยานยนต์รู้ตัว หรือมิฉะนั้นก็ควรจะชะลอความเร็วรถยนต์ลงเพื่อให้ห่างจากรถจักรยานยนต์ใน ระยะที่ปลอดภัย แต่จำเลยก็หาได้กระทำดังกล่าวไม่ทั้งที่อยู่ในวิสัยที่ทำได้ เมื่อรถจักรยานยนต์เลี้ยวไปทางขวาโดยกะทันหันจำเลยจึงไม่อาจห้ามล้อเพื่อ ชะลอความเร็วของรถยนต์ได้ทัน และจำต้องบังคับรถยนต์หลบไปทางขวาแล้วหลบกลับมาทางซ้ายอีก จนเป็นเหตุให้รถยนต์เสียหลักพลิกคว่ำ อุบัติเหตุดังกล่าวจึงเกิดจากการกระทำโดยประมาทของจำเลย ไม่เป็นเหตุสุดวิสัย
ถ้าไม่ได้อ้างบทลงโทษหรือฐานความผิดมา โจทก์ขอแก้ไขเพิ่มเติมฐานความผิดได้หรือไม่ ถ้าเป็นฐานความผิดเล็กน้อย แก้ไขฐานความผิดได้ และจำเลยไม่ได้หลงต่อสู้
หากไม่ทำให้จำเลยเสียเปรียบในการต่อสู้คดี ศาลสั่งให้จำเลยแก้ไขได้ตามมาตรา 161
การที่ศาลยกฟ้องในการที่โจทก์ไม่ได้อ้างมาตราในการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดและกำหนดโทษ จึงถือว่าศาลมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาด จะนำมาฟ้องอีกไม่ได้เป็นฟ้องซ้ำตามมาตรา 39 อนุมาตรา 4
-----------------------------
มาตรา 158 อนุมาตรา 7  ต้องมีการลงลายมือชื่อ โจทก์ ผู้เรียง ถ้าไม่มีศาลมีอำนาจยกฟ้องได้ แต่ศาลจำต้องใช้อำนาจตามมาตรา 161 ได้หรือไม่
โจทก์หมายถึง ผู้เสียหายหรือพนักงานอัยการ หรือทั้งคู่กรณีเป็นโจทก์ร่วมกัน
พนักงานอัยการ หมายถึง เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ฟ้องผู้ต้องหาต่อศาล
ข้อสังเกต-- คนร่างคำฟ้อง และคนลงลายมือชื่อเป็นโจทก์คนละคนก็ได้เพราะเป็นเจ้าพนักงานของสำนักงานอัยการ

1838/2492  พนักงานอัยการผู้ได้รับแต่งตั้งโดยชอบแล้วมีอำนาจลง ชื่อเป็นโจทก์ในฟ้องในฐานพนักงานอัยการได้ แม้ผู้ลงชื่อจะต่างคนกับที่วงเล็บไว้ที่หน้าฟ้องก็ไม่สำคัญ
ฟ้องว่าจำเลยสมคบกันทำร้ายร่างกาย ไม่จำต้องระบุว่าจำเลยคนใดใช้อาวุธอย่างไร ทำร้ายแผลไหน
------------------
ตามมาตรา 158 อนุมาตรา 7 โจทก์หรือผู้เสียหายต้องลงลายมือชื่อเอง เคร่งครัดเฉพาะในศาลชั้นต้นเท่านั้น แต่คำฟ้องอุทธรณ์ ฏีกา เป็นคำฟ้องอย่างหนึ่ง ซึ่งนำมาใช้ในคดีอาญาโดยอนุโลมตามมาตรา 15 จึงต้องมีลายมือชื่อผู้ยื่นอุทธรณ์ ฏีกาด้วย

5887/2550  ฎีกาของจำเลยไม่มีลายมือชื่อผู้ฎีกา โดยเหตุที่ฎีกาเป็นคำฟ้องอย่างหนึ่งตามคำนิยามในมาตรา 1 (3) แห่ง ป.วิ.พ. ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ดังนั้น เมื่อไม่มีลายมือชื่อผู้ฎีกา ฎีกาของจำเลยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 158 (7) ประกอบด้วยมาตรา 215 และ 225 แห่ง ป.วิ.อ.

ทนายความลงลายมือชื่อแทนจำเลยกรณีตัวความมอบอำนาจให้อุทธรณ์ ฏีกา ก็มีอำนาจลงชื่อแทนผู้อุทธรณ์ ฏีกาได้ ตามปวิแพ่งมาตรา 62 ประกอบป.วิ.อ.มาตรา 15

1243/2492  คดีอาญา ทนายโจทก์ลงชื่อในอุทธรณ์แทนโจทก์ ก็ใช้ได้ตามกฎหมาย เพราะใบแต่งทนายความของโจทก์ได้ให้อำนาจทนายโจทก์ใช้สิทธิในการอุทธรณ์หรือ ฎีกาด้วย

5858/2548 คำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกา คำร้องขอให้รับรองฎีกาว่ามีเหตุอันควรฎีกาได้และคำฟ้องฎีกาของจำเลย ที่ บ. ทนายเป็นผู้ยื่นคำร้องและฎีกาแทนจำเลย แต่ตามใบแต่งทนายความที่จำเลยแต่งให้ บ. ทนายความของจำเลยไม่ได้ระบุให้มีอำนาจใช้สิทธิในการฎีกา บ. ทนายความของจำเลยจึงไม่มีอำนาจที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาใช้สิทธิในการฎีกา คดีนี้แทนจำเลยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 62 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 คำร้องขอขยายระยะเวลา คำร้องขอให้รับรองฎีกาว่ามีเหตุอันควรฎีกาได้ และคำฟ้องฎีกา จึงเป็นคำร้องและคำฟ้องไม่ชอบ แม้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาฎีกาและมีคำสั่งอนุญาตให้ฎีกา และมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยมา ก็เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย (แต่งทนายความแต่ไม่ได้มอบอำนาจฏีกา คำฟ้องของจำเลยจึงไม่ชอบ)

ทนายความลงชื่อแทนโจทก์ไม่ได้ ยกเว้นกรณีอุทธรณ์ ฏีกา และ กรณีเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการ

629/2501  ทนายความที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำเนินกระบวนพิจารณาย่อมมีอำนาจลงลายมือชื่อในคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับอัยการแทนตัวความได้

890/2503  ผู้เสียหายไม่ว่าจะเป็นนิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดาย่อม มอบอำนาจให้ฟ้องคดีอาญาแทนได้ (ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 9/2503) (ดูเทียบกับฎีกาที่ 755/2502 ซึ่งวินิจฉัยว่า การร้องทุกข์นั้น ย่อมมอบอำนาจให้ร้องทุกข์แทนกันได้)
เมื่อผู้เสียหายมอบอำนาจให้ฟ้องคดีอาญาแล้วผู้ที่รับมอบอำนาจก็ย่อมลงชื่อในฟ้องแทนโจทก์ ได้ ไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158ข้อ(7)

229/2490  ฟ้องไม่ลงลายมือชื่อโจทก์และผู้เรียง ถือว่าเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยแล้วศาลสูงก็มีทางทำได้ทางเดียว คือยกฟ้อง

282/2544 จำเลยยื่นอุทธรณ์โดยไม่ปรากฏว่ามีลายมือชื่อผู้เรียงอุทธรณ์ฟ้องอุทธรณ์ จึงไม่ชอบด้วย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 158(7) แต่การที่จะให้จำเลยแก้ไขหรือสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยก็ล่วงเลยเวลาที่จะ ปฏิบัติได้ เพราะศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้พิจารณาพิพากษาคดีนี้เสร็จไปแล้วการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาคดีนี้มาจึงไม่ชอบ

3/2492  (ถูกกลับแล้วโดยมติที่ประชุมการออกข้อสอบผู้ช่วยสนามเล็กคราวที่แล้ว)ฟ้องที่มิได้ลงชื่อโจทก์นั้นเป็นฟ้องไม่ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(7)
ศาลชั้นต้นได้สั่งประทับฟ้องที่ไม่ถูกต้องไว้ และดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานโจทก์ไปแล้ว คงเหลือแต่พนักงานสอบสวนอีกปากเดียว ความจึงปรากฏจากคำร้องของจำเลยว่าโจทก์ไม่ได้ลงชื่อในฟ้องดังนี้จึงมีวิธี ที่ศาลจะปฏิบัติตามมาตรา 161 ได้อีกทางเดียวคือให้ยกฟ้องเสีย(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 1/92)

ข้อสอบผู้ช่วยสนามเล็กคราวที่แล้ว เรื่องศาลสั่งประทับฟ้องโจทก์ไว้แล้ว ให้โจทก์แก้ฟ้องให้ถูกต้องก่อนสืบพยานโจทก์ได้หรือไม่ เนื่องจากกฎหมายไม่มีกำหนดเวลาในการสั่งให้แก้ฟ้อง ศาลสั่งให้แก้ฟ้องก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาได้ (มติที่ประชุมการสอบผู้ช่วยสนามเล็ก)

6685/2550 จำเลยยื่นฟ้องอุทธรณ์ว่าจำเลยไม่ได้ทำความผิดตามฟ้องแล้วลงชื่อผู้อุทธรณ์ และผู้เขียนหรือพิมพ์ จำเลยไม่ได้ลงชื่อผู้เรียงฟ้องอุทธรณ์ ฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยจึงไม่ถูกต้องตามกฎหมายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (7) ชอบที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 จะต้องมีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นสั่งให้จำเลยผู้ยื่นฟ้องอุทธรณ์แก้ไขให้ถูกต้อง เสียก่อนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 161

1564/2546  ฟ้องโจทก์ปรากฏแต่ลายมือชื่อผู้เรียงและผู้พิมพ์ฟ้องเท่านั้น ไม่ปรากฏลายมือชื่อโจทก์ จึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(7)และการที่จะสั่งให้โจทก์แก้ฟ้องให้ถูกต้องหรือไม่ประทับฟ้องตามประมวล กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 161 วรรคหนึ่งนั้น ก็ล่วงเลยเวลาที่จะปฏิบัติได้เพราะศาลชั้นต้นได้สั่งประทับฟ้องและดำเนิน กระบวนพิจารณาจนเสร็จสิ้นจนคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 แล้ว ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ย่อมไม่มีวิธีปฏิบัติเป็นประการอื่นนอกจากพิพากษายกฟ้องโจทก์ และมาตรา 161 ก็หาได้เป็นบทบัญญัติซึ่งมิได้กำหนดระยะเวลาให้ศาลมีคำสั่งให้โจทก์แก้ไข ฟ้องให้ถูกต้องเสียเมื่อใดก็ได้ก่อนคดีถึงที่สุดไม่ ทั้งปัญหาว่าฟ้องโจทก์ที่ไม่มีลายมือชื่อโจทก์เป็นฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมายหรือ ไม่นั้น เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยมิได้ยกขึ้นโต้แย้งคัดค้านศาลอุทธรณ์ภาค 1 ก็มีอำนาจยกขึ้นอ้างและวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น